กาลานุกรม


กาลานุกรม



"กาลานุกรม" พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:00:59 น.

จากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์  http://goo.gl/XQ5ag

 

Delight Moment / สุมิตรา จันทร์เงา

Chronology of Buddhism in World Civilization
คือชื่อในภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้

ฉันได้รับมันทางไปรษณีย์จากเพื่อนรักคนหนึ่ง “ยินดี เลิศเจริญโชค” 
อดีตคนข่าวที่ปัจจุบันทำงานอยู่ในองค์การสหประชาชาติ(UN)
สำนักงานถนนราชดำเนิน


 


“ยินดี” เป็นนามอันไพเราะยิ่งอยู่แล้ว แต่น้ำใจของเธองามยิ่งกว่าสิ่งใด
เธอ ‘ตื่น’ อยู่เสมอกับสิ่งไม่ชอบมาพากลของบ้านเมืองนี้
เดือดร้อนกับความทุกข์ของผู้คน และ ‘ให้’ โดยไม่หวังผลใดมาตลอดชีวิต
มีความสุขเสมอต้นเสมอปลายกับความงดงามภายในจิตวิญญาณ
ยิ่งกว่าหน่วยงานที่เธอนั่งทำงานอยู่อยู่มากมาย

ตอนที่บ้านเพื่อนๆจม น้ำอยู่เยียบเย็นเมื่อปลายปีก่อน
ยินดีอยู่ในบ้านที่แห้งผากย่านหัวลำโพง
แต่เธอเดือดร้อนมากว่าพวกเราที่ถูกน้ำท่วมเสียอีก

ยินดี วิ่งวุ่นหาซื้อชุดกันน้ำสำหรับลุยเข้าไปดูบ้านพร้อมกับเรือยางแบบพาย
พอที่จะให้คนจมน้ำเอาตัวรอดได้บ้าง แล้วเธอก็ขนของเหล่านั้นมาประเคน
ให้ถึงตัวเราทุกคน พร้อมกับถามไถ่ไม่หยุดหย่อนว่า
ยังต้องการความช่วยเหลืออื่นใดอีกหรือไม่

เธอมักจะเดินทางอยู่เสมอ ไปกับทีมงานสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือ
ผู้ที่อยู่กันดารห่างไกล โดยเฉพาะผู้ประสบภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว
ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ฯลฯ ที่ปากีสถาน..บังคลาเทศ..เกาหลีเหนือ
และสารพัดประเทศที่คนทั่วไปไม่ค่อยไปกัน

และทุกครั้งยินดีมีของฝากเล็กๆน้อยๆมาให้เพื่อนเสมอ
อาจไม่ได้มากมายในราคาค่างวด
แต่ยิ่งใหญ่เสมอสำหรับคุณค่าทางใจที่เรามีให้กัน

กาลานุกรมฯ เป็นของฝากที่ไม่คาดคิด

ฉันได้ข่าวการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้มานานแล้ว
แต่ก็ไม่ทันได้คิดวางแผนจัดหา
ยินดี ก็ส่งทางพัสดุไปรษณีย์มาให้เป็น
“ธรรมทาน” ที่เธอปฏิบัติปกติวิสัยตลอดมา

เห็นแล้วเป็นสุข และปลื้มใจอย่างยิ่งกับเนื้อหาหนังสือ
ที่มีคุณค่าและประโยชน์มหาศาล

เป็นเรื่องที่แปลกมาก...
ฉันจับต้องหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกพิเศษเหมือนของสูงค่า
ทั้งที่เป็นหนังสือไม่มีราคา ไม่มีราคาเพราะซื้อขายไม่ได้





ตัวอย่างเนื้อหาในหนังสือ


การพิมพ์ครั้งล่าสุดนี้ เป็นการพิมพ์พิเศษครั้งที่ ๖/๑
เนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๕๕๕ มีการเพิ่มภาคพิเศษ ท้ายเล่มอีก ๑๐ บทความ
จำนวนพิมพ์ทั้งสิ้น ๙,๕๐๐ เล่ม  โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน
“วิสาขบูชา พุทธบารมี”
ประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม
และคณะผู้ศรัทธาอีก ๖,๕๐๐ เล่ม

เป็นธรรมทาน-ให้เปล่า-ห้ามจำหน่าย

ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ ผู้ริเริ่มอุปถัมภ์การจัดทำเป็นหนังสือภาพ ได้แก่
บริษัท มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด(มหาชน)

หนังสือ เล่มนี้เล่าเรื่องอะไรหรือ ?
และบริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์นี่เป็นใครมาจากไหน
ถึงได้บริจาคเงินมากมายจัดพิมพ์หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่
กระดาษปอนด์หนาหนักพิมพ์สี่สีทั้งเล่ม ถึง ๒๗๖ หน้า 


          เรื่องมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ก็บันทึกไว้ ในฐานะก้าวสำคัญของอารยธรรมโลก



สมองฉันหมุนติ้ว ย้อนเวลากลับไปหาอดีต
ช่วงที่เป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
แล้วภาพนั้นก็ลอยเข้ามาในวาบความจำ
“กระเบื้องมุงหลังคาตราห้าห่วง” และโฆษณาสุดฮาชุด “นิเชา”
กับชุดอวกาศที่นักบินอวกาศสามคนนั่งมองโลกแล้วคิดถึงบ้าน

นักบินอวกาศคนแรกบอกว่า...นั่นไง อเมริกาบ้านผม
คนที่สองเป็นรัสเซียก็บอกว่า...นั่นไงรัสเซีย บ้านผม
ส่วนคนที่เหลือตัวเตี้ยกว่าใครร้องไห้ ฮือๆๆ
แล้วชี้มือบอกว่า ...นั่นไงหลังคาบ้านผม...


เพื่อนนักบินอวกาศจากประเทศมหาอำนาจสองคน
หันมามองงงเป็นไก่ตาแตกว่า
หลังคาบ้านเจ้านี่มันลอยเด่นทะลุอวกาศขึ้นมาให้เห็นได้ยังไงกัน
ฉับพลันก็มีภาพอินเสิร์ชบ้านหลังหนึ่งเข้ามาในเฟรม
เป็นบ้านที่มุงด้วยกระเบื้องตราห้าห่วง
สีน้ำเงินเจิดแจ่มแบบสีของดาวโลก
พร้อมข้อความโฆษณาปิดท้ายที่หลายคนจำติดปากว่า

“สีสวยโดดเด่นเห็นแต่ไกล กระเบื้องสีตราห้าห่วง สวยสด ทนหายห่วง”

นั่นมันหลายปีมาแล้วที่กลุ่มมหพันธ์
เน้นทำโฆษณาเครื่องหมายการค้าตรา "ห้าห่วง" (Ha-Huang)
ที่ประกอบไปด้วย
กระเบื้องไฟเบอร์ซีเมนต์มุงหลังคา (Fibre-Cement Roof Tiles)
กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา (Concrete Roof Tile)
และแผ่นหินประดิษฐ์ทดแทนหินทรายธรรมชาติ (Artificial  Sand Stone)

ปัจจุบัน บริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์(มหาชน)
เป็นที่รู้จักมากกว่าภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา "เฌอร่า" (Shera)
ซึ่งเป็นไม้ฝาสังเคราะห์ (Synthetic Wood)
และเวลาเป็นข่าว ก็มักจะถูกเรียกชื่อกลุ่มธุรกิจสั้นๆว่ากลุ่ม “เฌอร่า”

ปัจจุบันธุรกิจของมหพันธ์กรุ๊ปอยู่ในมือทายาทสามคนนี้ คือ
องเอก เตชะมหพันธ์ องอาจ เตชะมหพันธ์ และ องอร เตชะมหพันธ์

เป็นครอบครัวที่ โลว์-โพรไฟล์ อย่างยิ่งในวงสังคม
แม้ธุรกิจจะ ไฮ-โพรฟิต อย่างแรง
และที่แรงกว่าทุกสิ่งก็คือการทำคุณงามคุณดีตอบแทนแผ่นดิน
โดยเฉพาะการทำนุบำรุงพุทธศาสนา

ฉะนั้นอย่าได้แปลกใจ
ถ้าท่านจะไม่เคยได้ยินชื่อคนในครอบครัวนี้
ปรากฏตามสื่อที่รายงานข่าวของเหล่า “เซเล็บฯ”
กันอย่างเอาเป็นเอาตาย


 



ความเป็นมาของกาลานุกรมมีผู้เคยเล่าไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔
ในโอกาสที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) แห่ง วัดญาณเวศกวัน
จะตีพิมพ์หนังสือ "จาริกบุญ-จารึกธรรม"
ท่านได้มองเห็นว่าหนังสือดังกล่าวมี เนื้อหามาก ทำให้เล่มหนาเกินไป
จึงดำริที่จะจัดปรับและตัดบางส่วนลดขนาดลง
พร้อมกับคิดว่าน่าจะจัดทำกาลานุกรม
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
มาพิมพ์ไว้ต่อท้ายเป็นภาคผนวกของ หนังสือจาริกบุญ-จารึกธรรม
จะได้ช่วยให้ผู้อ่านได้ความรู้ความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

ปรากฏว่าพอดำเนินการไปแล้ว กาลานุกรมนั้นกลับมีความยาวมาก
ประกอบกับหนังสือ “จาริกบุญ-จารึกธรรม”
แม้จะจัดปรับใหม่แล้วก็ยังหนาอยู่
ถ้าใส่กาลานุกรมต่อท้ายเข้าไปก็จะหนาเกินสมควรจนไม่น่าอ่าน

ในที่สุดจำเป็นต้องเลือกพิมพ์เฉพาะหนังสือจาริกบุญ-จารึกธรรม อย่างเดียว
ส่วนกาลานุกรมที่เสร็จแล้ว ได้เก็บไว้เฉยๆ

กระทั่ง บริษัท มหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ได้ให้ความสนใจที่จะจัดพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทานแจกจ่ายเป็นความรู้
จึงได้มาขอความเห็นชอบและขอคำปรึกษาจาก
เจ้าประคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
ซึ่งท่านได้อนุโมทนาศรัทธา จนหนังสือกาลานุกรมได้เสร็จเรียบร้อย

จัดพิมพ์ครั้งแรก วันวิสาขบูชา ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒


“กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก"
(Chronology of Buddhism in World Civilization)
เป็นหนังสือภาพที่เรียบเรียงเหตุการณ์ใน
พระพุทธศาสนาและเหตุการณ์ที่เกี่ยว ข้องในชมพูทวีป
ตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาลมา จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
มีทั้งการสร้างสรรค์และการทำลาย
โดยมีภาวะจิตใจและภูมิปัญญาของมนุษย์แฝงเร้นอยู่เบื้องหลัง

รวมความแล้วในด้านหนึ่งหนังสือนี้เป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา
อีกด้านหนึ่งบอกเล่าอารยธรรมของมนุษยชาติควบคู่กันไป
เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความรู้ บทเรียน และเครื่องปรุงของความคิด
ให้นำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา
โดยเฉพาะการนำอารยธรรมไปสร้างสันติสุขอันถาวร





หนึ่งในบทพิเศษท้ายเล่ม



ผู้ที่สนใจต้องการหนังสือ น่าจะติดต่อรับหนังสือได้ด้วยตัวเองที่
วัดญาณเวศกวัน ถ้าหากยังโชคดีที่มีหนังสือเหลือแจกอยู่

แต่ถ้าไม่มีแล้วก็ให้เข้าไปดาวน์โหลดไฟล์เปนอีบุ๊คได้ที่

http://www.ebooks.in.th/ebook/1402/

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญสำหรับ
พระพรหมคุณากรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)
ที่ได้เรียบเรียงกาลานุกรม
และผู้มีจิตศรัทธาในการพิมพ์เผยแพร่
เพื่อเป็นวิทยาทานกับบุคคลทั่วไปครับ

หมายเหตุ สำหรับหนังสือฉบับอื่น ๆ ไป download ได้ที่ Link ย่อข้างบนนี้
เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องการแบบไฟล์ภาพ
เป็นไฟล์บีบอัดต้องขยายไฟล์ตาม link ย่อ
เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอหรือใส่ภาพเข้าในเอกสาร word/power point


http://goo.gl/4QgTH


อีกไฟล์เป็นไฟล์ต้นฉบับที่นำมาทำเป็นไฟล์ภาพตาม link ย่อ

http://goo.gl/0E2yE

 


โฆษณานิเชา



โฆษณานักบินอวกาศ




หมายเลขบันทึก: 492910เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท