การแต่งโคลงสี่สุภาพ


บันทึกนี้ไม่ได้มุ่งจะกล่าวถึงฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ แต่เป็นข้อคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ ในการสอน-การแต่งโคลงสำหรับครู-อาจารย์ผู้ใหม่ต่อการสอน,นักศึกษาฝึกสอน,และผู้สนใจทั่วไป,

นักเรียนนักศึกษาหลายคนผู้กำลังเรียนในวิชาภาษาไทยในเรื่องร้อยกรอง มักจะหนักใจเวลาครู-อาจารย์ให้แต่งคำประพันธ์ หลายครั้งที่เปิดเข้ามาในวิชาการ.คอม จะมีกระทู้ขอร้องช่วยแต่งกลอนแปดบ้าง โคลงสี่สุภาพบ้าง หรือคำประพันธ์ชนิดอื่นๆ แม้ในชีวิตจริงๆ ผู้เขียนเองก็ถูกขอร้องให้แต่งอยู่เสมอ บางทีก็จำเป็นต้องช่วยเหลือกันไป ทั้งๆ ที่ครูก็สอน ทำไมนักเรียนจึงแต่งไม่เป็น นี่เป็นปัญหา ที่จะต้องช่วยกันแก้ไข การเรียนการสอนครูก็ต้องอยากให้นักเรียน แต่งได้ ทำได้ แต่วิธีการถ่ายทอดความรู้อาจจะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ตัวนักเรียนนักศึกษาเอง ที่ไม่เห็นความสำคัญ เมื่อไม่เห็นความสำคัญก็ไม่เกิดความรักความพอใจ ขยันหมั่นเพียร หัดแต่ง ลองแต่ง เวลาครู-อาจารย์สอน-บรรยายไปแล้ว ก็ไม่ทบทวน เวลาท่านให้งาน ก็ไปลอกจากที่ต่างๆ มาส่ง หรือขอร้องให้คนที่แต่งเป็นแต่งให้ ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนได้ไปร่วมงานวันภาษาไทยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง วิทยากรบรรยายเรื่องบทสังวาสในวรรณคดีไทย วิทยากรอ้างเรื่องในลิลิตพระลอ พร้อมทั้งยกบทประพันธ์ประกอบ วิทยากรถามนักศึกษาที่นั่งฟังในที่ประชุมนั้นว่า ลิลิตเป็นคำประพันธ์แบบไหน จึงเรียกว่าลิลิต ถ้าใครตอบได้จะให้หนังสือเป็นรางวัล มีนักศึกษาคนหนึ่งพูดสอดแทรกไปว่า อาจารย์ถามคำถามยากเกินไป เอาง่ายกว่านี้ได้ไหมผู้เขียนซึ่งนั่งฟังอยู่ในที่นั้นด้วยก็สลดใจ สลดใจว่านักศึกษาเหล่านี้เรียนเอกภาษาไทยแต่ไม่รู้จริงๆ หรือ ว่าลิลิตเป็นคำประพันธ์แบบไหน จึงเรียกว่าลิลิต แล้วจะไปเป็นครูสอนคนอื่นได้อย่างไร เอาเป็นว่าในที่ประชุมนั้นไม่มีคนตอบ วิทยากรจึงเป็นคนถามเองตอบเอง เรื่องที่เกี่ยวกับร้อยกรองเกี่ยวกับวรรณคดีแค่นี้นักศึกษาภาษาไทยยังไม่ทราบ แสดงว่าขาดความสนใจ จะป่วยกล่าวไปไยถึงเรื่องการแต่งคำประพันธ์ 

ตามที่ผู้เขียนสังเกตการสอนของครูในโรงเรียน ในการสอนร้อยกรอง ครูจะมีแผนผังให้นักเรียนดู ถ้ากลอนแปด ก็นำผังกลอนแปดมากาง ถ้าเป็นโคลงสี่สุภาพ ก็แผนผังโคลงสี่สุภาพ แล้วก็อธิบายไปตามผัง พูดแล้วก็จบโดยไม่ให้นั่งเรียนท่องจำบทต้นแบบเลย การสอนแบบนี้อาจจะได้ผลดีสำหรับนักเรียนที่มีสติปัญญาดี ความจำดี มีความสนใจ แต่ถ้าเป็นนักเรียนความจำสั้น จะไม่ค่อยได้ผล เลิกแล้วก็ลืม  เรื่องการท่องจำร้อยกรองต้นแบบนี้ ถ้าสอนร้อยกรองชนิดใดควรจะให้นักเรียน-นักศึกษา ตัวอย่างร้อยกรองชนิดนั้น แล้วมาท่องให้ครูฟังเป็นกลุ่ม หรือเป็นคู่ๆ ก็แล้วแต่จะกำหนด ร้อยกรองที่เป็นต้นแบบควรเลือกเอา บทที่ไพเราะเป็นที่นิยม หากท่องได้แล้ว จะทำให้นักเรียน-นักศึกษามีแผนผังในใจไปตลอด และยังง่ายต่อการสอนของครูอีกด้วยเวลาอธิบาย  สำหรับบันทึกนี้อยากจะพูดถึงเรื่องโคลงสี่สุภาพ  ตามที่เห็นสอนกันก็นิยมให้ท่องโคลงในลิลิตพระลอ และนิราศนรินทร์ เพราะสองบทนี้มีเอก-โท ถูกต้องตามผัง ปัญหาหนึ่งก็คือการไม่รู้ความหมายในบทโคลงต้นแบบ เลยทำให้นักเรียน-นักศึกษาผู้ยังใหม่ต่อเรื่องนี้งง ไม่เข้าใจ  ดังโคลงบทที่นำมาให้นักเรียนท่องจากลิลิตพระลอที่ว่า


๐ เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                        อันใด พี่เอย

เสียงย่อมยอยศใคร                              ทั่วหล้า

สองเขือพี่หลับใหล                             ลืมตื่น ฤาพี่

สองพี่คิดเองอ้า                                    อย่าได้ถามเผือ

 

          เมื่อครูให้นักเรียนท่องบทนี้ก็ควรแปลความในบทนี้ให้นักเรียนทราบด้วยว่าแปลว่าอย่างไร นักเรียนจะได้เข้าใจในความหมาย จะได้เกิดความซาบซึ้ง ชวนให้เกิดการอยากลองแต่ง โคลงบทนี้มาจากวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ เป็นคำพูดของพระเพื่อนพระแพง ที่พูดกับนางรื่นนางโรยสองพี่เลี้ยงว่า เสียงคนเขาเล่าลือ เอ่ยอ้าง ยกย่องใครทั่วแผ่นดิน สองพี่ (เขือ)ท่านมัวหลับใหล ลืมตื่นหรือ ให้สองพี่ท่านจงคิดดูเองเถิด อย่าได้ถามฉัน (เผือ) เลยแล้วก็เล่าความเรื่องนี้ให้นักเรียนทราบด้วย ยิ่งดี ว่าทำไมพระเพื่อนพระแพงจึงพูดเช่นนั้นจากนั้นก็กำหนดให้นักเรียนแต่ง เบื้องต้นควรกำหนดให้แต่งในเรื่องใกล้ตัวนักเรียนก่อน เพื่อนนักเรียนจะได้มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ อย่าเพิ่งกำหนดในเรื่องยากๆ ว่าจะต้องมีคำนั้นคำนี้ในโคลงที่แต่งมา ต้องค่อยเป็นค่อยไป เห็นบางครั้งครูกำหนดให้เรื่องยากๆ ต้องมีคำยากๆ ปรากฏอยู่ในโคลงที่แต่งด้วย อันนี้ก็ได้ผลเฉพาะผู้มีทักษะ มีพื้นฐาน แต่สำหรับผู้ใหม่นี้ยากมาก เริ่มต้นเอาแค่ถูกแผนผังถูกฉันทลักษณ์ก่อนได้เป็นดี เรื่องนี้จะสอนไปอย่างรวดเร็วไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป อยากถามว่าอยากให้นักเรียนรู้ หรืออยากให้นักเรียนเป็น ถ้ารู้ก็สอนเพียงแค่ผ่านๆ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการสั่งงานให้แต่งนั้นนี้มาส่ง เมื่อนักเรียน-นักศึกษาส่งผลงานมาแล้ว ครูไม่ค่อยชี้แจงผิดถูกให้เขา ส่งแล้วก็ส่งเลย หากเป็นไปได้ถึงไม่ชี้แนะทั้งหมด ก็ควรชี้แจงเป็นภาพรวมไป นักเรียนจะได้รู้ว่าตรงไหนผิดพลาดบ้าง ควรปรับปรุงอะไรบ้าง  ส่วนเรื่องฉันทลักษณ์รายละเอียดนั้น ก็แล้วแต่ครูจะอธิบายให้นักเรียนทราบ  (เรื่อง เอก โท คำเป็น คำตาย คำสร้อย สัมผัสสระ สัมผัสอักษร เอกโทษ โทโทษ) นักเรียนบางคนก็ซื่อตรงจริงๆ ครูบอกว่าเอก ๗ โท ๔ ตามตำแหน่งในโคลงตัวอย่างก็พยายามแต่งให้ได้ เอก ๗ โท ๔ ตามตำแหน่งนั้นจริงๆ ซึ่งลักษณะนี้ก็สามารถทำได้ แต่มันยากสำหรับผู้ใหม่ ครู-อาจารย์ ควรจะบอกเรื่องการใช้คำตาย แทนคำที่กำหนดให้เป็นเสียงเอก ส่วนเรื่องคำตายนี้ก็แล้วแต่ครู-อาจารย์จะอธิบาย พร้อมทั้งยกโคลงตัวอย่างที่ใช้คำตายแทนให้นักเรียนเห็นด้วยยิ่งดี เรื่องเอกโทษ-โทโทษ ปัจจุบันไม่นิยมกัน แต่ให้นักเรียนทราบไว้ก็ดี จะได้เข้าใจ อีกอย่างหนึ่งที่พบเห็น คือนักเรียนจะงงกับตำแหน่งที่เป็นคำสุภาพ คิดว่าเป็นคำสุภาพแล้ว จะไม่มีวรรณยุกต์อะไรเลย เอก-โท ก็คิดว่า เอก-โท เฉพาะตำแหน่งที่กำหนด เรื่องนี้ก็ควรชี้แจงด้วย ว่ายังไงเป็นยังไง  เอก-โท นอกเหนือตำแหน่ง ที่กำหนดมีได้ แต่ควรมีตามความเหมาะสม มีมาก ทำให้รก  

               

                โคลงจะไพเราะ ท่านเน้นที่สัมผัสอักษรในวรรค และระหว่างวรรค จะช่วยให้คำโคลงที่แต่งไพเราะขึ้นกว่าเดิม การใช้สร้อยในบาทที่หนึ่ง หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้ เพราะมันจะทำให้เสียงของคำสร้อยไปตัดสัมผัสในคำที่ห้าในบาทที่สอง   สำหรับการลงเสียง คำที่เจ็ดในบาทแรก คำที่ห้าในบาทสอง และคำที่เก้าในบาทสุดท้าย ถ้าลงเสียงจัตวาได้เป็นไพเราะ พูดง่ายๆ ว่าควรให้มีการลงเสียง ต่างระดับกันได้ก็ดี  ดังตัวอย่างนี้

                         

๐ สาด ส่งความรักให้                         หายหมาง

น้ำ จิตที่จืดจาง                                     จักข้น

รด รักย่อมหนทาง                               แห่งสุข

กัน และกันดุ่มด้น                               ดับข้อกินแหนง

พระมหาวินัย ๑๓.๒๘ น. : ๒๗ มิ.ย. ๕๕


๐ สาด ส่งสิ่งชั่วร้าย                            รดกัน

น้ำ จิตที่ผูกพัน                                     ขาดสิ้น

รด ราดสาดโคลงฉันท์                        เฉียดเฉี่ยว

กัน และกันเล่นลิ้น                             เรื่องร้ายคลายหรือ

พระมหาวินัย ๑๓.๑๕ น.: ๒๗ มิ.ย. ๕๕


๐ ดีอยู่แสร้งบอดใบ้                             เบื่อคน

ยุแหย่คอยเวียนวน                               ว่าร้าย

ทำเหมือนกับว่าตน                             ประเสริฐ

ดีแต่เที่ยวแปดป้าย                               แปลกแท้มนุษย์หนอ

พระมหาวินัย ๑๙.๒๕ น. : ๒๗ มิ.ย. ๕


๐ อยู่บ้านท่าน อย่าได้                         ขาดขยัน

อย่านิ่งดูดาย กัน                                  ก่อสร้าง

ปั้นวัวปั้นควาย สรรค์                          สิ่งสุข

ให้ลูกท่านเล่น บ้าง                             บ่สิ้นเสน่า

พระมหาวินัย ๑๕.๓๓ น. : ๒๙ มิ.ย. ๕๕


๐ ใครหรือจะรอบรู้                             ทุกสถาน

ยกแต่พระพิชิตมาร                             เท่านั้น

ปุถุชนเช่นชนพาล                              พวกมืด

 หวังแต่แสงธรรมซั้น                          ส่องให้คลายเขลา

พระมหาวินัย ๑๖.๕๐ น. : ๗ พ.ค. ๕๕


๐ อากาศก็อบอ้าว                                 เอาการ

ข้องแวะวจนะขาน                              ค่อยเอื้อน

งดหงุดหงิดรำคาญ                              แลขัด เคืองเฮย

ไป่ปล่อยโทสะเปื้อน                           เปรอะป้ายปรายเขา

พระมหาวินัย ๑๖.๒๐ น. : ๓ พ.ค. ๕๕


๐ ผู้ใหญ่ที่เพียบพร้อม                        พรหมวิหาร

เด็กเด็กย่อมสัมมาน                            มนัสน้อม

หวังใดวจนะขาน                                คงเสร็จ

เพราะว่ามีธรรมห้อม                          ห่อนสิ้นสิ่งประสงค์


๐ซื่อตรงไป่เลือกพ้อง                         พวกตน

เสมอภาคในกมล                                 มากไว้

ผิดถูกพิจารณ์จน                                  แจ้งจิต

อคติบ่กรายใกล้                                    กล่าวแล้วประเสริฐหลาย

พระมหาวินัย ๑๑.๐๒ น. : ๔ เม.ย. ๕๕

 

                จะเห็นได้ว่าโคลงที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ บาทสุดท้ายล้วนแต่ลงเสียงจัตวา แต่ละโคลงก็มีสัมผัสอักษรระหว่างวรรค ส่วนโคลงกระทู้ อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่นจะเห็นว่า บาทที่สาม คำที่สามเป็น โท ซึ่งตรงนี้ตามฉันทลักษณ์กำหนดให้เป็นเอก ลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าผิด เพราะเขียนไปตามกระทู้ 

 

                โคลงที่มีสัมผัสสระในวรรค ก็คือโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ตามความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าท่านมุ่งหวังจะให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน จึงจงใจแต่งแบบนั้น สำหรับผู้หัดใหม่ ก็ควรศึกษาโคลงของท่านดู เพื่อจะรู้ถึงจังหวะของโคลง นักเรียนบางคนแต่งร้อยกรองไม่เป็นเพราะไม่รู้จังหวะ เรื่องจังหวะก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ง่ายต่อการแต่ง  ถ้าถือตามโคลงของบรมครูสุนทรภู่ จังหวะวรรคหน้าก็เป็น สอง-สาม เรื่องจังหวะนี้ก็แล้วแต่เนื้อความในแต่ละบาท บางทีก็สาม-สอง การแต่งคราแรกย่อมมีการตกหล่น ผิดพลาดบ้าง นักเรียน-นักศึกษาผู้หัดใหม่ ควรให้ครู-อาจารย์ ที่สอนท่านแนะนำ ตรวจแก้ให้ แต่งผิดแล้วจงอย่าได้ท้อถอย ให้ถือว่าผิดเป็นครู ให้แต่งอยู่เรื่อยๆ ไม่นานก็เป็นเอง 

   

 

หมายเลขบันทึก: 493031เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นมัสการท่าน ตามมาอ่านโคลงสี่สุภาพครับ

เจริญพรอาจารย์ ขอบคุณที่มาเยี่ยม ขอให้มีความสุข

อ่านสำนวนของท่านอาจารย์แล้วก็ชอบใจ

 

ขออนุญาตเสริมเรื่องร้อยกรองว่า เราได้แต่เขียนๆ อ่านๆ แบบจืดๆ

เพราะอ่านเป็นทำนองไม่ค่อยจะเป็น

เวลาแต่งจึงไม่ค่อยสนใจเสียงสูงต่ำ ว่าจะลงได้เหมาะไม่เหมาะ

 

วันก่อนเห็นกวีซีไรต์ไปอ่านบทกวี ก็เสียดาย

กวีมาทั้งทีน่าจะอ่านเป็นทำนองเสนาะ

หรือว่าเราจะเขียนกลอนอ่านกลอนแต่ตัวหนังสือกันเสียแล้วก็ไม่ทราบ...

จริงดัวอาจารย์ ธ.วัชชัย ว่าทุกวันนี้การเขียนๆ ได้ แต่อ่านเป็นทำนองนี่รู้สึกจะมีน้อย เพราะต้องฝึกต้องหัด อีกอย่างก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญเท่าไร นับวันจะหายไป ยิ่งครูภาษาไทยสมัยใหม่ๆ บางทีก็ไม่เป็นกันเลยเรื่องทำนองเสนาะ ขอบคุณอาจารย์ที่เพิ่มเติมเรื่องนี้

  • กราบนมัสการ ท่านพระมหาวินัยด้วยความเคารพศรัทธายิ่ง
  • อยากให้อาจารย์ที่สอนวิชาภาษาไทยเข้ามาอ่านบันทึกของท่านมากๆ ค่ะ อ่านแบบใคร่ครวญ และนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของตน
  • นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะไม่ใฝ่เรียนรู้ค่ะ และที่สำคัญจะขาดสมาธิในการฟังมากค่ะ อ.วิพยายามพัฒนาตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน มาจน ณ ขณะนี้ โดยแค่บอกข้อปฏิบัติให้ทำตามง่ายๆ บอกซ้ำ 2 ครั้ง เช่น บอกว่า ในกรอบสี่เหลี่ยมมุมบนขวาของกระดาษเขียนตอบ ยกกระดาษและชี้ให้ดู ให้เขียนรหัสกลุ่มเป็นเลขไทย ฟังอีกครั้งหนึ่ง ...แล้วอธิบายซ้ำแบบเดิม นักศึกษา 6 กลุ่ม จะทำตามได้ถูกต้อง ไม่เกิน 2 กลุ่ม บางกลุ่มเขียนแต่เขียนเป็นเลขอารบิค บางกลุ่มก็เขียนนอกกลุ่ม และบางกลุ่มไม่เขียนเลย ทั้งที่ก็บอกว่าให้ทุกคนในกลุ่มช่วยกันฟัง และดูตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่ง
  • อยากให้ท่านเป็นอาจารย์พิเศษสอนเรื่องการประัพันธ์บทร้อยกรองในสถานศึกษาจังค่ะ เพราะหาคนที่มีความรู้ในเรื่องนี้ คงหาได้ไม่ยาก แต่จะหาผู้ที่มีความชำนาญทั้งปัจจัยด้านพรสวรรค์และพรแสวงแบบท่าน คงหาได้ยากมากค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับความรู้และข้อคิดที่มีคุณค่ามาก ที่ท่านได้ให้เป็นวิทยาทานในบันทึกนี้
  • นำดอกบัวมาบูชาพระรัตนตรัยด้วยค่ะ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท