กฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง : กลไกว่าด้วยการปรับสมดุล


“กฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ที่ครอบคลุมกลไกการทำงานเพื่อจัดสรรพลวัตรของสรรพสิ่งให้เข้าสู่จุดดุลยภาพอยู่เสมอคือ “กฎไตรลักษณ์” ซึ่งประกอบไปด้วย อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดยกระบวนการของการเข้าสู่จุดดุลยภาพนั้นจะไม่ใช่ดุลยภาพเดิมตามที่เคยเป็นมา แต่จะเป็นดุลยภาพใหม่ภายใต้องค์ประกอบของพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในขณะนั้น ๆ ซึ่งดุลยภาพของสรรพสิ่งก็จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ซ้ำเดิม เกี่ยวเนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถที่จะควบคุมปัจจัยเหตุอันหลากหลายปัจจัยเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) ที่สำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยเหตุที่ก่อเกิดจากกิเลสที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กิเลสเปรียบเสมือนยาเสพติดที่ผู้เสพ (มนุษย์โดยทั่วไป) มีความต้องการในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลิตภัณฑ์จากกิเลสที่หลากหลายมากมายให้เลือกสรร (เหมือนสินค้า) ในยุคปัจจุบัน การที่จะบำบัด รักษาเยียวยา รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านและกำจัดกิเลสให้ได้นั้นต้องใช้ตัวยา “ไตรสิกขา” ซึ่งประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งตัวยาดังกล่าวสามารถที่จะรักษาทุกข์ – โลก ให้เกิดศานติสุขร่วมกันในสังคมดังที่กล่าวมาแล้ว มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะกิเลสได้ด้วยการวิ่งไล่กวดกิเลส กิเลสมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ มีความเร็วที่ขึ้นอยู่กับระดับศีลธรรมและคุณธรรมกล่าวคือ

                - กรณีหากมีความตกต่ำทางด้านศีลธรรมและคุณธรรมในจิตใจแล้ว ก็เปรียบเสมือนเป็นการเติมพลังเชื้อเพลิงให้กับกิเลส ให้เคลื่อนที่ได้เร็วขึ้นและทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ การทำสงครามกับกิเลสเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพิภพโลกและจักรวาลของมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน รากเหง้าของกิเลสจุติขึ้นมาจากนาม การทำสงครามแบบถอนรากถอนโคนที่รากเหง้าต้องใช้อาวุธนาม (จิต) ในการต่อสู้ถึงจะชนะสงคราม หากใช้อาวุธรูป (วัตถุ) ในการต่อสู้นอกจากจะพ่ายแพ้อย่างราบคาบแล้วยังเป็นการเติมพลังและเสริมพัฒนาการให้กับกิเลสอีกด้วย

            “กฎธรรมชาติ” ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อกว่า ๒๕ ศตวรรษ และทรงแสดงไว้ ๕ อย่าง เรียกว่า “ปัญจนิยามธรรม” คือ กฎ ๕ ประการ ที่บีบคั้น บังคับให้เกิดอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาของทุกสรรพสิ่ง คือ

            ๑. อุตุนิยาม (Physical Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เกี่ยวเนื่องกับวัตถุที่ไม่มีชีวิตทุกชนิด เช่น ฤดูกาล อุณหภูมิ หรือความร้อน – เย็น อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั้งรูปและนาม หรือแม้กระทั่งการก่อเกิดของโลกและจักรวาลก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติของข้อนี้ เกี่ยวเนื่องกับกฎและทฤษฎีทางฟิสิกส์ทั้งหมด

            ๒. พีชนิยาม (Biological Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์และพืช การสืบพันธุ์หรือพันธุกรรม เกี่ยวเนื่องกับกฎและทฤษฎีทางชีววิทยาทั้งหมด

            ๓. จิตนิยาม (Psychological Laws) เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกลไกในการทำงานของจิต เช่น เมื่อมีอารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไรคือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน และมีอาวัชชนะแล้วมีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น รวมถึงการเกิด-ดับของจิต การรับอารมณ์ของจิต องค์ประกอบของจิต (เจตสิก) อำนาจของความคิดเพื่อกระทำกรรมแก้ไขความคงอยู่

           ๔. กรรมนิยาม (Moral Laws) เป็นกฎแห่งกรรม การกระทำกรรม อันทำให้เกิดพัฒนาการและวิวัฒนาการทุกด้าน เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม เป็นกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ กินลึกลงไปถึงกระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องประสานกัน

           ๕. ธรรมนิยาม (Causal Laws) เป็นกฎธรรมชาติอันเป็นไปตามเหตุตามผล ตามปัจจัยของสรรพสิ่งทั้งหลาย เช่น กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) หลักปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ที่ว่า “เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป” โดยกฎข้อนี้มีขอบเขตครอบคลุมกว้างขวางที่สุด กลไกการทำงานของกฎทั่งสี่ข้อ บีบคั้น บังคับให้เกิด อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา นี้

             

           ถือได้ว่าเป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมกลไกของทุกสรรพสิ่งที่คอยปรับดุลยภาพของสรรพสิ่งตามพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงทางปัจจัยเหตุที่ไม่มีมนุษย์หรืออะไรและสิ่งใด ที่จะสามารถควบคุมปัจจัยเหตุต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัจจัยเหตุต่าง ๆ เหล่านั้นของสรรพสิ่งก็จะบีบคั้น บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถที่จะคงอยู่ในสภาพเดิมได้ (อนิจจัง) ของทั้งพีชนิยาม (รูปธรรม) และจิตนิยาม (นามธรรม : เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) ซึ่งทั้งพีชนิยามและจิตนิยามนี้ถือได้ว่าเป็นที่เกาะและเพาะเชื้อรวมถึงการฟักตัวของกิเลส

  

 ภาพ : การปรับสมดุลของกฎธรรมชาติ (กรณีที่มีกิเลสเพิ่มขึ้น)

 

        เมื่อกิเลสเพิ่มขึ้น :

        เมื่อมวลมนุษยชาติมีกิเลส (ความต้องการ) เพิ่มสูงขึ้นในการดำเนินชีวิต การสนองตอบต่อความต้องการนั้นนำพาไปสู่การเข้าไปทำลายความสมดุลของกฎอุตุนิยาม ให้เสียดุลยภาพไป ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนในภาวะปัจจุบัน เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้า – อากาศ และฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ล้วนเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการก้าวล้ำเข้าไปตักตวงเอาผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างอหังการของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จนเกิดการสะสมของต้นทุนทางธรรมชาติ (กระบวนการปรับดุลยภาพด้วยตัวของมันเองตามธรรมชาติ) อาจเป็นเพราะมนุษย์ติดกับดักในมายาคติที่ยึดติดและยึดถือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง โดยมองธรรมชาติเป็นเพียงองค์ประกอบ (ส่วนเกิน) ส่วนหนึ่งของมนุษย์ นัยคือ “มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ” มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งกระบวนการปรับตัวของธรรมชาติเพื่อให้เข้าสู่จุดดุลยภาพใหม่จะเป็นไปตามกรอบของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่เมื่อระบบของสรรพสิ่งเข้าสู่ภาวะที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงด้านอื่น ๆ จนเกิดความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ โกลาหลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งในที่สุดระบบก็จะทำลาย (ชำระ) ตัวของมันเองจากจุดเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึง ทุกสิ่งทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยเหตุและภาวะแวดล้อมที่มากมายหลากหลายปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่เกี่ยวเนื่องกันหมด (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) จนไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน และแน่นอน (อนิจจัง) ในกระบวนการของการปรับดุลยภาพใหม่นั้นจะสะท้อนออกมาเป็นผลของกฎกรรมนิยาม ในลักษณะของภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ แผ่นดินไหว เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ส่งมาถึงมวลมนุษยชาติว่า ธรรมชาติกำลังเจ็บป่วยหากไม่ช่วยกันรักษาเยียวยา ความเจ็บป่วยของธรรมชาติก็จะทรุดหนักไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดธรรมชาติก็จะกลับมาเรียกค่าสินไหม (ในรูปแบบของภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ) ชดเชยจากมนุษย์อย่างสาสมและประเมินค่าไม่ได้

         

          วัฏจักรเหล่านี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองเห็นมากว่า ๒๕ ศตวรรษ และพระองค์ทรงหยั่งรู้ด้วยปัญญาญาณว่าสิ่งที่มนุษย์เฝ้าวิ่งไล่กวดถวิลหาคิดว่าเป็นความสุข (กิเลส) แก่นแท้แล้วกลับเป็นความทุกข์ที่คอยบั่นทอนให้มนุษย์ถดถอยและตกต่ำลงไปในด้านศีลธรรมและคุณธรรม ถึงแม้พระพุทธองค์จะทรงมองเห็นแก่นแท้แต่ก็เข้าใจธรรมชาติในตัวมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน การที่จะทำให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติเข้าถึงและเข้าใจในหลัก “ไตรสิกขา” อย่างถึงแก่นนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีความสุขได้ก็คือ มนุษย์ต้องรู้เท่าทันกิเลส อย่าตกเป็นเครื่องมือและปล่อยให้กิเลสครอบงำนำพาไปสู่ความถดถอยและตกต่ำ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนหลักการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมให้มีความสุขโดยให้ยึด “หลักทางสายกลาง”

 

         “กฎธรรมชาติ” ที่ควบคุมสรรพสิ่งนั้นมีอยู่จริงตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว มนุษย์เป็นได้เพียงผู้ที่สามารถค้นพบและดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจในกฎธรรมชาตินั้นอย่างแท้จริง เพื่อช่วยกันรักษาทุกข์ – โลก ที่นับวันจะวิกฤติมากยิ่งขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์เอง ทุกสิ่งทุกอย่างมีสองด้านคู่ขนานกันเสมอเฉกเช่น การพัฒนา (เทคโนโลยี) มาควบคู่กับการทำลายล้าง ยิ่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าใด การมุ่งทำลายล้างระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองและมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถที่จะไปหยุดยั้งการทำลายล้างดังกล่าวได้ แต่ เราสามารถที่จะช่วยกันชะลอการทำลายล้างดังกล่าวออกไปได้ด้วย การทำความเข้าใจ เข้าถึงซึ่งกฎธรรมชาติตามจริง ด้วยหลักการดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง ที่รู้เท่าทันโลกวัตถุ (กิเลส) โดยมนุษย์เราต้องเป็นฝ่ายครอบงำกิเลส หาใช่ ให้กิเลสมันมาครอบงำตัวเราเฉกเช่นปัจจุบัน

 

 

     เจตสิก เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในใจของคนเรา เกิดขึ้นและดับลงพร้อมกับจิตเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของจิตและแยกจากจิตไม่ได้ ช่วยตัดสินใจหรือปรุงแต่งจิตใจในการทำบุญและบาป จิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเหมือนกัน องค์ประกอบของดวงจิตที่เรียกว่า “เจตสิก” นี้มีทั้งหมด ๕๒ ชนิด ซึ่งองค์ประกอบที่หลากหลายชนิดนี้มีผลทำให้เกิดลักษณะของดวงจิตที่แตกต่างกันออกไปได้ถึง ๑๒๑ แบบ ดวงจิตที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง และเวทนาที่เกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เป็นส่วนหนึ่งใน ๑๒๑ แบบนี้

 

        กฎแห่งกรรม คือ ผลสะท้อนของกรรมที่ได้เคยทำสั่งสมไว้ (ดี – ชั่ว) ในอดีตกาล หรือที่เข้าใจกันโดยง่ายทั่วไปคือ “ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว” นั่นเอง กรรมและผลของกรรม (วิบาก) นั้น แบ่งตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาได้ ๑๒ ข้อ โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด ๆ ละ ๔ ข้อ  กล่าวคือ

          หมวดที่หนึ่ง : กรรมที่ให้ผลตามกาล (เวลา) มี ๔ ข้อ

             -  กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม)

             -  กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (อุปัจชชเวทนียกรรม)

             -  กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียกรรม)

             -  กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว/ไม่มีผล (อโหสิกรรม)

           หมวดที่สอง : กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มี ๔ ข้อ

             -  กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม)

             -  กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม)

             -  กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม)

             -  กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม)

          หมวดที่สาม : กรรมที่ให้ผลตามลำดับ มี ๔ ข้อ

             -  กรรมหนัก (ครุกรรม)

             -  กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม)

             -  กรรมที่ทำบ่อย ๆ (อาจิณณกรรม)

             -  กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม)

 

      กฎอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท ถือได้ว่าเป็นแก่นหรือหัวใจของพุทธศาสนาโดยแท้จริง ที่สอนให้รู้จริงถึงวงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันนำไปสู่หนทางในการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ รวมทั้งกฎปฏิจจสมุปบาทยังเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานของ “กฎไตรลักษณ์” ที่เป็นภาวะบีบคั้น บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคงอยู่ในรูปเดิมไม่ได้ ซึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมทั้งครอบคลุมถึงกฎธรรมชาติ

         ปฏิจจสมุปบาท คือ อริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นการแสดงให้ทราบว่าทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะดับลงไปได้อย่างไร ซึ่งการที่ทุกข์เกิดขึ้นและดับไปนั้น มีลักษณะที่เป็นธรรมชาติที่อาศัยกันและกัน

                -  ปฏิจฺจ         แปลว่า  อาศัย

                -  สมุปฺบาท    แปลว่า  เกิดขึ้นพร้อมเรื่องของสิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน

       แปลได้ว่า : ธรรม (๑๑ อาการ) ที่เกิดขึ้นด้วยกันโดยอาศัยกัน

      หรือที่เข้าใจง่าย ๆ คือ “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” หรือ

                “เพราะมีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนั้น ๆ จึงก่อเกิด”

       ปฏิจจสมุปบาท  คือ  อทัปปัจจยตา

       อิทัปปัจจยตา     คือ  ปฏิจจสมุปบาท

       ปฏิจจสมุปบาท ใช้อธิบาย วงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์

       อิทัปปัจจยตา ใช้อธิบายวงจรของทุกสรรพสิ่ง จะกว้างกว่า ใหญ่กว่า ครอบคลุมมากกว่า

         ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยแท้จริง ที่สอนให้รู้จริงถึงวงจรของการเกิด – ดับ แห่งทุกข์ เพื่อที่จะให้รู้เท่าทันนำไปสู่หนทางในการหลุดพ้นจากวังวนแห่งทุกข์ รวมทั้งกฎปฏิจจสมุปบาทยังเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานของ “กฎไตรลักษณ์” ที่เป็นภาวะบีบคั้น บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคงอยู่ในรูปเดิมไม่ได้ ซึ่งก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา รวมทั้งครอบคลุมถึงกฎธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 495199เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2012 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2012 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท