เรื่องเล่าจากลูกสู่แม่ ตอน " ค่าน้ำนม "


ผู้เขียนรู้แต่เพียงว่าการดูดนมวัวจากกล่อง คงอบอุ่นสู้นมจากอ้อมอกของแม่ไม่ได้แน่นอน ส่วนความหวานนั้นคงจะได้จากความสัมพันธ์ที่สื่ออกมาจากใจแม่สู่ลูก มันคือจุดเริ่มต้นของสายใยรักจากครอบครัวครับ

    

       

                                                        ภาพโดย : สุริยา  คำโสภา

              “ ควรคิดพินิจให้ดี   ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม  แน่นอนครับ...จากวรรคหนึ่งในบทเพลง “ ค่าน้ำนม  ของคุณไพบูลย์  บุตรขัน   ได้การันตีถึงคุณค่าของน้ำนมแม่ไว้อย่างสุดซึ้ง  ว่า “ จะมีอะไรเหมาะสม”  นั่นหมายถึง  คุณค่าของน้ำนมแม่หาสิ่งใดเทียบเท่าไม่มี  ไม่ว่าจะเชิงคุณค่าทางด้านอาหาร  หรือคุณค่าทางด้านจิตใจ   ผู้เขียนเคยเข้าอบรมที่อนามัยของหมู่บ้านเรื่องสุขภาพดีด้วยนมแม่   มีตอนหนึ่งที่คุณหมอกล่าวว่า  “ น้ำนมแม่เสมือนวัคซีนหยดแรก  ที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ทารกได้เป็นอย่างดี ” 
               
ผู้เขียนเองเกิดในครอบครัวชาวนามีฐานะค่อนข้างยากจน   จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับรสชาติของนมแม่มากหน่อย  เมื่อได้รับความรู้จากคุณหมอ   ผู้เขียนใจชื้นขึ้นมามากในเรื่องสุขภาพร่างกายที่ได้รับจากนมแม่แต่วัยเด็ก   แม่เคยบอกผู้เขียนว่าผู้เขียนดื่มนมแม่จนกระทั่งอายุถึง  2  ขวบ  แม่ถึงให้เลิกดื่ม แม่หากลวิธีต่างๆนานา เช่น ใช้บอระเพ็ดทาให้หัวนมมีรสขมบ้าง  หลอกว่าเอาขี้ไก่มาทาบ้าง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอะไรมากนักที่แม่ทำอย่างนั้น  ประการแรกลูกโตขึ้นฟันเยอะขึ้น  เวลาลูกดูดนมหัวนมแม่เป็นแผลแม่เจ็บ    ประการที่สองเมื่อถึงประมาณลูกอายุได้ 1 ขวบครึ่ง วิตามินและสารอาหารในน้ำนมของแม่ก็เริ่มจะลดลง  แม่จึงพยามหาวิธีเสริมสร้างสารอาหารด้านใหม่ให้ลูกมากกว่า   การเสริมสร้างสารอาหารด้านใหม่ก็ไม่มีอะไรมากตามวิถีเรียบง่ายของชาวบ้าน  คือ  การเคี้ยวข้าวเหนียวให้ละเอียดห่อใส่ใบตองกล้วยแล้วนำไปย่างไฟให้สุก  บ้านผู้เขียนเรียกว่า  “ ข้าวหมก ”  เมื่อสุกแล้วจะมีกลิ่นหอมมาก กลิ่นหอมของใบตองและข้าวเหนียวย่างไฟชวนรับประทานเจริญอาหาร  ผู้เขียนเองชอบมาก ด้วยข้าวเหนียวมีน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตสูงจึงสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายเหมาะสมกับวัยได้ดี   นี่ก็เป็นอีกภูมิปัญญาชาวบ้านด้านหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดมาแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยาย สู่ลูกหลาน  ควบคู่ไปกับการดูดดื่มนมแม่   หากตอนนี้มีใครถามผู้เขียนว่า “ นมของแม่อร่อยไหม?”   ผู้เขียนเองคงไม่แน่ใจนักว่ารสชาติที่ติดลิ้นมันจะหวานสู้นมวัวในปัจจุบันได้ไหม ...  ผู้เขียนรู้แต่เพียงว่าการดูดนมวัวจากกล่อง   คงอบอุ่นสู้นมจากอ้อมอกของแม่ไม่ได้แน่นอน  ส่วนความหวานนั้นคงจะได้จากความสัมพันธ์ที่สื่อออกมาจากใจแม่สู่ลูก  มันคือจุดเริ่มต้นของสายใยรักจากครอบครัวครับ

หมายเลขบันทึก: 497195เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"หยดน้ำนมแม่นั้นกลั่นจากอก

แม่ฟูมฟักเลี้ยงลูกผูกจิตมั่น

ยามลูกหิวป้อนให้ลูกทุกวี่วัน

ดูดดื่มพลันทันจิตไม่ผิดใจ

รสกลมกล่อมพรัอมคุณค่าอาหารเสริม

ไม่ต้องเติมหรือตัดธาตุไหนไหน

ภูมิต้านทานมีครบสบฤทัย

เชื่อมสายใยแม่ลูกผูกสัมพันธ์

 

  • ละนมกินข้าวอ่อน
  • แม่เคี้ยวป้อนอิ่มเอมใจ
  • ลูกน้อยต้องการใด
  • แม่พร้อมให้ทุกเวลา

"นมวัว สัก ๑๐๐ กล่องหรือจะเท่านมแม่เพียงหยด"

"พระคุณใดไหนเล่าเท่าพระคุณแม่..."

รักแม่ให้มาก ๆ

  • "ผู้เขียนรู้แต่เพียงว่าการดูดนมวัวจากกล่อง  คงอบอุ่นสู้นมจากอ้อมอกของแม่ไม่ได้แน่นอน ส่วนความหวานนั้นคงจะได้จากความสัมพันธ์ที่สื่ออกมาจากใจแม่สู่ลูก มันคือจุดเริ่มต้นของสายใยรักจากครอบครัว"
  • นมแม่มีค่าหาเปรียบเปรยไม่ได้ก็คงเพราะเป็นเลือดในกายของแม่ที่ส่งความอบอุ่นและสายใยรักมาสู่ลูกดังท่านกล่าวมานั่นเอง
  • ขอบคุณมากค่ะท่าน

ขอบพระคุณ ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า ,ท่านแว่นธรรมทอง และท่านSila Phu-Chaya ที่แวะเวียนเข้ามาทักทายพร้อมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ให้ผู้เขียนมีกำลังใจในการสร้างสรรค์เรื่องดีๆต่อไป หากพลาดพลั้งประการใดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

kunrapee ก็กินนมแม่ตั้ง ๒ ปีเหมือนกันค่ะ แม่บอกว่าไม่ยอมเลิกเหมือนกันเลย ฮ่าฮ่า

 

สวัสดีครับที่ไปตอบให้ผมนะครับ

ซึ่งท่านคงเข้าใจผิดอยู่นะครับ 

กษณ ที่แปลว่า ชั่วคราวนั้นก็ใช้ นั้นคือความหมายที่หนึ่ง ผมคิดว่าท่านคงเป็นพจนานุกรม จึงได้ความหมายแบบนี้นะครับ

แต่ กษณ นั้น กริยาที่ทำเป็นนาม มีความหมาย ว่า สิ้นไป แตกไป  ดับไป ประทุษร้าย  ทำลาย ครับ (ความมีเยอะกว่านี้ ผมยกมาเป็นตัวอย่าง)

จึงนำมาใช้ในการเกษียณอายุ นะครับ 

และทำไม กษณ จึงเป็น เกษียณ ได้ ผมคิดว่าคนที่ใช้ผิด ก็คงแทบ กับว่า กษิร คิดว่าคง กษิณ แน่ ๆ แต่แท้ที่จริงไม่ใช่นะครับ

ขอกล่าวสั้นนะครับผมยาวนะครับถ้าจะอธิบายไปกว่านี้ 

ส่วน สมาส การต่อ  สนธิก็ต่อ  แต่ทั้งสองไม่เหมือนกันนะครับ คนละอย่างกันครับ

ขอบคุณที่แวะไปทักนะครับ

ยินรับขอเสนอนะครับ ดูพจนานุกรม Apte ของสันสกฤตก็ได้ครับ อาจไม่ชัดแต่ก็พอใช้ได้

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท