บุรีเทวี วิถีแห่งศิลปะ ความงาม ความสุข


สภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยโบราณว่าอยู่ท่ามกลางความอิสระของธรรมชาติโดยจะอยู่ในรูปทรงที่เขาเนรมิตรขึ้นมา แต่คนปัจจุบันไม่มีรูปทรง ไม่สามารถประสานตัวเองเข้ากับธรรมชาติได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่าเขาไม่สามารถร้องเพลงประสานเสียงกันได้ ในที่นี้คือการประสานเสียงทางวัฒนธรรมที่จะทำให้เป็นเพลงอมตะ นั่นเพราะเขาขาดครูในทุกรูปแบบ ขาดความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ขาดความริเริ่มสร้างสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องทั้งธรรมชาติและสิ่งปรุงแต่งที่จะให้สอดคล้องกับธรรมชาติ

“เมื่อเราสร้างกฎ เราเข้าใจตัวเราเองว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิและมีข้อจำกัด เมื่อเราสร้างงานศิลปะ  เราอาจจะเห็นตัวเราเองว่าอัจฉริยะหรือไม่ก็ไร้เดียงสา เราไม่สามารถรู้ว่าเราคือใครหรือกลายเป็นอะไร เว้นแต่ว่าเรามองตัวเองในกระจกแห่งวัตถุ ซึ่งเป็นโลกทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างโดยผู้คนที่มีชีวิตก่อนพวกเรา โลกที่เราเผชิญอยู่นี้คือวัฒนธรรมทางวัตถุและยังคงดำรงอยู่อย่างมีวิวัฒนาการผ่านตัวเรา”[1]

                                                                                                                 (Miller, 2005)

 

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ยากที่จะค้นหาชีวิตทางวัฒนธรรม (Cultural Life) ที่ฝังหรือแฝงไว้ เพื่อให้ลูกหลานได้ชื่นชมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยเรา 

อยุธยา บุรีเทวี ผลงานสถาปัตยกรรม "การสร้างเมือง" โดยท่านอาจารย์ดุลย์พิชัย โกมลวานิช

 

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสทอง เขียนงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่งานอันมีชื่อเสียงและยังไม่ได้ตีพิมพ์ แต่เป็นโอกาสทองของตัวเองที่ได้สัมภาษณ์ท่านอาจารย์ดุลย์พิชัย โกมลวานิช นักออกแบบสถาปัตยกรรมและศิลปะโบราณในพระนครศรีอยุธยาและเป็นคนอยุธยาโดยกำเนิด ท่านเป็นคนข้างกายของท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างพื้นที่ความสุขร่วมกับข้าพเจ้า

 

ข้าพเจ้าเขียนงานเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และมองเห็นว่าการลงพื้นที่สนามจริง จะทำให้มองเห็นวิธีคิดของนักสถาปัตยกรรมที่มีใจศรัทธาในงานศิลปะโบราณและผสมผสานกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

 

"เห็นทั้งผลงานและเห็นทั้งกระบวนการสร้างงานอย่างมีชีวิต ศิลปะ และความสุข"

                   

ทุกพื้นที่ เหมือนมีชีวิต มีแสง เงา และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์

 

ท่านอาจาย์ดุลย์พิชัยจุดประกายแนวคิด "การสร้างเมือง" ซึ่งบูชาความประณีต งดงาม เป็นธรรมชาติ และเป็นอิสระ ท่านกล่าวว่า

 

 “คนโบราณบูชาความช้า บูชาความยาก บูชาธรรมชาติ ขณะที่คนยุคใหม่บูชาความเร็ว บูชา ความง่าย บูชาของไม่จริง

 

งานสถาปัตยกรรมของท่านส่วนใหญ่จึงพิถีพิถัน โดยวัสดุหลายชิ้นงานทำจากฝีมือแรงงาน มิใช่จากโรงงาน  ได้แก่ กระเบื้อง อิฐ ประตู หน้าต่าง สิ่งประดับตกแต่งที่เป็นองค์ประกอบงดงามลงตัว "มีเสน่ห์และสง่างาม"

 

 

 

อาจารย์ดุลย์พิชัยกล่าวว่าการอนุรักษ์วัสดุดั้งเดิมเป็นสาระสำคัญในการทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมแบบไทย ๆ เลยทีเดียว    แนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นไทยในปัจุบัน อาจารย์ดุลย์พิชัยยอมรับว่ามีบทบาทสำคัญมาก โรงงานทำกระเบื้อง อิฐ และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ได้ทำเลียนแบบให้มีรูปร่างลักษณะแบบกระเบื้องและอิฐโบราณมากมาย  ผู้คนในยุคใหม่ฉาบฉวยมองแยกแยะไม่ออกว่ากระเบื้องและอิฐที่รูปลักษณ์ดูโบราณทำมาจากโรงงานนั้นมีส่วนประกอบมาจากวัสดุธรรมชาติ และกรรมวิธีผลิตดั้งเดิมหรือเปล่า หรือจะเรียกว่าไม่สนใจอะไรเลยด้วยซ้ำ ท่านจึงใส่ใจในรายละเอียดฝีมือแรงงานที่ทำวัสดุแต่ละชิ้นขึ้นมา

 

ผลงานใดที่สร้างด้วยฝีมือ คือการใส่ชีวิตไว้ในวัตถุ หากงานใดทำจากเครื่องจักร อาจจะหาความประณีต ความงดงาม และประวัติ (history) ยากสักหน่อย

 

 

แนวคิดการสร้างเมืองของท่าน มีแม่น้ำไหลผ่าน มีธรรมชาติต้นไม้โอบล้อม มีลม แสงแดดที่เหมาะสมในแต่ละมุม

 

        

 แต่ละพื้นที่ที่เดินผ่าน ท่านมองการณ์ไกลไปถึงว่า "ต้องทำให้ผู้มาเยือนฉุกคิดอย่างมีสติ"

 

                      

  ประตูทางเข้าแต่ละจุดประดับตกแต่งด้วยอิฐทำมือล้อมรอบด้วยต้นไม้

                  

                                   ประตูทางเข้าไปภายใน

                               ที่นั่งสนทนาชั้นบน

 

 

จากชั้นบนมองลงมาเห็นชั้นล่าง มีเจดีย์ประดับงามสง่าริมน้ำ

 

อาจารย์ดุลย์พิชัยอธิบายถึงสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยโบราณว่าอยู่ท่ามกลางความอิสระของธรรมชาติโดยจะอยู่ในรูปทรงที่เขาเนรมิตรขึ้นมา  แต่คนปัจจุบันไม่มีรูปทรง   ไม่สามารถประสานตัวเองเข้ากับธรรมชาติได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่าเขาไม่สามารถร้องเพลงประสานเสียงกันได้ ในที่นี้คือการประสานเสียงทางวัฒนธรรมที่จะทำให้เป็นเพลงอมตะ  นั่นเพราะเขาขาดครูในทุกรูปแบบ ขาดความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ขาดความริเริ่มสร้างสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องทั้งธรรมชาติและสิ่งปรุงแต่งที่จะให้สอดคล้องกับธรรมชาติ หากขาดสามอย่างนี้แล้ว สร้างอะไรมาก็จะเป็นปัจเจกบุคคล เป็นแบบตัวใครตัวมัน เมืองทั้งเมืองที่สร้างกันขึ้นใหม่จึงเละเทะไปหมดแทบจะไม่มีความเป็นไทยโบราณแบบอยุธยาหลงเหลืออยู่  

 

 

   

                                จุดนั่งพักและชมวิวชั้นบน

 

 

                   ที่นั่งระหว่างทางเชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ

 

                   

             ที่นั่งสนทนาหารือ จิบน้ำชากาแฟอย่างมีความสุข

 

ภาพบรรยากาศ "อยุธยา บุรีเทวี" สะท้อนแนวคิด "การสร้างเมือง" ในอุดมคติของอาจารย์ดุลย์พิชัย ซึ่งท่านได้นำประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิตมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกของตนเอง หลังจากที่ที่ผ่านมาสร้างบ้าน สร้างอาคาร สร้างโรงแรมให้กับผู้มีใจใฝ่งานสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์หลายต่อหลายท่าน

 

ทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าหวังว่าเราคือสมาชิกชุมชนนักปฏิบัติ "โครงการสร้างพื้นที่ความสุข" และท่านที่สนใจจะมาร่วมสังเกตการณ์ จะได้ไปเยือนด้วยกัน โดยข้าพเจ้าได้ขออนุญาตพี่นุชแล้วที่จะนำเรื่องเล่าและภาพบรรยากาศมาเผยแพร่ค่ะ

 

นอกจากเราจะได้เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการสร้างพื้นที่ความสุขจากทุกท่าน เรายังได้สัมผัสกับบรรยากาศงานสถาปัตยกรรมกับแนวคิด "การสร้างเมือง" เชิงอนุรักษ์ของอาจารย์ดุลยูพิชัยด้วยค่ะ เวลาที่ข้าพเจ้าเข้าสู่บรรยากาศ "เมืองบุรีเทวี" อดรู้สึกชื่นชมในภูมิปัญญาของอาจารย์ดุลย์พิชัยไม่ได้เลยค่ะ ยังไม่รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพที่พี่นุชมักมีเมนูดี ๆ มานำเสนอผู้มาเยือนอยู่เนือง ๆ ค่ะ

 

                            ด้วยความรักและปรารถนาดี

 

ปล ภาพบรรยากาศบุรีเทวีจะนำเสนออีกในบันทึกต่อไป ซึ่งเป็นภาพชั้นในสุดค่ะ ได้แก่ ห้องนอน และห้องน้ำ คอยติดตามชมนะคะ


[1]Miller, “Materiality: An Introduction,” Materiality,  p. 8

คำสำคัญ (Tags): #enneagram#happy ba#บุรีเทวี
หมายเลขบันทึก: 498503เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2012 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สถานที่สร้างพื้นที่ความสุข ???

  • อาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Blank แวะมาประเดิมด้วยคำถาม บังเอิญว่าเป็นคำถามที่อยากตอบด้วยค่ะ
  • จริง ๆ แล้วเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตอนไปอบรมที่โรงพยาบาลบ้านแพรกค่ะ เกี่ยวกับสัปปายะ 7 ค่ะอาจารย์
  • "สัปปายะ 7 หมายถึงสิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย ได้แก่       
  •  1. อาวาสสัปปายะ ที่อยู่ซึ่งเหมาะกัน เช่น ไม่พลุกพล่านจอแจ       
  •  2. โคจรสัปปายะ ที่หาอาหาร ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป      
  •  3. ภัสสสัปปายะ การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ 10และพูดแต่พอประมาณ       
  •  4. ปุคคลสัปปายะ บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ      
  •  5. โภชนสัปปายะ อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันไม่ยาก       
  •  6. อุตุสัปปายะ ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกัน เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป เป็นต้น       
  • 7. อิริยาปถสัปปายะ อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกกับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี
  • หากเราสามารถหาสถานที่ที่สัปปายะได้จะเอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีค่ะอาจารย์
  • เรียนเชิญอาจาย์ออกมาจากเบื้องหลังได้ทุกเมื่อนะคะ โปรโมทขนาดนี้แล้ว 555  

...

ถามสั้น ตอบยาว
ดูหนาว ใช้ได้
สัปปา -ยะใจ
สงสัย จะดี

โปรโมท น่าดู
อู้ฮู สดศรี
สถานที่ เหมาะดี
ขนาดนี้ จึงเชิญ (ท่านอื่น)

...

อิ อิ

  • เรียนอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Blank กองเชียร์หรือกองแซว 555
  • เดี๋ยวไปหาเองก็ได้ค่ะ แหม ทำยังไงก็ไม่เปลี่ยนใจนะ
  • แต่สิ้นเดือน สค นี้ ไปร่วมงานของคุณหมอ กัลยาณมิตรที่แสนดีของเราก่อนแล้วนะคะ รอชมภาพบรรยากาศได้เลยค่ะ

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya จะไปที่ไหนกันครับ ;)...

ไปแอบดูบ้างได้ไหม ???

  • ได้ซิคะ อาจารย์ Blank เห็นคุณหมอบอกว่าอาจจะเป็นพัทยาค่ะ ไปได้ไหมคะ เดินทางวันที่ ๓๑ สค จัดวันที่ ๑-๒ กย คุณหมอใจดี น่าจะดีใจมากที่จะมีอาจารย์ไปร่วมสังเกตการณ์ค่ะ
  • งามแบบเรียบง่ายไม่รุงรัง แต่แสดงถึงความประณีต สังเกตอาจารย์ตุลย์พิชัย ใช้การเปลือยอิฐกับไม้ ตามที่ท่านสะท้อน "คนโบราณบูชาความช้า บูชาความยาก บูชาธรรมชาติ" ..แบบนี้คงต้องหาโอกาสไปเยือนสักครั้งค่ะ
  • สงสัยนิดหนึ่ง ที่มาของ "บุรีเทวี" หากเป็นบุรีเฉยๆ พอเข้าใจ แต่พอใส่เทวีเพิ่ม ไม่แน่ใจว่ามีนัยยะใดค่ะ

ขอชื่นชมคำถามของคุณหมอ ป. Blank นะคะ  คำถามนี้เคยถามอาจารย์ดุลย์แล้วค่ะ (แสดงว่าใจตรงกัน) อาจารย์เคยอธิบาย อาจจะจำความไม่ได้ทั้งหมดนะคะ ที่มาของบุรีเทวีสืบเนื่องมาจาก การบูชาแม่ค่ะ แม่พระคงคาที่โอบลัอมและไหลผ่านอยุธยาค่ะ จริง ๆ ท่านอธิบายได้อย่างลึกซึ้งและยาวกว่านี้ แต่ความจำไม่ดีค่ะ ขอเชิญคุณหมอไปถามด้วยตนเองนะคะ (อิอิ) ตอนไหนก็ได้ที่สะดวก เชื่อว่าพี่นุุชคงดีใจมากค่ะ

งดงามสะท้อนงานศิลป์ที่น่าชื่นชมมากค่ะ..ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ

ชอบอิฐเก่าเล่าเรื่องราว ให้เรารับรู้ประวัติและวัฒนธรรมอันงดงามของเรา ชื่นชมยินดีด้วยครับ

  • ความงามของลวดลายไม้ไม่ธรรมดาเลยค่ะพี่ใหญ่ Blank อ่อนช้อย โปร่ง สบายตามากค่ะ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ
  • เขียนสถาปัตยกรรมที่งามอย่างมีศิลปะแต่บ้านตัวเองเป็นแบบสมัยใหม่ค่ะ เสียดายว่าซื้อนานแล้ว หลังต่อไปที่เชียงใหม่จะเนรมิตบ้านแบบเรียบง่ายที่สุดค่ะ คงไม่ถึงกับโบราณมากนัก เพราะทราบว่าวัสดุดั้งเดิมเชิงอนุรักษ์มีราคาสูงพอควรค่ะ
  • อิฐทำมือมีประวัติศาสตร์บอกกล่าวเล่าเรื่องได้อย่างที่คุณ พ.แจ่มจำรัสBlank กล่าวมาเลยค่ะ คนทำอิฐที่เคยไปลงพื้นที่มาส่วนใหญ่วัยหกสิบกว่าปีขึ้นไป ส่วนวัยหนุ่มสาวไปทำงานโรงงานค่ะ
  • วัสดุที่ทำมือ ยอมรับว่าราคาสูงกว่าทำจากโรงงานมากนัก ต้องคนมีใจรักงานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจริง ๆ และมีกำลังเงินพอสมควรจึงสร้างเมืองและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ออกมาผ่านสิ่งก่อสร้างได้ค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาเยี่ยมเสมอ ๆ ดีใจที่ได้เจอค่ะ

งามจริงค่ะ ดูแล้วมีความสุข

 

กลับมาอ่านแบบช้าช้า ชื่นชมความพิถีพิถัน ความยาก อีกทีค่ะ

ชอบอิฐและสีของอิฐที่ตัดกับสีขาวอื่น งามมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • ภาพประกอบให้รายละเอียดได้อย่างน่าประทับใจมาก
  • ประศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สุดของมวลมนุษยชาติ
  • ขอบคุณมากครับ ที่ให้ทั้งข้อมูลความรู้ และความสุขในเวลาเดียวกัน

คุณศิลาเขียนถึงอยุธยาบุรีเทวีได้อย่างเข้าถึงปรัชญาแห่งการสร้างเมืองแห่งนี้ขึ้น จะนำไปให้อาจารย์ดุลย์พิชัยได้อ่านด้วยค่ะ

อาจารย์วัสฯ มีคำถามเยอะ ต้องชวนมาสัมผัสให้มีประสบการณ์ตรง ^__^ อาจมีคำถามตามมาอีกเยอะ

ขอตอบคุณหมอป.พอสังเขปตรงนี้เกี่ยวกับความหมายของ อยุธยาบุรีเทวี ค่ะ เป็นการตั้งชื่ออย่างมีนัยซ่อนไว้จริงๆ ดังที่คุณศิลาได้ตอบไว้สั้นๆว่าเป็นการบูชา "แม่ธรรมชาติ" ซึ่งเป็นผู้สร้าง ที่เน้น แม่ เน้น สตรี เพราะเป็นความสงบ ความประนีประนอม ความเกื้อกูล

แม่ธรรมชาติที่อาจารย์ดุลย์พิชัย ยกมาเป็นเทวีแห่งนี้ มี ๕ แม่ อาจารย์ดุลย์พิชัยได้กล่าวไว้ดังนี้ค่ะ

สังคมสยามมีเหตุ-ปัจจัย จากธรรมชาติ อำนวยให้เกิดความอุดมแก่ประเทศ มายาวนาน ๕ ประการ

  • เหตุข้อแรก ประเทศสยามมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และชนชาวสยามก็เห็นความสำคัญของน้ำดั่งแม่ผู้หล่อเลี้ยงชีวิต ความตระหนักและสำนึกข้อนี้ การดูแลรักษาแม่น้ำ-สายน้ำจึงมีความเคารพประดุจแม่ ระมัดระวัง มิได้ล่วงเกิน อีกทั้งเมื่อถึงยาม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี ก็ได้จัดพิธีขอขมาต่อสายน้ำนั้น และเชื่อว่ามีเทวี นามว่า คงคาเทวี เป็นผู้ดูแลรักษาสายน้ำอันเป็นคุณแก่มวลมนุษย์ เรียกขานกันว่า พระแม่คงคา
  • เหตุข้อสอง ประเทศสยามมีวัฒนธรรมแห่งพื้นดิน ดินมีความสำคัญ ดินประดุจแม่ที่สิ่งมีชีวิตทั้งปวงถือกำเนิดและอาศัยอยู่ จึงมีความเชื่อและขนานนามดินว่า พระแม่ธรณี มีความเคารพว่า พระแม่ธรณีเป็นทรัพย์หลักในการดำรงชีพของชนชาวสยาม ทุกครั้งที่ย่างก้าว หรือเหยียบย่ำพื้นดิน จิตของทุกคนต่างให้ความสำนึกแห่งคุณในข้อนี้
  • เหตุข้อสาม ประเทศสยาม มีความเชื่อในคุณของอากาศ เชื่อว่าในอากาศมีเทพเทวีรักษาอยู่มากมาย หนึ่งในเทวีที่รู้จักกันดี คือ มณีเมขลาเทวี ซึ่งเป็นนางฟ้า เทวีแห่งท้องฟ้าอันกว้างใหญ่และสายฝน
  • เหตุที่สี่ เหตุอันอุดมสมบูรณ์น้ำ อุดมดิน และการที่มีอากาศธาตุอำนวยตามฤดูกาล เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเทวีแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร เคียงคู่ชนชาวสยามอย่างยาวนาน ความสำนึกคุณข้อนี้ จึงขนานนามเทวีแห่งพืชทั้งปวงว่า โพสพเทวี หรือ พระแม่โพสพ ซึ่งมีทั้งพิธีหลวงบำรุงขวัญก่อนการเพาะปลูก ตลอดจนพิธีทำขวัญข้าวโดยชาวนาเมื่อรวงข้าวเข้าสู่ระยะตั้งท้อง เป็นประเพณีสืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่โบราณกาล
  • เมื่ออุดมด้วย ๔ เหตุอันเป็นคุณูปการแก่มวลมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข จึงกำเนิดเทวีองค์สุดท้ายขึ้น คือ สุรัสวดีเทวี ซึ่งดูแลสติปัญญา จิตใจ อันมีองค์ประกอบของศิลปวิทยาในสายเลือด

 ขอเชิญคุณหมอป.และทุกท่านมาเยือนกันได้ค่ะ

มายกมือขอไปคนแรกค่ะ

 

เมืองแห่งความสงบเงียบ

งามและน่าเกรงขาม เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์

สายน้ำไหลเอื่อยทอดตัว พาให้ใจคนมองเยือกเย็น

ต้นไม้แอบขึ้นระหว่างกำแพงและก้อนอิฐ


อยุธยา บุรีเทวี ขอให้ได้ไปเยือนสักครั้งเถิด

 

 

                

  • ขอบคุณอาจารย์ศิลา และอาจารย์ยุวนุชค่ะ
  • เพียงชื่อก็ลึกซึ้งแยบยลจนน่าค้นหา
  • ดีใจที่ทราบว่าท่านอาจารย์ตุลย์พิชัย มาช่วย "แปง" สถาปัตยกรรมในเชียงใหม่ด้วยคะ  ^__^ (ชอบสัญลักษณ์นี้คะ น่ารักจัง)
  • หากคุณkunrapee  Blank แวะมาชมด้วยตนเอง อาจจะมีความสุขกว่านี้ก็ได้นะคะ
  • สถาปัตยกรรมแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกสงบเย็นอย่างน่าประหลาดใจค่ะ คุณปริม Blank อิฐเปลือยให้ความรู้สึกหวนนึกถึงบรรพบุรุษและภาคภูมิใจในความเป็นไทยในอดีต ตัดกับสีขาวบริสุทธิ์ ให้ความรู้สึกปลอดภัย สบายใจ และเยือกเย็นค่ะ เมื่อนำมาใช้รูปทรงโค้งมนก็จะยิ่งเหมือนว่าเราอยู่โบสถ์ วิหาร วัดค่ะ เป็นความงามเคียงคู่กับความสงบอย่างลงตัวค่ะ
  • ขอบคุณคุณ สันติสุข สันติศาสนสุขBlankมากค่ะ ที่กรุณาแวะมาชมความงามประวัติศาสตร์ศิลปะไทย สถาปัตยกรรมในรูปลักษณะนี้หายากมากขึ้นทุกวันค่ะ เราอาจจะเห็นรูปแบบเหมือน แต่กรรมวิธีอาจจะไม่ใช่ สิ่งนี้ ผู้ที่มีใจรักในการอนุรักษ์หรือผู้มีสายตาอันละเอียดอ่อนจะสัมผัสได้ค่ะ
  • ขอบคุณพี่นุช Blank มากค่ะ ทำให้ความจำค่อย ๆ กลับคืนมาทีละนิดค่ะ
  • "แม่" จึงมีความหมายหลากหลายมิติ และมีคุณูปการแก่มวลมนุษยชาติอย่างมากค่ะ

ทราบว่าพี่นุช รอพี่หมอเล็ก Blank มาแล้วนะคะ ผ่านช่วงน้ำหลากมาหลายหลากแล้ว พี่หมอเล็กก็ยังไม่มา... หวังว่า "การสร้างภาพ" ขนาดนี้แล้ว จะถึงเวลาแห่งการมาของพี่แล้วนะคะ  ต้นไม้ที่แอบขึ้นระหว่างกำแพงและอิฐก็รอพี่อยู่เช่นกันค่ะ

ดีใจค่ะที่ได้ยินคำนี้  "เพียงชื่อก็ลึกซึ้งแยบยลจนน่าค้นหา" ค่ะ อาจารย์ หมอ ป.Blank แสดงว่ามีเสน่ห์ลึกลับ... แต่จะลึกซึ้งแยบยลกว่านี้หากค้นหาไม่เจอค่ะ... เหมือนเป็นปริศนาที่ถูกซ่อนไว้... แบบนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท