ปวารณาตนในหัวข้อปัญหาเทคโนโลยีการศึกษา


สำนักงานรัฐบาลอีเลคทรอนิค-EGA กับ Gotoknow ได้ร่วมกันจัดวาระสำหรับให้บล๊อกเกอร์ Gotoknow ได้ร่วมกันเขียนบันทึกในหัวข้อต่างๆ และในช่วงนี้ เป็นหัวข้อปัญหาเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งก็จะมีไปจนถึง ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นี้นั้น เนื่องจากเป็นหัวข้อหนึ่ง ที่ผมเองก็สนใจ เลยเห็นจะต้องขอปวารณาตนไว้สักเล็กน้อย ดังนี้ครับ ....

๑. ขอร่วมเขียนแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดความรู้ให้กันโดยขอไม่รับการพิจารณาให้รางวัล เนื่องจากผมคงจะเขียนหลายเรื่อง เหมือนกับหัวข้ออื่นๆก็จะเขียนไปด้วยเรื่อยๆ ซึ่งโดยปรกติ ก็เหมือนกับจะเป็นขาใหญ่อยู่แล้ว พอเป็นเรื่องทางด้านเทคโนโลยีการศึกษานี้อีก ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นสาขาหนึ่งที่ได้ใช้มาตลอดชีวิตการทำงานของผม และอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นหัวข้อบันทึกที่ผมคงจะได้เขียนอยู่เสมอๆ เลยเกรงว่าจะมีภาพการครองเวทีของประเด็นนี้ หากไม่รีบแสดงตนว่าจะได้เป็นผู้ร่วมเขียนด้วย แต่จะเป็นกองเชียร์อย่างเดียวแล้ว ก็จะทำให้บรรยากาศไม่น่าสนุกคิด-ไม่น่าสนุกเขียน อยากให้เป็นเรื่องที่ชวนให้เกิดความสนใจ ตื่นตัว เปิดเป็นเวทีคิดเขียนให้กับคนทำงานและผู้สนใจทั่วไป 

๒.จะขอปวารณาเป็นผู้รีวิวบทความและบันทึกในหัวข้อนี้แก่ทุกท่านที่เขียน สกัดความรู้และวิเคราะห์ประเด็นร่วมระดับภาพรวมให้ เพื่อร่วมเป็นชุมชนเรียนรู้ในเรื่องที่สำคัญต่อสังคมการเรียนรู้ในครั้งนี้ รวมทั้งได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศของการนำเอาบทเรียนและองค์ความรู้ปฏิบัติต่างๆมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันให้คึกคักมากยิ่งๆขึ้น ผมจะลองออกแบบและพัฒนากระบวนการวิจัยแบบ PAR เพื่อทำงานเชิงสังเคราะห์บทเรียน และให้ทรรศนะเชิงวิพากษ์ในประเด็นที่อาจจะมีความสำคัญต่อการทำให้เครือข่ายการเขียนความรู้ครั้งนี้ ได้ประเด็นพัฒนาปฏิบัติการต่างๆต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเครือข่ายปฏิบัติการวิจัยแบบ PAR ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาของประเทศ ซ้อนลงไปบนเครือข่ายผู้เขียน ในลักษณะเป็นเครือข่ายวิจัยถอดบทเรียน PAR ออนไลน์ ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาภาคปฏิบัติการ จะทำไปตามความสะดวกและดูไปตามความเหมาะสม ตามกาลเทศะต่างๆนะครับ

กระบวนการเล็กๆน้อยๆนี้ ทำสนุกๆและทำเพื่อสร้างบรรยากาศการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ให้กัน แต่กระนั้น ก็เชื่อว่าจะช่วยยกระดับการมีประสบการณ์ด้วยกันแบบค่อยคิดค่อยทำช่วยกัน ผ่านการเขียนและแลกเปลี่ยนบทเรียนกันในครั้งนี้ ให้การบันทึกมีบทบาทเป็นเครือข่ายข้อมูลปฏิบัติการในเงื่อนไขแวดล้อมที่หลากหลายทั่วประเทศ และใช้เป็นข้อมูลข่ายการวิจัยของผู้ปฏิบัติ บนสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ ทุกคนจะเป็นนักวิจัยและผู้ใช้ความรู้ ตรวจสอบความรู้จริงและสร้างความเป็นจริงไปบนการทำงานจริงๆ

ผมคิดว่าพอจะดูให้ได้ทั้งในกรอบการมองแบบทั่วๆไป และในบางเรื่องที่เป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการทำงานเชิงสังคมในแนวทางใหม่ๆของสังคมไทย ก็จะช่วยสกัดและดูให้ว่าปรากฏอยู่ในบทเรียนที่บันทึก และมีเป็นต้นทุน สำหรับการที่จะพัฒนาตนเองต่อไปของเจ้าของบทเรียนต่างๆในอนาคตอย่างไร เสมือนเป็นเสียงสะท้อนจากมุมมองของคนในสังคมรอบข้าง ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ตนเองมีความลึกซึ้งและรอบด้านหลายมิติมากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะในเรื่อง

  • กระบวนการเรียนรู้และการสร้างความรู้บนการปฏิบัติ (Learning and Knowledge Creation Through Action)
  • การเรียนรู้และทำงานเป็นกลุ่มด้วยปฏิสัมพันธ์แนวราบ (Interactive and Participatory Learning) และ
  • สื่อเฉพาะกิจกับสื่อเรียนรู้เล็กๆ(Small Media) และเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมพอเพียง (Appropriate Technology) สำหรับการเรียนรู้แบบเสริมพลัง 

๒-๓ มิตินี้ คิดว่าจะรีวิวดูให้อย่างเป็นพิเศษครับ ขอร่วมสนุกและขอร่วมเป็นแรงใจแก่ทุกท่านครับ.

หมายเลขบันทึก: 495622เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณอาจารย์หมอ ป. และคุณแสงแห่งความดีครับ
ตอนนี้่ กำลังนั่งอย่างเมื่อยแล้วเมื่อยอีกอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิแน่ะครับ
กำลังจะไปร่วมเวทีถอดบทเรียนและเก็บข้อมูลภาคปฏิบัติ ของเครือข่ายพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิกับเครือข่ายสุขภาพชุมชน ๓-๔ จังหวัดของภาคใต้ ของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนนครศรีธรรมราชครับ

ท่านพี่ วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ไปไหน ... ก็ไม่เคยจะหยุดคิดเลยนะครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท