อยากจะเขียนอีกสักเรื่อง


อยากจะเขียนอีกสักเรื่อง

ท่านลองอ่านข้อความในเว็บนี้ และ เว็บนี้ แล้วลองอ่านเรื่องนี้ ผมทำมาแล้วครับ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นหลายอย่าง ที่เด่นชัดมากที่สุดคือ รู้สึกไม่อบอุ่น ไม่สงบ ในใจ เกิดคำถาม "พวกเรากำลังสร้างอะไรในสังคม" ผมไม่ได้ติดใจกับการใช้ถ้อยคำของเด็กที่โพสต์โต้กันไปมา แต่ผมติดใจหัวเรื่องที่เด็กวัยรุ่นเหล่านี้กำลังพูดถึง (ความจริงแล้วเรื่องดี ๆ มีเยอะครับและควรได้รับการส่งเสริม แต่เรื่องที่ไม่ค่อยดีควรนำมาคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขกันด้วย)

ช่วงปี พ.ศ. 2546 -2547 (ผมไม่แน่ใจนัก แต่เป็นช่วงเวลาที่ พรบ. การศึกษาออกมาใหม่ ๆ ตอนนั้นผมยังสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยอยู่) ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานสัมมนาหนึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นมาเป็นวิทยากร ในช่วงเวลาที่ท่านเปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม ผมได้ส่งคำถามไปว่า "ทำไมเราจึงแยกกันเรียนเป็นสายวิทย์กับสายศิลป์ครับ" ... ไม่มีคำตอบครับ ...... ท่านอาจจะไม่มีเวลามาตอบคำถามผมก็ได้

ผมเรียนมัธยมสายที่เขาเรียกว่า "สายวิทย์" ครับ เรียนห้องที่เรียกว่า "ห้องคิง" หรือห้องที่เก่งที่สุดในโรงเรียน เวลานั้นมันภาคภูมิใจครับ ใบสมัครสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนั้นแทบไม่ต้องกรอกเอง มีคนกรอกให้เสร็จ มีให้เลือก 2 คณะครับ คือ แพทย์กับทันตแพทย์ และ ให้เลือกกันพลาดได้อีก 1 คณะ  ตอนนั้นไม่ทราบว่าเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามแห่งชื่อเสียงกันแล้ว ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเพื่อสอบกันไป แล้วก็พลาดเหมือนกับเพื่อนอีกหลาย ๆ คนในห้องเดียวกันและอีกหลายคนในโรงเรียนเดียวกัน ผมเป็นคนชอบคณิตศาสตร์และฟิสิกส์คะแนนสองวิชานี้ถึงแม้จะมากแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ผมเข้าเรียนคณะแพทย์ได้  จำอารมณ์ตอนนั้นได้ว่า เสียใจที่เราไม่สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับสถาบันและครอบครัวได้

 เวลาผ่านไป ได้เรียนรู้ชีวิตจริง ได้สัมผัสความจริง ผมมีรุ่นพี่ที่เป็นทันตแพทย์ที่ค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นทนายความเอาตอนอายุ 50 ปี ผมมีเพื่อนที่เป็นนักคอมพิวเตอร์อนาคตไกลปฎิเสธเงินเดือนเกือบแสนบาทเพื่อไปเป็นนักเขียนนิยายและบทละครทีวี ผมมีเพื่อนที่เป็น 3D Animator ที่ญี่ปุ่นต้องการตัวแต่อยากเป็นนักวาดภาพสีน้ำ ผมมีเพื่อนเป็นนักนาโนฟิสิกส์ที่อยากปลูกลำไยขายที่เชียงใหม่ ผมมีเพื่อนที่เก่งภาษาอังกฤษวิชาเดียวสอบที่ไหนไม่ติดแต่ตอนนี้ได้ดิบได้ดีที่ NYU ผมมีเพื่อนที่ไม่เก่งสักวิชาสอบไม่ติดที่ไหนเลยปัจจุบันเป็นนักธุรกิจร้านอาหารที่ใหญ่โต ผมรู้จักเด็กชายที่เรียนเก่งมากและอยากเป็นครูแต่ถูกไม่ให้เลือกสอบเข้าคณะศึกษาศาสตร์ ผมเคยสอนหนังสือเด็กนักศึกาหลายคนที่ถูกบังคับมาให้เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ทั้งที่เขาไม่ชอบคณิตศาสตร์เลย (น่าสงสารแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้) ... อีกเยอะครับ

 อะไรทำให้เราหลงทางกันขนาดนั้น เราถูกกำหนดให้เดินทางในเส้นทางที่ทำให้บางคนพอใจเหรอ เราถูกกำหนดให้ภูมิใจ ดีใจในเรื่องที่บางคนบอกว่าใช่นี่แหละคือเรื่องที่เราต้องดีใจ เราไม่ได้คิดหาทางกันเองหรือเราไม่มีโอกาสจะคิดหางทางชีวิตกันเองหรือ หรือสังคมไทยไม่เข้าใจคำว่า "เสรีภาพ" ... "โธ่ เป็นเด็ก จะไปรู้อะไร"

กลับมาที่บทความสองบทที่กล่าวถึงทั้งสองบทความมันสะท้อนให้เราเห็นถึงสาเหตุที่เราเห็นความแตกแยกกันในสังคมบ้านเรา มันก่อตัวกันมาตั้งแต่วัยเรียนกันเลยหรือ สายนี้เก่งกว่าสายนี้ สายนี้ไม่คู่ควรกับคณะนี้ ... เอาอะไรมาวัดกัน ทำไมต้องแบ่งแยก ไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ (ท่านใดเข้าใจช่วยอธิบายด้วยก็จะเป็นพระคุณครับ) มันเริ่มก่อตัวกันในวัยที่เด็กกำลังเป็นวัยรุ่น วัยแรง วัยหัวเลี้ยวหัวต่อเสียด้วย อะไรที่รับเข้าไว้ในความคิดของเด็กวัยนี้มันจะมีโอกาสติดตัวไปจนโต แล้วเด็กเหล่านี้ต่อไปก็จะต้องทำงาน แล้วต่อไปก็ไปเป็นหัวหน้างาน แล้วก็... ถ้าเทียบกับเหตุการณ์ตามบทความของคุณ "คน บ้านไกล" ถึงแม้ว่าท่านจะใช้ประโยค "แต่ภายในสามสิบปี การศึกษาของอเมริกาเกือบจะไม่เปลี่ยนเลย  มีแต่ว่าจะทรุดลง  สมัยลูกผมเรียนเมื่อยี่สิบปีก่อน  เด็กๆต้องหัดคัดลายมือ  เดียวนี้คงไม่มีแล้ว" ก็ตามแต่ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย ผมว่าสถานการณ์ก็น่าจะดีกว่า นะผมว่า

สรุปแล้วถึงแม้มันจะเลยเวลาแล้วก็ตาม ผมก็ยังจะเขียนต่อไปว่า "สิ่งที่ผมอยากเห็นระบบการศึกษาไทยในปี 2020" (ที่จริงเป็นได้เลยก็จะดี) อีกเรื่องหนึ่งก็คือ "เลิกการแบ่งแยก" เถอะถึงแม้มันจะกระทบอะไรต่อมิอะไรที่ได้ผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการ "แบ่งแยก" นี้ก็ตามผมว่ามันคุ้มที่จะทำครับ ผมอาจจะมองด้านเดียว ไม่เข้าใจหลักการและเหตุผลหรือคิดมากเกินไปก็ได้ ถ้าหากท่านอื่นมีข้อคิดเห็นอย่างอื่นก็เชิญวิพากษ์ได้นะครับ

ขอบคุณที่สละเวลาอ่าน ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 495808เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 04:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านครับ ขอบคุณที่ได้กล่าวถึง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท