แม่นางด้ง


" แม่นางด้ง "

              นางด้งหรือแม่นางด้ง   เป็นการเล่นที่มีมาแต่สมัยโบราณ  คนรุ่นเก่าได้เล่าต่อๆ กันว่านิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์  ซึ่งถือกันว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย  โดยจะเล่นกันในตอนกลางคืน  ที่วัดหรือที่บ้านก็ได้  การเล่นแม่นางด้งนี้จะนิยมเล่นกันทั่วไปในภาคตะวันอกเฉียงเหนือ อาจจะแตกต่างกันบ้างแต่ก็ยังมีบางส่วนใกล้เคียงกัน

 

              ลักษณะเครื่องแต่งกายในการเล่นแม่นางด้ง  ผู้จับกระด้งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ จะแต่งกายตามแบบชาวบ้าน  ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน บางครั้งก็แต่งกายยุคปัจจุบัน หรือในบางโอกาสจะสวมเสื้อแขนสามส่วน นุ่งผ้าถุงยาว หรือไม่ก็นุ่งโจงกระเบน           

              นางด้งหรือแม่นางด้ง เป็นการละเล่นเชิญผีหรือวิญญาณมาร่วมสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเชื่อกันว่าวิญญาณของภูตผีปีศาจที่มาจากป่าดง จะมาร่วมสนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย

อุปกรณ์การเล่น

      1. สากตำข้าว 4 อัน
      2. กระด้ง 1 อัน
      3. ผ้าขาว 1 ผืน
      4. เครื่องเซ่น มี ข้าว กับข้าว หมาก พลู บุหรี่ กรวยดอกไม้  ธูปและเทียน
วิธีเล่น
            เลือกหญิงสาวที่จะเล่นเป็นนางด้ง 2 คน ให้หันหน้าเข้าหากันบนสากตำข้าว 4 อันที่วางกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าบนพื้นดิน ทั้งสองคนจับกระด้งที่วางคว่ำอยู่คนละข้าง เอากรวยวางลงบนกระด้งแล้วเอาผ้าขาวมาคลุมร่างไว้ให้มิดชิด เริ่มพิธีเซ่นไหว้วิญญาณนางด้งเข้ามาทรงในร่างหญิงสาว ผู้ร่วมเล่นทั้งหมดมีเด็กหนุ่มสาวและคนแก่ จะช่วยกันร้องเพลงนางด้งไปเรื่อยๆ จนกว่าวิญญาณของนางด้งจะมาเข้าทรงผู้เล่นทุกคนจะช่วยกันร้องเพลงนางด้งไปเรื่อยๆ พร้อมกับตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ ไม้ แล้วแต่จะหามาได้เมื่อสังเกตเห็นกระด้งที่หญิงสาวคนใดคนหนึ่งเริ่มเคลื่อนไหวแล้วค่อยๆ แกว่งแรงขึ้นตามลำดับแสดงว่าวิญญาณนางด้งเข้ามาสิงหญิงสาวคนใดคนหนึ่ง และเมื่อเห็นนางด้งเข้าเต็มร่างเต็มที่จะแกว่งกระด้งอย่างแรง หญิงสาวอีกคนหนึ่ง ก็จะปล่อยกระด้ง จากนั้นนางด้งจะลุกขึ้นถือกระด้งไล่ตีผู้เล่นทั้งหมด โดยเฉพาะชายหนุ่ม จึงมักจะพากันยั่วเย้าให้นางด้งตีโดยห้ามมิให้ผู้ชายคนใดเข้าไปถูกตัวนางด้ง เพราะจะทำให้วิญญาณออกจากร่างทันที เมื่อเล่นไประยะหนึ่งเห็นว่านางด้งเหนื่อยมากแล้ว จะมีคนแอบไปแย่งกระด้งเอาไปซ่อนแล้วนำกระด้งกลับมาที่นั่งเดิม แล้วถามนางด้งเป็นใครมาจากไหนชื่ออะไร ผู้เล่นทุกคนจะช่วยกันร้องเพลงให้นางด้งรำพันขณะที่กำลังรำนางด้งจะพยายามมองหากระด้ง พวกชายหนุ่มจะเย้าแหย่เป็นที่สนุกสนาน จนกระทั่งเหนื่อยทั้งผู้เล่นและนางด้ง ให้ผู้ชายคนใดคนหนึ่งวิ่งเข้าไปถูกตัวนางด้งหรือเหยียบสากที่นางด้งนั่ง วิญญาณนางด้งก็จะออกจากร่างทันที
              การเล่นนางด้งสะท้อนให้เห็นความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผี ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เต้าแม่นางด้ง

              ในบางหมู่บ้าน จะมีการเซิ้งขอฝนแตกต่างออกไป เต้าแม่นางด้ง เป็นประเพณีที่นำเอาอุปกรณ์บางอย่างจากบ้านแม่หม้าย (ผัวตาย) หรือแม่ฮ้าง (ผัวหย่า) มาดังนี้กระด้ง 2 ใบ ไม้คาน 4 อัน (ผูกมัดไขว้ตีนกาบนปากกระด้ง แล้วเอาเชือกมัดหัวไม้คานติดกับกระด้งทั้ง 4 ด้านไว้ให้แน่น) แว่น (กระจกเงา) หวี แป้ง ปลอกมือ ข้าวปั้น 1 ปั้น และขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) เหล้าก้อง ไข่หน่วย ทั้งหมดจากข้อ 2 ถึง 3 แต่งใส่กระด้งใบที่หนึ่งเอาไว้ข้างสนาม เอาหลักมา 2 หลัก ฝังไว้ตรงข้ามกัน ห่างกันประมาณ 5 หรือ 10 วา และหลัก 2 หลักนี้ ไม่จำเป็นต้องเอามาจากบ้านแม่ฮ้าง เอากระด้งใบที่สอง ที่จะใช้ประกอบพิธีนี้ วางไว้ตรงกลางระหว่างหลักทั้งสอง หลักที่หนึ่งเรียกว่า หลักแล้ง หลักที่สองเรียกว่า หลักฝน สถานที่ดำเนินการมักจะทำภายในวัด หรือบริเวณศาลากลางบ้าน เวลาประมาณ 2 ทุ่ม พิธีกรก็จะมาประกอบพิธี โดยให้ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ 2 คน จับที่หัวไม้คาน ที่ปากกระด้งคนละด้าน แล้วนำว่า เซิ้งแม่นางด้ง ทุกคนในที่นั้นก็จะว่าตามพอจบแล้ว ถ้ากระด้งไม่กระดุกกระดิกเลย ถือว่าแม่นางด้งไม่ชอบคนจับ ต้องเปลี่ยนคู่ใหม่ แล้วว่าคำเซิ้งจนกว่ากระด้งจกระดุกกระดิก แล้วนำคนจับลอยไปตีหลักไหน ถ้าตีหลักแล้งฝนก็แล้ง ถ้าตีหลักฝนฝนก็จะไม่แล้ง พิธีนางด้งนี้เป็นการขอฝนในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือจะใช้เสี่ยงทายหาคนหาย ของหายก็แม่นมาก เหมือนกันกับนางข้องนั่นเอง

คำเซิ้งแม่นางด้ง เต้าแม่นางด้ง           

             เฮ็ดโล้งโค้งเสมอดังกงเกวียน มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบ มาคอบนี้ได้สองสามที ตักตุลีแมงหวี่ตุลา พาสาวหลงเข้าดงกำแมด มาสู่แดดหรือมาสู่ฝน มากำฮนนำแม่เขียดใต้ เฮ็ดซักไซ้นั่นแม่นเขียดเหลือง มีแต่เสียงนั่นแม่นเขียดจ่อง ลอยอ่องล่องนั่นแม่นเขียดจานา หลังซาๆ นั่นแม่นเขียดคันคาก ขอเชิญคกไม้บากมาซูนด้งเยอ สากไม้แดงมาสูนด้งเยอ เชิญทั้งแองข้าวหม่าให้มาสูนด้งเยอ ด้งน้อยๆ ฮ่อนข้าวกินขาว อีสาวๆ กะให้มานั่งอ้อม เขาควายพร้อมเอามาเฮ็ดเป็นหวี เหล้าไหดีเอามาต้อนฮับไถ่ เหล่าไหใหญ่เอามาต้อนฮับแถน แขนลงมาแต่เทิงวีด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอด้ง มาปิ่นวัดเดียวนี้ ปิ่นเวียนเดียวนี้ ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคา ฝนบ่มาข้าวนาตายแล้ง ฝูงหมู่แฮ้งลงซากลงโคลง ดินเป็นผงของตายเหมิดแล้ว น้ำเต้าแก้วไหลหลั่งลงมา มานำกูให้เหมิดให้เสี้ยง สาวไทเวียงเต้าแม่นางด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง มาสูมาให้สูมาเฮวเฮ่ง มาเป่งน้ำเดือนเก้าเข้านา เทลงมากะฝน

คุณค่าการเล่นนางด้งหรือแม่นางด้ง

             การเล่นแม่นางด้งหรือเต้าแม่นางด้ง ในปัจจุบันนี้แทบหาดูไม่ได้แล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ๆ คิดว่าเป็นเรื่องงมงายและไร้สาระการเล่นแม่นางด้งหรือเต้าแม่นางด้ง จึงถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยอย่างหนึ่ง  ถึงแม้ว่าในพิธีกรรมการเล่นจะมีวิญญาณจริงหรือไม่มีก็ตาม ไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ  สิ่งที่สำคัญคือสิ่งนั้นเป็นการละเล่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และ สร้างความตระหนักให้คนรุ่นใหม่ ใส่ใจวัฒนธรรมพื้นบ้าน ก่อนที่สิงดี ๆ ที่มีคุณค่าจะหมดไป

หมายเลขบันทึก: 496092เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เอากระด้งมาฝากแม่นางครับท่าน

เอากระด้งมาฝากแม่นางครับท่าน 

 

  • มีอีกหลายอย่างที่ถูกเก็บ ถูกลืม
  • ขอบคุณครับ...ที่ฟื้นและเห็นความสำคัญ นำเผยแพร่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท