ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๑๖.ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยวิธีเล่นพวกหรือเอาเปรียบ


       หนังสือ The Price of Inequality : How Today's Divided Society Endangers Our Future หน้า ๙๖ หัวข้อ A distorted economy -- rent seeking and financialization -- and a less well-regulated economy กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

       ข้อความระบุพฤติกรรมของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทยา ในหนังสือ   กระตุ้นให้ผมทบทวนตัวเอง   ว่าผมรังเกียจและขยะแขยงพฤติกรรมเหล่านั้น   และเฝ้าสั่งสอนฝึกฝนตนเอง ให้เอาชนะแรงขับดันฝ่ายต่ำ ที่มาจากความเห็นแก่ตัว

       ตามในหนังสือ สะท้อนความเห็นแก่ตัวจัด จัดมาก ถึงจัดที่สุด ของวงการธุรกิจ   ที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อกำไรสูงสุด   โดยมีวิธีที่แยบยลคือหาทางให้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง   เขาจึงมีนักวิ่งเต้น (lobbyist) ถึง ๓,๑๐๐ คน ที่ทำงานให้แก่อุตสาหกรรมสุขภาพ,  และอีก ๒,๑๐๐ คน ทำงานให้แก่อุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ   ผู้เขียนหนังสือ คือศาสตราจารย์  Joseph Stiglitz ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ก่อผลดีต่อเศรษฐกิจ   ค่าใช้จ่ายสำหรับผลประโยชน์จากการเอาเปรียบสังคม เป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ   โดยค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. ๒๐๑๑ สูงถึง ๓,๒๐๐ ล้านเหรียญ หรือกว่าแสนล้านบาท   เงินเหล่านี้เป็นสิ่งสูญเปล่า และก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือทำให้ productivity ลดลง   เขามีคำอธิบายที่ซับซ้อนที่ผมไม่นำมาบันทึก ณ ที่นี้

       ผมมีความเชื่อมาตลอด ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ว่าความเห็นแก่ตัวจัดเป็นการทำร้ายสังคม และทำร้ายตนเอง   ที่ว่าทำร้ายตนเองก็เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจัด คนดีเขาไม่นับถือ  ยากแก่การทำงานใหญ่   หรือทำงานใหญ่ได้ ก็เป็นงานในหมู่คนเห็นแก่ตัวจัดด้วยกัน   ซึ่งจะเป็นงานที่ก่อโทษแก่สังคม   ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กว่าอย่าประกอบอาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสังคม  แต่ที่ผู้ใหญ่สอนผมตอนผมเป็นเด็กนั้น เราเข้าใจการเบียดเบียนแบบชัดเจนตรงไปตรงมา   เช่นขายเหล้า   ประกอบอาชีพที่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นต้น   แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ผมจึงได้เรียนรู้ว่า  โลกเราเต็มไปด้วยการเบียดเบียนแบบซ่อนเร้น แอบแฝง   มองเผินๆ เหมือนเป็นของดี   ต้องการการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง จึงจะมองเห็นมายาเหล่านี้

       จะเห็นว่าข้อความในหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งเน้นเรื่องของสหรัฐอเมริกา) บอกเราว่า ในสังคมวัตถุนิยม ทุนนิยม การเมืองกับธุรกิจมีแนวโน้มจะร่วมมือกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน   โดยสูบเอาผลประโยชน์มาจากส่วนรวม (rent seeking)   ผมคิดว่าสังคมไทยก็เดินตามแนวทางนี้

       ใน สรอ. สังคมของเขาเข้มแข็ง  มีกลไกด้านสื่อ ที่คอยดูแลผลประโยชน์ของสังคม   และมีกลไกทางวิชาการเข้มแข็งที่คอยตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงซ้อน ที่ทั้งซับซ้อนและซ่อนเงื่อน และบอกแก่สังคม   ดังกรณีของหนังสือเล่มนี้

       ผมจึงเห็นโอกาสมากมายขององค์กรทางวิชาการไทย ที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม   ไม่ให้หลงเดินทางผิดในเชิงระบบและเชิงนโยบาย   ผมขอเชิญชวนนักวิชาการไทยทุกสาขา อ่านหนังสือเล่มนี้ และคิดโจทย์วิจัยในสังคมไทยจากประเด็นสำคัญๆ

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๕๕   

หมายเลขบันทึก: 497393เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตินำบทความนี้ไปเผยแพร่ในเวปไซด์ www.thaiihdc.org และใน facebook ของผมด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท