มีอะไรบ้างที่ไม่อยากเห็นในเว็บไซต์


เว็บไซต์เป็นเสมือนหน้าบ้าน หน้าร้าน หรือหน้าสำนักงานที่ใครๆก็สามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง

ติดตามอ่านบันทึกเกี่ยวกับเว็บไซต์ทางราชการที่อยากเห็นมีหลายท่านได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ บางบันทึก บางความเห็นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แล้วก็เป็นเรื่องพื้นๆที่มักจะถูกมองข้าม วันนี้ถึงจะหมดเขตไปแล้วแต่ก็คิดว่ามันยังน่าจะมีอะไรที่อาจจะพอช่วยกันแนะนำเพิ่มเติมได้อยู่อีก

ผมมองว่าบันทึกส่วนใหญ่จะพูดถึงสิ่งที่ "อยากเห็น" จากเว็บไซต์เหล่านั้นส่วน "สิ่งที่ไม่อยากเห็น" ก็มักจะเป็นข้อยกเว้นหรือถูกแทรกไว้เป็นเพียงบางประเด็นและจะไม่มีเหตุผลแสดงประกอบไว้ด้วย ทำให้ผู้อ่านอย่างเราๆท่านๆจินตนาการไม่ออกว่า ที่บอกว่าไม่อยากเห็นน่ะมันคืออะไร มันทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดเสียอารมณ์จนทำให้คิดว่าถ้าไม่จำเป็นฉันคงไม่แวะเข้ามาอีกแล้วอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ผู้เป็นเจ้าของเว็บไซต์ทุกแห่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเสมือน Feedback ที่พวกเขาจะต้องนำเอาไปปรับปรุงพัฒนาเว็บไซต์ของตนเองให้เป็นที่ชื่นชอบสามารถตอบสนองความต้องการทุกด้านของผู้เยี่ยมชมต่อไป

พูดถึงเว็บไซต์ ถ้าไม่พูดถึงอินเทอร์เน็ตเลยคงไม่ได้ เพราะถ้าเราสร้างเว็บมาเพื่อจะใช้งานเองบนเครื่องของเรา หรือใช้แค่ในวงแลนของหน่วยงาน ขององค์กรมันคงดูพิลึกไม่ต่างอะไรจากคณะลิเกที่ปิดบ้านเล่นกันเองดูกันเอง ไม่นานก็คงเบื่อแล้วก็เลิกรากันไป นั่นต้องถือว่าเป็นคุณูปการของสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต สิ่งที่มีต้นกำเนิดจากการวิจัยทางการทหารแท้ๆนั่นละครับ

(..อันนี้ขอบ่นหน่อย ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนนี่คงจำกันได้ว่าบ้านเรามีกลุ่มคนที่ต่อต้านไม่ให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) เข้ามาทำการทดลองวิจัยสภาพชั้นบรรยากาศ ทั้งๆที่เขาทำเรื่องนี้มานานแล้วและครอบคลุมการวิจัยทั้งระบบทั่วโลก โดยขออนุญาตใช้สนามบินของเราเป็นการชั่วคราวแค่สองเดือน นักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของเราต่างดีใจเพราะหาโอกาสแบบนี้ไม่ได้ง่ายๆ ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคง องค์กรที่ดูแลด้านกฎหมายก็บอกว่าไม่ขัดข้องอะไรแต่ในที่สุดก็ต้องล้มเลิกเพียงเพราะมีไดโนเสาร์มายืนขวางรันเวย์เท่านั้นเอง นี่ขนาดเป็นเรื่องขององค์กรทางวิทยาศาสตร์ยังโดนโมเมจินตนาการเป็นเรื่องความมั่นคงไปจนถึงสงครามอวกาศอะไรนั่น พวกนี้ไม่ยอมรับรู้ว่าแม้แต่การวิจัยทางทหารหลายๆอย่างก็ส่งผลต่อความเจริญทางสังคมได้ คนที่ต่างเชื้อชาติต่างเผ่าพันธุ์ต่างศาสนาเขาร่วมมือร่วมไม้กันเพื่อพัฒนาก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้ นี่ CERN ก็เพิ่งประกาศการค้นพบอนุภาคใหม่ที่อาจจะอธิบายการกำเนิดของสรรพสิ่งในจักรวาลได้ เป็นที่ฮือฮากันทั่วโลก ขณะที่เรายังมัวงมอยู่กับอะไรไม่ทราบเหมือนกัน

มนุษย์สมัยนี้..เพื่อผลประโยชน์เพื่อสนองความอยากเป็นใหญ่ถึงกับลอยหน้าทำเรื่องถ่วงความเจริญของสังคมก็ทำได้ ! เราก็คงต้องพึ่งหมอดูหมอเดาโหรต่องแต่งอะไรกันต่อไปชั่วลูกชั่วหลานเหมือนอย่างที่เป็นมาละครับ..สาธุ..)

จำได้ครับสมัยที่บ้านเราเพิ่งจะมี ISP (Internet Service Provider) เจ้าแรกมาเปิดให้บริการ บริษัทที่ผมทำงานอยู่ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นลูกค้ารายแรกๆเลยเหมือนกันเพราะความจำเป็นที่ต้องมีการเชื่อมโยงสื่อสารข้อมูลโดยเฉพาะข้ามประเทศ เช่นต้องดาวน์โหลด Driver, Manual, Firmware etc. ถือว่าสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจ มีผลต่อการแข่งขันและต้นทุนการผลิต ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต (เชิงพาณิชย์) ใช้ในเมืองไทย หลายๆครั้งเราต้องใช้ระบบ BBS (Bulletin Board System) ซึ่งมีความยุ่งยากในการใช้งาน หรือใช้การเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านสายโทรศัพท์ซึ่งต้องเสียค่าโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศแต่ละครั้งแพงมากๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่ๆมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ อย่างน้อยก็ต้องรู้เรื่อง Unix บ้างพอสมควร ผมเองใช้ DOS ได้แค่งูๆปลาๆนี่ไม่ต้องทำอะไรเลยครับ

พอมีอินเทอร์เน็ตทำให้รู้เลยว่ามันมีความสะดวกสบายกว่าเดิมมาก สมัยนั้นเราใช้ Dial Up ผ่านโมเด็ม 28.8K ตัวล่าสุดในขณะนั้นซึ่งถือว่าเร็วมากแล้ว แค่เชื่อมต่อฟังเสียง วู้วี้ๆ แควกๆควากๆ จู๊ดจี๊ดๆ ถ้าเชื่อมได้ไม่หลุดก็เพียงชงบะหมี่สำเร็จรูปรอไม่ทันเย็นก็ได้นั่งซดบะหมี่ไปท่องเว็บไปได้แล้ว

แต่สิ่งที่พบก็คือเว็บไซต์ในบ้านเรามีน้อยมาก ที่มีก็ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ หรือได้ก็ไม่ครบถ้วน ครั้นจะไปค้นเว็บต่างประเทศก็ติดปัญหาเรื่องภาษา เว็บไซต์ต่างๆในเวลานั้นส่วนใญ่จะตอบสนองต่อบุคลากรในองค์กรหรือกลุ่มสมาชิกมากกว่ากว่า มีการตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีมากมายนัก

จากวันนั้นถึงวันนี้ใกล้ๆจะยี่สิบปีแล้วเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก ที่จริงถ้าบอกว่ามากกว่าที่คนยุคนั้นคาดการณ์ไว้ก็คงไม่ผิด เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ เครือข่ายระบบสารสนเทศสามารถส่งผ่านข้อมูลขนาดมหาศาลไปมาทั่วโลกได้ในพริบตา การดาวน์โหลดหรืออัพโหลดข้อมูลระดับกิกะไบท์สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีแทนที่จะต้องนั่งรอกันเป็นวันๆหรือหลายๆวัน

ทั่วโลกและแม้แต่ในบ้านเรามีการทำเว็บไซต์ขึ้นมาจากบุคคล หน่วยงานของรัฐและเอกชนมากมายใช้เป็นพื้นที่สำหรับแสดงตัวสู่สาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ของเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้นเพิ่มขึ้นกว่าที่มีอยู่ในเวลานั้นนับร้อยนับพันเท่า มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัยสวยงาม ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการสืบค้นข้อมูล รวมถึงมีข้อมูลนำเสนอให้หลากหลายครอบคลุมทุกกิจกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าการมีข้อมูลสำหรับการค้นคว้าบนระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆเหล่านี้รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอ ยังมีการพัฒนาช้ากว่าความก้าวหน้าของระบบอยู่มาก ข้อจำกัดเมื่ออดีตกับปัจจุบันก็ยังคงเป็นเรื่องเดียวกันก็คือเรื่องของเนื้อหาและรูปแบบวิธีการนำเสนอนั่นเอง

เว็บไซต์ควรตอบสนองอะไรให้เราได้บ้าง

สำหรับผมมองได้ว่าเว็บไซต์ต้องตอบสนองความต้องการของบุคคลหลักๆสองกลุ่มคือ

1. ประชาชนทั่วไป อันนี้หมายความรวมทั้งผู้เยี่ยมชมที่อยู่ภายในประเทศและต่างประเทศ

2. สมาชิก กลุ่ม องค์กร และบุคคลากรของเจ้าของเว็บไซต์เอง กลุ่มนี้จะสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้เหมือนกับกลุ่มแรก แต่อาจจะมีสิทธิพิเศษมากกว่าเช่นเข้าถึงข้อมูลได้ลึกกว่า มีสิทธิ์ใช้งานระบบได้มากกว่าเช่นการใช้บล็อก การอัพโหลด ดาวน์โหลดข้อมูลเป็นต้น

ส่วนพวกที่เข้ามาโดยกาง พรบ.คอมฯปี 50 คอยมอนิเตอร์นั่นเป็นปรสิตไซเบอร์..ไม่นับครับ

เว็บไซต์ที่ดีควรจะสามารถตอบสนองผู้รับบริการได้ครอบคลุมความต้องการอย่างน้อย 4 ประการคือ

1. เป็นกระดานประชาสัมพันธ์ของบุคคลหรือองค์กรผู้เป็นเจ้าของ (Information Center)

2. เป็นศูนย์การสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับเจ้าของเว็บไซต์ (Communication Center) เช่นการสื่อสารผ่านทาง Email Online Chat การแสดงความคิดเห็นผ่าน Forum, Webboard หรือ Blog ทั้งนี้รวมถึงการทำธุรกรรมทางอิเลคทรอนิคส์เช่น การจองตั๋ว การโอนเงินชำระค่าสินค้า การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เป็นต้น

3. เป็นศูนย์กลางการสนับสนุนให้บริการ จัดหา และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้กับเจ้าของเว็บไซต์ (Data Transmission Center) เป็นการให้บริการ Upload หรือ Download ข้อมูลต่างๆเช่น คู่มือ หนังสือหรือ Software ใช้งานต่างๆ

4. ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง (Reference Site) เช่นรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ ข้อมูลด้านราคา ข้อมูลของหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอิสระต่างๆ ข้อมูลทางวิชาการทั่วไป รายงานการวิจัย ฯลฯ

ดังนั้นหากเราจะเปรียบเว็บไซต์เป็นเสมือนหน้าบ้านของเราก็คงจะไม่ผิดนัก แต่จะเป็นหน้าบ้านที่ใครๆทั่วโลกที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงสามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนเพื่อรับบริการหรือติดต่อทำธุรกรรมต่างๆหรือเพื่อเตรียมการก่อนการติดต่อกันโดยตรง หน้าบ้าน หน้าร้าน หรือหน้าสำนักงานเสมือนนี้มีการพัฒนารูปแบบการนำเสนอ เนื้อหาและการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ให้ประโยชน์แก่ผู้เยี่ยมชมมากมาย โดยเฉพาะสามารถทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มหาศาล

นวัตกรรมของเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆอยู่เสมอเหล่านี้เองทำให้ผมไม่กล้าคาดการณ์ได้ว่าสิ่งที่อยากเห็นนั้นควรเป็นอย่างไร แต่จากการที่ชอบท่องเที่ยวไปตามเว็บไซต์ต่างๆคงพอบอกได้ถึงบางสิ่งที่ไม่อยากเห็นเมื่อต้องหลวมตัวเข้าไปสู่เว็บไซต์เหล่านั้น บางเรื่องอาจเป็นเพียงแค่หงุดหงิดรำคาญ แต่บางแห่งก็ถึงกับทำให้สาปส่งไม่อยากเข้าไปอีกเลยเหมือนกัน

คราวหน้าจะนำเสนอสิ่งที่อยู่ในเว็บไซต์ที่เราไม่อยากเห็น 2 ประเภทกันครับ

หมายเลขบันทึก: 494362เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท