ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

ครูระยองปิ๊งขนมไทย จับใส่วิชาวิทยาศาสตร์


ครูระยองไอเดียเลิศ ฝึกนักเรียนทำขนมไทย บูรณาการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่ให้เด็กลงมือเอง พร้อมสืบสานวัฒนธรรมการกินการอยู่ และต่อยอดผลิตเป็นของว่างรับแขกผู้มาใช้บริการรีสอร์ทของโรงเรียน

กิจกรรมผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนร่วมกันทำขนม

 

นางอัญชลี สารสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม  ตำบลปากน้ำกระส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เปิดเผยว่าทางโรงเรียนได้จัดทำโครงงาน “วิทยาศาสตร์สร้างสรรค์มหัศจรรย์ขนมไทย” ภายใต้โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ระดับประถมศึกษา ประจำปี 2554 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพราะต้องการส่งเสริมอนุรักษ์ขนมไทยให้กับลูกหลาน และเห็นว่าปัจจุบันเด็กๆไม่ค่อยรับประทานขนมไทย จึงอยากให้เด็กได้รู้จักโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ ที่มีทั้งการคิดวิเคราะห์ของกระบวนการวิทยาศาสตร์เข้าไปสู่การเรียนการสอนด้วย  และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์ ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญามาสู่เยาวชนด้วย โดยให้ครูรุ่นปัจจุบันที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ออกแบบรายวิชาผสมผสานกันไป

 

“เด็กจะเกิดความสนุกอยากเรียนรู้ตั้งแต่ ค้นหาวัสดุอุปกรณ์จากท้องถิ่น เช่น ค้นหาขมิ้น  ค้นหาเผือก วัสดุจากชุมชน และไปสืบค้นภูมิปัญญาว่าใครคือผู้ที่จะสอนการทำขนมชนิดนี้ได้และแต่ละอย่างจะลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนจะมีขนมทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ 1.ขนมข้าวเหนียวเหลือง 2.ขนมข้าวตู 3.ขนมบัวลอย 4.ขนมข้าวเม่า 5.ขนมเปียกปูน 6. ขนมลอดช่อง 7.ข้าวเหนียว 3 สี” ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม  กล่าว

ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม  กล่าวด้วยว่าขนมทุกชนิดจะได้มาจากความรู้หลากหลายจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น 8 คน ที่เชี่ยวชาญตามความรู้การทำขนมต่างๆ โดยการสืบค้นจากนักเรียน อยู่ในหมู่บ้านหรือใกล้เคียง  ส่วนการคัดเลือกขนม จะเลือกจากส่วนผสมที่ไม่ซ้ำกัน เช่น ขนมที่ผ่านกระบวนการนึ่ง ผ่านกระบวนการกวน ผ่านกระบวนการบด จะค้นหาขนมที่มีกระบวนการวิธีการทำต่างกัน มันถึงก่อให้กระบวนการการทำขนมทั้งหมด 7 ชนิด ที่มีความหลากหลาย วิธีคิดที่ 2 ก็คือ เลือกขนมที่นำกระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาทำได้

“การคั้นน้ำที่มาจากสมุนไพร การบดที่ได้มาจากฟักทอง เผือกที่ผ่านการต้ม มันมีวิธีการแยกแยะ จากการเรียนรู้มาในขั้นตอนแรกแล้ว เราจะต้องมีการออกแบบขนมก่อนจากการนึ่งการกวน  ถึงจะให้นักเรียนไปศึกษาต่อว่าภูมิปัญญาทางด้านนึ่ง ตำ ตากแห้ง คืออะไร และแนวคิดที่เราจะสืบทอดตามวุฒิภาวะของเด็ก ถ้าเด็กอายุน้อย เราจะเลือกทำขนมที่ง่าย มีกระบวนการที่ไม่เป็นอันตรายมาก เช่น การปั้นขนมข้าวตู ขนมบัวลอย จนถึงนักเรียนชั้นประถม 6 ก็จะได้รับความรู้การทำขนมไปทั้ง  7 ชนิด”ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม กล่าว

ทั้งนี้โรงเรียนอยู่ระหว่างจัดทำนวัตกรรม 1 โรงเรียน 1 รีสอร์ท ซึ่งใช้พื้นที่อาคารเรียนเก่าริมทะเลอีกแห่งหนึ่งใช้เป็นที่พักรองรับนักเรียน ข้าราชการ จากที่อื่นให้มาจัดกิจกรรม ก็จะใช้ขนมไทยขั้นพื้นฐานเป็นอาหารว่างเป็นขนมแบบแห้ง ส่วนอาหารมื้อกลางวันจะมีขนมใน 7 อย่างที่ทำนี้ เป็นอาหารว่าง พร้อมทั้งสอดแทรกกระบวนการวิทยาศาสตร์เป็นข้อมูลไปด้วย

ด้าน น.ส.ศุภลักษณ์ สังข์สุทธิ์ ครูวิทยาศาสตร์ ซึ่งร่วมดูแลโครงการดังกล่าวกล่าวเสริมว่าการทำขนมอย่างเดียวอาจจะไม่น่าดึงดูดนักเรียน แต่เมื่อมีกระบวนการวิทยาสตร์ ทำให้นักเรียนได้รู้เรื่องทักษะ ทักษะการสังเกต เพราะได้ใช้ประสารทสัมผัสทั้ง 5  นักเรียนมีความสนุก เพราะเขาได้ข้อคิดว่าขั้นตอนนี้ได้ใช้ทักษะอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันการนำกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นการนำภูมิปัญญาไทยมาผสมผสานได้อย่างดี ขณะเดียวกันก็มีการเชิญผู้ปกครองที่มีความเชี่ยวชาญการทำขนมมาลงมือทำให้ดู และทำให้ได้เรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนกลับไปด้วย ซึ่งชาวบ้านและผู้ปกครองให้ความสนใจให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้แลกเปลี่ยนกันอีกด้วย

เราสามารถเรียนรู้การทำขนมไทยจากชาวบ้าน เขาก็จะมาเรียนรู้ทักษะวิทยาศาสตร์จากเราผู้ปกครองจะเข้ามามีส่วนร่วมในวันที่เราปิดโครงการ คือเราจะมีหนังสือเชิญผู้ปกครอง และพวกเขาก้มาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยให้ความเห็นว่าดี สนุก ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน” น.ส.ศุภลักษณ์ กล่าว และว่าทางโรงเรียนจะทำคู่มือทำขนมไทยเหล่านี้ส่งไปยังโรงเรียนต่างๆที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เพื่อให้แนวคิดนี้ขยายออกไป

ขณะที่ น้องน้ำ ด.ญ.พรพรรณ วิทยานุกรณ์ นักเรียนชั้น ป. 6/2 บอกว่าได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์มหัศจรรย์ขนมไทย ทั้งภาคเรียนที่ 1และ 2 รู้สึกสนุกสนานดี เพราะได้เรียนทำขนมและยังได้ความรู้จากผู้ปกครองที่เชิญมาทำขนมร่วมกิจกรรมกับเด็กด้วย

“ที่หนูได้เรียนคือ กระบวนในการทำ เราได้มีการตวงวัด ปริมาตรเท่าไหร่ ส่วนการใส่สี เราจะใส่สีจากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน ทำให้เกิดการสังเกตว่า ออกมาเป็นสีอะไร เช่นใบเตยออกมาสีเขียว ดอกอัญชันได้สีม่วงอ่อน หนูคิดว่าการทำขนมไทยให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เราได้รู้กระบวนการการผสมสี การตวง การสังเกตหลายอย่างค่ะ” น้องน้ำกล่าว

            ทางด้าน น้องเขต ประนต ตั้งศิริ นักเรียนชั้น ป.6/2 กล่าวว่าได้ความรู้จากกิจกรรมดังกล่าวทั้งการชั่ง ตวง วัดปริมาตรต่างๆ และเห็นว่าการทำขนมไทยยังสามารถสร้างรายได้ยามว่างอีกด้วย

            “พวกเราเรียนทำขนมที่อาคารหอประชุมในโรงเรียน เรียนรวมกันนอกห้องเรียน เป็นการเรียนที่ผมชอบ เพราะสนุก ได้สอนรุ่นน้องด้วย เช่น สอนวิธีนวดแป้ง วิธีขูดมะพร้าว และผมยังได้นำเอาวิธีการทำขนมข้าวเหนียวเหลืองกลับไปทำที่บ้านด้วย” น้องเขต กล่าว

 

หมายเลขบันทึก: 494456เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท