พนักงานมหาวิทยาลัย...ปัญหาของสถานภาพที่พัวพันกับคุณภาพการศึกษา


   ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้คุยกับเพื่อนอีก ๒ ท่าน ที่สโมสร (ร้าง) ท่านหนึ่งกำลังศึกษาที่ ม.บูรพา อีกท่านหนึ่ง กำลังศึกษาต่อที่ ม.เกษตรศาสตร์ ตอนหนึ่งเราคุยกันถึงสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏ...เพื่อนที่เรียน ม.เกษตรฯ มีเพื่อนในชั้นเรียนที่มาจากราชภัฏหลายแห่ง ต่างแห่งต่างมีสถานภาพที่แตกต่างกัน บางแห่งเป็นหน้ามือกับหลังมือ

   เมื่อวานขณะขึ้นห้องทำงาน พบอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ ท่านหนึ่ง "เบื่อแล้วพี่..อยากลาออกไปทำงานอื่นดีกว่า" นั้นคือคำพูดของเธอที่ทำให้ผมสะดุดใจ อาจารย์ท่านนี้มีพ่อและแม่เป็นข้าราชการครู เท่าที่สังเกตเธอมาเกือบสิบปี เธอเป็นคนเอาใจใส่ต่องานไม่ต่างจากเพื่อนที่ไปเรียนต่อที่ ม.เชียงใหม่

   วันนี้เห็นประกาศที่คณะฯเกี่ยวกับการให้ทุนสนับสนุนทำวิจัยของ สกอ.ปี ๒๕๕๖ มี ๓ หัวข้อ หัวข้อที่ผมสนใจคือการพัฒนาครูของครู เพราะหัวข้ออื่นเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่รายละเอียดไม่มาก จึงขึ้นมาเปิด internet เพื่อไปดูรายละเอียดหน้า http://www.mua.go.th/ สกอ.พบเรื่องราวเกีี่ยวกับพนักงานมหาวิทยาลัย ๒ เรื่อง เรื่องแรกจั่วหัวว่า "หักเงินเดือนพนักงาน..." เรื่องที่สองจั่วหัวว่า "พนักงานมหาวิทยาลัย ปัญหาที่ไม่จบง่ายๆ"

   ผมเชื่อว่าในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง บางแห่งเป็นมหาวิทยาลัยแบบนักเรียนหลังห้อง(ไว้จะอธิบายอีกที) จะมีผู้ทำหน้าที่ภายในมหาวิทยาลัยสองกลุ่มคือ กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย(ลูกจ้างแบบรายได้ของมหาวิทยาลัยและงบประมาณแผ่นดิน) และกลุ่มที่ไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัย(ข้าราชการ) หากเรายอมรับความจริงในเบื้องลึก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้งสองกลุ่มดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาของกันและกัน 

   ฝ่ายพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งอาจคิดว่า เมื่อไรข้าราชการจะเกษียณอายุไปให้หมดเสียที ขณะที่ฝ่ายข้าราชการอาจคิดว่าพวกพนักงานมหาวิทยาลัยมันดื้อรั้น จะำทำอย่างไรจึงจะจัดการพวกพนักงานมหาวิทยาลัยให้อยู่ในอำนาจให้ได้ จึงใช้วิธีออกกฎหมายควบคุมบ้าง อำนาจในการบริหารอย่างอื่นบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้มีที่มา ยังไม่กล่าวคือพนักงานมหาวิทยาลัยระดับอัตราการจ้างรายเดือนและรายปี ยิ่งเมื่อหลายปีก่อนแม้จะจ้างรายปี หากเดือนใดเป็นเดือนปิดภาคเรียน เดือนนั้นจะไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งที่ทำงานเหมือนกัน บางคนยอมสอนพิเศษให้ข้าราชการ(ชื่อผู้สอนคือข้าราชการแต่ผู้สอนจริงคือพนักงาน)และยอมแบ่งรายได้ให้ข้าราชการครึ่งหนึ่ง(วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง) ยังไม่นับเรื่องในอดีตของอาจารย์หญิงท่านหนึ่งเพื่อหวังว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจึงยอมหลับนอนด้วยกับข้าราชการระดับบริหารจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อนนักศึกษาจากม.เกษตรฯ แบ่งกลุ่มพนักงานออกเป็น ๓ กลุ่ม โดยกลุ่มแรกประมาณ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ พวกนี้ไม่อยากมีปากเสียงกับใคร รอรับประโยชน์เท่าที่จะรับได้ อีกพวกหนึ่งประมาณ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ใกล้ชิดและทำงานเป็นมือเป็นเท้าให้กับฝ่ายบริหาร พวกนี้จะได้รับประโยชน์จากฝ่ายบริหารมากกว่ากลุ่มอื่นใดทั้งทุนการศึกษาและประโยชน์อื่นๆ เช่น ให้อยู่บ้านพักข้าราชการฟรี โดยไม่จำเป็นต้องเดินต่อแถว โดยฝ่ายบริหารจะอ้างว่าเขาทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย(ผลงานที่ทำเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการของฝ่ายบริหารบางคนในอดีตส่วนหนึ่งหรือเกือบทั้งหมดมาจากน้ำพักน้ำแรงของพนักงาน) อีกกลุ่มหนึ่งประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ พวกนี้เป็นพวกที่ข้าราชการรู้สึกเบื่อหน่ายเพราะจะเรียกร้องโน้น เรียกร้องนี้อย่างน่ารำคาญ โดยมากพวกนี้จะค่อยๆลาออกกันไปทีละคนหลังจากสอบบรรจุข้าราชการได้แล้วในหน่วยงานอื่น เมื่อขอสวัสดิการอื่นใดก็จะได้รับการเพิกเฉย

   วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปเรียนภาษาอังกฤษที่มจร.ได้คุยกับเพื่อนท่านหนึ่งท่านจบเทคนิคการแพทย์แต่หันมาเรียนปรัชญา ตัวตนจริงๆคือทำธุรกิจแต่รู้สึกเบื่อเพราะมีแต่การแก่งแย่ง เล่ห์เหลี่ยม ฯลฯ หาชีวิตแบบสุขสงบไม่ได้เลย จึงใฝ่ฝันว่าอยากทำงานในสถาบันการศึกษาดีกว่าดูแล้วน่าจะสงบ ปรากฎว่า สี่ปีที่ผ่านมาซึ่งยังเป็นนักศึกษาได้รับรู้เรื่องราวต่างๆในแวดวงการศึกษา การแก่งแย่ง แข่งขัน อารมณ์ฯลฯของอาจารย์ระดับผู้มีการศึกษาแล้วให้รู้สึกผิดหวัง ความใฝ่ฝันว่าจะทำงานในหน่วยงานทางการศึกษาของชาติดูจะเลือนลางไปแล้วเรียบร้อย ปกติท่านจะไม่ค่อยพูดหากไม่รู้จักมักคุ้นกันจริงๆ ผมประทับใจในความเป็นนักศึกษาของท่าน เพราะไม่เข้าใจในวิชาการทางปรัชญาจึงยอมไปเริ่มเรียนใหม่ในระดับ ป.ตรีที่ ม.ราม ขณะเดียวกันก็ลงเรียนที่ ม.เกษตรด้วย ยังไม่นับสาขาอื่นที่ตนเรียนจบมา คือ รปศ.ฯลฯ 

   ต้นเดือนก่อน เพื่อนจากสาขาภาษาไทยเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ลาออกจากการศึกษาต่อที่.....(มหาวิทยาลัยระดับท๊อบของไทย)ทั้งที่เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว แต่ปรากฎว่าเราคือหมากของเหล่าอาจารย์ในหลักสูตรและคณะฯเพื่อเป็นเครื่องมือในการห้ำหั่นกัน งานใดๆที่เราเสนอออกไปหากเราพลาด อาจารย์ฝ่ายอริจะเหยียบทันทีเพื่อเย้ยอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ถ้าเราเสนอออกมาดี อาจารย์ฝ่ายเราก็จะเย้ยอาจารย์อีกฝ่ายหนึ่ง "นี่มันอะไรในวงการศึกษา"

   ต้นเดือนที่ผ่านมา พบอาจารย์ข้าราชการท่านหนึ่งในงานทำบุญบ้านพักข้าราชการในมหาวิทยาลัย ท่านเรียนจบป.เอกแล้วในสาขาเศรษฐศาสตร์ ผมถามท่านว่าทำไมจึงจบเร็วจัง ท่านพูดแบบจริงจังเอาจริงมากๆ(สังเกตจากน้ำเสียง ดวงตา สีหน้าและท่าทาง/ได้ข้อคิดว่าในเวลาคนเราพูดออกจากจิตวิญญาณมันจะมีรสชาติของความเป็นตัวตน) "อันดับแรกที่ผมจะเลือกคือ ๑) ต้องไม่ใช่อาจารย์คนไทย และ ๒)การจะได้มาซึ่งข้อหนึ่งเป็นหลักหากไม่ไปศึกษาต่อต่างประเทศคือการเลือกเรียนนานาชาตินั้นคือหากไม่ใช่ AIT ก็ต้องเป็น.....(จำไม่ได้เดี๋ยวพบท่านแล้วจะไปถามอีกที)และท่านก็ให้เหตุผลจำนวนหนึ่ง

   ผมมีคำถามในใจหลายอย่าง ย้อนไปถึงในวงสนทนาที่สโมสร อาจารย์ท่านหนึ่งพูดในเชิงล้อแบบฮาโดยยกเอาคำของ ผอ.ท่านหนึ่งซึ่งจบด็อกคำนั้นคือ "การจบปริญญาเอกต้องมีการจัดการ" ข้อความนี้มีความหมายที่มองตากันแล้วรู้แล้วก็ฮา แน่นอนว่า มันต้องมีการจัดการจริงๆ แต่จะเป็นการจัดการแบบไหน หลายองค์กรในปัจจุบัน เราไม่สนใจที่มา แต่เราสนใจผลผลิต สำหรับผม ที่มามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลผลิตเลย

   ย้อนไปถึงเรื่องราวสองเรื่องบนหน้าเวบ สกอ.เกี่ยวกับสถานภาพของพนักงานมหาวิทยาลัย ทำให้นึกถึงคำของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่ว่า เรื่องง่ายๆให้คนอื่นเขาทำกัน ส่วนเรื่องยากๆเราต้องทำเอง ข้อความนี้ ผมเชื่อมโยงไปถึงความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีที่มาจากขวัญและำำำกำลังใจของผู้ปฏิบัติทั้งข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย ที่ใดที่ก้าวหน้าและเดินไปได้อยู่แล้ว ประโยชน์อะไรกับการเข้าไปช่วยเหลือที่แบบนั้น ทำไมไม่เข้ามาช่วยเหลือที่ที่เดือดร้อนและทุกข์ยากและกลุ่มผู้เดือดร้อนและทุกข์ยาก แน่นอนเราอาจโต้แย้งว่า ชาวบ้านที่เขาหาเช้ากินค่ำยังเดือดร้อนกว่าเสียอีก ซึ่งผมเถียงไม่ได้ และแน่นอนที่เราก็ต้องไปช่วยเขา เหมือนกับครั้งหนึ่งผมเคยคิดว่าจะจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาฟรีของพระเณรแห่งชาติ แต่ลูกพี่ท่านหนึ่งบอกว่า เด็กชาวบ้านเขาเดือดร้อนมากกว่าเสียอีก หากตั้งข้อสังเกต ผมกับลูกพี่น่าจะพูดเรื่องเดียวกันแต่สองกลุ่มแล้วกระมัง

   ย้อนมาถึงสถานภาพพนักงานมหาวิทยาลัยต่อ โดยเฉพาะในมรภ.หลายแห่ง หากเราไม่เข้าไปลองมีสถานภาพแบบนั้นดู เราจะไม่รู้หรอกว่าความฝันในวิชาชีพมันค่อยๆกลายเป็นสิ่งอื่น หลายคนจึงทำหน้าที่เพียงเช้าชามเย็นชาม หรือทำไปอย่างนั้น โดยไม่ได้ใส่จิตวิญญาณเหมือนสมัยเดินเข้าสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานแรกเริ่ม หลายคนทำงานอื่นเป็นหลัก ส่วนงานในตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยนั้นเป็นงานรอง หากจะทำเป็นงานหลักก็ต่อเมื่อได้รับประโยชน์มาก ประโยชน์ที่เราปฏิเสธไม่ได้คือเม็ดเงินเพื่อการดำรงชีวิตและความก้าวหน้าของครอบครัวท่ามกลางสังคมที่ให้ความสำคัญกับจำนวนทรัพย์สิน ในกรณีนำงานหลักไปเป็นงานรองและการเพิกเฉยต่อหน้าที่การงานในหน่วยงานของรัฐ(แม้จะมีกฎบังคับ แต่กฎนั้นก็เป็นเพียงความสวยหรูดูดีและบังคับได้เฉพาะผู้อ่อนแอ) ผลที่ได้รับคือความไม่ก้าวหน้าของสถาบันการศึกษาและตกไปสู่นักเรียนนักศึกษาที่จะต้องปากกัดเท้าถีบด้วยตัวเองเท่านั้น ปัญหาคือ นักเรียนนักศึกษาไม่ได้เป็นเหมือนกันทุกคน บางคนเป็นบัวพ้นน้ำ แต่บางคนยังไม่โผล่จากโคลนตม กลุ่มหลังนี้จะไม่รับผลที่แสนสาหัสอย่างนั้นหรือ 

   สถานภาพเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ยกตัวอย่างเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการจากหน้าเวบสกอ.ที่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยวิจัย ๙ แห่ง ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ๒ เท่า ส่วน มก.แห่งเดียวที่ไม่ได้ ๒ เท่า ผมอยากเชิญชวนให้มาดู มรภ.ทั่้วประเทศดู เฉพาะอาจารย์ต้องสอนกี่คาบ ทำอะไรบ้าง ได้เงินประจำตำแหน่งเท่าไร แค่ได้เงินประจำตำแหน่งก็เรียกร้องกันเลือดตาแทบกระเด็นแล้ว หันไปดูมหาวิทยาลัยวัดที่หลายท่านบอกว่าอย่าไปเรียนเลยเป็นมหาวิทยาลัยวัด ลองแอบไปดูหน่อยสิว่าเขาให้เงินประจำตำแหน่งเท่าไร งานวิชาการของเขาเป็นอย่างไรในศาสตร์นั้นๆ ฝ่ายบริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า แล้วทำไมคุณไม่ไปที่นั้นล่ะ เพื่อนท่านหนึ่งเอ่ยว่า มีปัญญาคิดได้แค่นี้หรือ...

   ผมพูดกับเพื่อนที่มาจากเทคนิคการแพทย์ว่า คนในสถาบันการศึกษาไม่ได้หมดกิเลส ในปัญหาระหว่างกันมันเป็นเรื่องกิเลสกับกิเลส ยิ่งเรียนสูงมากยิ่งตัวตนมาก ซึ่งคงโทษไม่ได้เพราะระบบการศึกษาให้เป็นอย่างนั้น ดูตัวอย่าง วพ.ป.เอก ผู้เป็นนักศึกษาต้องเชื่อมั่นในความรู้ที่ตนได้ค้นพบ แม้จะมีใครมาโจมตี เราก็ต้องปกป้อง วพ.ของเรา ระบบการศึกษาสอนให้เราเชื่อว่าเราถูก เมื่อแต่ละคนถูก จึงไม่มีใครผิด ยิ่งเรียนเก่งมากยิ่ง "ฉันไม่ผิด" ดังนั้น ที่ใดมีกิเลสที่นั้นก็เป็นเหมือนกันหมด กิเลสมากก็ปัญหามาก กิเลสน้อยก็ปัญหาน้อย 

   สุดท้าย หากคนในวงการศึกษาจะมองว่าเขาเป็นคนเหมือนอย่างกับเรา งานทางการศึกษาก็คงจะไปได้สวย

   ทำไปทำมา ผมก็เลยไม่ได้ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยที่สนใจ

๐๗.๐๐-๐๙.๒๘ น.

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕

 

   

   

หมายเลขบันทึก: 495910เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ณ มหาวิทยาลัยผม ข้าราชการคนสุดท้ายที่จะเกษียณอายุ ปี พ.ศ.๒๕๗๕ ครับ ;)...

แวะมาให้กำลังใจครับ ;)...

  • ขอบคุณครับสำหรับกำลังใจที่อยู่ในใจ
  • เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิ์อะไรต่างๆมากมายนั้น ข้อสรุปคือ มนุษย์ไม่เคยเพียงพอครับ
  • ดูเหมือนว่า ทุกอย่างที่ผ่านมาคือปัจจัยสร้างความเป็นตัวตนของบุคคลครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท