หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : อาหารปลอดภัย ชุมชนใส่ใจสุขภาพ (เรียนจริง ทำจริง ใช้จริง...)


กระบวนการเช่นนี้ถือได้ว่านิสิตได้นำความรู้ในวิชาชีพและเทคนิคการลงสู่ชุมชนมาประยุกต์ใช้กับชุมชนอย่างน่าสนใจ (knowledge application)

วันที่ 20 และ 24 มิถุนายน 2555  เป็นอีกห้วงหนึ่งที่โครงการ “อาหารปลอดภัย ชุมชนใส่ใจสุขภาพ” ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องขึ้น ณ บ้านลาดพัฒนา หมู่ 1  หมู่2 หมู่ 6 และหมู่ 19 ต.ลาดพัฒนา อ.เมือง จ.มหาสารคาม

 

 

โครงการดังกล่าว  มีนิสิตเข้าร่วมเกือบๆ 70 คน เป็นกิจกรรมหนึ่งในนโยบายเชิงรุก “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ภายใต้ความรับผิดชอบของสาขา (วท.บ.) โภชนาการและการจัดการความปลอดภัยในอาหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์  ซึ่งอาจารย์สุวิมล สงกลาง เป็นผู้รับผิดชอบหลัก  มีวัตถุประสงค์หลัก คือ

  • เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขาภิบาลอาหารแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ หรือผู้จำหน่ายในชุมชน 
  • วมถึงการประเมินสุขาภิบาลอาหารของร้านจำหน่ายอาหารในชุมชน

 

 

 

จุดเด่นของโครงการอาหารปลอดภัย ชุมชนใส่ใจสุขภาพ มีอยู่หลายประการ อาทิ การเลือกพื้นที่การเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบเหมาะสมกับศักยภาพของสาขา  เนื่องเพราะชุมชนบ้านลาด เป็นชุมชนขนาดกลาง อยู่ติดตัวเมือง สินค้าในชุมชนส่วนใหญ่รับซื้อมาจากตลาดในตัวเมืองแทบทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้วัตถุดิบที่ซื้อมาจึงสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อน  นอกจากนี้ภายในชุมชนยังมีร้านจำหน่ายสินค้าจำนวนมาก  ทั้งที่เป็นร้านขายของชำ ตลาดสด และแผงลอย อีกทั้งองค์กรในท้องถิ่นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลาดพัฒนานั้น (รพ.สต.ลาดพัฒนา) ถือได้ว่าปักธงเรื่องนี้อย่างชัดแจ้ง

 


ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  การทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยฯ อันหมายถึงสาขาโภชนาการและการจัดการความปลอดภัยในอาหาร กับทาง รพ.สต.ลาดพัฒนาจึงถูกจุดประเด็นขึ้นอย่างมีพลัง  จากนั้นจึงขยับขยายความคิดไปสู่แกนนำชุมชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง “โจทย์” และ “กระบวนการ”  ที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน  โดยถึงแม้ทางสาขาจะแอบปักธงเรื่องบางเรื่องไว้ในใจอย่างหลวมๆ แล้วก็ตาม  แต่เมื่อเวทีการค้นหาโจทย์ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างมีส่วนร่วม  ทุกอย่างจึงปรับเปลี่ยนให้ลงตัวกับความต้องการของทุกฝ่าย  เสมือนการแลกเปลี่ยนความคิด (shared vision) เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน (win-win)

 

 

 


นอกจากนี้แล้ว จุดเด่นในทางกระบวนการอีกประเด็นก็คือ ก่อนการลงสู่ชุมชนนั้น  อาจารย์สุวิมล สงกลาง ได้ติดอาวุธทางปัญญาให้กับนิสิตเพื่อลงสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ  ด้วยการนำเอา “เครื่องมือการทำงานกับชุมชน” (Seven tools)  อันเป็นกรอบแนวคิดที่ ดร.นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้สร้างสรรค์ไว้เป็นองค์ความรู้และทางเลือกของการทำงานกับชุมชนมาถ่ายทอดให้กับนิสิต ซึ่งประกอบด้วย

  • แผนที่เดินดิน
  • ประวัติศาสตร์ชุมชน
  • โครงสร้างองค์กรชุมชน
  • ระบบสุขภาพชุมชน
  • ปฏิทินชุมชน
  • ชีวประวัติ/ประวัติชีวิต
  • ผังเครือญาติ

 

 

 

กรณีดังกล่าว  ไม่เพียงการสอน หรือการถ่ายทอดเท่านั้น  แต่ก่อนลงสู่ชุมชนยังมีการประเมินผลความเข้าใจของนิสิตเสียก่อนว่าจะเข้าใจเกี่ยวกับ “เครื่องมือการทำงานกับชุมชน” มากน้อยแค่ไหน  ถัดจากนั้นจึงนำพานิสิตลงสู่ชุมชน เพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต.และเหล่าบรรดาแกนนำชุมชน  เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกำหนดแผนการปฏิบัติการในชุมชน

 

 

กระทั่งวันที่ 13 มิถุนายน 2555  นิสิตจึงได้ลงสู่ชุมชนเพื่อปฏิบัติการด้วยตนเองอย่างจริงจัง  โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน  เพื่อทำการศึกษาบริบทชุมชนโดยใช้เครื่องมือ 7 ชนิดเป็นกลไกในการขับเคลื่อน  รวมถึงการเก็บข้อมูลอันเป็น “สถานการณ์จริง” เกี่ยวกับระบบสุขาภิบาลอาหารของชุมชนไปในตัว  เพื่อทำการประเมินและเตรียมสะท้อนผลให้กับชาวบ้านได้ร่วมรับรู้  ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ถือได้ว่านิสิตได้นำความรู้ในวิชาชีพและเทคนิคการลงสู่ชุมชนมาประยุกต์ใช้กับชุมชนอย่างน่าสนใจ (knowledge application)

 

 

ต่อเมื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง  นิสิตก็ทำการสังเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน  มีการแลกเปลี่ยนความคิด  พร้อมๆ กับการจัดกระทำกับข้อมูลในเพื่อสะท้อนให้ชุมชนได้ร่วมรับรู้  ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับบริบทชุมชนนั้นได้จัดทำในรูปของแผนผังความรู้ (knowledge map)  ส่วนข้อมูลด้านสุขาภิบาลอาหารนั้น ถูกจัดกระทำในรูปของเอกสารเพื่อนำเสนอในวันที่ 20 มิถุนายน 2555  โดยมุ่งให้ชุมชนได้รับรู้เกี่ยวกับ “สถานการณ์จริง” ของระบบสุขาภิบาลอาหารในชุมชนของตนเอง  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ว่านั้นก็คือ  “ผู้ประกอบการ” หรือ “ผู้จำหน่ายสินค้า”  

 

กระบวนการดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะผู้นำเสนอ (presenter)  แทนที่จะเป็นอาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.บ้านลาด  ตรงกันข้ามกลับเป็น “นิสิต” ล้วนๆ ที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ต่อชุมชน  ซึ่งในวันดังกล่าวนั้น  นิสิตได้ทยอยลงไปเตรียมพื้นที่กันล่วงหน้าอย่างคึกคัก  มีการจัดบอร์ดจัดนิทรรศการ  จัดเตรียมเอกสารแจกจ่ายเพื่อเผยแพร่ความรู้  และเมื่อถึงเวลาของการนำเสนอข้อมูลเพื่อ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้”  ร่วมกับชาวบ้าน  นิสิตก็สามารถนำเสนอข้อมูลได้อย่างไม่น่าเบื่อ  มีศิลปะในการสื่อสารที่หลากกลาย  ใช้ภาษาถิ่นอีสานกับภาษาไทยสลับกันไปมาเพื่อให้เข้าใจง่ายและเป็นกันเอง  บางครั้งก็ขานเรียกชาวบ้านว่า “พ่อ-แม่”  เป็นระยะๆ  ซึ่งการเรียกเช่นนั้นได้ช่วยลดช่องว่างระหว่างนิสิตกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

 

 


กระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2555  นิสิตจึงกลับลงสู่ชุมชนอีกครั้ง  หากแต่ครั้งนี้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจาก “ผู้ประกอบการ” มาเป็น “ผู้บริโภค”  ที่ประกอบด้วยชาวบ้านและนักเรียนเป็นที่ตั้ง  เหตุผลหลักของการกำหนดวันเช่นนั้น  เนื่องเพราะในทุกวันอาทิตย์จะมี “ตลาดนัด” ในชุมชน  ชาวบ้านจะออกมาเดินตลาดนัดและพบปะกันเป็นจำนวนมาก  จึงนับเป็นโอกาสอันดีของการขับเคลื่อนกิจกรรม  โดยเบื้องต้นได้นำป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปติดตั้งไว้ล่วงหน้า พร้อมๆ กับการประสานแกนนำชุมชนให้ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว


กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2555  หลักๆ เป็นฐานการเรียนรู้ 7 ฐาน ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ในเรื่องอาหารการกินและเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร คือ (1) สารฟอกขาว  (2) ยากันรา (3) บอแรกซ์ (4) ฟอร์มาลีน  (5) การล้างมือ (6)  BMI  (7) ยาฆ่าแมลงและการล้างผัก   

 




ในทำนองเดียวกัน ในวันดังกล่าวนิสิตยังได้ออกแบบกิจกรรมเสริมการเรียนรู้เพิ่มเข้ามานั่นก็คือ การนำเอากิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์มาใช้กับนักเรียน หรือเด็กและเยาวชน  ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้  ส่วนหนึ่งเป็น “อย.น้อย” ในโรงเรียนอยู่แล้ว  กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ หรือแม้แต่การออกหน่วยเคลื่อนที่ในชุมชนเช่นนั้น  เป็นเสมือนสะพานเชื่อมโยงให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนิสิตกับชุมชน เกิดความคุ้นเคย และเป็นกันเอง เสมือนการปูพรมลงสู่กระบวนการให้ความรู้และประเมินผลสุขาภิบาลอาหารอีกรอบ

 

 

 

นี่เป็นอีกกิจกรรมและกระบวนการ “เรียนรู้คู่บริการ” อีกกิจกรรมหนึ่งของการบริการวิชาการแก่สังคมตามนโยบายเชิงรุก “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  ที่มุ่งให้แต่ละสาขาได้บูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย หรือแม้แต่การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปสู่ชุมชน โดยมีชุมชนเป็นฐานหลักของการเรียนรู้ ผ่านกลไกของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน  เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน (Steak holder) เกิดความตื่นตัว (Awareness) ในการดูแลและปกป้องตนเองร่วมกัน 

 

 

 


ขณะที่นิสิต หรืออาจารย์ก็เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Learning by Doing) 

  • เรียนจริง ทำจริงด้วยตนเอง (Learning by Self-studying) 
  • รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่น (Learning by Others) บนพื้นฐานของความเป็นจริงของสังคม
  • เพื่อก่อให้เกิดทักษะชีวิต สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

 

 

หมายเลขบันทึก: 492721เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เป็นแบบอย่างที่ดีในการปลุกจิตสำนึก เพื่อสุขอนมัยที่ดีของตนเองและชุมชน..ขอให้กำลังใจค่ะ..

  • เยี่ยมมากๆ
  • ได้เรียนรู้กับชุมชน
  • ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพแถมรุกเข้าไปในเยาวชนด้วย
  • ขอชื่นชม

จากห้องเรียน สู่การปฏิบัติจริงในชุมชน และกลับสู่ห้องเรียนอีกครั้ง บรรยากาศการเรียนเปลี่ยนแปลงไป อาจารย์จำชื่อและชื่อเล่นของนิสิตได้มากขึ้น นิสิตตอบคำถาม กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น และเข้าใจเนื้อหาทางวิชาการได้ดีขึ้น นี่คือ สิ่งที่ไม่มีขาย ไม่มีเขียนไว้ในหนังสือ ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการฟัง

"ประสบการณ์ การเรียนรู้ ที่สัมผัสได้ด้วยตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน"

ครับพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

เท่าที่ลงพื้นที่สัมผัสจริงกับชุมชน นิสิตในโครงการนี้ออกแบบกิจกรรมเองเป็นส่วนใหญ่ มีอาจารย์ รพ.สต./ชุมชนเป็นพี่เลี้ยง  เนื้อหา องค์ความรู้ถูกสกัดออกมาจากนิสิต รวมถึงการค้นคว้าเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลก็นำมาเสนอต่ออาจารย์ เพื่อให้อาจารย์กลั่นกรอง เติมเต็ม  ก่อนนำออกไปบริการสู่สังคม

นี่จึงเป็นการบริการวิชาการแก่สังคมที่ทำให้อาจารย์และนิสิตได้ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

ขอบคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

เด็กๆ ยังเป็นเป้าหมายสำคัญครับ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในการลือกซื้ออาหาร / ขนมมาบริโภค ชุมชนแห่งนี้อยู่ไม่ไกลตัวเมือง วัตถุดิบต่างๆ ถูกจัดซื้อมาจากตรงนั้น จึงพบเจอการปนเปื้อนฯ ต่างๆ ค่อนข้างสูง

แต่กิจกรรมเช่นนี้ เบื้องต้นก็ช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ว่าสินค้ายี่ห้อนี้มีสิ่งเจือปนมา  ครั้งถัดไปจึงต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนยี่ห้อ...เปลี่ยนร้าน....ฯลฯ

ขอบคุณครับ

 

 
  • เรื่องใกล้ตัวบางครั้งคนเรามักจะมองข้าม การที่นิสิตลงชุมชนเพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้      
  • เป็นการดีที่คนเราจะได้หันมามองตัวเราและใส่ใจในสุขภาพตัวเองเพิ่มมากขึ้น 
  • เอาใจช่วยนิสิตทุกสาขาที่ลงทำประโยชน์ให้กับชุมชนค่ะ

สวัสดีครับ อ.สุวิมล สงกลาง

ขอบคุณที่ให้โอกาสผมเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์-นิสิต-ชาวบ้านเป็นอย่างมาก  และดีใจมากครับที่ภายหลังการลงสู่ชุมชน หรือแมแต่การถอดบทเรียน (ฉบับย่อ) ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ทั้งต่อนิสิต ิาจารยืและระบบการเรียนการสอนในรายวิชาที่อาจารย์ฯ ดูแล

ครับ-การออกไปเรียนรู้ชุมชน  ช่วยให้นิสิตได้เห็นบริบทที่หลากหลาย มีสถาการณ์จริงให้ฝึกปฏิบัติ  การลงมือปฏิบัติก็เป็นการสำรวจศักยภาพตัวเราไปด้วยเช่นกัน  และที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ  "การเรียนรู้ที่จะเข้าใจต่อเพื่อนร่วมงานมากขึ้น...รักกันมากขึ้น" ...

นั่นคือสิ่งที่นิสิต ได้ค้นพบและบอกเล่ากับ "ผม" ..

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่หมอ พญ รวิวรรณ หาญสุทธิเวชกุล

มีบางเรื่องที่นิสิตกำลังเรียนรู้ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน นั่นก็คือเรื่องการนำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาใช้กับเรื่อง "สุขาภิบาลอาหาร" ...เพราะกระบวนการที่ถ่ายทอดวันนี้  ล้วนเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แทบทั้งสิ้น

ยังต้องลุ้นกันอีกหลายยกครับ

ขอบคุณ คุณ แดนไท มากครับ

...ดีใจมากเหมือนกันที่นิสิตบอกเล่าให้ฟังว่า  เมื่อลงมือทำกิจกรรม ยิ่งทำยิ่งเขาใจตัวเองมากขึ้น ยิ่งทำยิ่งเห็นตัวตนของตนเองมากขึ้น...

สิ่งเหล่านี้ ถึงแม้นิสิตจะยังไม่พูดในมิติเพื่อสังคม  แต่ก็ถือว่าสิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นไปสู่สังคมที่ดีด้วยเหมือนกัน

 

  • เข้ามาให้กำลังใจบอสส ที่รักยิ่งครับ...ช่วงนี้เห็นดหมงานหนักดูแลสุขภาพด้วยนะครับ
  • ก่อนอื่นขอชื่นชมน้องๆสาขาโภชนาการ คณะสาธารณสุศาสตร์ จริงๆครับ ที่เห็นความหลากหลายทางการทำกิจกรรมแบบบูรณาการครับ โดยเฉพาะกระบวนการ"สร้างแผนที่เดินดิน" ซึ่งกระบวนการนี้นอกเหนือจากเป็นการสร้างแผนที่ชุมชนโดยละเอียดแล้ว กระบวนที่นิสิตได้เรียนรู้คือ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างลึกซึ้งอีกด้วยครับ....
  • กระบวนการต่อไปหากแม้นนิสิตสามารถลงลึกกิจกรรมสู่การฝังตัวเป็นผู้ดูแลชุมชนแบบครอบครัวจะถือว่ากระบวนการนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่น่ารัก แบบลูกฮัก พ่อฮักแม่ฮัก พี่ฮัก น้องฮัก เพราะเห็นน้องๆเขามีกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงทุกวัยดีครับ...

การได้ลงสัมผัสชุมชนจริงๆ ถึงจะเข้าใจชุมชน
ถึงแม้เวลาจะน้อยนิด แต่สามารถเปลี่ยนความคิดและกระบวนทัศน์ได้เลยค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท