อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (๑)


ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป... ตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงตามกระแสสายธารของกระบวนการแห่งสังสารวัฏฏ์ เมื่อมองในแง่หลักเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะของสามัญลักษณะดังกล่าว ก็จะสะท้อนออกมาเด่นชัดเจนในรูปของวงจร “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (economic cycles)

ในพระพุทธศาสนา กฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ถือได้ว่าเป็นแก่นหรือหัวใจหลักโดยแน่แท้ ที่สอนให้รู้จริงถึงวงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันนำไปสู่หนทางในการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ รวมทั้งปฏิจจสมุปบาทยังเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานของ “กฎไตรลักษณ์” ที่เป็นภาวะบังคับ บีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปคงอยู่ในรูปเดิมไม่ได้ ซึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมทั้งครอบคลุมถึง กฎธรรมชาติ ทั้งหมด

 

          อิทัปปัจยตาหรือปฏิจจสมุปปบาท ถือได้ว่าเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ซึ่งมีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาทหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่าย เพราะเคยมีเรื่องที่พระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระองค์และได้ตอบดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๕๒ : ๘๐)  

          “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่าย ๆ”

         “อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้นอานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ ไปไม่ได้”

          ผู้ศึกษาพุทธประวัติแล้ว คงจำพุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาได้ว่า ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ดังความในพระไตรปิฎกว่า

          “ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิต จึงจะรู้ได้”

          “ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย ยินดีอยู่ในอาลัย ละเลิงอยู่ในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์ รื่นละเลิงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และคนอื่นไม่เข้าใจซึ่งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”

 

        “ปฏิจฺจ” แปลว่า อาศัยกัน “สมุปฺบาท” แปลว่า เกิดขึ้นด้วยกัน “ปฏิจจสมุปบาท” จึงแปลได้ความว่า  ธรรม (มีอาการ ๑๒ ประการ) ที่เกิดขึ้นด้วยกัน โดยอาศัยกัน (พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน ภาวิไล, ๒๕๕๑ : ๑๖ – ๑๗)

         ปฏิจสมุปบาท จึงเป็นการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะอาศัยกัน หรือ ธรรมมีอาการ ๑๒ ประการ อันอิงอาศัยกัยกัน เกิดขึ้นด้วยกัน โดยมิได้มีธรรมหนึ่งธรรมใดเกิดขึ้นโดยอิสระ หรือเป็นเอกเทศ โดยสรุปจำแนกอาการที่เป็นปัจจัยกันได้ดังนี้

        ๑     เพราะอวิชชา           เป็นปัจจัย          สังขารจึงมี

        ๒     เพราะสังขาร           เป็นปัจจัย          วิญญาณจึงมี

        ๓     เพราะวิญญาณ         เป็นปัจจัย         นามรูปจึงมี

        ๔     เพราะนามรูป           เป็นปัจจัย          สฬายตนะจึงมี

        ๕     เพราะสฬายตนะ       เป็นปัจจัย         ผัสสะจึงมี

        ๖      เพราะผัสสะ            เป็นปัจจัย         เวทนาจึงมี

        ๗     เพราะเวทนา            เป็นปัจจัย         ตัณหาจึงมี

        ๘     เพราะตัณหา            เป็นปัจจัย         อุปาทานจึงมี

        ๙      เพราะอุปาทาน        เป็นปัจจัย          ภพจึงมี

      ๑๐     เพราะภพ                 เป็นปัจจัย         ชาติจึงมี

      ๑๑     เพราะชาติ                เป็นปัจจัย         ชรามรณะจึงมี

      ๑๒    (เพราะ ชรามรณะ   เป็นปัจจัย หรือ เพราะธรรมทั้งปวงนี้ เป็นปัจจัย) ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจก็มีพร้อม     

 

         อิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท คือ อริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นการแสดงให้ทราบว่าทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะดับลงไปได้อย่างไร ซึ่งการที่ทุกข์เกิดขึ้นและดับไปนั้น มีลักษณะที่เป็นไปในกระแสสายธารแห่งธรรมชาติที่อาศัยซึ่งกันและกันตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน

 

         การเชื่อมโยงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา         

        ในพระพุทธศาสนามองภาวะของสรรพสิ่งที่อิงตามหลักแห่งความเป็นจริงของสามัญลักษณะ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เป็นไปในลักษณะของการ “มองทุกสิ่งตามจริง (กฎธรรมชาติ) ที่มันเป็นไป ไม่ใช่ มองทุกสิ่งตามจริงที่ใจอยากให้เป็น” หรือโดยเข้าใจกันทั่วไปที่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป... ตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงตามกระแสสายธารของกระบวนการแห่งสังสารวัฏฏ์ เมื่อมองในแง่หลักเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสภาวะของสามัญลักษณะดังกล่าว ก็จะสะท้อนออกมาเด่นชัดเจนในรูปของวงจร “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (economic cycles)  ซึ่งจากการศึกษาและการสังเกตการเคลื่อนไหวของรายได้ประชาชาติในระยะยาว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์พบว่าการหมุนเวียนของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่าง ๆ นั้น จะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงสลับไปสลับมาเหมือนลูกคลื่น (phases) จากระยะที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตจนถึงขีดสุดแล้วก็จะค่อยๆ ชะลอตัวลงมาจนถึงจุดต่ำสุด และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นไปใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรทางเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไป นักเศรษฐศาสตร์จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยแบ่งระยะวัฏจักรเศรษฐกิจจำแนกออกเป็น ๔ ระยะ ประกอบไปด้วย

              ๑. ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (economic recovery) เป็นภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำถึงขีดสุด ในระยะนี้เศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มจะดีขึ้น สินค้าที่เหลือค้างสต็อกเริ่มค่อยๆ ทยอยขายออก ราคาสินค้าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น การคาดคะเนกำไรของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น ผู้ผลิตจะหันมาลงทุนในกิจการมากขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น การจ้างงานก็จะสูงขึ้น กอปรกับประชาชนเริ่มมีรายได้ดีขึ้น ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินอื่น ๆ จะเริ่มปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้น

             ๒. ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (economic prosperity) เป็นระยะที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู มีบรรยากาศแห่งการลงทุนที่ดี ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการคาดคะเนกำไรไปในทางที่ดีมากคือมีความมั่นใจ ในอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ การลงทุนต่างๆจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นมาก และสามารถจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการได้มากขึ้น เป็นระยะที่มีการซื้อง่ายขายคล่อง เศรษฐกิจจะมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง ราคาของสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อขึ้นมาได้

             ๓. ระยะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) เป็นระยะที่ต่อเนื่องกับระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง เมื่อภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่แล้วผลที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือแรงกดดันที่จะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น เนื่องจากการที่มีการผลิต การลงทุน และการบริโภคโดยรวมเกินกว่ากำลังการผลิตของประเทศ รวมทั้งการที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นเพราะจะต้องแข่งขันกันในการแย่งชิงขอคืนพื้นที่ของทรัพยากรการผลิตมาใช้ผลิตสินค้าและบริการในกิจการของตน สภาพการแข่งขันกันผลิตทำให้ราคาและผลตอบแทนลดต่ำลง ผู้ผลิตเกิดความไม่มั่นใจในอนาคตทำให้ลดการลงทุน ส่งผลให้การผลิตและการจ้างงานลดลง รายได้ของประชาชนน้อยลง สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มมีแนวโน้มที่เลวลง

            ๔. ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression) เป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะเศรษฐกิจถดถอย การลงทุนรวมจะลดลงมาก กอปรกับอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ธนาคารและสถาบันการเงินจะเร่งรัดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการชำระเงินต้นและจ่ายคืนดอกเบี้ย และมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการขยายวงเงินสินเชื่อออกไป ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะไม่มีความมั่นใจในกำไรและอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ ไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่จะตัดสินใจลงทุน ทำให้การลงทุนชะงักงัน ในที่สุดเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัวลงถึงจุดต่ำสุด ภาวะการซื้อง่ายขายคล่องจะหายไป สินค้าเดิมที่ผลิตออกมาแล้วก็ขายไม่หมด มีสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก มีการลดการผลิต ลดการจ้างงาน เกิดภาวะการว่างงานกระจายตัวโดยทั่วไป ประชาชนไม่ค่อยมีกำลังซื้อเพราะมีรายได้ลดลงมาก

                      

                       ภาพ ๑ : วัฏจักรเศรษฐกิจ  

 

       “วัฏจักรเศรษฐกิจ” (economic cycles) เป็นกระบวนการที่เป็นไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นวงจรต่อเนื่องกันมายาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนนั้นได้แก่ ความต้องการ  การสนองตอบ  ราคา (เทียบสัมพัทธ์)  การแลกเปลี่ยน  เงิน  การสะสมความมั่งคั่ง  การเก็งกำไร  และวิกฤติเศรษฐกิจ (ตกงานและการล้มละลาย)  ซึ่งเหตุปัจจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันในกระบวนการของการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปในสังคมเศรษฐกิจ   

 

 ***********************************************************************************************

 

 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ให้คำนิยามว่า อิทัปปัจจยตา “ภาวะที่มีอันนี้ ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย, กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ




 

หมายเลขบันทึก: 497336เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณข้อเขียนดีๆให้อ่านทุกวันค่ะ ...ช่วงเข้าพรรษานี้คงเป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธมากขึ้น ด้วยการทำความเข้าใจในสิ่งที่ท่านเขียนมาแบ่งปัน และฝึกปฏิบัติบ้างเป็นครั้งครา..หลังจากที่ปกติ ในแต่ละวัน ทำได้เพียงแต่สวดมนต์และใจก็นิ่งได้เมื่อมีอะไรกำกับ (บทสวด) จากนั้นก็แกว่งไปมาแล้วแต่สภาวะ..

เมื่อวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมาได้..เข้าไปอ่านงานของท่าน ขอบคุณสำหรับคำอธิบาย "กฏธรรมชาติ" ที่ปรากฏและอ้างถึงในบันทึก อ่านใคร่ครวญอยู่นาน ยังต้องใช้เวลาอ่านอีก วันนี้ในบันทึกนี้เมื่อท่าน. อ้างถึง ก็แลยนึกขึ้นได้ ..พยายามนึกตัวอย่างประกอบไปในบริบทที่นำไปทำความเข้าใจ ก็คงดีขึ้นสักวัน :-))

      ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับที่แวะเข้ามาทักทายและให้กำลังใจอยู่เสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท