สกัดความรู้จากโครงการ "สรอ. ขอความรู้" (2) เลิกบุหรี่


“เทคนิควิธีการเลิกสูบบุหรี่อย่างได้ผล หรือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ท่านอยากได้ในการช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ของประชาชนไทย”

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่ไม่เพียงทำร้ายร่างกายของผู้สูบเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยัง ผู้ใกล้ชิดสังคมรวมไปถึงประเทศชาติอีกด้วย GotoKnow และ สรอ.(EGA) จึงได้ร่วมมือกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความรู้และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อการพัฒนาระบบบริการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของประเทศ สำหรับประเด็นที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 – 15 มิถุนายน 2555 เรื่อง "เทคนิควิธีการเลิกสูบบุหรี่อย่างได้ผล หรือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ท่านอยากได้ในการช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ของประชาชนไทย"   ผลการแสดงความคิดเห็น ดังนี้

1. สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้สูบบุหรี่   สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้คนสูบบุหรี่ เกิดจากการลอกเลียนแบบบุคคลที่ชื่นชอบการใช้บุหรี่เป็นสิ่งคลายเครียด การสูบบุหรี่เพราะอยากอวดผู้หญิง การมีความคิดว่าเพื่อนที่สูบบุหรี่ดูเท่ห์ดีและการมีค่านิยมในสมัยก่อนว่าความเป็นเพศชายต้องเข้มแข็ง ไม่ขลาดกลัว แสดงความเป็น ฮีโร่   

2. ผลกระทบ หรืออันตรายที่เกิดจากบุหรี่ ผลกระทบหรืออันตรายที่เกิดจากบุหรี่เกิดผลกระทบระยะสั้นต่อประสาทสัมผัสของการรับรู้กลิ่นและรส จะทำหน้าที่ได้ลดลง  หัวใจเต้นเร็วขึ้น และความดันโลหิตสูงขึ้น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และมีกลิ่นปาก ฯลฯ ส่วนผลกระทบระยะยาวก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กล่องเสียง ลำคอ หลอดอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ  โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง  และทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมจากการอุดตันของเส้นเลือดที่เกี่ยวกับการควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ฯลฯ อีกทั้งหญิงมีครรภ์ที่ได้รับควันบุหรี่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยกว่าปกติ รวมทั้งมีโอกาสแท้ง และคลอดก่อนกำหนด ทั้งยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่อาจทำให้สมองช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาท และระบบความจำ นอกจากนี้การสูบบุหรี่  เป็นต้นเหตุของความร้าวฉานด้านจิตใจในชีวิตคู่อีกด้วย

3. สาเหตุหรือแรงจูงใจที่อยากเลิกบุหรี่ สาเหตุหรือแรงจูงใจที่คนอยากเลิกบุหรี่ส่วนใหญ่มักจะมาจากคนที่รัก ได้แก่ ลูก ภรรยา พ่อแม่ หลาน นอกจากนี้อยากเลิกเพราะเห็นถึงโทษภัยและเห็นจากบุคคลต้นแบบ 

4. เทคนิคหรือวิธีการเลิกบุหรี่  เทคนิคหรือวิธีการเลิกบุหรี่มักจะเริ่มต้นจากความตั้งใจแน่วแน่  โดยบางรายจะเลิกแบบหักดิบ  ส่วนบางรายก็จะค่อยๆ เลิก โดยจะค่อยๆ ลดจำนวนการสูบลง  หาลูกอมมาอมแทนเมื่ออยากบุหรี่ ออกกำลังกายให้เหงื่อออก พยายามเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อไม่ให้นึกถึงบุหรี่  งดเครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด  นอกจากนี้อาจมีการขอคำปรึกษาจากหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา  และสุดท้ายคือต้องตัดใจให้ได้เด็ดขาดก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้

5. ผลลัพธ์จากการเลิกบุหรี่ ผลลัพธ์จากการเลิกบุหรี่ ถ้าผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ก็จะเกิดความภาคภูมิใจจะเกิดความสุขที่เพิ่มขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้นในยามเช้าและทุกเวลา

 

6. วิธีห่างไกลบุหรี่  วิธีที่ทำให้คนห่างไกลจากบุหรี่ คือ ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เยาวชนห่างไกลจากบุหรี่ โดยการชวน + ชี้ + เชิญ + ชม เพื่อให้เลิกบุหรี่หรือการสอนลูกให้เกลียดบุหรี่ และการไม่คิดลองสูบบุหรี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้บุคคลห่างไกลจากบุหรี่ 

7. การควบคุม ดูแลจากภาครัฐ  ภาครัฐควรส่งเสริมการสร้างสามัญสำนึกให้เกิดการรังเกียจคนสูบบุหรี่   ภาครัฐควรออกกฎให้เลิกผลิตเหล้า บุหรี่ เพิ่มภาษีให้สูง มีการเอาจริงเอาจัง   มีบทลงโทษผู้สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบให้จริงจัง จัดแบ่งเขตแบ่งโซนขายเหล้า-บุหรี่ จังหวัดไหน มีคนเท่าไร ควรขายเหล้า บุหรี่ได้เท่าไร กวดขัน จริงใจ เอาจริง เอาจัง  นอกจากนี้อยากให้รัฐประกาศให้ความช่วยเหลือถ้าบุคคลต้องการเลิกบุหรี่ โดยออกค่าใช้จ่ายให้ ถ้าไปเข้าโปรแกรมหยุดบุหรี่ มีการลดค่าประกันสุขภาพ    ควรมีการจำกัดปริมาณการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ รวมถึงการตรวจสอบและดำเนินคดีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายหรือบุหรี่มือสองอย่างจริงจัง มีการควบคุมเวลาและปริมาณการจำหน่ายบุหรี่ของร้านขายปลีก ปรับปรุง พรบ. คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัย ครอบคลุมและมีบทลงโทษที่ชัดเจน  ลดขนาดความยาวของบุหรี่ลง ให้สั้นลง ทำให้การสูบแต่ละครั้งลดลง   การกำหนดให้มีบุหรี่ปลอมอยู่ในซองบุหรี่ที่ขาย สุ่มอยู่ในซอง มีแต่ม้วนสูบไม่ได้  มีการตรวจจับผู้พกพาบุหรี่ และสถานที่สูบอย่างจริงจัง และมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบยาสูบให้เกิดประโยชน์และแพร่หลายมากขึ้น

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่มีแต่โทษทั้งต่อผู้สูบเองและต่อบุคคลรอบข้าง แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยอาจเพราะเห็นถึงโทษภัย  เพราะแรงจูงใจจากคนรัก หรือบางคนก็เลิกได้เพราะความมุ่งมั่นของตนเอง ซึ่งย่อมก่อให้เกิดผลดีทั้งด้านสุขภาพจิตสุขภาพกาย และยังส่งผลดีไปถึงครอบครัว สังคม และประเทศชาติอีกด้วย โดยเทคนิควิธีการเลิกบุหรี่นั้นมีแบบอย่างให้ปฏิบัติอยู่อย่างแพร่หลาย ขอเพียงแค่มีความเด็ดเดี่ยวและความตั้งใจจริงก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด 

 

สถิติของรายการบันทึกทั้งหมดที่ใส่คำสำคัญ “การเลิกบุหรี่” 

  • จำนวนบันทึกรวม 141 รายการ
  • จำนวนการอ่านรวม 48,124 ครั้ง
  • จำนวนการให้ดอกไม้ (ให้ความชอบ) รวม 1,049 ครั้ง
  • จำนวนความคิดเห็นรวม 1,043 รายการ

 

อ่านเพิ่มเติมในฉบับเต็มได้ที่ 

http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/819/072/original_quitsmoking.pdf

 

หมายเลขบันทึก: 494577เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  •  ขอบคุณดร.จันทวรรณมากค่ะ สำหรับการสกัดความรู้ เรื่องการสูบและการเลิกสูบบุหรี่ อ.วิจะนำไปเป็นสารสนเทศประกอบการจัดเรียนรู้ เรื่อง "การแนะแนวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน" ในวิชา "จิดวิทยาสำหรับครู" ค่ะ 

ครอบคลุม-ครบถ้วน-อ่านเข้าใจง่ายดีค่ะอาจารย์จัน

 

  • เป็นการสกัดความรู้ที่เยี่ยมมากเลยค่า อ.จัน
  • ขอบคุณมากนะคะ

เป็นการหลอมรวมที่มีประโยชน์ มากครับ สวัสดีครับ

: ขอบคุณข้อมูลดีๆมากค่ะ เห็นด้วยนะคะ ที่น่าจะมีบทลงโทษสำหรับคนที่สูบบุหรี่ที่ชัดเจนและหนักมากกว่านี้ อีกทั้งตัวอย่างที่ผิดๆจากผู้ปกครอง เช่น พ่อเป็นผู้สูบบุหรี่ พอลูกสูบบุหรี่พ่อก็ไม่สามารถตำหนิหรือเตือนได้ เพราะตัวผู้เป็นพ่อเองก็ยังไม่สามารถเลิกได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท