สองฉากอนาคตของการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อรับใช้ชาติบ้านเมือง


* ศ. นพ. ประเวศ เห็นว่า มหาวิทยาลัยมหิดลต้องไปร่วมมือกับฐานราก คือประชาชนส่วนที่เป็นประชาสังคม และชุมชน พื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยผ่านเครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเวลานี้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในหลากหลายพื้นที่ มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปทำงาน และเรียนรู้ร่วมกันกับกลไกพัฒนาที่ฐานรากอย่างเป็นภาคีเครือข่ายกัน * ศ. ดร. อมร เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปทำงานวิชาการเพื่อเปลี่ยนกติกาของบ้านเมือง คือทำงานที่ส่วนบนสุดของบ้านเมือง หรือที่ศูนย์กลาง เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ไม่เปิดช่องให้เงินเข้ามาครอบงำการเมืองไทย เป็นเผด็จการของผู้มีอำนาจเงินอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

          เมื่อวันที่ ๒๗ ก.ค. ๕๕ ระหว่างการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” แก่การประชุม จัดทำแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๕๖ - ๒๕๕๙ ที่ชะอำ    ผมได้ความคิดว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างมหิดล ต้องไม่ใช่วางยุทธศาสตร์ภายใต้ความเชื่อว่าบ้านเมืองจะอยู่ในสภาพคล้ายๆ ปัจจุบัน (ซึ่งเป็น best case scenario) เท่านั้น   ต้องวางยุทธศาสตร์ภายใต้ความเชื่อว่าในไม่ช้าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค failed state   เพราะการเมืองใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้วและคอรัปชั่นจากการใช้เงินตามนโยบายนั้น คู่ขนานกันไปด้วย   เป็นยุทธศาสตร์สองฉากอนาคต  

 

          เพราะว่าเราเห็นกันอยู่จะจะ ว่าการเมืองที่ผ่านมาในหลายประเทศในยุโรป ที่ใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว    นักการเมืองที่ได้อำนาจรัฐใช้จ่ายเงินภาครัฐเพื่อเอาใจประชาชนแบบสุดขั้ว    ในที่สุดก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ    ผู้คนตกงานเดือดร้อนทั่วไป    ดังเห็นในประเทศกรีซ   แม้ในสหรัฐอเมริกา ก็ใช้เงินภาครัฐมากเกินกำลังเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน   และกำลังเผชิญความยากลำบากในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

          ร่างแผนยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายบริหารร่วมกันยกร่างมานั้น    ค่อนไปทางมองสถานการณ์อนาคตว่าอยู่ในสภาพคล้ายปัจจุบัน   แผนยุทธศาสตร์จึงมีเป้าหมายปรับปรุงให้ดีกว่าสภาพที่เป็นอยู่    มีสมมติฐานว่าทรัพยากรที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐจะคล้ายๆ เดิม   แต่หากอนาคตเป็นไปตามฉากด้านร้าย มหาวิทยาลัยไทย (ที่เป็นของรัฐ) จะไม่ได้ทรัพยากรสนับสนุนอย่างเดิม   และในขณะเดียวกัน ก็มีภาระกู้ชาติจากหายนะทางเศรษฐกิจและการเมือง

 

          ผมตีความจากที่เห็นในการประชุมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมยังงงๆ กันอยู่    ว่าหากสถานการณ์บ้านเมืองค่อยๆ สุกงอมจนเกิดหายนะจริงๆ   เราจะทำอย่างไร   หรือให้ดีกว่านั้น มหาวิทยาลัยมหิดลจะมีบทบาทป้องกันหายนะไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

          ผู้ใหญ่ในที่ประชุมมีความเห็นด้าน action แตกต่างสุดขั้วออกเป็น ๒ แนวทาง    คือแนวทางของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี  กับแนวทางของ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ 

 

          ศ. นพ. ประเวศ เห็นว่า มหาวิทยาลัยมหิดลต้องไปร่วมมือกับฐานราก คือประชาชนส่วนที่เป็นประชาสังคม และชุมชน พื้นที่  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยผ่านเครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   ซึ่งเวลานี้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในหลากหลายพื้นที่   มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปทำงาน และเรียนรู้ร่วมกันกับกลไกพัฒนาที่ฐานรากอย่างเป็นภาคีเครือข่ายกัน

 

          ศ. ดร. อมร เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปทำงานวิชาการเพื่อเปลี่ยนกติกาของบ้านเมือง    คือทำงานที่ส่วนบนสุดของบ้านเมือง หรือที่ศูนย์กลาง    เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญใหม่    ที่ไม่เปิดช่องให้เงินเข้ามาครอบงำการเมืองไทย   เป็นเผด็จการของผู้มีอำนาจเงินอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

          ผมตีความว่า มหาวิทยาลัยมหิดลต้องมียุทธศาสตร์ 2x2   คือต้องไม่เลือกฉากอนาคตแบบใดแบบหนึ่ง    แต่ต้องมียุธศาสตร์ที่คลุมทั้ง ๒ ฉากอนาคต   และในขณะเดียวกันก็วางยุทธศาสตร์ดำเนินการทั้ง ๒ แนว คือแนวประเวศ กับแนวอมร

 

          ผมคิดอย่างนี้ เป็นวิธีคิดที่ทำได้จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ   ถ้ากำหนดยุทธศาสตร์แบบนี้ จะทำให้เป็นยุทธศาสตร์แบบไม่มียุทธศาสตร์หรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ

 

          เอามาบันทึกไว้   เพื่อเตือนสติสังคม   ว่าอย่าฝันหวานว่าอนาคตของบ้านเมืองเราจะราบรื่นเราต้องขวนขวายเตรียมเผชิญหายนะอย่างมีสติ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ค. ๕๕

ชะอำ

หมายเลขบันทึก: 499737เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

    

ศ. นพ. ประเวศ ... เห็นว่า มหาวิทยาลัยมหิดลต้องไปร่วมมือกับฐานราก คือ

        - ประชาชนส่วนที่เป็นประชาสังคม

        - ชุมชน

        - พื้นที่  

        - องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


ร่วมกันสร้าง...ความเข้มแข็ง...ของสังคมไทย ...ผ่านเครือข่ายประชาสังคม เครือข่ายชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 


         ต้อนนี้รพ. บ้านลาด ได้ร่วงมกับ อบต. ท่าช้าง

           "ทำตำบลนมแม่...ตำบลต้นแบบ"   อยู่ค่ะ ... ใน Concept...

         

              "ชุมชนเข็มแข็ง...หนุนเสริมแรงจากท้องถิ่น" 




อ่านวิธ๊คิด แนวคิดการทำงานของอาจารย์แล้ว อดภูมิใจในตนเองไม่ได้ว่า โชคดีที่มีโอกาสได้เป็นศิษย์เก่ามหิดล อิจฉาเพื่อนๆ น้องๆที่มีโอกาสเป็นอาจารย์ที่ม.มหิดล เพราะมีทุนทางสังคมที่ดี เพราะสังคมมัวัฒนธรรมองค์กรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปล อย่างไรก็ตาม แม้นจะมีโอกาสทำงานด้านบริหารในระยะเวลาสั้น แต่ภูมิใจว่าได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว สมกับเป็นศิษย์มหิดล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท