ก. ได้อะไรจากการไปงาน R2R ครั้งที่ ๕ : เรียบง่าย คุณภาพ ครบวงจร


แยกย้ายกันเก็บเกี่ยวความรู้จากแต่ละห้องมาแลกเปลี่ยนกัน เก็บใส่คลังความรู้ นำสิ่งที่เหมาะสมกับจังหวัดของเรามาใช้ในโอกาสเหมาะสม

(๑)      สถานการณ์การเรียนรู้

หลังจาก นพ.พงษ์พิสุทธิ์  จงอุดมสุข  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  (สวรส.)   กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุมทั้ง  ๑,๕๐๐  คน  อย่างคึกคัก  มีชีวิตชีวา  พร้อมกับอำลาตำแหน่งนี้ล่วงหน้า  ๘  เดือน  อวยพรให้ Routine to Research (R2R)  เบ่งบานต่อทั่วทั้งแผ่นดิน  เนื่องจากเป็นของทุกคน

 

ช่วงเช้าวันที่  ๑๐  กรกฎาคม  ๒๕๕๕  ที่ห้อง Grand Diamond Ballroom  ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม  เมืองทองธานี  กรุงเทพมหานคร  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ได้เปิดเวทีต่อในหัวข้อ R2R กับองค์กรเรียนรู้  ผู้ร่วมสนทนาคุณภวลัญฉน์  พลเสน  คุณอนัญญา  หงษา  จากมูลนิธิข้าวขวัญ  จังหวัดสุพรรณบุรี  และ ศ.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา  คณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล   ๒ องค์กรต่างภารกิจ  การทำนาให้ได้ข้าวอินทรีย์และบริการสุขภาพเพื่อสุขภาวะ  เป็นองค์กรเรียนรู้ได้อย่างไร

 

ต่อด้วย Talk show เร้าใจ  ในหัวข้อทันสมัย “R2R เมื่อยามน้ำนอง (มองโจทย์ R2R ยามน้องน้ำมาเยือน)”  โดยกูรูวิจัยเชิงคุณภาพ  ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ  ดร.นพ.โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์  สมกับที่ตั้งตารอมาฟังหัวข้อนี้ ..... อาจารย์ฝีปากไม่เคยตก  คมความคิดไม่เคยทื่อ  โดยเฉพาะประเด็นวิจัยที่น่าท้าทาย  นักการเมืองและความล้มเหลวในการจัดการน้องน้ำ

 

อีกวันครึ่งต่อมา  นอกจากห้องประชุมใหญ่ Grand Diamond Ballroom  แล้ว  มีห้องประชุมย่อยให้เราเลือกเข้าร่วมฟังการเสวนาตามความสนใจ   ทุกห้องมีไมโครโฟนให้แฟนพันธุ์แท้ซักถามแลกเปลี่ยนได้  โถงทางเดินก่อนถึงส่วนรับประทานอาหารเป็นบริเวณแสดงนิทรรศการ  นวตกรรม  Poster นำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัล R2R ดีเด่น  ประจำปี ๒๕๕๕  ผลงานของเครือข่ายซึ่งแบ่งตามกลุ่มจังหวัดที่ตั้งใกล้เคียงกัน  และภาคีร่วมจัดต่าง ๆ ที่มีทั้งการประชาสัมพันธ์หน่วยงาน  ขายหนังสือ  ของที่ระลึก  เร้าความสนใจด้วย Mascot  ฉากโผล่เฉพาะหน้าออกมาเพื่อถ่ายภาพ  เป็นต้น

 

รู้เสมอว่าห้องประชุมที่มีอาจารย์ Ka-poom  ดร.นิภาพร  ลครวงศ์  ประจำเวที  เราจะได้ผัสสะทั้งหกโดยตรง  แอบขี้โกงเล็ก ๆ รออ่านต่อใน blog ของ GTK   

ตัดสินใจเข้าห้อง R2R clinic : เขียนบทคัดย่ออย่างไรถึงไม่ได้รางวัล  อ่านหนังสืออาจารย์โกมาตรแล้ว  ตรงกับกูรูด้านวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  และเป็นผู้อ่านงานวิจัยของ สวรส. และ Journal อีกหลายฉบับ  รศ.นพ.สมพนธ์  ทัศนิยม  ผู้นำสนทนาห้องนี้  ต่างก็ใช้บทคัดย่อเป็นแนวนำทางก่อนเขียนฉบับเต็ม  เคล็ดวิชาจากผู้ร่วมเสวนาอีก  ๔  ท่าน  ก็ไม่ได้หาฟังง่าย ๆ  คุณทัศนีย์  ญาณะ  สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน  สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน  มหาวิทยาลัยมหิดล  นพ.ดิเรก  สุดแดน  โรงพยาบาลท่าวังผา  จังหวัดน่าน  นพ.ณรงค์ศักดิ์  วัชโรทน  โรงพยาบาลสระบุรี  และคุณวิภาวดี  ต่อวงษ์  โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา  จังหวัดชลบุรี

 

วันที่สองของการประชุม  ยังเกาะติด R2R clinic : แบบวัดกับงานวิจัย  เลือกอย่างไรให้โดนใจและได้คุณภาพ  ผู้นำสนทนาที่มากด้วยประสบการณ์  ความรู้เต็มเปี่ยม  นพ.อัครินทร์  นิมมานนิตย์  วิทยากร  รศ.ดร.สุชีรา  ภัทรายุตวรรตน์  คุณมยุรี  โฆษิตเจริญสุข  จากคณะแพทยศาสตร์  ศิริราชพยาบาล   มีทั้งตัวอย่างงานวิจัย R2R  และแนวทางการเลือกใช้แบบวัด  จากผู้ให้คำปรึกษานักวิจัยมืออาชีพ

 

ต่อด้วยหัวข้อ  เรียนรู้ก้าวไกลไปกับคุณอำนวย  ทั้งระดับขนาดโรงพยาบาลชุมชน  และขนาดใหญ่อย่างศิริราชพยาบาล  แต่ก็ล้วนได้ใจคนทำงาน  ด้วยใจที่ทุ่มเท  เสียสละ  รักเพื่อนร่วมงาน  พร้อมสรรพเคล็ดลับแห่งความสุข  อย่างคุณอุราพร  สิงห์เห  โรงพยาบาลร้องกวาง  จังหวัดแพร่  คุณแอนนา  สุมะโน  โรงพยาบาลอ่าวอุดม  จังหวัดชลบุรี  คุณชรัสนิกูล  ยิ้มบุญณะ  ศิริราชพยาบาล

 

ภาคบ่ายโดนใจหัวข้อ : เครือข่าย R2R ภาคตะวันออก “กะเทาะเปลือกงานประจำด้วยงานวิจัยเชิงคุณภาพ”   ผู้นำการสนทนา  นพ.ทนง  ประสานพานิช  โรงพยาบาลพระปกเกล้า  จันทบุรี  วิทยากรจากคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  นพ.ทวีศักดิ์  นพเกษร  ต่อด้วยอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะผู้นำเสนอตัวอย่างการนำงานวิจัยเชิงคุณภาพมาพัฒนางานประจำ

 

วันสุดท้าย  ๑๒  กรกฎาคม  อาจารย์วิจารณ์  พานิช  กลับมาอีกครั้ง  ตื่นใจไปกับบรรยายพิเศษ  “R2R is Learning in the 21st  Century”  และตามด้วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขอีกครั้ง  หัวข้อ “กึ่งทศวรรษ R2R : ความเป็นไปและความคาดหวัง”  ปิดท้ายพิธีมอบรางวัลผลงาน R2R ดีเด่น  โดยท่านองคมนตรี  ศ.นพ.เกษม  วัฒนชัย

 

(๒)    เบื้องหลัง

ไปกับทีมพี่เลี้ยง R2R (Facilitator)  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  ดูแลอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี  ขอบคุณ ทพ.วัชรพงษ์  หอมวุฒิวงศ์  คุณจิตติพร  ดิษฐสร้อย  และพาหนะระหว่างที่พักและอิมแพ็คเมืองทองธานี  จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ  นำทีมโดย ทพญ.อุมาพร  ท่อแก้ว  พร้อมคณะทำงาน R2R  รวมทั้ง  เพื่อนนักวิจัยจากโรงพยาบาลหนองคายและสระใครเอง

 

จึงแยกย้ายกันเก็บเกี่ยวความรู้จากแต่ละห้องมาแลกเปลี่ยนกัน  เก็บใส่คลังความรู้  นำสิ่งที่เหมาะสมกับจังหวัดของเรามาใช้ในโอกาสเหมาะสม  ตารางกำหนดนำเสนอผลการเก็บข้อมูลวิจัย R2R  โรงพยาบาลสระใคร  วันที่  ๒๗  กรกฎาคม นี้

 

คราวนี้  จึงได้ทั้งเพื่อนใหม่และรู้จักเพื่อนเก่าเพิ่มขึ้น  ร่วมเดินทางในสาย R2R  และทางเดินของชีวิตข้างหน้า

 

โปรดติดตามตอนต่อไปนะคะ

(๓)     สิ่งที่ได้เรียนรู้

 

หมายเลขบันทึก: 494823เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ไม่ได้เจอกันเลยค่ะ...แต่เจอคุณหมอล่า...ค่ะ

โห.....พี่แก้วขา   สงสัยตอนนั้น  ห้องประชุมไฟตกแน่ ๆ เลย

Blank

แต่ก็ขอบคุณมากนะคะที่ชม 

ชาว GTK หน้าตาดีทั้งนั้นเลย  เหมือนพี่ไก่ ประกาย ว่าไว้

อาจารย์ Ka-Poom  ที่เคารพ

Blank

ส่งกำลังใจให้อาจารย์อยู่ห่าง ๆ นะคะ

และเบิกบานรับพลังแห่งความดีงามจากอาจารย์ทุกท่าน เพื่อน ๆ ทุกคน

มีความสุขในการเรียนรู้ครั้งนี้มากค่ะ

คุณหมอล่า  หมอแก้ม  คุณจิต  ดูแลทีม R2R หนองคายดีมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท