ร่วมส่งเสริมโรงเรียนสร้างทุนปัญญาและลมหายใจสังคม : ๘๙ ปีโรงเรียนอนุบาลหนองบัวของคนหนองบัว


อาคารเรียนหลังเก่าดั้งเดิมที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ผมเองและเพื่อนร่วมรุ่นก็ได้เรียนที่อาคารหลังนี้ โดยด้านที่เห็นในภาพนี้ ห้องชั้นล่างเป็นชั้น ป.๖ ก และชั้นบนเป็นชั้นเรียน ป.๗ ก

ผมได้ไปร่วมงานที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ชื่องาน เฉลิมเกียรติ ๘๐ พรรษามหาราชินี ฉลองกาล ๘๙ ปีโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ในงานมีกิจกรรมที่ถือโอกาสริเริ่มและจัดขึ้นในวาระเดียวกัน ๑๑-๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ให้มีความหมายอย่างดีที่สุดสำหรับคนหนองบัว ศิษย์เก่า ชุมชนคนหนองบัว และภาคการศึกษาในสังคมท้องถิ่น โดยถือเป็นการจัดงานวันแม่แห่งชาติ การประกาศเชิดชูแม่ดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ และชุมนุมแม่ดีเด่นของคนหนองบัวจากปีต่างๆ การจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าและประกาศศิษย์เก่าดีเด่น คนดีศรีอนุบาลหนองบัว การทอดผ้าป่าการศึกษาและการระดมทุนเพื่อสร้างอาคารเรียน ซื้อที่ดิน และสร้างศูนย์การเรียนดนตรี การแสดงและเผยแพร่ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียน การแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาวุโสและบุรพคณาจารย์

หน้างาน ตบแต่งให้บรรยากาศย้อนรำลึกสู่อดีตของศิษย์เก่าเป็นหน้ามุขของอาคารเรียนทำด้วยไม้หลังเก่า ซึ่งเคยเป็นห้องครูใหญ่และสำนักงานของโรงเรียน มีระฆังสำหรับตีเรียกเข้าแถวและพัก แขวนอยู่ด้านหน้าอาคาร

คณะกรรมการจัดงานและเป็นหลักของการจัดงานในครั้งนี้ของโรงเรียน ๒ ท่าน คือ คุณครูเรียมวิไล เรืองธีรวงศา หรือพี่เรียม กับคุณครูพิมพ์ทิพย์ บัวสนิท ได้บอกว่าคณะกรรมการจัดงานได้พิจารณาให้ผมได้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น คนดีศรีอนุบาลหนองบัวคนหนึ่งใน ๒๒ คน และให้แม่ผมได้เป็นแม่ดีเด่นในวาระวันแม่แห่งชาติของปี ๒๕๕๕ นี้ด้วยของ ๑ ใน ๘๑ คน จึงบอกกล่าวแก่ผมและชวนเชิญให้ได้กลับบ้านหนองบัวเพื่อไปร่วมงานกัน

ผมได้ทราบความเป็นมา จุดมุ่งหมาย และรูปแบบของงานแล้ว ก็นึกเห็นภาพได้ทันทีว่างานครั้งนี้เป็นงานใหญ่และไม่ใช่เป็นเพียงงานของโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นงานของคนหนองบัวทั้งอำเภอเลยทีเดียว เลยขออาสาทางโรงเรียนว่าจะร่วมทำบรรยากาศของงานให้เป็นการพบปะกันอย่างมีความหมายมากยิ่งๆขึ้นของคนหนองบัวและศิษย์เก่าทุกรุ่นของโรงเรียน โดยนำเอาชุดนิทรรศการ หนังสือ และสื่อต่างๆ เกี่ยวกับหนองบัว ไปร่วมจัดแสดงให้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เพื่อให้เป็นโอกาสสร้างการเรียนรู้หนองบัวแก่ผู้คนที่มาร่วมงานในวาระที่ดีงามและมีความเหมาะสมมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ภาพการใช้สนามของโรงเรียน ทำกิจกรรมลูกเสือ กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเอนกประสงค์ของชุมชนหนองบัว อาคารด้านหลังที่เห็นในภาพ เป็นอาคารเรียนเดิมด้านหน้าโรงเรียน สร้างด้วยไม้ซึ่งยกใต้ถุนสูงและยาวมาก ยาวตลอดพื้นที่ด้านหน้าของโรงเรียนด้านติดกับถนนด้านหน้าโรงเรียนในปัจจุบัน

โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) :
เก่าแก่และเป็นแหล่งศึกษาอบรมคนหนองบัวมาทุกรุ่นวัย

โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) เป็นโรงเรียนประจำอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบันจัดการศึกษาชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษา ๖ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ก่อนยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยและก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยก่อตั้งในปี ๒๔๖๖ มีชื่อโรงเรียน ๓ ชื่อตามพัฒนาการที่สำคัญ ๓ ยุค โดยในยุคก่อตั้ง ระหว่าง ๒๔๖๖ ถึงปี ๒๕๐๒ มีชื่อก่อตั้งเป็นโรงเรียนบ้านหนองกลับ และนำการก่อสร้างโดยหลวงพ่อเดิมหรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์

ยุคที่ ๒ ระหว่างปี ๒๕๐๓ ถึงปี ๒๕๔๒ ได้ขยายการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นในที่ดินสงฆ์ของวัดหนองกลับ นำโดยพระเทพสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นคนหนองบัว และหลวงพ่ออ๋อย หรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองกลับและเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิม พร้อมกับรวมเอาโรงเรียนในชุมชนเดิมของหนองบัวซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดหนองกลับในปัจจุบันมาดำเนินการเป็นโรงเรียนเดียวกัน ใช้ชื่อว่าโรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม)

ชื่อของโรงเรียน มีชื่อ (เทพวิทยาคม) อยู่ในวงเล็บต่อท้ายอยู่ด้วย ซึ่งเท่าที่ได้พิจารณาความจากการที่มีผู้สืบทอดไว้ให้ทราบและมีความสอดคล้องพอสมควรกับเหตุการณ์ต่างๆของการสร้างถิ่นฐานบ้านช่องหนองบัวแล้ว ก็พอจะประมวลเรื่องราวต่างๆให้ทราบความหมายและที่มาของชื่อดังกล่าวนี้เป็นเบื้องต้นได้ว่า ได้มีไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และเครื่องรำลึกถึงพระเดชพระคุณท่านพระเทพสิทธินายกผู้นำศรัทธาชาวบ้านหนองบัวมาสร้างโรงเรียน ซึ่งพระเดชพระคุณท่านเป็นคนหนองบัว มีศรัทธาคงมั่น มีธรรมบารมี และมีสติปัญญาอย่างยิ่งต่อการพากเพียรบวชเรียนศึกษาอบรม อุทิศตนแก่พระศาสนา ได้รับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าจากพระบาทพระเจ้าอยู่หัวสถาปนาสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณชั้นเทพ เป็นผู้นำแห่งสงฆ์ และเป็นเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้สำหรับยุคนั้นของคนหนองบัวทั่วไป เนื่องจากเกิดขึ้นได้ยากมากในยุคเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน แม้ในภูมิภาคอื่นๆของประเทศนอกพระนครหลวง

จากนั้น ก็ยังได้กลับมานำชาวบ้านสร้างวัดสร้างโรงเรียนให้กับถิ่นฐานบ้านเกิดในยุคที่ยังมีความกันดารอยู่ในป่าเขาห่างไกลความเจริญในทุกด้าน พระเดชพระคุณท่านจึงเป็นทั้งตัวแทนของผู้รักและมีความศรัทธามั่นในวิถีแห่งปัญญา อีกทั้งเป็นผู้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาและการสร้างคนให้เป็นผู้มีวิชาความรู้เพื่อออกไปพัฒนาประเทศชาติและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม คำต่อท้ายชื่อ เทพวิทยาคม มีความหมายได้ทั้งสองด้านว่า แหล่งที่สามารถทำให้ผู้คนได้เข้าถึงการศึกษามีวิชาความรู้ แหล่งสำหรับการเข้าถึงวิชาความรู้ที่มอบให้โดยพระเทพสิทธินายก และแหล่งที่สร้างคนให้มีความเป็นเลิศทางวิชาความรู้ เป็นเทพแห่งความมีสติปัญญาและวิชาความรู้

และยุคที่ ๓ จากปี ๒๕๔๓ ได้รับการประเมินมาตรฐานเป็นโรงเรียนอนุบาลอำเภอ โรงเรียนดีใกล้บ้านและโรงเรียนในฝัน จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) 

ปัจจุบัน โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) จึงก่อตั้งและดำเนินการมาได้ ๘๙ ปีแล้ว อีก ๑ ปีก็จะครบวาระการก่อตั้ง ๙ รอบทศวรรษ และกำลังมีพัฒนาการย่างเข้าสู่ทศวรรษสุดท้ายของรอบ ๑๐๐ ปีแรก ซึ่งเป็นห้วงเวลายาวนานในการได้จัดการศึกษาอบรมบ่มสร้างคนหนองบัวนับแต่รุ่นปู่ย่าตายายกระทั่งรุ่นลูกหลานเหลนโหลนในปัจจุบันออกไปเป็นคนหนองบัว สร้างหนองบัว ตลอดจนทำการงานในวงการต่างๆของประเทศ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และในชุมชนท้องถิ่น ไปเป็นจำนวนมาก

คนหนองบัวและศิษย์เก่า ที่ได้รับการเชิดชูเป็นศิษย์ดีศรีอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ในวาระครบรอบก่อตั้ง ๘๙ ปี เป็นส่วนหนึ่งของคนที่โรงเรียนได้สร้างให้ออกไปสู่สังคม มีจำนวน ๒๒ คน ประกอบด้วย ...

๑.นายทองสุข อยู่ศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒  ๒.นายอำนวย เหว่าโต ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนจรูญลองรัตนาคาร จังหวัดแพร่  ๓.นายวีระเดช เหลือหิรัญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ๔.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ตำแหน่งก่อนลาออกเป็นนักวิชาการอิสระ อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และรองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ๕.นายประเวศ รักษพล ตุลาการศาลปกครองกลาง และผู้อำนวยการสำนักงานประธานศาลปกครองสูงสุด

๖.นายโสภณ สารธรรม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว ๗.นายแพทย์วันชัย มานะกิจศิริสุทธิ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ๘.นางมรกต บัวมหะกุล เจ้าของโรงสีไฟย่งฮงจั้ว และผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครสวรรค์ ๙.นางคชาภรณ์ เจียนิวัตต์ ตำแหน่งก่อนเกษียณ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ชช ๙  ๑๐.นางพิมพิอร เตชะศรีประเสริฐ เจ้าของธุรกิจโรงสีไฟไทยประดิษฐ์ ๑๑.นางขนิษฐา พุ่มไพศาลชัย เจ้าของกิจการร้านไพศาลพานิช หนองบัว 

๑๒.แพทย์หญิงรวีวรรณ พรมศิลา นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลชุมแสง นครสวรรค์ ๑๓.นายสมควร ปานขลิบ นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ๑๔.นายธนา เลาหเรืองรองกุล เจ้าของกิจการโรงสีแหลมทอง ประธาน กตตร. ของ สภ.หนองบัว และประธานชมรมโรงสี หนองบัว ๑๕.นายเศรษฐา พันธุ์วิริยะพงษ์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหนองบัว และอดีต สสจ.นครสวรรค์ ๑๖.นายแพทย์วีรวัฒน์ พานทองดี วุฒิบัตรอายุรศาสตร์ทั่วไปและโรคไต โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ๑๗. นางดลฤดี ติยะโสภณจิต นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหนองบัว และอดีต สสจ.นครสวรรค์

๑๘. พันเอกโกศล ประทุมชาติ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิลละ เชียงใหม่ ๑๙. นายไพศิฐ รอดแสวง ผู้จัดการทีมพัฒนาตลาดเครือข่ายการบริการและการขาย ๓๑ ธนาคารกสิกรไทย ของเชียงใหม่ ๒๐.นายธีรพันธุ์ จันทร์จินดา รองผู้อำนวยการกองบริหารลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๑ (ภาคกลาง) ๒๑. นายศุภชัย จันท์แสนโรจน์  เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร สมัยปัจจุบัน และอดีตที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการด้านอุตสาหกรรม เลขานุการคณะกรรมาธิการการศึกษา  ๒๒. นายนิจ เพชรคง ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดระนอง กรมทางหลวงชนบท

กล่าวได้ว่า ภายใต้ความเจริญก้าวหน้านับแต่ก่อตั้งและดำเนินการจัดการศึกษาอบรมแก่คนหนองบัวและชุมชนโดยรอบมา ๘๙ ปีนั้น ลูกหลานคนหนองบัวได้มีโอกาสทางการศึกษาและออกไปทำหน้าที่การงานแก่ประเทศชาติในแทบจะทุกระดับ และในถิ่นฐานชุมชนหนองบัว ก็แทบจะกล่าวได้ว่าความเป็นสังคมหนองบัวในทุกสาขานับแต่อดีตกว่าครึ่งศตวรรษกระทั่งถึงปัจจุบันนี้นั้น กลุ่มคนผู้เป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญ เป็นศิษย์เก่าที่ได้รับการศึกษาอบรมจากโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) มากที่สุด  

พื้นที่การเรียนรู้ทางสังคมและสร้างความสำนึกผูกพันหนองบัว

ผมขนเอาชุดนิทรรศการ หนังสือ และสื่อต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ได้เคยนำไปจัดแสดงในเทศกาลงานประจำปี ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ หนองบัว เมื่อปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ นี้มาแล้ว ไปติดตั้งในงานเพื่อเพิ่มเป็นสีสันและให้บรรยากาศส่งเสริมการเดินพบปะพูดคุยกันของคนหนองบัวและศิษย์เก่าทุกรุ่นของโรงเรียน ตั้งแต่บ่ายวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ ซึ่งในช่วงเย็นจะเริ่มเป็นงานชุมศิษย์เก่า

ผู้เขียนถ่ายภาพกับนายบำรุง กรุตเพชร ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) และคุณครูพิมพ์ทิพย์ บัวสนิท ครูต้นแบบและครูรางวัลยอดเยี่ยมระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับประเทศหลายรางวัลทางด้านการสอนดนตรีและทำวงดนตรีไทยนักเรียน

เมื่อไปถึงโรงเรียน ก็ได้พบกับท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.บำรุง กรุตเพชร  ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) กำลังเป็นทั้งแม่งานและจัดเตรียมงานต่างๆ ร่วมกับคณะครูและนักเรียน และได้พบกับคุณครูเรียมวิไล เรืองธีรวงศา หรือพี่เรียม กับคุณครูพิมพ์ทิพย์ บัวสนิท ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นชั้นเรียนและเพื่อนร่วมห้องเรียนของผมด้วย ตลอดชั้น ป.๕ - ป.๗ ที่โรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) โรงเรียนประถมประจำอำเภอ และ มศ.๑-๓ ที่โรงเรียนหนองบัว โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ

ท่านผู้อำนวยการและคณะคุณครูได้ให้ผมเลือกจัดนิทรรศการโดยหามุมตามความเหมาะสมดังที่ต้องการ ทางโรงเรียนมีทีมคอยช่วยอำนวยความสะดวกและให้ความรู้สึกเป็นกันเองจนเหมือนเป็นบ้านและเป็นส่วนหนึ่งของทุกคนเลยทีเดียว

ผมมีน้องสาวซึ่งเป็นครูอยู่หนองบัวด้วยและหลานไปช่วย คือ คุณครูวิกานดา บุญเอก ของโรงเรียนหนองบัว ติดตั้งชุดนิทรรศการตรงทำเลที่กลมกลืนและเชื่อมต่อกับห้องประชุมและบริเวณตั้งโต๊ะงานชุมนุมศิษย์เก่า ซึ่งก็เหมาะสมดีมากแล้ว แต่หลังจากกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวกลับไปร่วมงานอีกครั้ง ทางโรงเรียนก็จัดให้ใหม่เป็นสัดส่วนและเหมาะสมมากยิ่งกว่าเดิม เหมือนกับเป็นห้องเรียนรู้ความเป็นชุมชนหนองบัวประกอบอยู่ในงานห้องหนึ่งเลยทีเดียว

คนหนองบัวและศิษย์เก่าของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ยืนซ้าย : นายนิจ เพชรคง ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดระนอง กรมทางหลวงชนบท ขวา : ประเวศ รักษพล ตุลาการศาลปกครองกลาง และผู้อำนวยการสำนักงานประธานศาลปกครองสูงสุด กำลังเดินชมนิทรรศการและย้อนรำลึกความทรงจำกับศิษย์เก่ารวมทุกรุ่น

สื่อและแผ่นพับแจกจ่ายฟรี อนุเคราะห์จัดทำขึ้นโดยพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) เป็นที่สนใจแก่ผู้ร่วมงานมาก 

นิทรรศการที่จัดในวาระนี้ติดตั้งไว้ ๒ วันในวันชุมนุมศิษย์เก่า ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๕ กับวันแม่แห่งชาติและวันทอดผ้าป่าการศึกษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ระหว่างงานมีผู้ชมนิทรรศการ ให้ความสนใจ และก่อให้เกิดความตื่นตัว นำไปสู่การได้รวมกลุ่มพูดคุยกันในหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับผู้คนและชุมชนหนองบัวอย่างได้อรรถรส ให้บรรยากาศและวาระการเดินพบปะคุยกันเพื่อเรียนรู้ตนเองของคนหนองบัวเกิดขึ้นดังที่ต้องการ

สื่อแผ่นพับที่ผมกับท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย(ขำสุข) ได้ทำขึ้นเผยแพร่เมื่องานงิ้วและได้นำมาแจกจ่ายในงานนี้อีกได้รับความสนใจมาก เป็นการสร้างพื้นการเรียนรู้ พื้นที่การอ่าน พื้นที่การศึกษาค้นค้วา สร้างความผูกพันและสร้างสำนึกร่วมในการรักถิ่นฐานบ้านเกิดในวิถีแห่งปัญญาของคนหนองบัวที่มีชีวิตชีวามากที่สุดครั้งหนึ่ง 

ครูและบูรพคณาจารย์ของคนหนองบัว ของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) บางส่วนที่ยังคงสุขภาพดีและยังมีชีวิตอยู่ มาร่วมรำลึกความทรงจำและดูความเจริญงอกงามของโรงเรียนในทุกด้าน

ชุมนุมแม่ดีเด่นของคนหนองบัวและวันแม่แห่งชาติ

ครูบูรพคณาจารย์ แม่และสถาบันครอบครัวคนหนองบัว และวันแม่แห่งชาติ :
รวมคนสร้างลูกหลานหนองบัว สร้างหนองบัว และร่วมสร้างสังคมไทย

ตอนเย็นของวันชุมนุมศิษย์เก่า นอกจากมีกิจกรรมย้อนรำลึกและนำเสนอพัฒนาการความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆของโรงเรียนที่น่าประทับใจมากในทุกกิจกรรมแล้ว ทางโรงเรียนได้มีการเชิญบุรพคณาจารย์ทุกท่านของโรงเรียนที่ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นสู่เวทีเพื่อรับการเชิดชูเกียรติคุณและรับการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาจากเหล่าลูกศิษย์ทุกรุ่น ซึ่งในแง่หนึ่งนั้น กระบวนการดังกล่าวนี้ ก็จัดว่าเป็นวาระการยกย่องเชิดชูพ่อแม่ด้วยเช่นกัน โดยเป็นพ่อแม่ทางปัญญาความรู้ของคนหนองบัวศิษย์เก่าของโรงเรียนทุกรุ่น

ในวันรุ่งขึ้น วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ก็เป็นการจัดงานวันแม่แห่งชาติและเชิดชูแม่ดีเด่นของคนหนองบัว รวมทั้งเชิญแม่ดีเด่นจากทุกปีมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อน้อมเกล้าเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถแม่แห่งชาติด้วย กล่าวได้ว่า แม่และครอบครัวลูกหลานของคนทุกสาขาของหนองบัวที่มาร่วมงานกันในครั้งนี้ เป็นกลุ่มคนสร้างลูกหลานและสร้างสุขภาวะส่วนรวมหนองบัวให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

ร่วมสร้างความมีชีวิตของลมหายใจสังคม
และการเป็นหน่วยสั่งสมทุนทางปัญญาของโรงเรียน

งานที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่างที่ถือโอกาสดำเนินการขึ้นในวาระเดียวกัน คือ การจัดงานวันแม่แห่งชาติ การประกาศเชิดชูแม่ดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ และชุมนุมแม่ดีเด่นของคนหนองบัวจากปีต่างๆ การจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าและประกาศศิษย์เก่าดีเด่น คนดีศรีอนุบาลหนองบัว การทอดผ้าป่าการศึกษาและการระดมทุนเพื่อสร้างอาคารเรียน ซื้อที่ดิน และสร้างศูนย์การเรียนดนตรี การแสดงและเผยแพร่ความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียน การแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูอาวุโสและบุรพคณาจารย์

ผมได้มีส่วนร่วมหลายอย่างไปตามกำลัง แต่ส่วนที่ผมเองนั้นให้ความสำคัญมากกว่าส่วนอื่นๆก็คือ การซื้อที่ดินและสร้างศูนย์เรียนรู้ดนตรี การจัดทำหนังสือที่ระลึกของงาน ๘๙ ปีในครั้งนี้ กับการได้จัดนิทรรศการและทำสื่อแจกจ่าย ชวนคนเรียนรู้เรื่องหนองบัว

ดนตรีและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาของสังคมในการแสดงออกทางด้านการพัฒนาจิตใจและความสร้างสรรค์ของสังคมที่เชื่อมโยงออกมาจากชีวิตด้านใน สื่อสะท้อนความละเอียดลึกซึ้งต่อชีวิตและสรรพสิ่ง ให้ความบันเทิงและเบิกบานแจ่มใสจากข้างใน เพื่อโน้มนำพลังชีวิตและวิถีสังคมให้มุ่งไปสู่ความสร้างสรรค์สิ่งดีงาม วางอยู่บนฐานจิตใจที่สงบเยือกเย็น เอิบอิ่ม เผื่อแผ่ อ่อนโยน บรรเทาทุกข์และลดความร้อนรนของชีวิต ทำให้ชีวิตจิตใจมีโอกาสพัฒนาให้เกิดความกว้างขวางอยู่เสมอ จนสามารถอยู่ในภพภูมิซึ่งมีความเป็นปรกติสุขในใจและเอื้อต่อการเกิดความงอกงามได้มากกว่ามโนสำนึกแห่งการรู้เพียงการใฝ่อยู่รอดและคับแคบอยู่กับความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

เมื่อร้องเพลงหรือเล่นดนตรีนั้น เราจะตระหนักรู้ได้เป็นอย่างดีว่า ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นห้วงเวลาที่เราจะต้องกำกับตนเอง เปลี่ยนให้ลมหายใจและความสำนึกรู้ทั้งมวลที่กำลังหล่อเลี้ยงดูแลการสร้างชีวิตของเราเองให้หยุดลง แล้วชั่วขณะหนึ่งของลมหายใจที่ต้องหยุดลงทั้งหมดดังกล่าวนั้น จึงจะสามารถนำมาใช้เปล่งเสียงร้องสร้างทำนองเพลงและดนตรีกาล ดังนั้น การดนตรีจึงเป็นการเรียนรู้และใช้พลังทั้งมวลของมนุษย์ที่แลกชีวิตด้านความอยู่รอดกับด้านความงอกงามของชีวิต มารังสรรค์ความมีชีวิตทางดนตรีและนาฏการ ให้สามารถเข้าไปอยู่กับภาวะดั้งเดิมของจิตหรือจิตประภัสสร และเชื่อมโยงได้ถึงมิติอันประณีตที่มีอยู่ในธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม มุ่งสู่ความมีชีวิตและการสร้างสุขภาวะส่วนรวม ผ่านการดนตรี ที่ต้องได้ปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมเป็นองค์ประกอบแห่งความสุขกับผู้อื่นเสมอ

กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในมิตินี้ เป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอิงถิ่นฐานที่มีความเฉพาะตนของสังคมไทย กลุ่มประเทศอาเซียน และสังคมในโลกตะวันออก เป็นรากฐานที่ลงลึกไปได้ถึงระดับจิตวิญญาณของการสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยี ที่กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ จะต้องให้ความสำคัญและลงทุนดำเนินการอย่างเหมาะสมเพียงพอ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) เป็นแห่งหนึ่งในจำนวนของสถานศึกษาและชุมชนส่วนน้อย โดยเฉพาะในแหล่งที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพมหานครและศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในภูมิภาคด้วยกันดังเช่นหนองบัว ที่จะสามารถริเริ่มและดำเนินการขึ้นได้

ส่วนการจัดทำหนังสือนั้น จัดว่าเป็นการลงทุนทางปัญญาและเป็นการสั่งสมทุนสำหรับความเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งของวัฒนธรรมใช้ความรู้ คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ทางโรงเรียนได้ริเริ่มจัดทำขึ้น ผมจึงร่วมสนับสนุนเขียนเรื่องราวของคนหนองบัวและเป็นเรื่องที่สะท้อนอยู่ในเพลงพวงมาลัย การเล่านิทาน และการละเล่นหลายอย่างของคนหนองบัว ซึ่งก็จะเป็นทั้งการเสริมพลังให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ของโรงเรียนที่ทำขึ้นให้มีความหมายยิ่งๆขึ้นต่อการบันทึกจรดจารและสานต่อเรื่องราวของถิ่นฐานบ้านช่องคนหนองบัว ผมซื้อไว้ ๖ เล่ม ทั้งสำหรับการเก็บสะสมของตนเอง และสำหรับเป็นสื่อคารวะแก่กันในโอกาสต่างๆ ซึ่งก็ได้มอบถวายแก่ท่านพระอาจารย์มหาแลและท่านพระอธิการโชคชัยด้วยแล้ว

ขณะเดียวกันก็เป็นที่ระลึกการพัฒนาการศึกษาและสร้างศูนย์การเรียนรู้ดนตรีของโรงเรียน รวมทั้งร่วมสร้างทุนทางปัญญาให้กับสังคมไปด้วย ในหนังสือมีภาพและข้อมูลเกี่ยวกับหนองบัว โรงเรียน ครูบูรพคณาจารย์ และอีกหลายอย่างที่จะหาอ่านและชมจากแหล่งอื่นๆได้ยาก บางเรื่องจะไม่สามารถหาศึกษาและนำมาชื่นชมได้จากแหล่งอื่น นอกจากในหนังสือที่บันทึกและถ่ายทอดไว้ในวาระ ๘๙ ปีของโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)แห่งเดียวนี้เท่านั้น .

หมายเลขบันทึก: 499245เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบคุณอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
ที่แวะมาเยือนและทักทายกัน ติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆของอาจารย์ จนนึกเห็นภาพอาจารย์ตะรอนๆขึ้นลงดอยและเข้าออกเมืองอยู่เป็นกิจวัตรเลยละครับ   

กิจกรรมเชิดชูแม่ดีเด่นและวันแม่แห่งชาติ เทิดพระเกียรติ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

                     

                     

                     

                     

                     

 

ได้ทราบข่าวจากคุณครูวิกานดา เล่าให้ฟังในวันที่พบกันที่โรงเรียนหนองบัว(๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๕) ในงานประชุมเครือข่ายครูพัฒนาการเรียนรู้บูรณาการอิงถิ่นฐาน ครั้งที่ ๒ ว่าในงานนี้ คนหนองบัวที่ไปร่วมงานและชมนิทรรศการเวทีคหนองบัว เห็นเรื่องราวจากสื่อ แล้วชอบเอกสารแจกฟรี ต่างขอเอกสารไปอ่านกันมากมาย

แค่รู้ว่ามีคนอยากได้ข้อมูลชุมชน แล้วนำติดตัวไปอ่านที่บ้านกันอย่างนี้ ในฐานะคนที่มีส่วนได้ร่วมทำแม้เพียงนิดๆหน่อยๆ ก็รู้สึกพลอยดีใจไปด้วยเป็นอย่างมาก

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
และขอขอบคุณ อ.นุครับที่แวะมาเยือน 

แผ่นพับที่พระคุณเจ้าทำไว้แจกจ่ายเมื่องานงิ้วนั้น สำหรับงานนี้คนเดินมาขอตลอดเลยครับ ก่อนเก็บในวันที่สอง ก็ยังมีคุณครูที่จะไปประชุมในตัวจังหวัด มาขอเอาไปนำเสนอและแจกจ่ายในงานประชุมที่จะไปร่วมอีก หนังสือหลายเล่มก็ไม่พอแจก เลยต้องวางและจัดให้ยืนอ่านและชมอย่างกับเป็นห้องสมุดเปิดเลยละครับ ดูคึกคักดี ทางโรงเรียนก็ดูพอใจมากที่ทำให้งานได้บรรยากาศของการพบปะและกลับมาย้อนความทรงจำกัน พร้อมกับได้ความรู้และความคิดดีๆหลายอย่างจากงานกลับไป

ขอบคุณครับคุณหมอทิมดาบครับ
ใช่เลยครับ งานนี้ได้ความรู้สึกความเป็นญาติพี่น้อง
และเห็นคนร่วมชุมชนเดียวกันทั้งอำเภอเป็นอย่างดีเลยครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

  • ข่าวดีจังเลยค่ะ ขอร่วมแสดงความยินดีด้วยนะคะ ..
  • ขอแสดงความยินดีกับ แม่บุญมา คุณแม่ดีเด่นของครอบครัว "คำศรีจันทร์" ด้วยนะคะ
  • ขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม) ในวาระครบรอบก่อตั้ง ๘๙ ปี ของโรงเรียนด้วยค่ะ
  • ขอแสดงความยินดีกับศิษย์เก่าดีเด่น "ศิษย์ดีศรีอนุบาลหนองบัว(เทพวิทยาคม)" กับอาจารย์ผศ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในวาระครบรอบก่อตั้ง ๘๙ ปีของโรงเรียนด้วยเช่นกันค่ะ
  • ^^

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
ถือเป็นการมอบบูชาแด่พระคุณของพ่อแม่และครูบาอาจารย์
ในวาระอย่างนี้เลยละครับ 

น่าชื่นใจแทนคุณครูทุกท่านที่สร้างทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศชาติได้มากมายขนาดนี้นะคะ เด็กๆรุ่นปัจจุบันที่ได้เห็นประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชน ของโรงเรียนน่าจะมีความภาคภูมิใจและช่วยกันรักษาเอาไว้และกลับมาช่วยกันพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อๆไปนะคะ อาจารย์ อยากให้ทุกๆชุมชนของบ้านเรามีคนคิด คนช่วยกันทำแบบนี้ทุกหย่อมหญ้า บ้านเรามีเรื่องน่าภูมิใจมากมายในทุกๆชุมชน ขอเพียงเจ้าของพื้นที่ที่เรียนกันสูงๆอย่าทิ้งถิ่นเท่านั้นเองนะคะ กลับมาช่วยกันรวบรวมข้อมูล ช่วยกันเผยแพร่ให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรามี ถ้าเรารักพื้นที่ของเราเสียอย่าง ความเจริญจอมปลอมที่ไหนก็มาทำให้ชุมชนแตกแยกไม่ได้

สวัสดีครับ ดร.โอ๋-อโณครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดนี้มากเลยครับ ถิ่นฐานบ้านเกิดและถิ่นที่เราได้อยู่อาศัยต่างๆนั้น มีหลายสิ่งที่จะมีความผสมกลมกลืนอยู่กับวิถีชีวิต วัฒนธรรมจิตใจ และผูกพันกับผู้คนอย่างลึกซึ้ง หากจะศึกษาและสร้างความรู้ รวบรวมภูมิปัญญาต่างๆ ทั้งเพื่อใช้ชี้นำการพัฒนาทางด้านต่างๆของการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีสุขภาวะในปัจจุบันให้อย่างสอดคล้องกับความจำเพาะของถิ่นฐาน หรือต้องถือว่าจำเป็นที่คนในรุ่นต่างๆต้องมีบางส่วนที่คิดที่จะสร้างและสั่งสมสืบทอดให้คนรุ่นต่อๆไปแล้วละก็ ก็คงจะไม่มีใครที่จะทำได้ดีและทำให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืนได้ดีเท่ากับคนในชุมชนและคนที่ได้อยู่ในถิ่นอาศัยนั้นๆช่วยกันทำเลยนะครับ

ผมว่าทั้งคนที่เป็นบ้านเกิดและคนที่ได้อาศัยทำการงานและอยู่อาศัย ในพื้นที่ต่างๆนี่ ต้องรีบกลับไปช่วยกันทำ ริเริ่มขึ้นในบ้านเกิดและถิ่นอาศัยของเราเองนี่แหละนะครับ รวมทั้งผ่านไปทางไหน หรือพบเห็นเรื่องราวอะไร ก็รีบบันทึกถ่ายทอดไว้เลย ถ่ายทอดด้วยสายตาของเราและถอดบทเรียนจากประสบการณ์เชิงสัมผัสของเรา ให้ลงลึกไปถึงระบบวิธีคิด โลกทัศน์ชีวทัศน์ ที่อยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ต่างๆ เท่าที่เราเองมีกำลังสติปัญญาจะทำได้ในห้วงนั้นๆ แล้วก็เรียนรู้พัฒนามันไปเรื่อยๆ หากรอทำโดยหาดูคนอื่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้แบบอย่างที่ดีที่สุดหรือรอให้คนที่ทำได้ดีกว่า รวมทั้งรอใช้ความรู้ของต่างประเทศที่ดีกว่ามาทำให้ หรือมาชี้นำการปฏิบัติให้ ก็ยากที่จะได้ทำได้อย่างทั่วถึงและทันกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนของสังคมซึ่งเร็วมากยิ่งๆขึ้นนะครับ เมื่อไม่มีการให้ความสำคัญและชุมชนในพื้นที่ต่างๆไม่มีการทำอย่างนี้ไว้ ก็เชื่อว่าอีกไม่กี่ปี สภาพความเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วไปหมด ก็จะทำให้ประสบการณ์ของสังคมไทย ซึ่งโดยมากนั้น ก็จะอยู่ในตัวคน ประสบการณ์ชุมชน และสืบทอดไว้ในวัฒนธรรมมุขปาฐะ ไม่มีอยู่ในสังคมวัฒนธรรมหนังสือและความรู้แบบมีการบันทึกสืบทอดให้กันทางสื่อความรู้ ต้องสูญเปล่าไปกับการล้มหายตายจากกันไปของผู้คนแต่ละรุ่น ดังนั้น ลูกหลานและคนในถิ่นฐานบ้านเกิดและถิ่นอาศัยต่างๆ จึงน่าจะหาโอกาสคิดและทำเรื่องอย่างนี้ทีละเล็กละน้อยกันบ้างตามแต่เงื่อนไขต่างๆจะเอื้อให้ทำกันได้นะครับ

หากชุมชนและพื้นที่ต่างๆ มีการสร้างความรู้ในลักษณะนี้ช่วยกันทั่วประเทศ ก็เชื่อว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคม รวมทั้งการเห็นตนเองของผู้คนในสังคม จะมีความลึกซึ้งและได้ปัญญาที่เชื่อมโยงกับความเป็นจริงอีกหลายอย่างของสังคมที่เราไม่เคยรู้ และในระบบความรู้ของสังคมก็ไม่เคยมีให้เข้าถึงกัน อีกมากมายมหาศาลเลยนะครับ เลยขอสนับสนุนและจะถือหลักคิดของดร.โอ๋-อโณ บ่มเป็นหลักคิดไปกับการทำงานกันของคนหนองบัวไปด้วยเสมอๆนะครับ เห็นประเด็นสำคัญและมีความหมายมากนี้ด้วยอย่างมากครับ

ขอขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนนะครับ
อาจารย์ Wasawat Deemarn อาจารย์ณัฐพัชร์ คุณเอกจตุพร
ดร.โอ๋-อโณ  และคุณหมอทิมดาบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท