กฎหมายกับเทคโนโลยียุคดิจิตอล


กฎหมายกับเทคโนโลยียุคดิจิตอล ของ นพมาศ ประสิทธิ์มณฑล

กฎหมายกับเทคโนโลยียุคดิจิตอล

ของ นพมาศ ประสิทธิ์มณฑล   บทความนี้ลงพิมพ์ในคอลัมน์ e-Comment, นสพ ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1,885 วันที่ 7-10 มีนาคม 2547ในคอลัมน์แรกของ e-Comment ซึ่งได้นำเสนอมุมมองในเรื่องมือถือติดกล้องกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปนั้น ทำให้ผู้เขียนอยากร่วมแสดงความเห็นผ่านหัวข้อกฎหมายกับเทคโนโลยียุคดิจิตอลนี้ แน่นอนว่าเทคโนโลยียุคดิจิตอลในความหมายของผู้เขียนนี้รวมถึง เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากหลายท่านอาจจะกำลังสงสัยเช่นกันว่าในปัจจุบันนี้ บ้านเรามีกฎหมายอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวกับ อีคอมเมอร์สหรือไม่ แล้วถ้ามีแฮคเกอร์มาเจาะระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทเรา จะใช้กฎหมายอะไรมาจัดการกับเหล่ามิจฉาชีพไฮเทคเหล่านี้ หรือที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ ในกรณีของการปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มี ชื่อว่า มายดูม (Mydoom) ผู้ทำการปล่อยไวรัสเหล่านี้จะต้องรับโทษหรือไม่ ตามกฎหมายอะไร และคำถามยอดฮิตอีกประการ คือ ถ้าคดีไฮเทคเหล่านี้ไปถึงศาลแล้ว ในการสืบพยานต้องใช้พยานหลักฐานจากคอมพิวเตอร์ หรือที่อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่พิมพ์ออกมาจากคอมพิวเตอร์ หรือแสดงอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ศาลไทยเราจะรับฟังพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์นี้หรือไม่ ผู้เขียนคงจะไม่ตอบคำถามทั้งหมดข้างต้นในวันนี้ แต่ขอให้ภาพกว้าง ๆ เกี่ยวกับการปรับใช้กฎหมายปัจจุบันกับปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่เกี่ยวข้องกับไอทีทั้งหลายว่า กฎหมายไทยเราที่มีอยู่ เป็นต้นว่า กฎหมายหลัก ๆ ที่นักกฎหมายเรียกว่า กฎหมายสี่มุมเมือง คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพิเศษในรูปพระราชบัญญัติอื่น ๆ ก็ยังพอปรับใช้ได้กับคดีที่เกี่ยวกับไอทีทั้งหลายได้ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากเรื่องมือถือติดกล้องจากคราวที่แล้วว่า ถ้ามีใครเอามือถือเช่นว่านั้นมาแอบถ่ายรูปเรา หรือมาถ่ายรูปเราโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำให้เราเสียหาย เช่น ถ่ายรูปแล้วไปทำการตัดต่อให้เป็นภาพนู๊ดหรือภาพโป๊ และส่งภาพนั้นต่อไปยังมือถือเครื่องอื่น ๆ หรือติดไว้บนเว๊บไซต์ ผู้ถูกแอบถ่ายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ถ่ายรูปนั้นได้ ทั้งนี้ การดำเนินคดีทางแพ่งในกรณีนี้ คือ การเรียกค่าเสียหายในฐานละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งได้รับความเสียหายทางด้านชื่อเสียง ส่วนการดำเนินคดีอาญานั้น ก็สามารถกระทำได้ ถ้าการถ่ายรูป ตัดต่อและเผยแพร่รูปนั้นในทางที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ถูกแอบถ่าย ทำให้ผู้เสียหายถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ในกรณีเช่นนี้อาจดำเนินคดีอาญากับผู้แอบถ่ายได้ในฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือ 328 จากตัวอย่างการปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่กับข้อเท็จจริงใหม่ ซึ่งอุปกรณ์ในการกระทำความผิดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก็คงพอทำให้ผู้อ่านเห็นว่า ในบางครั้งเราไม่ต้องออกกฎหมายใหม่มารองรับกับทุก ๆ เทคโนโลยีใหม่ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เราคงมีกฎหมายที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ฉบับที่ใช้กับมือถือรุ่นกระติกน้ำ มาจนถึงมือถือติดกล้องอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคงไม่สามารถสรุปแบบเหมารวมว่า กฎหมายไทยเราที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้มีประสิทธิภาพเพียงพอ และสามารถปรับใช้ได้กับทุกปัญหากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีด้านไอทีแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจซึ่งการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การใช้อีเมล์ หรือการทำธุรกรรมผ่านเว๊บไซต์ สิ่งเหล่านี้มิได้มีอยู่ในขณะที่มีการร่างกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอาญา แน่นอนว่าผู้ร่างกฎหมายไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเนื้อหาในกฎหมายเหล่านี้จะต้องนำไปใช้กับปัญหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไอที และการที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายปัจจุบันนี้ทำหน้าที่ตีความ ขยายความ และปรับใช้กฎหมายที่ร่างตั้งแต่สมัยยังไม่มีโทรศัพท์ใช้แพร่หลายในประเทศไทย (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย ประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2466) กับปัญหากฎหมายสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต หรือการสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอลอื่นๆ ย่อมก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในผลของกฎหมาย ทั้งยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมอร์สในประเทศไทยด้วย เพื่อขจัดความไม่แน่นอนในผลทางกฎหมาย เราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายไอทีในการปรับใช้กับปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับหรือเกิดจากการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอลนี้ ในเรื่องนี้รัฐบาลได้มอบหมายหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดำเนินโครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยกฎหมาย 6 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้เท่าเทียมกัน กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ณ. วันนี้ มีกฎหมาย 2 เรื่องเท่านั้นเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกสิ์ พ.ศ. 2544 ซึ่งได้รวมเอาเรื่องของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิส์ไว้ได้ในกฎหมายฉบับนี้ ส่วนกฎหมายอีก 4 เรื่องยังเป็นร่างกฎหมายที่อยู่ในสภา ซึ่งกฎหมายทั้ง 6 เรื่องดังกล่าวมีที่มาและเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างไร ผู้เขียนจะได้นำเสนอให้ท่านผู้อ่านทราบในคราวต่อ ๆ ไป

คำสำคัญ (Tags): #rsu#it#ima
หมายเลขบันทึก: 49563เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท