คุณยายหวาดระแวง...คนดูแลเครียด


ขอขอบคุณกรณีศึกษาวัย 80 ปี ที่จิตแพทย์วินิจฉัยว่า โรคจิตเภทหวาดระแวง ซึ่งดร.ป๊อป ได้ไปเยี่ยมเพื่อประเมินและให้คำแนะนำกิจกรรมบำบัดจิตสังคมที่บ้านกรณีศึกษา-หนึ่งในโครงการหมออาสา...มาหานะเธอ

ดร.ป๊อป: สวัสดีครับคุณยาย สบายดีไหมครับ

คุณยาย: คุณคือใคร [หันถามลูกสาว]

ลูกสาว: อ.ป๊อป จากมหิดล เป็นเพื่อนของพี่สาว

ดร.ป๊อป: คุณยายชื่ออะไรครับ

คุณยาย: ถามลูกสาวฉันแล้วกัน

ดร.ป๊อป: คุณยายสบายดีไหมครับ

คุณยาย: ก็ดี [สีหน้าดูกลัวๆ แต่สบตาอย่างสนใจ]

ดร.ป๊อป: [หยิบ Pluse Oxymeter ขึ้นมา] เอาหละ ผมมีอุปกรณ์วัดชีพจรของคุณยายนะครับ คุณยายน่าจะลองวัดดูว่า หัวใจเต้นเร็วไหมเวลาคุณยายนั่งสมาธิ

คุณยาย: ก็ได้ [นำนิ้วชี้ขวาใส่เครื่องวัดได้ที่ 82 ครั้งต่อนาที]

ดร.ป๊อป: คุณยายเป็นแม่ชี ลองนั่งสมาธิดูไหมครับ ว่าจะทำให้หัวใจผ่อนคลายขึ้นไหม ถ้าหัวใจเต้นช้าลง แสดงว่าคุณยายผ่อนคลายได้ด้วยการนั่งสมาธิ [หยิบระฆังฑิเบตว่าให้คุณยายสำรวจ เมื่อตี 1 ครั้งให้คุณยายหลับตา ทำสมาธิซัก 3 รอบๆ 1 นาที แล้วลืมตาเมื่อตี 2 ครั้ง]

คุณยาย: [หลับตา แต่ตาหลับไม่สนิท ดูกังวลบ้าง ทำไปครบ 3 รอบก็ให้วัดชีพจร ก็ลดลงได้ 79 ครั้งต่อนาที]

ดร.ป๊อป: คุณยายเป็นอย่างไรบ้าง

คุณยาย: รู้สึกสบาย มีสมาธิ แต่ก็มือไม่แข็งแรง

ดร.ป๊อป: คุณยายลองบีบลูกบอลยางดูซักข้างละ 10 ครั้ง มานับกัน 1 2 3 4 5...10 อีกข้างหนึ่ง 1 2 3 4...10 มือข้างไหนรู้สึกแข็งแรงกว่ากัน

คุณยาย: มือข้างซ้ายแข็งแรงกว่า ไม่เอาแล้ว อยากนอน

ดร.ป๊อป: เอาหละ ก่อนนอน ลองทำสมาธิอีกครั้ง ฟังเสียงระฆังนะครับ

คุณยาย: ได้ [นั่งหลับตาสักครู่ ก็ลืมตาตามเสียงระฆัง แล้วล้มลงนอน]

ดร.ป๊อป: เอาหละ คุณยายหลับให้สบายนะ เอาบอลไว้ออกกำลังมือนะครับ สวัสดีครับ

จากนั้นดร.ป๊อป ก็ขอคุยกับลูกสาวและผู้ดูแล นอกห้องนอนคุณยาย [สังเกตว่า คุณยายไม่ได้นอนหลับจริง ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาบีบลูกบอลบนเตียงต่อไป มีมองมาข้างนอกห้องนอนกระจก มาทางที่นั่งพูดคุยระหว่างลูกสาว ผู้ดูแล และดร.ป๊อป

ดร.ป๊อป: เอาหละ ตอนนี้คุณยายจะมีอาการทางจิตแบบไม่รู้ตัว พยายามให้ทานยาอย่างต่อเนื่องและคอยนัดหมายกับจิตแพทย์ว่า ยาที่จำเป็นคืออะไร และหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะส่งต่อแพทย์อย่างไร

ลูกสาว: ก็จะไปหาหมอวันพรุ่งนี้ค่ะ แต่ไม่แน่ใจว่าคุณหมอจะว่างคุยมากน้อยแค่ไหน และก็ไม่รู้ว่า จะหลอกคุณยายให้ไปหาหมอได้อย่างไร

ดร.ป๊อป: ลองคุยกับคุณหมอให้ตรงประเด็น และไม่ต้องหลอกคุณยาย บอกความจริงว่า ให้ไปหาหมอตรวจสุขภาพ หากคุณยายไม่ยอม ก็ไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาในกรณีคนไข้ไม่ยอมมาเลย

ลูกสาว: ตอนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้คุณแม่ทำอะไร ก็ไม่ยอมทำ

ดร.ป๊อป: ลองสังเกตขณะไม่มีอาการทางจิต (เช่น ไม่หงุดหงิด ไม่ดุด่า ไม่เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีอาการสั่นของมือ) ก็สนทนาด้วยความรักและความคิดความเข้าใจโดยชวนทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น กิจกรรมเพื่อสุขภาพ กิจกรรมที่สนใจเกี่ยวกับการไปทำบุญ กิจกรรมที่คุณยายทำแล้วมีความสุข (เห็นบอกว่าเคยชอบเย็บผ้าและทำครัวเก่ง) และกิจกรรมครอบครัวทานข้าวด้วยกัน เป็นต้น และขณะมีอาการก็ให้รับรู้ว่า คุณยายไม่รู้ตัวและจะรู้สึกผิดที่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้คนดูแลอดทน หลับตาตั้งสติ ลืมตาแล้วยืนนิ่งแล้วพูดเรื่องราวอื่นเพื่อการเบี่ยงเบนความคิดหลงผิดของคุณยาย เช่น ไปกินข้าวกัน (สัก 3 รอบ) แล้วค่อยเดินหนีไป หากคุณยายโทรแจ้งญาติบอกว่าคนดูแลขโมยของ (ทั้งๆที่ไม่มีการขโมย) ก็ให้นัดแนะญาติปลายทางให้เตรียมพร้อมไว้ เช่น รับรู้โดยออกเสียง "อืมๆๆๆ" แล้วก็นิ่งวางสายไปเลย เป็นต้น

คนดูแล: ปกติก็จะกลัว แล้วหนีไป คุณยายก็บอกว่า ทำผิดแล้วจะหนีหรือ ตนเองก็เครียดไม่รู้จะทำอย่างไร อยากลาออกแล้ว

ดร.ป๊อป: ใจเย็นๆ ครับ ตอนนี้ให้คนดูแลรู้ว่า คุณยายไม่รู้ตัว ทำไปเพราะอาการทางจิต ปรับใจให้นิ่งแล้วเผชิญหน้าเพื่อสื่อสารความจริงและ/หรือเบี่ยงเบนความคิดหมกหมุ่นของคุณยายให้จงได้ หากไม่สามารถทำได้และเมื่อคุณยายจะทำร้ายคนดูแล คงต้องร้องขอความช่วยเหลือกับตำรวจในการนำสิ่งจิตแพทย์เจ้าของคนไข้ [จากนั้นสอนวิธีการจัดการความเครียดแบบผ่อนคลายกล้ามเนื้อตามลำดับส่วนควบคู่กับการหายใจสะกดจิตตนเอง 3 รอบ จากชีพจรเต้น 79 ครั้งต่อนาที เหลือ 70 ครั้งต่อนาที] เป็นอย่างไรบ้าง

คนดูแล: รู้สึกดี แต่ก็จะลองช่วยคุณยายดูค่ะ

ดร.ป๊อป: เพื่อความมั่นใจ ลูกสาวควรแบ่งเวลาให้คนดูแลไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อเป็นการพักผ่อนคลายความเครียดจากการดูแลคุณยาย ปรับกิจกรรมในการทานอาหารร่วมกัน/ไปเที่ยวร่วมกัน ทำเท่าที่ทำได้ ควรมีกิจกรรมที่มีเป้าหมายวันละ 1 อย่าง ค่อยๆ ปรับถ้าไม่ยอมทำ ก็ต้องมีสักวันที่คุณยายสนใจทำ หากมีอะไรก็ระบายความรู้สึกเปิดใจกับลูกสาวของคุณยายบ้าง

ลูกสาวและคนดูแล: ขอบคุณมากค่ะ แต่อีกเรื่อง ความคิดหลงผิดของคุณยายจะทำให้หายได้ไหม

ดร.ป๊อป: เนื่องจากปมปัญหาของความคิดหวาดระแวง -กลัวมีคนมาขโมยของ- เกิดขึ้นมานานสมัยคุณยายเป็นสาว และเริ่มมีหูแว่วและมากขึ้นเมื่อปฏิบัติธรรมมาเกือบ 1 ปี คงต้องลองทำจิตบำบัดกับคนที่คุณยายไว้ใจ เช่น หลวงพ่อที่คุณยายเคยบวชชีด้วย หรือปรึกษาคุณหมอหรือผู้บำบัดที่สามารถทำจิตบำบัดได้ วันนี้ผมได้ทำสุขภาพจิตศึกษาเน้นการให้ความรู้กับครอบครัวในเชิงกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ก็ลองกระตุ้นการทำกิจกรรมของคุณยาย ไม่ควรปล่อยให้อยู่ว่าง เพราะจะเกิดอาการหมกหมุ่นแทนในที่สุด อาการทางจิตอาจลดลงแต่ไม่หายขาด เพราะกระบวนการบำบัดฟื้นฟูของคุณยายตั้งแต่มีอาการทางจิตยังไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิผลมากนัก เช่น ไม่มีการทำจิตบำบัด ให้แต่ยา ไม่มีการส่งต่อผู้บำบัดที่เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นต้น

เมื่อดร.ป๊อป มองเห็นว่าลูกสาวและคนดูแลเกิดความคิดความเข้าใจมากขึ้น ก็ยังแนะนำให้ไปเพิ่มพูนความรู้ในการดูแลคุณยายที่เป็นจิตเภท จากสมาคมสายใยครอบครัวฯ ด้วยจะดีมากๆ

บันทึกนี้ทำให้ดร.ป๊อป คิดว่า ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้สูงอายุที่เป็นจิตเภท ยังไม่มีประสิทธิผลนัก หลายครั้งที่ญาติของผู้ป่วยต้องการความรู้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มิใช่การแจกยาทางจิตเวชเพียงแค่นั้น กระบวนการให้ความคิดความเข้าใจแก่ญาติและผู้ดูแล แนวทางการปรับสิ่งแวดล้อมแห่งความสุขที่บ้าน และการฟื้นพลังชีวิตแก่ผู้รับบริการ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากครับ หลายคนคงคิดว่า ด้วยความขาดแคลนบุคลากรสุขภาพจิต เพราะมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน และถ้าเลือกได้ขอดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยทางร่างกายมากกว่าทางจิตสังคม สิ่งนี้ล้วนแต่สร้างตราบาปแก่ผู้ให้และผู้รับบริการอย่างไม่หยุดซักทีในสังคมไทย

ปล. หากท่านใดที่สนใจดูแลกรณีศึกษาท่านนี้ด้วยกับดร.ป๊อป ก็ยินดีและติดต่อมาที่อีเมล์นะครับผม

หมายเลขบันทึก: 493039เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาเรียนรู้วิธีสื่อสารด้วยคนค่ะ

 

ขอบคุณมากครับคุณ Tawandin คุณหมอ ป. และคุณ kunrapee

มีปัญหาคล้ายๆค่ะ ตอนนี้คุณแม่อายุ72ระแวงตัวดิฉัน(ลูกสาว)มากว่าขโมยของ ทำให้คนอื่นๆเข้าใจว่าตัวเองมีอาการทางจิต ปฏิเสธการรักษา มากๆๆๆ อย่ากปรึกษา  แลพรับคำแนะนำค่ะ เพราะตัวดิฉันก็มีภาวะเครียดเมื่อถูกกล่าวหาว่าขโมยของเช่นกันพยายามอธิบาย แต่ท่านไม่รับฟังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท