ยาฆ่าเชื้อในโรคมือเท้าปาก


โรคมือเท้าปาก

ยาฆ่าเชื้อในโรคมือเท้าปาก

Antibiotic in Hand, Foot, and Mouth Disease (HFMD)

 

Posted by ภก.นันทะชิต ชัยสิทธิ์ |

ประเดิมเรื่องแรกกันกับโรคยอดฮิตในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็คงจะหนีไม่พ้นกับโรคมือเท้าปาก ในส่วนข้อมูล และสถานการณ์โรค คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะทราบกันพอสมควรแล้ว  แต่ในด้านการใช้ยารักษาโรคนี้คิดว่าหลายๆท่านคงจะยังมีข้อกังขากันไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อที่หลายๆท่านคงคิดอยู่ในใจเสมอว่าจะซื้อมาให้บุตรหลานรับประทาน หากมีอาการคล้ายกับโรคมือเท้าปาก
             โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบการติดเชื้อมากในเด็กที่อายุต่ำว่า 5 ปี แต่ก็ยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ได้เช่นเดียวกัน โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุคือเชื้อในกลุ่ม ไวรัสเอนเตอโร (Enteroviruses) ซึ่งประกอบไปด้วยเชื้อ polioviruses, coxsackieviruses, echoviruses และอื่นๆ โดยเชื้อกลุ่มนี้จะพบในสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะเป็นต้น
 อาการ
                โดยทั่วไปจะเริ่มจากมีไข้  รับประทานอาหารได้น้อยลง เจ็บคอ หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน จะพบตุ่มแดงเล็กๆ และแตกเป็นแผลในช่องปาก อีก 1-2 วันต่อมาจะพบที่ผิวหนังโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือ และเท้า บางครั้งอาจพบที่เข่า ข้อศอก ก้น หรืออวัยเพศได้เช่นกัน ในบางคนอาจจะพบเพียงแค่แผลในปาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอาการครบทุกอย่างก็เป็นได้ และในเด็กเล็กหากไม่สามารถกลืนน้ำหรือรับประทานอาหารได้เนื่องจากแผลในปากอาจทำให้เด็กเกิดภาวะขาดน้ำได้

 การติดต่อ
                การติดต่อสามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค โดยเฉพาะใน สัปดาห์แรกของการติดเชื้อ

 การป้องกัน
                ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จำเพาะในการป้องกันโรคดังกล่าว แต่เราสามารถป้องกันหรือลดอัตราการแพร่เชื้อได้โดยการล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้กับผู้ที่กำลังเป็นโรค หรือสงสัยว่ากำลังติดเชื้อมือเท้าปาก

 การรักษา
                เนื่องจากโรคมือเท้าปากมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่มียาฆ่าไวรัส ซึ่งบางท่านอาจะเข้าใจผิดว่ายาฆ่าเชื้อโดยทั่วไป ที่เราใช้ในกรณีติดเชื้อ แผล ผี หนอง จะรักษาอาการดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากยาในกลุ่มดังกล่าว จะใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่สำหรับโรคมือเท้าปากยาในกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่การรักษาจะรักษาโดยการประคับประคองไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำ และให้สารน้ำทดแทนในกรณีที่มีอาการมาก และหากยังคงสามารถ กลืนน้ำและอาหารได้ควรให้ผงน้ำตาลเกลือชนิดดื่มทดแทน หรือ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งในกลุ่มเด็กจะมีพื้นที่ผิวกายมากกว่าผู้ใหญ่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้มากกว่าผู้ใหญ่ หากมีไข้ ควรให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล (Paracetamol) ควรหลีกเลี่ยง ยาที่มีส่วนผสมของ แอสไพริน

                โดยขนาดยาพาราเซตามอล (Paracetamol)ในเด็ก จะให้ในขนาด 10 -15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง ยาลดไข้พาราเซตามอลทั่วไปจะมีความแรงเท่ากับ 120 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซี (คิดง่ายๆคือ เด็กหนักทุก 10 กิโลกรัมจะให้ยา 1 ช้อนชา) โดยให้ซ้ำได้ทุก 4 – 6 ชั่วโมงหากมีอาการไข้ และควรมีการเช็ดตัวลดไข้ จิบน้ำบ่อยๆ หากมีอาการเจ็บแผลในปากมากจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาจจำเป็นต้องใช้ยาชาทาบริเวณแผลในปากก่อนรับประทานอาหาร และไม่จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic)

                เพียงแค่รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อ หรือกำลังติดเชื้อ เพียงเท่านี้เราก็สามารถลดอัตราการเกิดโรค หรือลดอัตราการติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้นในกรณีที่กำลังมีอาการ รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีและหายเร็วมากขึ้น

ติดตามฉบับสมบูรณ์ที่มีภาพประกอบได้ที่http://www.nonghan108.com/?p=58 นะครับ

เอกสารอ้างอิง:http://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/about/index.html

หมายเลขบันทึก: 495684เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท