มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น


ภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย, พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522, พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537, พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543

มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น [1]

สุนทร  ลิ้มวรรณเสถียร [2]

 

บทนำ

ปัญหาการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัจจุบันได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นว่าเป็นองค์ความรู้และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีส่วนแก่การพัฒนาประเทศ แต่ทั้งนี้ในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าวของประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยตรง  มีเพียงกฎหมายทั่วไปและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้นที่นำมาใช้ในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งการใช้กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นปัญหาในเรื่องของการตีความ อีกทั้งองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย

ท่ามกลางกระแสแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ สังคมโลกได้ประจักษ์ว่าวิธีการในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบดั้งเดิมนั้น  มีความสอดคล้องอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ  จึงให้ความสำคัญแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นเคียงคู่กันไปด้วย แต่กระนั้นก็ตาม  ทัศนคติที่มีต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเทศที่พัฒนาแล้วกับในประเทศที่กำลังพัฒนากลับมีความแตกต่างกัน  โดยประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะถือว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นความรู้สาธารณะที่บุคคลใดย่อมนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ประเทศกำลังพัฒนากลับมีความเห็นว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า  ดังนั้น  ชุมชนที่ถือครองภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นจึงมีสิทธิที่จะหวงกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยมิชอบหรือโดยปราศจากความยินยอม  ทัศนคติที่แตกต่างกันเช่นนี้ทำให้การพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ปัจจุบันภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นคนในสังคมต่างตระหนักและเห็นความสำคัญในฐานะที่เป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ในยุคปัจจุบัน  โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้อันเป็นผลมาจากการใช้ทักษะ ความชำนาญ และประสบการณ์ของคนในชุมชนหรือท้องถิ่นในการเรียนรู้และแก้ปัญหา ซึ่งได้สืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกคนหนึ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งที่สร้างคุณูปการต่อชุมชน สังคม และประเทศนั้น ๆ

จากปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันประเทศไทยได้มีความพยายามในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  แต่ความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวยังขาดความสมบูรณ์อยู่หลายประการ  เนื่องจากประเทศไทยยังคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  ซึ่งระบบกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการละเมิดภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือปัญหาโจรสลัดทางชีวภาพ  ซึ่งระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกฎหมายที่บัญญัติเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางความคิด ในระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญามีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่จำกัดแก่ผู้ประกอบการเอกชนในการลงทุนทางปัญญาและทุนทรัพย์  ทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นระบบการคุ้มครองทรัพย์สินที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้แบ่งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออกเป็น 3 ประเภท คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ซึ่งอาจแบ่งการพิจารณาได้ดังนี้

 

1. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

การได้มาซึ่งการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์นั้น ต้องเป็นการสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ แต่ทั้งนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางประเภทอาจถือไม่ได้ว่าเป็นสิ่งใหม่อันจะเข้าเงื่อนไขการได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์  นอกจากนี้การคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงานหรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดปฏิบัติกันมารุ่นสู่รุ่นย่อมไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับการคุ้มครอง  นอกจากนี้ข้อจำกัดของการคุ้มครองวรรณกรรมภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ก็คือ การมีอายุการคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์บวกกับอีก 50 ปีภายหลังจากที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้ว [3] ซึ่งโดยมากงานวรรณกรรมที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถือเป็นงานดั้งเดิมจริง ๆ ที่ไม่ได้กลับมาเขียนซ้ำมักจะเป็นงานที่มีอายุนับร้อย ๆ ปี ดังนั้นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานเหล่านี้ก็ได้หมดลงไปแล้ว  ดังนั้นการจะได้รับการคุ้มครองในฐานะเป็นวรรณกรรมก็ยังขาดหลักฐานที่จะเป็นวัตถุแห่งสิทธิภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์อยู่

 

2. พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

การได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายสิทธิบัตรนั้นมีเงื่อนไขการได้รับการคุ้มครอง คือ [4]

1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ

3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

การได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ซึ่งระบบกฎหมายสิทธิบัตรได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ จะรวมถึงทั้งผลิตภัณฑ์และกรรมวิธี ดังนั้นในทางทฤษฎี บุคคลในชุมชนที่คิดค้นการประดิษฐ์ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวย่อมสามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับคามคุ้มครองตามกฎหมาย จากหลักเกณฑ์ของการคุ้มครองดังกล่าว การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นในระบบกฎหมายสิทธิบัตรยังไม่มีความเหมาะสมอยู่หลายประการ คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางประเภทนั้นอาจจะไม่เป็นสิ่งใหม่ หรือไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นอันจะเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการได้รับความคุ้มครอง นอกจากนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบางประเภทได้มีการเกิดขึ้นมาเป็นร้อยปี ซึ่งระยะเวลาในการคุ้มครองของระบบกฎหมายสิทธิบัตรมีเพียง 20 ปีเท่านั้น  จึงกล่าวได้ว่าระบบกฎหมายสิทธิบัตรยังขาดความเหมาะสมในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

3. พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

มาตรา 8 "เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน...

...(10) เครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือคล้ายกับเครื่องหมายดังกล่าว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม

(11) เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับ (1) (2) (3) (4) (5) (6) หรือ (7)

(12) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น..."

จะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการกำหนดข้อห้ามไม่ให้นำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า  แต่ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าไม่ได้ห้ามมิให้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังเช่นกรณีของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าห้ามมิให้นำสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า  ดังนั้นหากเกิดกรณีข้อเท็จจริงในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าขึ้น  การนำพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นก็คงจะทำได้ยาก

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า  หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีความเหมาะสมสอดคล้องต่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น  แต่ก็อาจมีข้อโต้แย้งว่า  ประเทศกำลังพัฒนาสามารถดัดแปลงเงื่อนไขในกฎหมายเหล่านั้นให้เกมาะสมต่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นได้  ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาหลายประการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการคุ้มครองจะส่งผลทำให้หลักการและระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบิดเบือนไป

ภูมิปัญญาท้องถิ่นอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง  ที่อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเกิดจากองค์ความรู้ที่นำมาปฏิบัติจนกลายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้น และเมื่อพิจารณาถึงความมุ่งหมายของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว  จะเห็นได้ว่ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ทรงสิทธิเพื่อกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ และนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม หรือเกิดการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้น หลังจากนั้นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเข้าไปคุ้มครองผู้เป็นเจ้าของให้ได้รับสิทธิ หรือให้สิทธิ  แต่ขณะเดียวกันองค์ความรู้ที่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้นมานั้น เจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิได้รับประโยชน์จากการอ้างความเป็นเจ้าของสิทธิ  แต่องค์ความรู้ที่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมหรือการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้นนั้น  ต้องเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย  เพราะฉะนั้นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นการสร้างดุลระหว่างสิทธิของสาธารณกับสิทธิของผู้ทรงสิทธิให้ทั้งสองฝ่ายนั้นได้รับประโยชน์แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าแล้ว เห็นว่าระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังขาดความเหมาะสมในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่หลายประการ

 

สรุป

ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันไม่อาจใช้เพื่อการรับรองและคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาระบบกฎหมายเฉพาะ หรือที่ภาษาละตินใช้คำว่า sui generic system หมายความว่า ระบบกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัวเหมาะสมกับแต่ละประเทศ  โดยระบบกฎหมายลักษณะเฉพาะจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเทคโนโลยีใหม่  หากแต่คุ้มครององค์ความรู้พื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรพันธุกรรม  โดยการบัญญัติกฎหมายลักษณะเฉพาะเพื่อเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนมีสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ก็จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์และมีการดูแลทรัพยากรดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน  และมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพและเงื่อนไขของการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการพัฒนาส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย  โดยคำนึงถึงบริบทของสภาพปัญหาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยการพัฒนาปรับปรุงระบบกฎหมายเฉพาะให้มีความเหมาะสมต่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย

 

เอกสารอ้างอิง

จักรกฤษณ์  ควรพจน์. สิทธิบัตร แนวความคิดและบทวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักนิติธรรม, 2544.

เจริญ  คัมภีรภาพ. สารัตถะแห่งสิทธิชุมชน : หลักการและความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย, 2541.

บัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์ และเจษฎ์  โทณะวณิก. กฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, กระทรวงสาธารณสุข, 2547.

 

บทความในวารสาร

นันทน  อินทนนท์, "ความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและผลกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น," วารสารกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (2546) : 148 - 180.

 

รายงานวิจัย

บัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์ และเจษฎ์  โทณะวณิก. บทบาท/ท่าทีของไทยต่อการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร : กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2548.

 

กฎหมาย

พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522.

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537.

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543

 

อ้างอิงเพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติม

ธนิต ชังถาวร กับพวก (คณะผู้วิจัย).“รายงานการศึกษา กรอบความคิดการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย.” ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  นำเสนอ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์, 30 เมษายน 2550. [Online]. Available URL : http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_docman&task=doc_details&gid=2824&Itemid=747

 

สมเกียรติ ตั้งนโม (เรียบเรียง), “ลิขสิทธิ์ในโลกตะวันตก : นิยามความหมายและสารัตถะ.” , 1 มีนาคม 2552. [Online]. Available URL :

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ลิขสิทธิ์ในโลกตะวันตก  or [Online]. Available URL : http://www.dlo.co.th/node/173

 

“ทรงแนะคุ้มครองสิทธิทางปัญญา รักษาหัตถศิลป์ฝีมือคนไทย.” 1 สิงหาคม 2555.

[Online]. Available URL : http://www.dailynews.co.th/society/146479     

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ(ร่าง)พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ. ..เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด.” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไป  ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2555. [Online]. Available URL :

http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/index.php?option=com_artforms&formid=14&Itemid=197

 



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถาพร  สระมาลีย์  ,รศ.จตุพร วงศ์ทองสรรค์ และคณะกรรมการสอบ คือ รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ  ตัณศิริ  รองศาสตร์จารย์นิมิต ชิณเครือ.

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาเขตบางนา สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสมุทรปราการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

[3] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 19.

[4] พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5.

 

หมายเลขบันทึก: 497162เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครม.ไฟเขียวไทย-เปรู ร่วมคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000099075
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2555 08:34 น.   
 
       ครม.เห็นชอบไทย-เปรู ร่วมคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมส่งออก
       
       นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยและเปรู ได้จัดทำกรอบเอกสาร Common Bilateral Agenda Thailand-Peru 2011-2012 ขึ้น ซึ่งเป็นกรอบความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ระหว่างปี 2554-2555 อันเป็นประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในด้านความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ดังนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบที่ วธ.แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐเปรู จะมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือตามกรอบความสัมพันธ์ฯดังกล่าว ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาและการออกแบบนิทรรศการระหว่างสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเปรู และกรมศิลปากรแห่งราชอาณาจักรไทย (Agreement on the Cooperation on Museology and Museography) ซึ่งมีสารสำคัญในเรื่องความร่วมมือทางด้านวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษาและการออกแบบนิทรรศการ รวมทั้งวิชาสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 2.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในด้านการคุ้มครอง การอนุรักษ์ การติดตาม คืนและการส่งคืน ซึ่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโบราณคดี ศิลปะ และประวัติศาสตร์ที่ถูกโจรกรรมส่งออกฯ
       
       โดยข้อตกลงฯ ทั้ง 2 เรื่อง ถือเป็นข้อตกลงระดับกระทรวง ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือด้านการคุ้มครองอนุรักษ์ การติดตามคืน และการส่งคืนทรัพย์สินทางด้านวัฒนธรรมโบราณคดี ศิลปะ และประวัติศาสตร์ รวมทั้งความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการระหว่างไทยและเปรู ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยาวนาน นับตั้งแต่อาณาจักรอินคาที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงศตวรรษที่ 14 จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนดำเนินงานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอีกด้วย
 
 
 
 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท