ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จ๊อบส์ปฏิบัติ


       ในขณะที่มนุษย์จำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับความตายเพียรพยายามจะดำเนินการก่อนสิ้นลมหายใจ คือ "การแบ่งมรดกซึ่งเป็นทรัพย์สินเงินทองให้แก่บุตรหลาน" เพื่อให้บุตรหลานได้ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตต่อไป แต่พระพุทธเจ้ากลับแสดงออกในทิศทางที่แตกต่าง เพราะมรดกที่พระองค์ทรงมอบให้แก่ชาวโลกซึ่งกำลังมีลมหายใจนั้น คือ "มรดกธรรม" ที่ย้ำเตือนว่า "สังขารมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงดำเนินชีวิตด้วยความประมาทเถิด!!!"
 
        "มรดกธรรม" ที่พระองค์นำเสนอนั้นเป็นการตรัสเตือนโดยการชี้ให้ทุกคนเพ่งพินิจด้วยความใส่ใจต่อ "สังขาร" ของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "มหาบุรุษ" ของโลกว่า "สุดท้ายแล้วก็ต้องเดินทางไปสู่ความตายอย่างไร้เงื่อนไข และไร้การต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น" ในห้วงเวลาของการดำเนินชีวิตนั้น อาจจะมีกษัตริย์ และผู้คนจำนวนมากสยบยอม และหมอบแทบพระบาทของพระองค์ แต่ในช่วงสุดท้ายในชีวิตนั้น พระองค์ได้ชี้ให้ทุกคนได้เห็นว่า "สังขารที่พระองค์ได้อาศัยกำลังสยบยอมต่อความตายอย่างนิ่งสงบ"
 
        ผู้คนจำนวนมากอาจะเข้าใจว่า ความตายเป็นจุดจบของพระองค์ แต่พระองค์ได้ให้สติว่า ความตายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทรงคุณค่าของชาวโลกโดยการย้ำเตือนให้ผู้ใดก็ตามที่ยังมีลมหายใจอยู่ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท จะเห็นว่า "ลมหายใจของหนุ่มสาวอาจจะมีราคาถูก แต่ลมหายใจของผู้ที่กำลังเดินไปสู่ความตายราคากลับแพงยิ่ง" จุดต่างอยู่ตรงที่ "คุณค่าของลมหายใจ" เพราะอีกคนไม่ค่อยรู้จักมักคุ้นกับใบหน้าของ "ความตาย" แต่อีกคนเริ่มคุ้นเคยมากยิ่งขึ้น เพราะความคุ้นเคยจึงนำไปสู่การกำหนดท่าทีเชิงบวกว่า "ความตายอยู่กับเราทุกลมหายใจ" และคอยเตือนใจมิให้เราประมาทประดุจกัลยาณมิตร
 
        ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  เด็กหนุ่มคนหนึ่งนาม "สตีฟ จ๊อบ" ผู้มีความแตกต่างจากคนหนุ่มสาวทั่วไป เพราะพากเพียรเรียนรู้และเข้าใจ "กลไกของความตาย" และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะเขาได้แปรเปลี่ยน และพัฒนา "กลไกของความตายไปสู่การสร้างกลไกในโลกวิทยาศาสตร์" สรุปแล้ว ความตายได้กลายเป็นพลังทยานแห่งชีวิต ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะได้ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือค้นพบความเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"  และทำให้สตีฟ จ๊อบได้ค้นพบสินค้านาม "Apple"
 
        ในขณะที่พุทธพจน์บทที่ว่า "ควรรีบทำสิ่งที่เราควรจะทำเสียแต่วันนี้ เพราะใครเล่าจะทราบว่า ความตายจะมีแก่เราในวันพรุ่งนี้" ได้รับการ "แปรรูป" ไปสู่วลีสำคัญที่สตีฟย้ำเตือนตัวเองในขณะที่ส่องกระจกก่อนออกจากบ้านไปทำงานว่า "จงดำเนินชีวิตให้เปรียบประดุจว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่คุณจะมีชีวิตอยู่"  ประโยคทองดังกล่าวได้กลายเป็น "แรงบันดานใจ" ต่อการเปลี่ยนโลกทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าจดจำ และตรึงใจชาวโลกไปอีกแสนนาน
 
        ณ วินาทีนี้ แม้ว่าร่างกายของพระพุทธเจ้า และสตีฟ จ๊อบจะกลับคืนสู่สามัญเป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ถึงกระนั้น ความตายได้ทำให้พระองค์ค้นพบ "โลกทางจิตใจ" และ สตีฟ จ๊อบได้ค้นพบ "Apple"  จะเห็นว่า "ความตายไม่ใช่จุดจบ แต่คือจุดที่นำไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่"  ส่วนการที่เราจะค้นพบหรือไม่ การใส่ใจต่อความตายอาจจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่รอการค้นหาของพวกเราอยู่!!!
 
เชิญโหลดหนังสือ "ความตาย: พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จ๊อปส์ปฏิบัติ"


ด้วยสาราณียธรรม
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.

หมายเลขบันทึก: 496941เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2012 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

เข้าใจชีวิต เข้าใจ "ความตาย" ตายไป เอาอะไร ก็ไม่ได้ มีแต่อดีต และความทรงจำ ด้านดี ด้านไม่ดีคือเลว ไว้ให้คนข้างหลังจดจำ นะคะ

ขอบคุณมาดค่ะ กับบทความดีดีนี้นะคะ

นมัสการพระคุณเจ้าพระธรรมหรรษา ในเดือนแห่งศิริมงคลของมุสลิม

เดือนนี้ทุกความคิด ทุกการกระทำดีได้กำไรเพิ่ม

ยิ่งได้มาแลกเปลี่ยนธรรม กับท่านอาจารย์ "ความตายเป็นจุดเริ่มต้น" คือธรรม

ในอิสลามก็สอนบอกว่าโลกนี้มาอยู่เพียงชั่วคราว

จึงสอนว่า"ให้ประกอบสัมมาชีพ เสมือนเราไม่ตาย แต่ให้ประกอบศาสนกิจคุณงามความดี เสมือนเราจะตายพรุ่งนี้"

ด้วยกุศลจิตที่ได้มารับอาหารสมอง

ผมอยากให้ทุกคนรักกัน และมีน้ำใจให้กันมากๆ...เพราะไม่รู้ว่าเราจะพลัดพรากจากกันเวลาใดไม่รู้...ถ้าตระหนักและเข้าใจถึงความตาย...ผมว่าความตายยังเป็นสิ่งที่น่ารื่รรมย์ และเตือนตนได้อย่างดี...ขอบพระคุณบทความท่านอาจารย์ครับ

  • อ่านบทความของพระคุณเจ้าแล้วจุดประกายให้ฉุกคิด โดยเฉพาะประโยค "ความตายได้กลายเป็นพลังทยานแห่งชีวิต ที่ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะได้ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือค้นพบความเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" และทำให้สตีฟ จ๊อบได้ค้นพบสินค้านาม "Apple" 
  • เรียนถามพระคุณเจ้า คนเราตอนนี้มีความเกลียดกลัวความตาย ไม่อยากยอมรับว่าเป็นธรรมชาติของชีวิต (เช่นเดียวกับความชราภาพ)  ควรพูดอย่างไรให้คนเหล่านี้ที่ไม่อยากได้ยินแม้แต่คำว่า "ตาย" ค่อยๆ น้อมนำสิ่งที่พระคุณเจ้าเขียนในบทความนี้ได้ค่ะ

อนุโมทนาขอบคุณทุกท่านที่สนใจหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ เน้นแง่มุมทางจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อถ่ายทอด และส่งต่อความมุ่งมั่น และแรงบันดาลใจแก่ใครสักคนที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวัง เมื่อทุกคนเกิดมาล้วนหนีความตายไม่พ้น เราจะแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ความตายได้อย่างไร?? จึงจะทำให้ความตายในเล่มนี้ไม่ใช่ "เป้าหมาย" ที่เฝ้ารอเราอยู่ หากแต่เป็น "เครื่องมือ" ที่จะพาเราไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่!!!

ด้วยสาราณียธรรม

คุณหมอ ป.

ขอบใจมากสำหรับคำถาม...

เรียนถามพระคุณเจ้า คนเราตอนนี้มีความเกลียดกลัวความตาย ไม่อยากยอมรับว่าเป็นธรรมชาติของชีวิต (เช่นเดียวกับความชราภาพ)  ควรพูดอย่างไรให้คนเหล่านี้ที่ไม่อยากได้ยินแม้แต่คำว่า "ตาย" ค่อยๆ น้อมนำสิ่งที่พระคุณเจ้าเขียนในบทความนี้ได้ค่ะ

มองจากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสพบบางคนที่กำลังเผชิญหน้ากับ "ความตาย" เขาเหล่านั้น "ไม่ได้เกลียดความตาย" หากแต่ "กลัวความตาย"  เหตุผลสำคัญ  (๑) ไม่คุ้นเคยกับโลกใหม่ (๒) ไม่มั่นใจในโลกใหม่ (๓) ไม่มั่นใจในความดี/ชั่วที่เราได้ทำไปแล้วว่าจะเอื้อแก่เราอย่างไร (๔) โลกใหม่มีจริงไหม? แม้ศาสนาจะสอนว่ามีจริง แต่มีบางสำนักว่าไม่มีจริง และ (๕) เป็นเหตุสุดท้ายสำหรับก่อนตายคือ "กลัวความจำปวดทรมานก่อนสิ้นใจ"

การศึกษา และทำความเข้าใจ "หลักไตรลักษณ์" จะทำให้คนบางคนมีท่าทีเชิงบวกต่อความตายได้ดี คือ (๑) สรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน ผันแปรไปตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย (๒) สรรพสิ่งทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (๓) ไม่มีใคร สิ่งใด ผู้ใด มีกำกับ บังคับควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการของเรา หรือของเขาได้

องค์ธรรมทั้งสามสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะไม่เที่ยงจึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เหตุที่ไม่เที่ยง และทนในสภาพเดิมไม่ได้เพราะไม่มีใคร ผู้ใด สิ่งใดบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา  ทั้งหมดนี้คือ "กฎธรรมชาติ"  การกลับคืนไปสู่ธรรมชาติ (Back to Nature) เพื่อศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจ จะส่งผลต่อโลกทัศน์ และชีวทัศน์อย่างรอบด้านตามความเป็นจริง

การที่บางคนไม่สนใจ หรือใส่ใจต่อความตาย เหตุผลประการหนึ่งคือ "ความประมาท" ไม่ว่าจะเป็นวัย ความมั่นคง ความรัก และการดำเนินชีวิต ฉะนั้น หากไม่ถึงเวลา (ภาษาพระเรียกว่า ญาณปริปักโก: ญาณ หรือความรู้ และประสบการณ์แก้รอบ) ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะน้อมนำให้เขาเข้าสู่การศึกษาและเรียนรู้จักหน้าค่าตาของความตาย เมื่อใดเขาเผชิญหน้ากับแรงบีบคั้นดังเช่นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อนั้น เขาจะเพียรตั้งคำถามว่า เกิดมาทำไม มีสุขกว่านี้อีกไหม ทำไมต้องตาย ตายแล้วไปไหน ตายแล้วไปเจออะไร  และเมื่อนั้น เขาจะเพียรพยายามในการทำหน้าที่ "ตายก่อนตาย"

ไม่มั่นใจว่าตอบคำถามได้ครอบคลุมเพียงใด ถึงกระนั้น เหล่านี้คือประสบการณ์การใช้ชวิตชีวิตอาตมา ซึ่งต่างจากเจ้าชายสิทธัตถะ หรือใครอื่นๆ ที่อาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน

ด้วยสาราณียธรรม

 

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

กาสะลอง เป็นครูที่ได้รับมอบหมายให้สอนหัวข้อ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้กับนักศึกษาพยาบาล ....ไม่มีใครรับที่อยากจะสอนหัวข้อนี้ .....แต่กาสะลองรับมาโดยไม่เคยมีประสบการณ์เลย (และยังไม่อยากมีเจ้าคะ ) ......;)) เพราะมีหน้าที่สอนนักศึกษาพยาบาลที่แผนก ICU เด็ก จึงมักพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้เสมอ .....แต่เราก็ถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ เข้าใจได้ยากมากๆ พอๆ กับที่คนสอนควรจะเข้าใจ มันเป็นความยากที่ยังทำได้ไม่ดี .......เราจะฝึกผู้ที่จะดูแลคนที่ใกล้จะเสียชีวิตอย่างไร ให้เขารับรู้และมีจิตใจเป็นกุศล .....คอยดูแลญาติและคนเหล่านั้นให้จากไปอย่างมีความสุข ไม่ทรมานมากเกินไป .....นอกเหนือจากการให้ยาแก้ปวด ...เจ้าคะ

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • ขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงค่ะ..กลับมาอ่านคำตอบได้ทางสว่าง ทำความเข้าใจ "หลักไตรลักษณ์" จะทำให้คนบางคนมีท่าทีเชิงบวกต่อความตายได้ดี 
  • จึงคิดต่อว่า จะใช้สื่อใดนำเสนอหลักไตรลักษณ์ แบบค่อยๆ เพิ่มขนาด (dose) ไม่บังคับให้รับรู้แต่ให้เขาซึมซับเข้าไปพิจารณาเอง 
  • ชื่นชอบรูปแบบจัดทำหนังสือสไตล์ Ipad ของท่านมากค่ะ 

..และแรงบันดาลใจแก่ใครสักคนที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวัง เมื่อทุกคนเกิดมาล้วนหนีความตายไม่พ้น เราจะแปรรูป หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ความตายได้อย่างไร??

 

กำลังท้อแท้อยู่เจ้าค่ะ

จะอ่านแล้วกลับมาเรียนถามพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท