เศรษฐธรรมคืออะไร?


“เศรษฐธรรม” ประกอบไปด้วยคำสองคำคือ “เศรษฐและธรรม”

                “เศรษฐ” สามารถพิจารณาได้ ๒ นัยคือ

                              นัยที่หนึ่ง : เศรษฐ คือ เศรษฐกิจที่คนส่วนใหญ่เข้าใจในปัจจุบัน

                              นัยที่สอง : เศรษฐ คือ เสฏฺฐ หรือ เสรษฐ แปลว่า ประเสริฐที่สุดหรือดีที่สุด

                “ธรรม”๑ คือ ธรรมชาติหรือ กฎธรรมชาติ

 

         ประเสริฐสุดหรือดีที่สุด ก็คือ เป็นการจัดสรรทรัพยากร (ที่มีอยู่อย่างจำกัด) เพื่อนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นที่แท้จริงของมนุษย์ ไม่ใช่ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการหรือกิเลสที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดของมนุษย์เฉกเช่นปัจจุบัน

         หากมองในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ที่กำเนินขึ้นเป็นศาสตร์เมื่อกว่า ๒ ศตวรรษที่ผ่านมา (อดัม สมิท : Adam Smith ค.ศ. ๑๗๒๓ – ๑๗๙๐ : ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์และเป็นบุคคลแรกที่วางรากฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหรือเศรษฐศาสตร์ระบบทุนนิยม) จากการรังสรรค์ของวิชาการทางตะวันตก ที่ปกคลุมภูมิปัญญาไปทั่วพื้นพิภพโลกอยู่ในขณะนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า

 

               ๑. มุมมองในการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงนั้น กระบวนการทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยใช้ “กลไกตลาด” สอบตกอย่างชัดเจน เกี่ยวเนื่องจาก ผลิตผลทางสินค้าและบริการในปัจจุบันนั้น ล้วนแล้วแต่สนองตอบต่อความอยาก (กิเลส) ของมวลมนุษยชาติเพียงอย่างเดียว หาใช่ ความจำเป็นไม่ สินค้าและบริการส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางมอมเมาเพื่อสนองตอบต่อลัทธิบริโภคนิยม ทรัพยากร (ที่มีอย่างจำกัด) โดยส่วนใหญ่ถูกโอนถ่ายไปสู่กระบวนการผลิตเพื่อสนองตอบต่อกิเลสเป็นเป้าหมายหลัก

 

              ๒. มุมมองในความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด ความต้องการ (ความอยาก) ในสินค้าและบริการเมื่อบรรจบกับการสนองตอบที่ได้รับ ถูกมองว่านำพามาซึ่งความสุข ความรื่นเริงบันเทิงใจของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันความต้องการที่มีอย่างไม่จำกัดนี้ คือ แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมที่เหยียบคันเร่งไล่กวดกับการสนองตอบต่อความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด

 

“กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันนั้นเป็นการจัดสรรทรัพยากร (ที่มีอยู่อย่างจำกัด) เพื่อไล่กวดตอบสนองต่อความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดของมวลมนุษยชาติ”

      

           ถึงแม้ว่า เศรษฐศาสตร์ในทัศนะของวิชาการกับแง่มุมในทางเศรษฐธรรมจะมีวงโคจรของอุดมคติเดียวกัน ในด้านของการจัดสรรทรัพยากร (ที่มีอยู่อย่างจำกัด) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เทียบเคียงได้กับนัยทาง “เสฏฺฐ” ในพระพุทธศาสนาที่ว่า เป็นวิชาที่ประเสริฐที่สุดหรือดีที่สุด) แต่จะแตกต่างกันตรงที่

 

                - ประโยชน์สูงสุดในทัศนะของวิชาการทางเศรษฐศาสตร์นั้น มุ่งเน้นที่การสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์เป็นเป้าหมายสำคัญในเบื้องแรก นัยก็คือ ให้ความสำคัญทางด้านวัตถุวิสัยและจิตวิสัยที่เกินความจำเป็นตามจริง ก้าวกระโดดเข้าสู่กับดักแห่งลัทธิบริโภคนิยม

 

                 - ประโยชน์สูงสุดในทัศนะของเศรษฐธรรมนั้น มุ่งเน้นที่การสนองตอบต่อความจำเป็นที่แท้จริงของมนุษย์เป็นเป้าหมายสำคัญในเบื้องแรก นัยก็คือ ให้ความสำคัญทางด้านวัตถุวิสัยและจิตวิสัยที่พอเพียงต่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิตตามจริง       

 

       “เศรษฐธรรม” พึงเพ่งพิจารณาได้ ๒ นัย คือ

           ๑. กระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ (กฎธรรมชาติ)

           ๒. กระบวนการของสิ่งที่ดีที่สุดหรือประเสริฐสุด ที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ (กฎธรรมชาติ)

 

    จากนัยของ “เศรษฐธรรม” ทั้งสองความหมาย ให้พึงมีข้อสังเกตต่อไปได้ว่า

 

             ประการที่หนึ่ง : เศรษฐธรรมนัยแรก จะเป็นไปในลักษณะของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่พุ่งเป้าหมายปลายทางมุ่งไปสู่การศึกษา ค้นคว้า พัฒนาการทางด้านทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์ เพื่อต่อยอดชุดความรู้มุ่งสู่การอรรถาธิบายขยายความถึงซึ่งการวิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยที่กระบวนการวิวัฒน์ทางด้านองค์ความรู้ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับสภาวะ (ธรรม) ตามจริง

 

             ประการที่สอง : เศรษฐธรรมนัยที่สอง จะเป็นไปในลักษณะของกระแสสายธารแห่งการดำเนินชีวิตโดยองค์รวมที่รวมทั้งมิติทางความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเศรษฐกิจ มนุษย์กับการเมือง มนุษย์กับสังคม รวมถึงมนุษย์กับธรรมชาติ โดยมองว่ามิติต่าง ๆ ไม่สามารถตัดขาดหรือแยกออกจากกันเป็นเอกเทศได้ ทุกมิติเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันสัมพันธ์กันไปตลอดทั้งสาย โดยการศึกษา ค้นคว้า พัฒนาตามนัยนี้ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุดหรือประเสริฐที่สุดในกระแสสายธารแห่งการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสภาวะ (ธรรม) ตามจริง

 

             ประการที่สาม : การศึกษา ค้นคว้าตามนัยที่สองนั้น มีขอบเขตของการกินลึกลงไปในทุกมิติที่ถูกมองว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากแบ่งแยกการศึกษา พัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นเอกเทศ ก็จะทำให้ความเข้าใจในสภาวะ (ธรรม) ที่แท้จริงถูกบิดเบือน ปนเปื้อนไปในทางที่เสพติดและอิงแอบแนบชิดในผลประโยชน์แห่งศาสตร์นั้น ๆ เพียงอย่างเดียว ละทิ้งปฐมฐานของกระบวนการแห่งสภาวะ (ธรรม) ตามจริง ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายในทุกมิติ

         

             ประการที่สี่ : ในการศึกษา ค้นคว้า จะพึงยึดการทำความเข้าใจในสภาวะ (ธรรม) ที่แท้จริงเป็นปฐมฐานของการดำเนินชีวิต เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดหรือประเสริฐที่สุด เมื่อพิจารณาที่ตัวสภาวะ (ธรรม) ที่แท้จริง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เป็นกระบวนการที่อิงแอบแนบชิดอยู่ในสภาวะนี้ ดังนั้น จึงมุ่งเป้าเล็งลูกธนูให้มุ่งสู่ใจกลางของเป้าหมายในตัวสภาวะ (ธรรม) แล้วน้อมนำไปสู่การวิเคราะห์เชื่อมโยงทางกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายในเบื้องถัดไป

 

             ประการที่ห้า : นัยที่หนึ่งและสองของกระแสสายธารการเดินทางมาบรรจบพบกันในความสัมพันธ์ที่มีความสอดคล้องกับหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ นั่นเอง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว เมื่อกล่าวถึงตัวสภาวะ (ธรรม) ที่แท้จริง ที่อิงเป็นแก่นกลางในทางศึกษา ค้นคว้า ก็มิพักสงสัยในความเป็นเนื้อเดียวกันแห่ง “กฎธรรมชาติ” ในเบื้องแรกนั่นเอง

 

          สรุปสาระสำคัญอาจจะให้กรอบของคำนิยาม “เศรษฐธรรม” ได้ว่า :

 

         “เศรษฐธรรม เป็นการศึกษาที่ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ผูกติดและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เพื่อสามารถบรรลุสู่จุดร่วมที่ดีที่สุดของมนุษย์กับธรรมชาติบนโลกแห่งวัตถุตามจริง ภายใต้สิ่งบังคับ บีบคั้นของการมีทรัพยากรที่จำกัด”

 

           จากนัยของความหมายดังกล่าวจะพึงสังเกตได้ว่า สิ่งสำคัญจากนิยามของ “เศรษฐธรรม” จะมีจุดเน้นอยู่ที่ “การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผูกติดและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ” และ “การบรรลุสู่จุดร่วมที่ดีที่สุดของมนุษย์กับธรรมชาติ” โดยที่มีเงื่อนไขมาบังคับ บีบคั้นของกระบวนการคือความจำกัดของทรัพยากร ซึ่งกระบวนการของการดำเนินกิจกรรรมทางเศรษฐกิจที่ผูกติดและสอดคล้องกับกฎธรรมชาตินั้น ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญในการทำความเข้าใจในเบื้องแรก ซึ่งเปรียบเสมือนเหตุ โดยที่มีการบรรลุสู่จุดร่วมที่ดีที่สุดของมนุษย์กับธรรมชาติเป็นเบื้องปลายซึ่งเปรียบเสมือนผล

             กระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกผูกติดไว้กับกฎธรรมชาติอย่างมิพักสงสัย เกี่ยวเนื่องจาก ทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของปัจจัยในการผลิต มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอันอุดมไปด้วยความหลากหลายแต่มีกลไกหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขและสมดุลได้ในสังคมก็คือ กฎ ระเบียบ ที่เป็นผลผลิตจากมนุษย์ด้วยกันเอง หากมีการกระทำที่ไปละเมิดระหว่างกันขึ้น ก็จะต้องถูกลงโทษโดยกฎ ระเบียบดังกล่าว จึงถือได้ว่ากฎ ระเบียบนั้น เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ไม่ทำให้สังคมที่แตกต่างกันหลากหลายของมนุษย์วุ่นวายและเกิดวิกฤติรวมถึงความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น เฉกเช่นเดียวกันในธรรมชาติก็จะมีกลไกในการปรับสมดุลหรือจัดระเบียบในตัวของมันเองซึ่งเรียกว่า “กฎธรรมชาติ” แต่ต่างกันตรงที่ เป็นกฎที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีใคร สิ่งใดหรืออะไรมาบันดาลและกำกับการแสดง เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัยกันและกันในการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ดังนั้น เมื่อเกิดการกระทำที่ไปล่วงล้ำ ละเมิดธรรมชาติ กฎธรรมชาติก็จะทำหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรงและซื่อสัตย์ เป็นไปตามเหตุปัจจัยในการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันตามจริงเพื่อจัดดุลยภาพหรือระเบียบของธรรมชาติใหม่ภายหลังจากการถูกละเมิด ซึ่งก็จะสะท้อนออกมาในลักษณะที่เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน เช่น ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม พายุ แผ่นดินไหว เป็นต้น ดังนั้น กระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมิพึงคำนึงถึงเฉพาะผลได้ที่ สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับมนุษย์ เป็นเป้าหมายหลักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตระหนักถึงผลกระทบจากกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวที่เข้าไปเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติ โดยการเรียนรู้ให้เข้าถึงและเข้าใจในธรรมชาติตามจริงเพื่อ “การบรรลุสู่จุดร่วมกันที่ดีที่สุดของมนุษย์กับธรรมชาติ” หรือเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายในเบื้องปลายท้ายสุด  

       

             “เศรษฐธรรม” ถือได้ว่าเป็นกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผูกติดเชื่อมโยงไว้ภายใต้กฎธรรมชาติ ที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การที่จะทำให้สังคมเศรษฐกิจพัฒนาบรรลุไปสู่เป้าหมายปลายทางเป็นสังคมแห่งเศรษฐธรรมได้นั้น และสิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องแรกก็คือ “กฎธรรมชาติ” นั่นเอง

 

********************************************************************************************************************

 

   ธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง, เหตุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด, คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ, หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่, ความชอบ, ความยุติธรรม, พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น  

ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) . หน้า ๑๔๑.




 

 

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐธรรม
หมายเลขบันทึก: 499828เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

  “เศรษฐธรรม” ถือได้ว่าเป็นกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผูกติดเชื่อมโยงไว้ภายใต้กฎธรรมชาติ....P'Ple ได้ความรู้ใหม่ๆ ขอบคุณค่ะ

ขอบพระคุณ คุณP'Ple และ อาจารย์kwancha มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ

                                 ขอบพระคุณครับ

เศรษฐธรรม >> เศรษฐกิจพอเพียง ..หลักคิดสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่เป็นสุขอย่างสมดุลนะคะ..ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

เมื่อวานเย็นปริมไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านเพื่อซื้อสาหร่ายมาทำซุปมีโซ พอไปยืนบริเวณที่ขายสาหร่าย ปรากฎว่ามีสาหร่ายให้เลือกกว่ายี่สิบยี่ห้อ มาจากหลากประเทศต่างชนิดกันไปเต็มชั้นที่วางไปหมด ปริมหยิบสาหร่ายที่ใช้ประจำมาหนึ่งถุง เลยคุยกับคนใกล้ตัวว่าจริงๆ แล้วที่ผ่านมาเราคงซื้อของน้อยกว่า 1% ของที่วางขาย และหากคนทุกคนเป็นเหมือนเรา คงไม่มีการดีไซน์อะไรใหม่ๆ ออกมา เพราะหากมีคนน่าเบื่ออย่างเราๆ เขาคงขายของไม่ได้และเลิกล้มกิจการไปหมด

ชอบแนวคิดนี้ของท่านอาจารย์มากค่ะที่กล้าจะเดินสวนกระแส

ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ไม่นานมากนัก แต่ก็พอจะรับรู้ได้ว่าความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากความรู้สึกที่ไม่พอ และยังใฝ่ฝันความเป็นอยู่เรียบง่ายดังที่เคยได้ยินว่า "Any fool can get complicated but it takes a genius to be simple"

ขอบคุณมากค่ะ

ปล. อีกความสุขหนึ่งที่ได้รับวันนี้คือการได้นั่งดูวีดีโอน้องพร้อมเพลงอิ่มอุ่นค่ะ ฝากบอกเจ้าตัวนะคะว่ารอยยิ้มของน้องทำให้ ป้า หรือ อา คนหนึ่งยิ้มตอบอย่างมีความสุขค่ะ ;))

สวัสดีค่ะ อาจารย์ จัตุเศรษฐธรรม

อาจารย์ค่ะ สนใจแนวคิดทีอาจารย์เขียนมาตั้งแต่แรกแล้ว ได้อ่านมากขึ้นในบันทึกนี้ก็ช่วยใ้ห้ทำความเข้าใจได้ดีขึ้น  ทำความเข้าใจทีละน้อย ประสาคนธรรมะมือใหม่ เศรษฐศาสตร์มือใหม่ แต่มีมิติด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมยังพอได้อยู่ค่ะ  และเมื่ออาจารย์ให้ความเห็นที่เชื่อมโยงกับเรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคน ตามแนวคิด เศรษฐธรรม  ในกรณีที่เขียนไว้ในบันทึกก็ได้โอกาศศึกษาได้ลึกซึ้งขึ้นค่ะ ..ขอบคุณค่ะ..

เข้าใจว่าสักวันอาจารย์คงรวมเล่มเป็นหนังสือไหม๊คะ?? หรือว่ามีอยู่แล้ว จะได้ซื้อหา ..เผื่อจะไ้ด้หยิบจับอ่านได้ง่ายขึ้น  อยากจะให้เป็นหนังสือในดวงใจ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกเราเช่นค่ะ ...

อย่างกะตัวอย่างหนังสือข้างล่าง (ส่วนหนึ่งที่ชอบในจำนวน 25 เล่มที่ได้รับการเสนอ โดยเลือกที่ชอบและบางเล่มเคยอ่านแล้ว อย่าง Gaia theory นี่ก็น่าสนใจนะค่ะ  เค้าเอามาให้สมาชิก Vote) ว่าเป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมากในวิถีคิด และชีวิตในยุคถัดๆมา เนื่องจากเป็นโอกาศที่ฉลองครบรอบ 50 ปี หนังสือ The Silent Spring  ของ Rachel Crason ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไป ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางว่า หนังสือเล่มนี้มีผลกระทบต่อมุมมองของมนุษย์ที่เข้าไปรบกวนธรรมชาติ โดยเฉพาะการใช้สารเคมี ตั้งแต่ Green Revolution โน่นหล่ะค่ะ  แล้วส่งผลกระทบอย่างไร จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเคยอ่านเล่มนี้แล้ว พอได้แนวคิด เศรษฐธรรม ของอาจารย์ยิ่งเห็นชัดเจนค่ะ ...ขอบคุณค่ะ..

อยากให้ เล่มของอาจารย์ หนังสือไทย ...เป็นหนึ่งในนั้นด้วยจังเลยค่ะ ..ว่าแต่ ภาษาอังกฤษ จะตั้งชื่อว่าอะไรดีน๊า..??

ขอบคุณค่ะ.:-))

FYI...

To mark the 50th anniversary of the publication of Silent Spring in September

* A Brief History of Time by Stephen Hawking (1988)

* An Essay on the Principle of Population by Thomas RobertMalthus (1798)

* Chaos: Making a new science by James Gleick (1987)

* Gaia: A new look at life on Earth by James Lovelock (1979)

*. On the Origin of Species by Charles Darwin (1859)

*. Silent Spring by Rachel Carson (1962)

* The Double Helix by James Watson (1968)

* The Selfish Gene by Richard Dawkins (1976)

ขอบพระคุณสำหรับความเห็นและดอกไม้ที่ให้กำลังใจจากทุกท่าน...วันนี้เพิ่งกลับมาจากงานวช. ขอให้หลับฝันดีนะครับ

                  ขอบพระคุณมากครับ

เศรษฐธรรม >> เศรษฐกิจพอเพียง ..หลักคิดสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่เป็นสุขอย่างสมดุล

        เห็นด้วยกับอาจารย์พี่ใหญ่อย่างยิ่งครับ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมุ่งเน้นที่การให้นำหลักคิดไปสู่ผลิตผลทางด้านการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมนำสู่ความสุข...ความสมดุล...และความยั่งยืนทุกมิติ

            ขอบพระคุณอาจารย์พี่ใหญ่มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆอยู่เสมอ

  • ไม่ค่อยได้อ่านงานเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับวิถีพุทธแบบนี้มานานแล้วค่ะ อ่านแล้วก็รู้สึกปิติ ซาบซึ้ง และเห็นห่วงโซ่อาหาร ห่วงโซ่กรรมที่เราล้วนมีส่วนร่วมสร้างค่านิยมบริโภคนิยมที่ตอบสนองทุนนิยมทั้งสิ้น
  • คนเรานี่ก็ฉลาดเฉโกนะคะ อาศัยกิเลสหลอกล่อสร้างสิ่งเกินความจำเป็นขึ้นมามากมายเพื่อให้คนซื้อ ซื้อ จนเกินความพอดี
  • ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ก็ติดกับค่านิยมบริโภคนี้มานานนักหนาแล้วค่ะ... เสพติดตาม ๆ กันมา จนแยกไม่ออกระหว่างความจำเป็น ความสะดวก ความสบาย ความเรียบง่าย หลายบันทึกของอาจารย์เตือนสติผู้อ่านได้เป็นอย่างดีค่ะ

“เศรษฐธรรม”เป็นกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผูกติดเชื่อมโยงไว้ภายใต้กฎธรรมชาติ ที่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การที่จะทำให้สังคมเศรษฐกิจพัฒนาบรรลุไปสู่เป้าหมายปลายทางเป็นสังคมแห่งเศรษฐธรรมได้นั้น และสิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องแรกก็คือ “กฎธรรมชาติ”นั่นเอง

งดงามทุกถ้อยคำเลยค่ะ แต่ละคำ แกะรอยความหมายแล้ว มีกฎธรรมชาติ เหตุและปัจจัย สะท้อนให้เห็นทั้งสิ้น

ขอบคุณ คุณปริม มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ

เห็นด้วยกับคุณปริมครับ

            อืม...สินค้าในปัจจุบันนั้นก็มีให้เลือกสรรมากมายหากไม่มีหลักพิจารณาดี ๆ ในการแยกแยะ "คุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม" ของสิ่งที่จะบริโภคก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันครับ

           แต่ที่น่ากลัวในปัจจุบันนั้น ก็คือ การบริโภคเชิงสัญลักษณ์ ครับ โดยมีการใส่คุณค่าเทียมในเชิงสัญลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการเพื่อให้แสดงถึงนัยต่าง ๆ อาทิ

              - บัตรเครดิต      แสดงนัย       อำนาจ /  ฐานะทางสังคม  

              - รถยนต์ยุโรป    แสดงนัย       ความสำเร็จและความมั่งคั่ง

             - แม้กระทั่งสุราของมึนเมา ก็ยังถูกสื่อไปนัยทางความสุข ความรื่นเริงบันเทิงใจและ มิตรภาพ

        การสร้างคุณค่าเทียมในเชิงสัญลักษณ์อย่างนี้ ยิ่งทำให้กระบวนการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการเหล่านี้รวดเร็วและง่ายขึ้น ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นต่อมความต้องการ (กิเลส) ของผู้บริโภคให้ทำงานตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา...


ปล. ผมบอกน้องโมเดลแล้วครับว่ารอยยิ้มของลูกทำให้คุณป้า...เอ้ย...คุณอาปริม...ยิ้มมีความสุขไปด้วย...

                  ขอบคุณมากครับคุณ (อา) ปริม...(๕๕๕)

   

 

สวัสดีครับคุณจัตุเศรฐธรรม ลึกซึ้งและมีความหมายมากนะครับ
@ยินดี ที่ ได้ รู้ จัก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท