บริการวิชาการชุมชน
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

เทคนิคการทำผ้าบาติก และเทคนิคการตลาด


ผ้าบาติก

โครงการบริการวิชาการแก่ชุมชน การอบรมเรื่อง การทำผ้าบาติกและเทคนิคการตลาด

"ชุมชนกรมธรรม์-ฉัตรแก้ว  จังหวัดพิษณุโลก"

 

สาขาวิชาบริหารธุรกิจ  คณะวิทยาการจัดการ  จัดทำการประมวลความรู้ที่ได้จากการบริการวิชาการเพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอน   พร้อมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการบริการวิชาการไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี  องค์กรหรือชุมชนมีการพัฒนาขึ้น  และตรงกับพันธกิจหลักด้านการพัฒนาท้องถิ่น

    ชุมชนกรมธรรม์-ฉัตรแก้ว

วิธีการทำผ้าบาติก

             ก่อนการปฏิบัติงานควรเตรียมเครื่องมือและวัสดุในการทำงานไว้ให้พร้อม
เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและช่วยให้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นมีดังต่อไปนี้

1. ผ้า
            ผ้าที่ใช้ทำผ้าบาติกควรเป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติและมีเนื้อบาง
ในปัจจุบันนิยมใช้ทั้งผ้าชนิดเนื้อบางจนถึงเนื้อหนาขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทำ
ได้แก่ ผ้าซันฟอร์ไรด์ ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้าแพรเยื่อไม้ เป็นต้น

 

2. ส
             สีที่ใช้ในงานบาติกมีหลายชนิด ที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นสีย้อมผ้าประเภทย้อมเย็น
ละลายน้ำได้และมองเห็นสีโดยตรง โดยมากมักจะอยู่ในกลุ่มสีรีแอคทีฟเนื่องจากใช้สะดวกและมีกระบวนการไม่ยุ่งยาก

3. เทียน
            เทียนที่ใช้เขียนผ้าประกอบด้วยขี้ผึ้งมากเทียนจะเหนียว ถ้าผสมพาราฟีนมากเทียนจะเปราะหรืออาจใช้เทียนผสมสำเร็จที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปก็ได้

4. ปากกาเขียนเทียน(JANTING)
            เป็นเครื่องมือสำหรับใช้เขียนลวดลายเทียนลงบนผ้า มีขนาดแตกต่างกันทั้งเส้นเล็กเส้นกลาง และเส้นใหญ่หรืออาจใช้แปรงทาเล็กเกอร์แบ่งเป็นซีกๆ จุ่มเทียนเขียนลายบนผ้าก็ได้แต่วิธีนี้ใช้จะได้เส้นใหญ่ไม่สามารถเขียนลายที่ละเอียดได้

5. กรอบไม้
            เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมมีหลายลักษณะ ใช้สำหรับขึงผ้าในเวลาเขียนผ้าในเวลาเขียนเทียน

6. พู่กัน
            พู่กันสำหรับระบายสีใช้ได้ทั้งชนิดกลมและชนิดแบนควรเตรียมไว้หลายขนาด

7. ภาชนะผสมสี
            อาจใช้ถ้วยพลาสติก ถ้วยแก้ว ถ้วยสแตนเลส แล้วแต่ต้องการและควรให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้งาน

8. โซเดียมซิลิเกรต
            ใช้สำหรับทาบรผ้า เพื่อให้สีติดทนนาน

ขั้นตอนการทำผ้าบาติกเพ้นท์สี
            การทำผ้าบาติกโดยวิธีการเพ้นท์ลวดลายได้ตามต้องการ เพราะเราสามารถระบายสีได้หลายสีลงผ้าผืนเดียวกันสะดวกและรวดเร็วกว่าวีธีย้อม ช่วยให้เกิดความสวยงามแปลกตาขึ้นมี ขั้นตอนดังนี้

1. การออกแบบลวดลาย
           ก่อนปฎิบัติงานทุกครั้งควรมีการออกแบบลวดลายและกำหนดกลุ่มสีที่จะใช้ให้เหมาะสมกับชิ้นงานแล้วใช้ดินสอเขียนผ้าร่างลวดลายลงบนผ้าเตรียมไว้

2. การเขียนลวดลาย
            เป็นขั้นตอนสำคัญของการทำผ้าบาติก การเขียนเทียนที่ดีส่งผลให้ขั้นตองการลงสีสมบูรณ์ขึ้น
เทียนที่เขียนผ้าต้องซึมทะลุผ้าด้านหน้าและด้านหลังจึงจะสามารถกันสีย้อมได้ เรานำผ้าที่ร่างลวดลาย
ไว้แล้วนั้นมาขึงบนกรอบไม้แล้วใช้เครื่องมือเขียนเทียนตักน้ำเทียนเขียนลงบนผ้าตามลวดลายนั้น
จนเสร็จ (สำหรับผู้ที่มีความชำนาญก็ไม่จำเป็นต้องร่างลวดลายไว้ก่อน สามารถเขียนเทียนลงบนผ้าได้เลย)

3. การระบายสีลงบนผ้า
             ผสมสีย้อมเตรียมไว้แล้วใช้ภู่กันจุ่มสีระบายลงบนผ้าอย่างระมัดระวัง อย่าให้สีซึมเลอะไปในบริเวน
ที่ไม่ต้องการจะทำให้เกิดข้อบกพร่องในงานได้เมื่อสีที่ระบายแห้งสนิทดีแล้วจึงทาด้วยโซเดียมซิลิเกรต
ให้ทั่วผ้าทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

4. การต้มละลายเทียน
             เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำผ้าบาติก โดยนำผ้าที่ทาเคลือบด้วยโซเดียมซิลิเกรตไปล้างน้ำขณะล้างน้ำจะมีสีส่วนเกินจำนวนหนึ่งละลายออกมากับน้ำจึงต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ ขยี้ผ้าเบาๆจนน้ำที่ซักผ้าใสไม่นำอ่างใส่น้ำพอประมาณตั้งไฟให้น้ำเดือดเติมผงซักฟอกและโซดาแอสเล็กน้อยแล้วนำผ้าที่ล้างโซเดียมซิลิเกรตแล้วนั้นลงต้มเพื่อละลายเทียน จนเทียนละลายออกหมด จึงนำมาซักน้ำจนผ้าสะอาดก็จะได้ผลงานผ้าบาติกเพ้นท์สีที่สวยงาม

 

เทคนิคการตลาด

เทคนิคการสร้างภาพลักษณ์ของตนเองด้วยกลยุทธ์ “การตลาด”

      ทุกวันนี้องค์กรต่างๆ ต่างเจอปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า องค์กรบางแห่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจนทำให้ต้องปิดไป หรือองค์กรบางแห่งเริ่มหามาตรการลดจำนวนพนักงานลง รวมถึงการหาแนวทางต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเรื่องคน มีผลทำให้พนักงานต่างกลัวและวิตกกังวลว่าตนเองจะได้รับผลพวงจากเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้หรือไม่
      ดังนั้นกระแสหรือเทรนที่น่าสนใจที่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ การพัฒนาตนเอง (Self Development) ทำให้พนักงานต่างเร่งปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่รอดในองค์กรได้ การพัฒนาตนเองด้วยแนวคิดหรือหลักการตลาดจึงเป็นเทรนหนึ่งที่พนักงานต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้การตลาดไม่ใช่แต่คนที่อยากจะเป็นนักการตลาดที่จำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจเท่านั้น ในทุกสายอาชีพย่อมต้องรู้และสามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบของตนเองให้ได้ ไม่จำเป็นต้องรู้หลักการ ระบบ ทฤษฎี และวิธีการด้านการตลาดดั่งเช่นนักการตลาด แล้วทำไมจึงต้องรู้เทคนิคและกลยุทธ์การตลาด :

 

การตลาดเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้คนอื่นรู้จัก รับรู้ และยอมรับในทักษะและความสามารถของเรา ลองคิดดูดีๆ ว่าถ้าคุณอยู่เฉย ๆ แล้วจะมีใครสักกี่คนรู้ว่าคุณเป็นคนมีความรู้ และความสามารถ จะมีใครสักกี่คนอยากจะติดต่อและเสนองานให้กับคุณ ตัวอย่างเช่น เวลาไปสมัครงาน ถ้าคุณนั่งเงียบรอให้ฝ่ายบุคคลหรือผู้จัดการสายงานสัมภาษณ์คุณเพียงฝ่ายเดียว แล้วคุณเพียงแค่ตอบคำถามที่ถูกถามเท่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ คุณอาจไม่เข้าตากรรมการเลยก็เป็นได้ 
     การตลาดจึงเป็นกลวิธี หรือกลยุทธ์ที่จะทำให้ลูกค้า หรือคนที่เราพูดคุยด้วยสนใจ พร้อมที่จะเข้ามาหา และพร้อมที่จะยอมรับถึงความรู้และความสามารถของตัวเรา  ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของคุณในสายตาของผู้อื่น การวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้กับตัวเราจึงเกิดขึ้นได้ในทุกสายอาชีพ จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การตลาดที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอเทคนิควิธีการกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาด ดังภาพแสดงต่อไปนี้

กลยุทธ์ด้านการตลาดต้องเริ่มต้นจาก “ตัวเรา” ก่อน นั่นก็คือความสามารถ หรือ Competency ที่เป็นความรู้ ทักษะ ทัศนคติ การรับรู้ ความเข้าใจของตัวเราที่มีต่อ 5Ps ได้แก่  

      People เป็นกลุ่มลูกค้าของเรา ขอให้มองว่าทุกอาชีพ ทุกสายงาน ย่อมต้องมีลูกค้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นลูกค้าภายนอกที่ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น อาจเป็นลูกค้าภายในที่มาติดต่อ ขอข้อมูล ขอความช่วยเหลือจากเรา ซึ่งคุณเองต้องบอกให้ได้ว่า กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ลูกค้ามีความต้องการหรือคาดหวังอะไรบ้างจากเรา ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร ลูกค้าส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการให้บริการของเรามากน้อยแค่ไหน ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อาจต้องสังเกต หรือเข้าไปพูดคุยเพื่อสอบถามความคิดเห็นจากลูกค้าโดยตรง
     Product   แน่นอนว่าคุณย่อมต้องรู้ว่าสินค้าหรือบริการที่รับผิดชอบอยู่นั้นคืออะไร แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าสินค้าและบริการที่ทำอยู่นั้นมีคุณภาพได้มาตรฐานดีมากน้อยแค่ไหน สินค้าที่เราผลิตหรือทำขึ้นนั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าบ้างหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราเป็นที่ยอมรับในสายตาของลูกค้า เช่น คุณเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล สินค้าของคุณคือการบริหารและพัฒนาคนในองค์การ คุณควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าหรือพนักงานในองค์การมาใช้บริการจากคุณ และพยายามหาวิธีการที่จะตอบสนองความต้องการของพนักงาน
    Process   กระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถดูได้จากมีข้อร้องเรียนถึงการให้บริการของคุณบ้างหรือไม่ คุณภาพงานไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดขึ้นหรือไม่ คุณต้องทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ จนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ตนเอง หรือคนที่เรารักหรือไม่ ด้วยการหาเวลาทบทวนกระบวนการทำงานของตนเองเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยต้องตระหนักไว้เสมอว่า…ขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้มีเวลาพอที่จะทำงานอื่น ๆ อีกมาก
      Promotion   เป็นนโยบายด้านการส่งเสริมการขาย ด้วยวิธีการลด แลก แจก แถม หรือการให้บริการด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากขอบเขตงานที่รับผิดชอบ พบว่าคนส่วนใหญ่มักจะพอใจกับงานหรือการให้บริการที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากขอบเขตงานที่ตกลงกันไว้ เช่น คุณเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล คุณสามารถช่วยฝ่ายขายขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ได้ ด้วยการแนะนำเพื่อน คนรู้จัก หรือสมาชิกในครอบครัว การให้ในสิ่งที่มากกว่างานที่รับผิดชอบก็เท่ากับเป็นการสร้างบารมี ให้บุคคลต่าง ๆ ยกย่องและยอมรับนับถือในตัวเรา
     Price   ราคาในที่นี้ให้มองไปที่ต้นทุน (Cost) และผลตอบแทนหรือผลกำไร (Profit) ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้นทุนนั้นมิใช่เป็นเพียงต้นทุนที่เป็นตัวเงิน (Monetary Price) ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ต้นทุนยังหมายรวมถึงต้นทุนด้านเวลา (Time Cost) ว่าเราใช้เวลาไปกับการทำงานนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน และต้นทุนด้านพลังงาน (Energy Cost) เป็นความเหน็ดเหนื่อยหรือความยากลำบากในการบริหารงานต่าง ๆ ซึ่งต้องพยายามทำให้ต้นทุนที่เป็นตัวเงิน เวลาและพลังงานลดลง โดยเน้นให้เกิดผลตอบแทนหรือผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้น

             เมื่อรับรู้ข้อมูลทั้ง 5 Ps แล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการเริ่มกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาด ด้วยการพยายามหาช่องทางในการสื่อสารหรือทำให้ตัวเราเป็นที่รับรู้และยอมรับในสายตาของผู้อื่น ทั้งนี้ช่องทางหรือโอกาสในการสื่อสารนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้
      เข้าหาลูกค้าก่อน ก่อนที่ลูกค้าจะร้องขอ : การเสนอขายสินค้าและการให้บริการที่มีคุณภาพของคุณสู่สายตาลูกค้าก่อน โดยไม่ต้องให้พวกเขามาขอความช่วยเหลือจากคุณก่อน เช่น คุณนำเสนอหลักสูตรการฝึกอบรมต่อหัวหน้างานในสายงานต่างๆ โดยไม่ต้องรอที่จะจัดฝึกอบรมตามคำร้องขอจากหน่วยงานเพียงฝ่ายเดียว

    นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ แก่ลูกค้า : กลยุทธ์การตลาดเพื่อให้ลูกค้าติดใจ หรือสร้างความจงรักภักดีของลูกค้านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องพัฒนาขั้นตอน ระบบงาน และสินค้าหรือบริการต่าง ๆของตัวคุณ พยายามคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าและบริการแก่ลูกค้า
 ดังนั้นช่องทางหรือโอกาสที่คุณพยายามสร้างให้เกิดขึ้นนั้น เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อมุ่งเน้นให้ลูกค้าเกิดทัศนคติที่ดี มีการรับรู้และพอใจในสินค้าหรือบริการที่พนักงานมอบให้ และการรับรู้หรือทัศนคติของลูกค้านี้เองจะนำมาซึ่งความจงรักภักดี ความต้องการที่อยากจะใช้สินค้าและบริการต่อไป ก็เท่ากับว่าคุณเองยังเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญและยังอยู่ในสายตาของลูกค้าตลอดไปเช่นเดียวกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 495798เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท