รายงานการวิจัย


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบัณฑิตและผู้บังคับบัญชาของบัณฑิตจำนวน 99 ชุด คิดเป็นร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 132 รูป/คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

บทที่ 5

 

สรุปผลการวิจัย  อภิปรายผล  และข้อเสนอแนะ

 

                        การวิจัยเรื่อง ศึกษาพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการเมืองการปกครอง    สาขาวิชารัฐศาสตร์    มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา คณะผู้วิจัยได้สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะดังนี้

 

5.1 สรุปผลการวิจัย

 

                        ในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง  คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบัณฑิตและผู้บังคับบัญชาของบัณฑิตจำนวน 99 ชุด คิดเป็นร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 132 รูป/คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

                               

5.1.1 สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

 

                             สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นบัณฑิต พบว่า บัณฑิตส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 87.9  มีอายุอยู่ระหว่าง 20-24 ปี รองลงมาได้แก่ อายุระหว่าง 25-29 ปี  มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 89.9  และอยู่ในตำแหน่งพระลูกวัด คิดเป็นร้อยละ 18.2

                                 สถานภาพทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้บังคับบัญชาของบัณฑิต พบว่า ส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต คิดเป็นร้อยละ 89.9  มีอายุอยู่ระหว่าง 50 ปีขึ้นไป มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 35.4  และอยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาส คิดเป็นร้อยละ 38.4

 

                5.1.2 พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา  วิชาเอกการเมืองการปกครอง

 

                        พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการเมืองการปกครอง สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

 

                   1) การเข้าร่วมพฤติกรรมทางการเมือง

 

                        การเข้าร่วมพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิต ที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชาเอกการเมืองการปกครอง เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง รองลงมาได้แก่ การมีโอกาสเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการให้คำปรึกษาทางการเมือง ตามลำดับ ส่วนบัณฑิตที่เป็นฆราวาสมีพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งรองลงมาได้แก่ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ตามลำดับ และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา  บัณฑิตมีพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่   การเป็นวิทยากร    การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง รองลงมาได้แก่ การมีโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง ตามลำดับ

 

2) กิจกรรมทางการเมืองที่บัณฑิตเข้าร่วมบ่อยที่สุด

 

กิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิตที่เข้าร่วมบ่อยที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การเข้าร่วมประชุม รองลงมา ได้แก่ การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา และการให้ความร่วมมือในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ตามลำดับ ส่วนบัณฑิตที่เป็นฆราวาสที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองบ่อยที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รองลงมา ได้แก่ การติดตามข่าวสารบ้านเมือง และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา บัณฑิตเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองบ่อยเป็นอันดับหนึ่ง  ได้แก่ การเข้าร่วมประชุม  รองลงมา ได้แก่ การเป็นวิทยากร การ  อบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา และการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ตามลำดับ

 

3) การนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง

 

การนำความรู้ทางการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิต พบว่า บัณฑิตนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 36.4 รองลงมา ได้แก่ นำไปใช้ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 22.2 และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา พบว่า บัณฑิตนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 37.4 รองลงมา ได้แก่ นำไปใช้ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 31.3

 

4) พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิต เมื่อมีสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

 

                            (1) พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นบรรพชิต   พบว่า  ท่านจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 93.1 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เป็นสิทธิและหน้าที่ รองลงมาได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง และแสดงพลังทางการเมือง ตามลำดับ  ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 86.2 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ใช้สิทธิของตน  รองลงมาได้แก่ ต้องการเลือกผู้แทนที่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ตามลำดับ จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก คิดเป็นร้อยละ 73.6 เหตุผลที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รองลงมาได้แก่ นำความรู้ที่ได้ศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเมือง และได้เสนอความคิดเห็นทางการเมือง ตามลำดับ จะเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง คิดเป็นร้อยละ 87.3 เหตุผลที่เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย รองลงมาได้แก่ ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และเป็นแนวทางในการเลือกผู้นำที่เป็นคนดี มีคุณธรรมและมีความรู้ความสามารถ ตามลำดับ ได้ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 90.8 เหตุผลที่ให้คำปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองที่ถูกต้อง รองลงมาได้แก่ ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลือกตั้ง และต้องการพัฒนาประเทศ ตามลำดับ

 

                                     (2) พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นฆราวาส พบว่า จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เป็นสิทธิและหน้าที่ รองลงมาได้แก่ ชอบและสนใจทางการเมือง และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา บัณฑิตไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เหตุผลที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ใช้สิทธิของตน  รองลงมาได้แก่ ต้องการปฏิรูปทางการเมือง จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ยังไม่มีโอกาส/ไม่มีความพร้อม รองลงมาได้แก่ ไม่ทราบการสมัครเป็นสมาชิก จะเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ เข้าใจกระบวนการเลือกตั้ง รองลงมาได้แก่ สร้างความกระตือรือร้นทางการเมืองของประชาชน และไม่ต้องการให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง ตามลำดับ ได้ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 66.7 เหตุผลที่ให้คำปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจระบบการเมืองที่ถูกต้อง รองลงมาได้แก่ ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม จะปรึกษาหารือกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน และผู้ที่ให้ความเคารพนับถือ คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ปรึกษาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ให้ความรู้ทางการเมืองการปกครอง รองลงมา ได้แก่ เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถ และต้องการพัฒนาประเทศ ตามลำดับ ไม่มีการติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 83.3 เหตุผลที่ไม่มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง เป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ไม่มีโอกาสติดต่อ รองลงมาได้แก่ ไม่รู้จักเจ้าหน้าที่ทางการเมือง และไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง/ไม่ปลอดภัย ตามลำดับ หากเห็นว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งทุกระดับ จะเข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 91.7 เหตุผลที่เข้าร่วมลงนามเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ช่วยป้องกันการทุจริต/ป้องกันคนไม่ดีไปบริหารบ้านเมือง รองลงมาได้แก่ ต้องการความยุติธรรม และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน ตามลำดับ หากเห็นว่ามีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง จะเข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เหตุผลในการเข้าร่วมลงนามเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ไม่ต้องการให้เกิดการทุจริต รองลงมาได้แก่ เป็นหน้าที่ของประชาชน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน ตามลำดับ และต้องการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เหตุผลที่ต้องการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รองลงมา ได้แก่ นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์

 

                                                (3) พฤติกรรทางการเมืองของบัณฑิต จากการสอบถามผู้บังคับบัญชา พบว่า บัณฑิตไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 83.3 ไปใช้สิทธิทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.7 บัณฑิตไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.7 ให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องแก่บุคคลทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 91.7 จะปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา คิดเป็นร้อยละ 58.3 ไม่มีการติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง คิดเป็นร้อยละ 58.3 เมื่อมีการทุจริตในการเลือกตั้งทุกระดับ บัณฑิตได้เข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 75.0 เมื่อมีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง บัณฑิตได้เข้าร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้อง คิดเป็นร้อยละ 66.7

 

                5.1.3 คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการเมืองการปกครอง

 

1) คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต

 

                        คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ( = 4.72)  นอกนั้นอยู่ในระดับมาก และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต อยู่ในระดับมากที่สุดได้แก่ ความจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ( = 4.73) นอกนั้นอยู่ในระดับมาก

 

2) การใช้หลักธรรมของบัณฑิตในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

 

หลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง    อันดับหนึ่ง   ได้แก่ ทศพิธราชธรรม 10 รองลงมาได้แก่ พรหมวิหาร 4, ศีล, สังคหวัตถุ 4 อิทธิบาท 4 และ อธิปไตย 3 ตามลำดับ และจากการสอบถามผู้บังคับบัญชา หลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันดับหนึ่ง ได้แก่ พรหมวิหาร 4 รองลงมาได้แก่ ศีล, อิทธิบาท 4, ทศพิธราชธรรม และ สังคหวัตถุ 4 ตามลำดับ

 

 

5.2 อภิปรายผล

 

5.2.1 พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิต

 

พฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา วิชาเอกการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จากผลการวิจัยพบว่า บัณฑิตทั้งบรรพชิตเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในด้าน การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การเทศนาทางการเมือง เป็นต้น และกิจกรรมที่เข้าร่วมบ่อยได้แก่ การเข้าร่วมประชุม การเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา การให้คำปรึกษา เป็นต้น ในส่วนของบัณฑิตที่เป็นฆราวาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในด้าน การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่เข้าร่วมบ่อยที่สุด ก็คือ การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของบัณฑิตทั้งสองฝ่าย สอดคล้องกับการสอบถามจากผู้บังคับบัญชา และจากการเข้าร่วมกิจกรรมของบัณฑิตที่แตกต่างกัน เป็นเพราะว่า บัณฑิตที่เป็นบรรพชิต ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง จึงมีบทบาทในการเป็นวิทยากร การอบรมสัมมนา และการเทศนาทางการเมือง ซึ่งก็ถือว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมกับสมณะเพศ  ส่วนการนำความรู้ด้านการเมืองการปกครองไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง พบว่า บัณฑิตนำความรู้ไปใช้ในระดับปานกลาง รองลงมาได้แก่นำไปใช้ในระดับมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับการสอบถามจากผู้บังคับบัญชา อาจเป็นเพราะว่า บัณฑิตส่วนใหญ่เป็นบรรพชิต จึงไม่ค่อยมีโอกาสในการใช้ความรู้ด้านการเมืองการปกครองได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการที่ไม่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์มีบทบาททางการเมือง  โดยเฉพาะในกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา 106 วงเล็บ 2 กำหนดว่า ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

จากการสอบถามพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิตที่เป็นเป็นบรรพชิต ถ้ามีสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ปรากฏว่าพระสงฆ์ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทุกครั้ง การเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคการเมือง  การเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  การให้คำปรึกษาหารือทางการเมือง   ส่วนบัณฑิตที่

เป็นฆราวาส ก็มีส่วนร่วมทางการเมืองและสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชา จะเห็นได้ว่า บัณฑิตมีสำนึกในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ และสิทธิในการเลือกตั้ง ความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการนำความรู้ด้านการเมืองที่ได้ศึกษามาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ส่วนบทบาทที่บัณฑิตที่เป็นฆราวาสไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมก็คือ การไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ทราบการสมัครเป็นสมาชิก ยังไม่มีโอกาส ไม่มีความพร้อม และการไม่มีโอกาสติดต่อหรือรู้จักกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง

จากพฤติกรรมทางการเมืองของบัณฑิต ได้สอดคล้องกับแนวคิดของ ณรงค์  สินสวัสดิ์ (2539 : คำนำ) ที่ว่า พฤติกรรมทางการเมืองของบุคคล เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับต่าง ๆ การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การช่วยพรรคการเมืองหาเสียง การลงสมัครรับเลือกตั้ง การเดินขบวนหรือการแสดงออกซึ่งการคัดค้านรัฐบาล การเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด การเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้นำทางการเมือง เป็นต้น รวมทั้งสอดคล้องกับแนวคิดของสิทธิพันธ์ พุทธหุน (2538 : 156-161) ที่กล่าวถึงรูปแบบการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง 4 แบบคือ การใช้สิทธิเลือกตั้ง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง กิจกรรมของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมือง และการติดต่อเป็นการเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการเพื่อแก้ไขปัญหา และก็สอดคล้องกับแนวคิดของ Almond กับ Powell ซึ่งได้จำแนกรูปแบบการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ออกเป็น 2 รูปแบบคือ Conventional Forms ได้แก่ การออกเสียงเลือกตั้ง การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง การจัดตั้งและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ การติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมืองและการบริหาร และ Unconventional Forms ได้แก่ การยื่นข้อเสนอเรียกร้อง การเดินขบวน การเข้าประจัญหน้ากัน การละเมิดกฎระเบียบของสังคม การใช้ความรุนแรง และสงครามกองโจรและการปฏิวัติ  ในกรณีของบัณฑิตในรูปแบบของ Unconventional Forms ก็คือ การยื่นเสนอข้อเรียกร้อง หรือการร่วมลงนามยื่นเสนอข้อเรียกร้องในกรณีที่มีการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการที่มีนักการเมืองทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่วยป้องกันการทุจริตหรือคนไม่ดีเข้าไปบริหารประเทศ เป็นหน้าที่ของประชาชนและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และจากงานวิจัยของ มงคล  บุญเรือง (2545) ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบัณฑิต นั่นคือ การที่ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองพะเยามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ตามลำดับดังนี้คือ การไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาพเทศบาล การปรึกษากับครอบครัวและกลุ่มเพื่อน และผู้ที่เคารพนับถือ เป็นต้น

 

                   5.2.2 คุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต

                       

                                คุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองของบัณฑิต ที่สำเร็จการศึกษาวิชาเอกการเมืองการปกครอง ได้แก่ การจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองในด้านอื่น ๆ อยู่ในระดับมาก ซึ่งก็สอดคล้องกับการสอบถามผู้บังคับบัญชา และจากการศึกษาของ พัทยา  สายหู และคณะ (2530) ในเรื่องจริยธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะการศึกษาจริยธรรมด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่ การเคารพในสิทธิหน้าที่ตนเองและผู้อื่น การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครอง การจงรักภักดีในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความรักชาติและการมีส่วนร่วมในการป้องกันประเทศ การรูปแบบแก้ปัญหาขัดแย้งอย่างสันติวิธี ความรับผิดชอบต่อชาติต่อท้องถิ่น และความซื่อสัตย์สุจริต  จะเห็นได้ว่าบัณฑิตมีสำนึกในด้านคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองการปกครองครบทั้งหมด หากมองตามหลักทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก ตั้งแต่ขั้นที่ 4 คือ หลักการทำตามหน้าที่ เป็นขั้นของการปฏิบัติตามหน้าที่เป็นสำคัญ เป็นการกระทำเพื่อหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ในขั้นที่ 5 คือ หลักการทำตามคำมั่นสัญญา เป็นขั้นของการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม การมีเหตุมีผลและเคารพตนเอง และขั้นสุดท้ายคือ หลักการทำตามอุดมคติสากล เป็นขึ้นของการกระทำเพื่อชีวิต ยึดมั่นในอุดมคติ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เป็นจริยธรรมขั้นสูงสุด

                                ส่วนหลักธรรมที่บัณฑิตใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ได้แก่ หลักทศ      พิธราชธรรม, พรหมวิหาร 4, ศีล, สังคหวัตถุ 4, อิทธิบาท 4 เป็นต้น ซึ่งใน 5 ลำดับแรกนั้นก็สอดคล้องกับการสอบถามผู้บังคับบัญชา  จะเห็นได้ว่า บัณฑิตมีพฤติกรรมทางการเมืองที่ดี ซึ่งประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม 2 ลักษณะควบคู่กันได้แก่ ประพฤติเป็นธรรม คือ มีความเที่ยงธรรม และยุติธรรม เช่น ประพฤติตามหลักของทศพิธราชธรรม อคติ พละ เป็นต้น และมีการประพฤติตามธรรม คือ การประพฤติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เช่น การปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4  อิทธิบาท 4 สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น

 

 

5.3  ข้อเสนอแนะ

 

                                1. ด้านพฤติกรรมทางการเมือง  พฤติกรรมทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งมีหลายด้าน เช่น การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง กิจกรรมการรณรงค์หาเสียง กิจกรรมของชุมชนหรือองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและการเมือง การติดต่อเป็นการเฉพาะ รวมทั้งการใช้กำลังรุนแรง เป็นต้น จากผลการวิจัยจะเห็นได้ว่า การมีส่วนร่วมของบัณฑิต โดยเฉพาะบัณฑิตที่เป็นฆราวาสมีเพียงบางด้าน ได้แก่ การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง การเข้าร่วมรณรงค์หาเสียง การให้คำปรึกษาหรือให้ความรู้ความเข้าด้านการเมือง เป็นต้น แต่มีบางด้านที่บัณฑิตไม่ได้เข้าร่วม เช่น การไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง ซึ่งในการให้การศึกษาของมหาวิทยาลัย ควรมุ่งเน้นให้นิสิตได้ตระหนักถึงบทบาทในด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะเป็นการส่งเสริมให้บัณฑิตได้เข้ามามีส่วนร่วมและมีส่วนในการรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมืองหรือชุมชนของตนเอง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแก่นิสิตไปด้วย

                                2. นอกจากข้อเสนอแนะในข้อหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยควรปลูกฝังให้นิสิตได้ให้ความรู้ความเข้าใจทางการเมืองที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะให้นิสิตได้เข้าไปมีส่วนในการกระตุ้นให้ประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

                                3. ด้านคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง  ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ถึงแม้ว่าผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าบัณฑิตมีคุณธรรมทางการเมืองอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ก็ต้องมีการส่งเสริมหรือปลูกฝังให้มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองแก่นิสิตในรุ่นต่อ ๆ มา เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไป ในฐานะที่ศึกษาด้านการเมืองการปกครองและมีความรู้ความเข้าใจในทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปด้วย  นอกจากนั้นยังต้องมุ่งเน้นให้นิสิตได้ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองให้กับประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย

 

5.4  ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

 

                            หากมีการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรจะมีการศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรม คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง ของบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เป็นฆราวาส เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษาเปรียบเทียบยืนยันข้อเท็จจริงจากการศึกษา แต่ทั้งนี้จะต้องศึกษาอย่างเป็นกลางมากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันที่ศึกษาทั้งสองฝ่าย 

หมายเลขบันทึก: 494562เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท