วิภาษวิธี


นาคารชุน กับ วิภาษวิธี
 

         “วิภาษวิธี”   หมายถึง   การดำเนินการอภิปรายหรือโต้วาทีเป็นกระบวนการทางความคิดที่นำไปสู่การตระหนักรู้อย่างแจ่มแจ้งถึงข้อจำกัดของเหตุผล  โดยทั่วไปการเคลื่อนไหวทางความคิดในลักษณะนี้มักจะดำเนินไปใน  ๒  รูปแบบ  คือ

          ๑)   เพื่อปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดอื่นเป็นหลัก  โดยเป็นวิธีการเชิงปฏิเสธและหักล้าง

          ๒)   เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดของผู้นำเสนอ   โดยพยายามหาบทสรุปหรือเป้าหมายที่เป็น  สัจธรรม      

       วิภาษวิธีนั้น    ท่านนาคารชุนได้คิดขึ้นมาเพื่อใช้แก้ความเห็นของบุคคลที่ตั้งคำถามในเรื่องที่ตอบไม่ได้  และปัญหาที่นักคิดตั้งแต่สมัยพุทธกาลนิยมถามในเรื่องที่ตอบไม่ได้  เพื่อมุ่งสู่ความจริง  ไม่ใช่มีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้เหตุผล  โดยได้จัดระบบการตรวจสอบเหตุผลออกมาเป็นชุด  ซึ่งในชุดนั้นประกอบไปด้วยรูปแบบทั้ง  ๔  อย่าง  ที่เรียกว่า  จตุษโกฏิ   (แปลง่าย ๆ ว่า  ๔ มุม)

     โครงสร้างของวิภาษวิธีที่จัดชุดของความเชื่อออกเป็นขั้วความคิดต่าง ๆ จะเป็นไปดังนี้

 

ยืนยัน  (โกฎิที่ ๑)

          มีลักษณะการยืนยันความมีอยู่ของตัวเอง   พวกเขาเห็นว่ามีบางสิ่งที่เที่ยงแท้ดำรงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไปตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  โดยมีกำลังอนุภาพต่อกันเป็นสายเพื่อสืบภาวะเดิมไว้ตลอด  พวกที่มีทัศนะในเชิงนี้   กับอดีต  โดยความจริงในปัจจุบันนั้นได้แยกขาดจากความจริงในอดีต เป็นการปฏเสธทัศนะเช่น  สารวาสติวาทะ   สางขยะ  และสำนักฮินดูทั่วไปที่ยอมรับเรื่องอาตมัน

 

ปฏิเสธ  (โกฎิที่ ๒)

   มีลักษณะปฏิเสธความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ หรือภาวะในปัจจุบันว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับอดีต   โดยความจริงในปัจจุบันนั้นได้แยกขาดจากความจริงในอดีต   เป็นการปฏิเสธทัศนะบางอย่าง  แต่ความจริงก็ยอมรับทัศนะในอีกด้านหนึ่ง   พวกที่มีทัศนะในเชิงนี้กับอดีต   โดยความจริงในปัจจุบันนั้นได้แยกขาดจากความจริงในอดีต   เป็นการปฏเสธทัศนะเช่น  เสาตรานติกะ

 

ยืนยันและปฏิเสธ   (โกฎิที่ ๓)

          มีลักษณะที่อาศัยการรวมทฤษฎีทั้งหลายเข้าด้วยกัน  หลัก ๆ คือ พวกเชน

 

ไม่ทั้งยืนยันและปฏิเสธ   (โกฎิที่ ๔)

         มีลักษณะที่ไม่ยอมรับหลักการความเป็นเหตุและผลอย่างสิ้นเชิง  ได้แก่   พวกวัตถุนิยม  (จารวาก) และคำสอน ของเจ้าสำนักที่มีชื่อเสียงบางท่านในสมัยพุทธกาล

 

การใช้วิภาษวิธีของนาคารชุน

      นาคารชุนใช้วิภาษวิธีในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ปัญญาญาณ   แต่ที่สุดแห่งปัญญาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อละวางความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมดลงอย่างสิ้นเชิง  การละวางเหตุผลไม่ใช่การทิ้งเหตุผล  แต่คือการหยั่งรู้ว่าเหตุผลเป็นเพียง  วิถีไม่ใช่เป้าหมาย    การละวางเหตุผลก็คือการถอนอุปาทานที่เกิดจากความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งในทุกแง่มุม

 

      จุดประสงค์อีกอย่างหนึ่ง      ก็เพื่อให้เห็นข้อจำกัดของทฤษฎีทางปรัชญาอันเป็นที่ยอมรับกว้างขวางในเวลานั้น  หลัก ๆ ก็ได้แก่คำสอนของสำนักสรวาสติวาทะ     เสาตรานติกะ   มหาสังฆิกะ  รวมทั้งแนวคิดของปราชญ์ฝ่ายฮินดู  เช่น    สางขยะ  เป็นต้น

 

        วิภาษวิธีสามารถถูกมองทั้งในขอบเขตของทฤษฎีความรู้และอภิปรัชญา  ในแง่ของทฤษฎีความรู้   วิภาษวิธีเป็นวิธีการที่ใช้ในการถกเถียงท่านนาคารชุนใช้ในเชิงศาสนา  คือมุ่งถอดถอนทิฐุปาทานในจิตของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  โดยพยายามตะล่อมถามให้คู่สนทนานิยามหรือแสดงข้อคิดเห็นของเขาออกมาให้ชัดเจน  จากนั้นก็ทำให้เห็นว่  จะต้องมีข้อสรุปบางอย่างเกิดขึ้นจากการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว  ต่อมาก็ชี้ให้เห็นว่าข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการนั้นขัดแย้งกับ้อเท็จจริง   สามัญสำนึก   หรือข้อความที่ยอมรับกันอยู่ก่อน  เป้าหมายก็เพื่อทำให้ข้อคิดเห็นของคู่สนทนาไร้น้ำหนัก  ขาดความน่าเชื่อถือ

 

           ท่านนาคารชุนใช้วิภาษวิธีเพื่อสนับสนุนทัศนะบางอย่าง   อีกทั้งท่านก็ไม่ได้ใช้วิภาษวิธีในฐานะเป็นทฤษฎีหรือความเชื่ออะไร  เนื่องจากว่าวิภาษวิธีในทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของเนื้อหาความคิด   หากแต่เป็นกระบวนการทางจิตวิญญาณ  เพื่อตระหนักรู้ตัวเอง   อาจกล่าวว่าเป็นวิพากษ์เหตุผลซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางปรัชญา   ปรัชญาเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อที่ไปไกลกว่าประสบการณ์สามัญ   เหตุผลเป็นสิ่งที่สาวไปได้เรื่อย ๆ    โดยไม่มีที่สิ้นสุด  แต่เมื่อยิ่งคิดก็จะยิ่งพบปมที่จำกัดตัวเอง  และเป็นความพยายามที่แสวงหาความไร้ขีดจำกัดให้กับชีวิตมนุษย์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขจำกัดมันจึงมีภาวะขัดแย้งเป็นธรรมชาติ  วิภาษวิธีจึงเป็นการตระหนักรู้ถึงความขัดแย้งและไม่มีที่สิ้นสุดของเหตุผล   ในทางศาสนามันก่อให้เกิดญาณหยั่งรู้ที่พ้นไปจากบัญญัติทั้งปวง   ไม่ทำให้เราหลงไปกับบัญญัติทางโลกและช่วยให้เราจัดการกับเหตุผลในลักษณะที่นำมันมาเป็นวิถีทาง  เพื่อมุ่งสู่ความจริง  ไม่ใช่มีชีวิตอยู่   เพื่อรับใช้เหตุผล

 

       อย่างไรก็ดี   การให้น้ำหนักเชิงบวกต่อวิภาษวิธีเป็นประเด็นที่โต้แย้งได้ง่าย   เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีว่า   ปฏิเสธทัศนะหนึ่งเพื่อยืนยันอีกทัศนะหนึ่ง   ซึ่งทำให้ขัดแย้งในตัวเอง  อีกทั้งคนอาจมองว่าวิภาษวิธีเป็นเพียงอุบาย  และเป็นเพียงเครื่องมือที่ไม่สามารถแสดงจุดยืน   ของผู้ใช้ออกมาเป็นทัศนะหรือทฤษฎี   และการยืนยันทัศนะใด ๆ ก็ตามภายหลังจากการใช้วิภาษวิธีตรวจสอบแล้ว  เรื่องนั้น ๆ ก็จะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งตัวเองเป็นอย่างยิ่ง   เพราะการยืนยันทัศนะของความคิดใด ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือรู้ตัวก็ตาม ก็จัดว่าเป็นขั้วของความคิดนั้น ๆ   

       ข้อดีของวิภาษวิธี    คือทำให้เรารู้ว่าไม่มีความคิดใดสมบูรณ์แบบ   อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งสร้างจากความคิดล้วนไม่ใช่ความจริง     นาคารชุนจึงนำเสนอวิภาษวิธีไว้ในฐานะเป็นสื่อ  ไม่ใช่เป็นความจริงที่มีเนื้อหาในตัวเอง  วิภาษวิธีเป็นอุปกรณ์ที่มีไว้ให้ใช้   หากใช้เป็นอุปกรณ์นี้   ก็จะช่วยทำให้คนเกิดสติปัญญา  อีกทั้งสามารถเป็นมิตรต่อกันได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 499787เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
วิภาษวิธี....สามารถถูกมองทั้งในขอบเขตของ...ทฤษฎีความรู้...และอภิปรัชญา...สำหรับ พี่P'Ple ...เข้าใจอยาก..ไม่ค่อยเข้าใจ มากนักนะคะ....แต่ขอบคุณมาก....กับข้อมูลนี้นะคะ

สวัสดีครับ

ขอบคุณพี่ Somsri นะครับ

ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท