สังคมวิทยา : ช่วยจัดการศึกษาอย่างไร


พื้นฐานสังคมวิทยาที่นำมาช่วยกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา

 

สังคมวิทยา ในฐานะเป็นวิชาทฤษฎีพื้นฐานการศึกษา

มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างไร ?

.............

แนวคิดพื้นฐาน : สิ่งที่นักสังคมวิทยามุ่งศึกษาและพยายามอธิบาย ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่า “สังคม” เนื่องจากนักสังคมวิทยามองพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ว่า เป็นพฤติกรรมทางสังคม แถมมีแบบแผนที่ซ้ำๆกัน  จนสามารถคาดคะเนเป็นทฤษฎีได้ว่า “มนุษย์ส่วนมาก จะคิดและกระทำสิ่งต่างๆ ภายใต้การบีบคั้นโดยพลังของกฎเกณฑ์ทางสังคม” อันได้แก่ ความเชื่อ ศาสนา จารีตประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย  ค่านิยมของกลุ่ม และความกดดันทั้งหลายอันมาจากกลุ่มสังคม  ที่เราเป็นสมาชิกโดยตรง เช่น  ครอบครัว  ชุมชน  สังคม ประเทศ รัฐ ประชาคมโลก

.

ความสำคัญของวิชาสังคมวิทยา : วิชานี้มีความสำคัญตรงที่พยายามอธิบายอิทธิพลของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์ว่า....มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคมเพราะเหตุใด ? เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วเกิดความสัมพันธ์อะไร หรืออย่างไรบ้าง ? มนุษย์ทำอย่างไรจึงทำให้อยู่รวมกันเป็นสังคมได้เป็นเวลานาน ? และเมื่ออยู่รวมกันเป็นเวลานานได้ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆอะไรบ้าง ? 

การอาศัยคำตอบที่นักสังคมวิทยา จะเป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ และองค์ประกอบทางสังคมได้อย่างลึกซึ้ง และทำให้ผู้คนเปิดใจได้กว้างขึ้น แทนที่จะยึดมั่นอยู่กับทฤษฎีใดถูกหรือผิด ได้เปลี่ยนใจหันมาศึกษามนุษย์ในขอบเขตกาลเทศะต่างกัน เช่น ผู้ที่อยู่ในสังคมอุตสาหกรรม หรือ สังคมเมือง  ย่อมต้องมีพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิด และทัศนคติไปคนละแบบ กับผู้อยู่ในสังคมเกษตรกรรม หรือ ชุมชนเกษตรกรรมเป็นต้น อย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้งานค้นคว้าด้านสังคมวิทยาที่ผ่านมานี้  ทำให้ไม่มีข้อสงสัยใดๆว่า  “อิทธิพลของวัฒนธรรม  ประเพณีของสังคม  มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งการเรียนรู้และอบรมขัดเกลาบุคลิกภาพของมนุษย์” อีกด้วย 

นักสังคมวิทยาศึกษาสังคม และพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมอย่างไร ?  : นักสังคมวิทยา  พยายามศึกษาสังคม และพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม จากหลักฐานข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ สังเกตได้มาเป็นพื้นฐาน  ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ จนสามารถวางเป็นหลัก และทำนายปรากฏการณ์ทางสังคมในอนาคตได้ใกล้เคียงมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ที่ทำให้วิธีการทางสังคมวิทยาไม่สามารถพัฒนาให้เป็น “ศาสตร์” ที่แม่นยำเที่ยงตรงได้อยู่ 2 ประการ  คือ

1. การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์  ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องพืช สัตว์หรือวัตถุต่างๆ ซึ่งทดลองได้โดยไม่ขัดกับกฎหมาย หรือศีลธรรม  นอกจากนั้นมนุษย์มีความคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมได้แน่นอน

2. นักสังคมวิทยาส่วนมาก  มักมีอคติหรือค่านิยมส่วนตัว ยึดมั่นทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมากเกินไป ทำให้วางตัวไม่เป็นกลาง

ในการที่จะศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม  นักสังคมวิทยาได้กำหนดแนวปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. กำหนดกรอบความคิด เริ่มต้นนักสังคมวิทยาส่วนมาก  มักจะเลือกทฤษฎีที่ใช้เป็นหลักในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม แล้วค่อยกำหนดตัวแปร (variables) และสร้างสมมติฐาน

2. รวบรวมข้อมูล  ต่อจากนั้น นักสังคมวิทยาจึงรวบรวมปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามสังคม หรือในสังคมที่จะศึกษา โดยการสำรวจ การสัมภาษณ์ การสังเกต ฯลฯ  เพื่อนำมาเป็นหลักฐาน ข้อเท็จจริง สำหรับยืนยันคำอธิบาย หรือข้อสรุปที่พบ  

3. วิเคราะห์และแปลความหมาย  หลังจากที่นักสังคมวิทยารวบรวมข้อมูลได้แล้ว  ก็จะนำข้อมูลมาจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เพื่อพิจารณาลักษณะ หรือค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ จนเป็นข้อสรุป

.

สังคมวิทยากับการพัฒนาคุณภาพชีวิต  :  นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่  มักแค่ศึกษาข้อเท็จจริง  เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเดียว  แต่ก็มีนักสังคมวิทยาส่วนหนึ่งเห็นว่า  เมื่อเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมแล้ว  ก็ควรช่วยชี้แนะ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาพที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ นักสังคมวิทยาก็จะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมทันที

จากความรู้ และคำตอบทางสังคมวิทยา จะช่วยให้เราเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรม บุคลิก นิสัย และวิถีชีวิตต่างกัน หรือ ทำไมเมื่อบุคคลหรือกลุ่มคนมีฐานะทางชนชั้นต่างกัน จึงมีพฤติกรรมและความคิดเห็นต่างกัน  เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานของคนหรือสังคมนั้นได้ชัดเจน  ก็จะช่วยให้เราสามารถคาดคะเนหรือทำนายพฤติกรรมในอนาคตของตัวเองหรือสังคมที่ตนเองอยู่ได้ ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งชีวิตส่วนตัว และธุรกิจตลอดจนกิจกรรมทางการเมืองเป็นอย่างมาก 

ปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่า ในการวางแผนเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะต่างๆ ของรัฐ เช่น นโยบายการศึกษานโยบายสาธารณสุข นโยบายคมนาคม ฯลฯ ได้อาศัยความรู้ทางสังคมวิทยาพิจารณาร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและทางการเมือง เช่น นโยบายการศึกษา ต้องคำนวณถึงแนวโน้มประชากร องค์ประกอบทางประชากร การย้ายถิ่น ความต้องการของตลาด ค่านิยมของสังคม และเมื่อจะลงทุนด้านการศึกษา เช่น สร้างโรงเรียน ผลิตครู การกำหนดหลักสูตร ผลิตสื่อ  แบบเรียน จะได้ไม่เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา

นอกจากนี้ความรู้ทางด้านสังคมวิทยา ยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างกลุ่มต่างวัฒนธรรม หรือกับชนกลุ่มน้อยในสังคม ไม่ว่าจะก่อสงคราม หรือสร้างสัมพันธไมตรีอีกด้วย

ดังนั้น  ถ้าเราได้ศึกษาแนวความคิดและทฤษฎีหลักทางสังคมวิทยาที่มีอยู่จนเข้าใจ  ก็จะทำให้เรามีทัศนะที่กว้างไกล มีมุมมองที่ลึกซึ้งชัดเจน มีคำอธิบายที่มีเหตุผลจริงต่อปรากฏการณ์ทางสังคม มากกว่าคำอธิบายที่ใช้อารมณ์ ความรู้สึก และสามัญสำนึกที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้

.

ทฤษฎีทางสังคมวิทยา :

ความพยายามในการศึกษาเรื่องสังคมและมนุษย์คงมีกันมานานแล้ว ซึ่งคงทำในลักษณะสังเกต  แล้วเล่าให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องฟังไว้สำหรับการดำรงชีวิตร่วมกัน   แต่ที่ศึกษาอย่างเป็นระบบ  คล้ายแบบวิธีการวิทยาศาสตร์ เริ่มเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างใหญ่หลวง จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สังคมเกิดปัญหาขึ้นมากมาย  สิ่งเก่าๆ ทางสังคมไม่สามารถแก้ไขปัญหา และควบคุมพฤติกรรมคนในสังคมได้อีก และ ในขณะเดียวกัน การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มีความชัดเจน  และมีอิทธิพล จึงทำให้เกิดความคิดที่จะหาทางอธิบาย หรือรู้สาเหตุปรากฏการณ์ทางสังคมให้ชัดเจนมากขึ้นตามแนวทางวิทยาศาสตร์ตามมา  จนเกิดทฤษฎีทางสังคมวิทยาสมัยใหม่ที่เราได้มีโอกาสศึกษากัน 

การศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์  ซึ่งเรียกว่าสังคมวิทยานั้น มีรากฐานมาจากนักคิด 5 คน ด้วยกัน คือ

1. ออกุส คองท์ (Auguste Comt, 1798 - 1857) เป็นนักคิดชาวฝรั่งเศสคนแรกที่ตั้งชื่อวิธีศึกษาสังคมแบบใหม่ว่า “สังคมวิทยา (sociology)” และเป็นคนแรกที่สามารถนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาคนและสังคมได้ จนได้ข้อสรุปว่า ในการศึกษาทางสังคม ควรแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่เรียกว่า “สังคมสถิต (social statics)” โดยศึกษาเกี่ยวกับระเบียบสังคม สถาบันสังคมดำรงคงอยู่ได้อย่างไร  อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า“สังคมพลวัต(social dynamics)” ซึ่งจะศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมเพื่อให้เข้าใจและทิศทางของการเปลี่ยนแปลง

ท่านได้เสนอทฤษฎีทางสังคมไว้ว่า  สังคมมีการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เสมอ แต่เป็นแบบวิวัฒนาการ  ซึ่งมี 3 ขั้นตอน คือ เริ่มจากขั้นความคิดแบบเทววิทยา  ไปสู่ขั้นอภิปรัชญา และสุดท้ายที่ขั้นวิทยาศาสตร์ สิ่งที่คองท์สรุป คือ “การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของมนุษย์ เป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” และท่านเชื่อว่าสังคมจะวิวัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนสมบูรณ์แบบ ซึ่งตัวท่านเองเห็นว่า  นักสังคมวิทยาไม่ควรแต่เข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น  ควรมีบทบาทชี้ทางให้สังคมไปสู่ความก้าวหน้าด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี้มีผู้วิจารณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยมาก

2. เฮอร์เบิรต์ สเปนเซอร์ (Herbert Spencer, 1820 - 1903) ท่านได้นำวิธีการทางชีววิทยามาศึกษาสังคม โดยท่านเชื่อว่า “สังคมนั้นมีลักษณะเปรียบได้กับสิ่งมีชีวิต” คือ มีอวัยวะต่างๆประกอบกันขึ้น ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ สังคมก็มีองค์ประกอบทางสังคมต่างๆ เช่น ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ฯ และรัฐ ล้วนต้องพึ่งพากัน ไม่มีเงินรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้ รัฐไม่มีความเข้มแข็งเศรษฐกิจก็ไม่เจริญก้าวหน้า

นอกจากนี้ ท่านยังได้ใช้ทฤษฎีของ ชาร์ล ดาร์วิน มาอธิบายสังคมว่า สังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการ แบบค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กละน้อยจากสังคมแบบเดิมไปสู่สังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น และมีลักษณะก้าวหน้าขึ้นตามลำดับด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว  และจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเอง โดยทุกส่วนผสมผสานกลมกลืนกันอย่างสมดุล  เขาไม่เห็นด้วยกับการ “ปฏิรูป” เพราะการทำแบบนี้ทำให้วิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมต้องเสียสมดุลไป  

3. คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, 1818 - 1883) เขาเชื่อว่า “ทุกสังคมต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะความขัดแย้งของคนกับคน หรือคนกับสิ่งแวดล้อม” และการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น จะเป็นไปในลักษณะ “ปฏิวัติ”เพราะเขาเห็นว่าระเบียบของสังคมแต่ละสังคมที่มีขึ้น ล้วนถูกกำหนดจากวิธีการผลิต หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตของคนในสังคมทั้งสิ้น   ดังนั้น พื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคม  มีความสำคัญต่อสภาพที่คนดำรงอยู่ และการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นๆ เสมอ

และเขาเห็นว่า  นักคิดทางสังคมไม่ควรมีหน้าที่เพียงศึกษาทำความเข้าใจของสังคมเท่านั้น แต่ควรจะมีบทบาทเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าสังคมควรดำรงอยู่อย่างราบรื่นกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปล่อยให้สังคมวิวัฒนาการไปตามธรรมชาติ

4. อีมิล เดอร์กไฮม์ (Emile Durkheim , 1858 - 1917) เขาสนใจเกี่ยวกับการจัดระเบียบ และบทบาทของสังคม โดยเขาเห็นว่า สิ่งที่ทำให้สมาชิกของสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบได้นั้น คือ “การที่คนในสังคมมีความเชื่อและมีค่านิยมร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางศาสนา” จึงจะรักษาสังคมให้ดำรงอยู่ได้ เขาเสนอว่าวิธีการศึกษาสังคม “ควรมุ่งอธิบายว่าส่วนต่างๆของสังคมนั้นมีหน้าที่ (function) ต่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยส่วนรวมได้อย่างไร” ผลงานของเขาที่มีอิทธิพลต่อการวิจัยทางสังคมอย่างมาก คือ การศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มต่างๆ นั้น  ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับพลังทางสังคม

5. แมกซ์ เวเบอร์ (Max weber, 1864 - 1920) เขาเห็นว่า “การที่จะศึกษาสังคมให้เข้าใจชัดเจน ควรจะศึกษาวิเคราะห์จากพฤติกรรมของบุคคล” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ อีริค ฟอร์ม นักจิตวิทยา  ที่ทั้งคู่เชื่อว่า “การที่จะเข้าใจโครงสร้างสังคม เช่น รัฐ ศาสนา หรือระบบการปกครอง หรือระบบเศรษฐกิจได้ดีนั้น จะต้องมองโครงสร้างในฐานะเป็นการกระทำ (action) ของบุคคลที่มีส่วนร่วมในโครงสร้างนั้นๆ และจะต้องศึกษาแรงจูงใจที่นำไปสู่การกระทำต่างๆ ของบุคคล และจะต้องทำความเข้าใจ “ความหมาย” ของพฤติกรรมที่ผู้กระทำให้กับการกระทำของตัวเองและการกระทำของคนอื่น” ทั้งนี้  เขาเชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงของสังคม ขึ้นอยู่กับความคิด ความเชื่อทางศาสนา อำนาจ และระบบต่างๆ ของคนในสังคมเอง”

..............

จะเห็นว่านักสังคมวิทยารุ่นแรกๆนั้น สนใจศึกษาสังคมทั้งสังคม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ กฎเกณฑ์และการเปลี่ยนแปลงของสังคม  มากกว่าศึกษาส่วนย่อยหรือปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือเฉพาะด้าน เหมือนนักสังคมวิทยาในยุคศตวรรษที่ 20 และนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันสนใจศึกษาปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า  การเสนอทฤษฎีกว้างๆ แบบนักสังคมวิทยาชาวยุโรป

ต่อมานักสังคมวิทยาได้อาศัยแนวคิดของบุคคล ๕ ท่าน มาวางรากฐานจนเกิดทฤษฎีที่ถือว่าเป็นพื้นฐานของความคิดทางสังคมวิทยาในปัจจุบัน  ซึ่งสามารถจำแนกเป็นกลุ่มใหญ่  5 กลุ่มทฤษฎี ดังนี้

.

1. กลุ่มทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ (Structural - Functional Theory) มีแนวคิดพื้นฐาน ดังนี้

1.1  สังคมเป็นระบบที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน

1.2 ระบบต่างๆ ของสังคมมีแนวโน้มที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง เพราะว่าแต่ละระบบมีกลไกสำหรับควบคุมสมาชิกอยู่ภายในตัวของมันเองอยู่แล้ว

1.3 ส่วนต่างๆของสังคม อาจมีหน้าที่ในทางลบหรือผลเสีย (dysfunction) ต่อสังคม แต่สังคมจะมีการปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาได้เองในระยะยาว

1.4 การเปลี่ยนแปลงของสังคมจะเป็นไปทีละเล็กละน้อย

1.5 ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม  เกิดจากการที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมมีค่านิยมร่วมกัน ระบบค่านิยมจะเป็นส่วนที่คงอยู่ได้มั่นคงที่สุดของสังคม

.

2. กลุ่มทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution Theory) มีแนวคิดพื้นฐาน ดังนี้

2.1 โดยทั่วไปสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากสังคมเดี่ยว ไร้รูปแบบ (เอกรูป-uniform) มาเป็นสังคมที่ซับช้อนมีรูปแบบที่หลากหลาย (พหุรูป-multiform)

2.2 ความก้าวหน้าของสังคม จะพัฒนาเอง 3 ช่วง คือ สังคมป่า สังคมบ้าน สังคมอารยธรรม

2.3 การเปลี่ยนแปลงของสังคม จะค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับขั้นตอน  สอดคล้องกับกฎ ระเบียบแบบแผนที่สังคมกำหนดไว้  อันเป็นที่ยอมรับกันในสังคม

2.4 การวิวัฒนาการชีวิตก็เหมือนกับการวิวัฒนาการทางสังคม ทั้งระบบและหน้าที่และเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากแรงผลักดันภายในสังคมมากกว่าจากแรงผลักดันภายนอก

.

3. กลุ่มทฤษฎีขัดแย้ง (Conflict Theory) มีแนวคิดพื้นฐาน ดังนี้

3.1 สังคมจะเปลี่ยนแปลงเสมอ  เพราะความขัดแย้ง และระเบียบทางสังคมบังคับมากไป

3.2 สังคมทั่วไปมัก  ดำรงอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของคนบางกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงในสังคม

3.3 คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตนเสมอ

3.4 เมื่อคนในกลุ่มมีความสำนึกในผลประโยชน์ร่วมกัน  ก็จะเกิดชนชั้นขึ้น

3.5  ความขัดแย้งทางชนชั้นจะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมือง ทางสังคม ลักษณะของการกระจายอำนาจ  ผลประโยชน์ และโอกาสในการเปลี่ยนฐานะทางชนชั้นของสมาชิกสังคมเพียงใด

.

4. กลุ่มทฤษฎีสัญลักษณ์สัมพันธ์ (Symbolic Interaction) มีแนวคิดพื้นฐาน ดังนี้

4.1 สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคม ไม่ใช่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม แต่เกิดจากบุคคลและการกระทำของบุคคล ซึ่งเป็นผลให้เกิดสังคมและเปลี่ยนแปลงสังคม

4.2 ความสัมพันธ์ต่อกันของคนในสังคมเป็นกระบวนการของการกระทำตอบโต้ซึ่งกันและกันที่มีความผันแปรอยู่เสมอตามสถานการณ์

4.3 บุคคลเป็นผู้สร้างหรือกำหนดการกระทำ ไม่ใช่ถูกกำหนดจากโครงสร้างสังคม

4.4 ตัวแปรสำคัญที่กำหนดการกระทำของบุคคล คือ ความคาดหวัง ความเข้าใจของบุคคลต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า แรงกดดันหรือปฏิกิริยาที่บุคคลในกลุ่มมีต่อกัน และบุคลิกภาพของบุคคล

4.5 ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะดำเนินไปได้ด้วยดี ต่อเมื่อคนมีความเข้าใจตรงกันในสถานการณ์นั้นๆ

๔.๖  ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะเป็นไปอย่างไร  มักเกิดจากการให้ความหมาย  การเรียนรู้ความหมาย และการตีความหมายนั้นตรงกันหรือไม่  ก่อนการตอบสนอง

.

5. กลุ่มทฤษฎีปริวรรตนิยม (Exchange Theory) มีแนวคิดพื้นฐาน ดังนี้

5.1 ความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม  มักเกิดขึ้นจากมีผลประโยชน์เป็นแรงจูงใจ

5.2 ในการแสดงพฤติกรรมต่อกัน คนจะคำนึงถึงผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้น (cost -reward)โดยใช้ประสบการณ์ในอดีตเป็นตัวกำหนด

5.3 ความสัมพันธ์จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป  ถ้าบุคคลประเมินว่าส่วนที่ได้มากกว่าส่วนที่เสีย แต่ถ้าไม่คุ้มค่ากันความสัมพันธ์อาจสิ้นสุดหรือเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม

5.4 ควรศึกษาเฉพาะพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสถานการณ์หนึ่งๆเท่านั้น

5.5 ไม่ควรศึกษาคนในสังคมโดยเน้นแบบแผนของพฤติกรรมของคนทั้งสังคมว่า เป็นแบบใดแบบหนึ่งตามกฎเกณฑ์ที่สังคมวางไว้

………….

เรื่องของสังคม แม้จะเป็นเรื่องของคนหมู่มาก ที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล แต่ถ้าเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมนั้น เรื่องของสังคมก็เป็นเรื่องของคนที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวเรา  และเป็นเรื่องของคนที่ตัวเราต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องสังคมจึงเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของเราเอง และถ้าเรายิ่งเข้าใจว่า “...การเข้าอยู่ในสังคมไหนๆ ทั้งที่เราสมัครใจ หรือจำยอม เราต้องยอมรับกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้นที่กำหนดไว้ และก็อาจต้องชำระค่าบำรุงเป็นเงินทอง หรือชำระด้วยเสรีภาพที่จำกัดความต้องการในการทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ถ้าไม่ปฏิบัติตามกติกา ไม่ยอมชำระค่าบำรุง ก็อยู่เป็นสมาชิกกับเขาไม่ได้ นอกเสียจากว่าเราใหญ่พอและชอบถูกทอดทิ้งเท่านั้น...” คิดได้ตามนี้ เราก็มีความสุข และดำรง ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเก็บกด ไม่ต้องขัดเคืองคับข้องใจ จนมีปมด้อยให้เสียสุขภาพจิต

 (จากหนังสือ "กลไกสังคม" ของ พัทยา สายหู)

.

บทสรุปอิทธิพลของสังคม

…………………

มนุษย์ในยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญกับความเจริญที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนรู้สึกอ้างว้างเดียวดาย ทั้งนี้ เพราะ

1. การที่มนุษย์มีเหตุผลและมีจินตนาการต่างๆ มากมาย ทำให้มนุษย์มีวิวัฒนาการทางอารยธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันก็แยกตนห่างเหินจากธรรมชาติจากสัตว์โลกพวกอื่นๆ และจากบุคคลอื่นๆ ในสังคมไกลกันยิ่งขึ้น

2. มนุษย์แสวงหาอิสรเสรีทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาการ เมื่อได้มาแล้วก็จำต้องแลกด้วยความอ้างว้าง ตัวอย่างเช่น เด็กวัยรุ่นที่อยากเป็นอิสระ ไม่อยากอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในช่วงแรกพวกเขาจะรู้สึกมีความสุข  แต่ต่อมาจะรู้สึกว่าตัวเองอ้างว้างเดียวดายมากขึ้นทุกวัน  จึงต้องแสวงหาเพื่อน หรือคนรักมาอยู่เคียงข้างกายตนเองเสมอ   เพื่อน  คนรัก จึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก

3. พัฒนาการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้ผลิตวัสดุเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ง่ายขึ้นมา จนความเป็นอยู่ประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น มีสิ่งที่ช่วยให้บันเทิงเริงรมย์ และมีเครื่องทุ่นแรงในการทำงาน  ทำให้มนุษย์ยุคนี้สัมพันธ์กับคนอื่นๆน้อยลง  เมื่อต้องติดต่อกันก็มีท่วงทีห่างเหินไว้ตัว คบยากขึ้น

.

นักจิตวิทยาสังคม เช่น อีริค ฟอรมม์ ได้เสนอทางพัฒนาแก้ไขให้กับสังคมสมัยใหม่ไว้ 2 แนวทาง คือ

1. ควรสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์ บนรากฐานความรักที่สร้างสรรค์ : เมตตา (Productive Love)

ซึ่งได้แก่ความเอื้ออาทร ความรับผิดชอบ ความนับถือ และความเข้าใจซึ่งกันและกัน

2. ยอมเชื่อฟัง อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสังคม และทำตัวคล้อยตามสังคมบ้าง

อีริค ฟอรมม์ เห็นว่ามนุษย์โดยทั่วไปมีความต้องการอยู่ 5 ประการ คือ

1. ต้องการมีสัมพันธภาพ (Need for Relatedness)

2. ต้องการสร้างสรรค์ (Need for Transcendence)

3. ต้องการมีสังกัด (Need for Rootlessness)

4. ต้องการมีเอกลักษณ์เป็นของตน (์Need for Identity)

5. ต้องการมีหลักยึดเหนี่ยว (Need for Frame of Orientation)

จะเห็นได้ว่า  ความต้องการของมนุษย์นั้นมีความต้องการหลายอย่างในเวลาเดียวกัน  เช่น ต้องการมีสัมพันธภาพ  แต่ก็อยากมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง  จึงทำให้มีความขัดแย้งในตนเอง จนคนรอบข้างและสังคมสับสนวุ่นวายไปตามๆกัน เมื่อใดคนเข้าใจความจริง ความถูกต้องตามสภาพที่ตัวเองดำรงอยู่ และยอมรับสภาพนั้นได้  จึงจะทำให้ตัวมนุษย์และสังคมที่เขาเกี่ยวข้องด้วยมีความสุขในที่สุด

.

อีริค ฟอรมม์ ได้วิเคราะห์จำแนกสังคมและอิทธิพลของสังคมแต่ละรูปแบบว่า  มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างไร  ดังนี้ (จิตวิทยาเบื้องต้น, ประมวญ ดิคคินสัน. หน้า 278 -282)

สังคมแห่งการวางอำนาจ (Authoritarian) เนื่องจากมนุษย์กลัวความว้าเหว่ที่จะต้องเผชิญโลกอย่างเดียวดาย จึงต้องแลกความเป็นไทแก่ตัว กับการได้นับเข้าในหมู่คณะ และการตามผู้นำอย่างไม่ต้องคิดจำเป็นต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอำนาจ ส่วนผู้มีอำนาจก็วางกฎเกณฑ์เอาไว้ให้คนปฏิบัติตาม ใครฝ่าฝืนเป็นผิด ถ้าเป็นบ้านเมืองก็รับโทษหนัก ถ้าเป็นทางศาสนาก็เป็นบาป มีกฎตายตัวอยู่ว่าต้องเชื่อและตามผู้นำ ไม่ว่าผู้นำเป็นอย่างไร ทั้งนี้ย่อมขัดกับการที่มนุษย์รักตัวเอง อยากเป็นตัวของตัวเอง และความรับผิดชอบของตัวเอง  ที่มีผลต่อความก้าวหน้าของมนุษย์เอง

ฟอรมม์เห็นว่า ความรักตัวเองกับความรักผู้อื่นไม่ต่างกันเลย ผู้ที่รักตนเองนั้นจึงจะรู้จักรักคนอื่นได้ และบุคคลผู้รักตนเองย่อมสละแม้แต่ชีวิตได้เมื่อถึงคราวจำเป็น แต่ไม่ใช่เอาชีวิตมาทิ้งอย่างบ้าบิ่น หรือเห็นเป็นของไร้ค่า หรือเพียงแค่ต้องการผลตอบแทน แต่ในสังคมแห่งการวางอำนาจเป็นการยากที่คนจะรักนับถือตนเองได้ เพราะแม้แต่ตนเองก็ปราศจากความเป็นไทแล้ว

สังคมแห่งการผลิต (Productivity) ในหนังสือ Man for Himself ของฟอรมม์ ชี้ให้เห็นว่า ความมุ่งหมายของมนุษย์ ก็คือ การมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ อยู่โดยมีการผลิตผลให้แก่เพื่อนร่วมโลก ทัศนคติในทางผลิตผลนี้เกิดจากความรักตนเอง การที่เรารักตนเอง ทำให้รักผู้อื่นเป็น ความรักทำให้มนุษย์มีความเอื้ออาทร มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นตามสิทธิที่เขาควรจะได้ นั่นคือสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์นั่นเอง

ความรักหนุนให้คนเราอยากบำเพ็ญประโยชน์ แต่ฟอรมม์ชี้ให้เห็นว่าผู้บำเพ็ญประโยชน์นั้น มิใช่ประเภทวิ่งวุ่นวายเจ้ากี้เจ้าการ หรืออุทิศตัวเองอย่างไม่มีเวลาเป็นของตนเอง อันเป็นการเบียดเบียนตนเอง อันที่จริงแล้วบุคคลประเภทเจ้ากี้เจ้าการ ก็จัดอยู่ในประเภทโรคจิตโรคประสาทไม่แพ้พวกเกียจคร้าน ใจแคบไม่ยอมช่วยเหลือผู้ใดเลย

ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ย่อมมีบุคลิกภาพแบบอุดมการณ์ที่มนุษย์ประสงค์จะมี แต่จะมีได้เพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของมนุษย์เอง ธรรมดามนุษย์ไม่นิยมอยู่อย่างเปล่าประโยชน์ บุคคลผู้มิได้บำเพ็ญประโยชน์เลยนั้น แม้จะโชคดีเกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่ก็ไร้ความสุข แม้ภายนอกจะดูเหมือนเจ้าสำราญ แต่ส่วนลึกของจิตใจหาได้เปี่ยมด้วยความพอใจไม่ ยิ่งตักตวงเอาความสุขเท่าใด ก็ยิ่งพบแต่ความว่างเปล่า

บุคคลผู้รู้ตัวว่ามิได้ทำประโยชน์อะไรที่มีคุณค่าไว้ในชีวิตเลย แม้จะมั่งมีศรีสุขก็ตาม  ย่อมเต็มไปด้วยหวาดวิตกกังวล กลัวความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ความพลัดพรากอย่างถึงขนาด เพราะเห็นว่าตนยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นแก่นสารในชีวิตนี้เลย ส่วนผู้ที่อิ่มใจเพราะได้ทำประโยชน์ตามฐานานุรูปของตนนั้น ย่อมสามารถเผชิญความแก่ความตายได้อย่างองอาจ ถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นของธรรมดา เพราะเห็นอย่างอื่นยังสำคัญกว่าความงามฉาบฉวยของร่างกาย และถือเสียว่าตนทำดีมามากแล้วจึงนอนตายตาหลับ

สังคมแห่งการเอาเปรียบ (Receptive) ได้แก่ สังคมที่มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง หรือบางกลุ่มได้แต่ตักตวงเอาจากผู้อื่น เช่น ลัทธิเจ้าขุนมูลนาย หรือลักษณะนายกับทาส ผู้ใดอยู่ในฐานะผู้น้อย ถือตนว่าเป็นไพร่พลหรือข้าทาส ก็ยอมก้มหน้าแบกภาระซึ่งผู้เป็นนายบัญชาลงมา เพื่อหวังผลตอบแทนเล็กน้อย คือการปกครองป้องกันจากเจ้าขุนมูลนายอื่น ผู้น้อยในสังคมประเภทนี้ตรงกับพวก “oral passive” ของฟรอยด์ และพวก “ยอม” ของฮอร์นาย

ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ย่อมกลายเป็นผู้อาศัยผู้อื่นตลอดกาล ต้องอาศัยพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง นายผู้มีอำนาจหรือพระผู้เป็นเจ้าอยู่ทุกลมหายใจ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ก็ขาดที่พึ่ง จะรู้สึกอ้างว้างสุดพรรณนา ด้วยเหตุที่เป็นสังคมไม่ชอบออกแรงได้อะไรมา รอคำสั่งอย่างเดียว คนในสังคมแบบนี้จึงชอบรวยทางลัด เรียนลัด หรือหาความสะดวกสบายต่างๆ แม้จะแปรงฟันก็คงต้องใช้แปรงไฟฟ้า

สังคมแห่งการขูดรีด (Exploitative) ได้แก่สังคมที่มีการกดขี่ข่มเหงทำนาบนหลังคน แบบนายทุนในศตวรรษที่ 18-19 กล่าวคือ นายทุนเห็นแก่ได้ ไม่ยอมจัดบริการหรือสวัสดิการแก่คนงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ตนเลยบุคคลในสังคมแบบนี้ย่อมเต็มไปด้วยการชิงดีชิงเด่น หักล้างกัน จะเป็นด้วยไหวพริบหรือเอากันซึ่งๆหน้าผู้มีอำนาจก็ถืออำนาจเป็นใหญ่ ตรงกับ “oral passive” ของฟรอยด์ และประเภท “สู้” ของฮอร์นาย

ผู้ที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ย่อมมีลักษณะเอาเปรียบผู้อื่นด้วยการตักตวงผลประโยชน์ ชอบการได้มาด้วยการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบ การได้อะไรฟรีๆ คนพวกนี้ไม่นับถือ เพราะการได้ฟรีแสดงว่าผู้อื่นไม่ต้องการแล้ว ไม่มีค่า สู้ได้มาด้วยเหลี่ยมคู หรือแย่งเอามา ขโมยมาไม่ได้ ถ้าบุคคลประเภทนี้มีคู่รักก็ไม่ใช่เห็นคุณค่าของคนรักนั้น แต่เพราะเห็นคนรักเป็นที่หวังปองของคนอื่นอีกหลายคนต่างหาก

สังคมแห่งการสะสม (Hoarding) บุคคลในสังคมประเภทนี้มักหัวโบราณ ได้แก่เศรษฐีเก่ายุคบุกเบิก ซึ่งถือว่าการมีที่ดิน มีเงินในธนาคาร เป็นหลักทรัพย์ที่พอใจแล้ว ยึดการเก็บหอมรอมริบ การตระหนี่เหนียวแน่นเป็นสำคัญ ตรงกับประเภท “anal type” ของฟรอยด์ และใกล้เคียงประเภท “หนี” ของฮอร์นาย

คนที่อยู่ในสังคมแบบนี้  ไม่ชอบความคิดใหม่ๆ และมักอิจฉาริษยา ไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับวงการของตนเอง มีความอบอุ่นใจที่ได้เก็บหอมรอมริบ ถ้าต้องใช้จ่ายอะไรสักอย่างก็รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียอย่างร้ายแรง ถือความเป็นเจ้าของเป็นสำคัญ แม้แต่คู่ครองก็ถือว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งซึ่งตนภูมิใจที่ได้มาครอบครอง อีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรไม่สำคัญ

สังคมประเภทตลาด (Marketing) เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบันและคาดว่าจะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต ตามแนวทุนนิยมเสรี สังคมประเภทนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตัวต่อตัวน้อยลง ชีวิตจึงเป็นไปเพื่อการซื้อขาย และแลกเปลี่ยน มากกว่าการผลิตเอง สังคมแบบนี้ ดารา นักแสดง และการโฆษณาจะมีความสำคัญยิ่งกว่าคุณภาพ ข้อเท็จจริง  บุคคลจะกลายเป็น “ที่” สำหรับแลกเปลี่ยน แม้จะอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็เหมือนอยู่โดดเดี่ยวอ้างว้าง ยิ่งยุคศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป  มนุษย์จะยิ่งมีความรู้สึกอย่างนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโลกยุคใหม่ติดต่อเดินทางกันได้สะดวกรวดเร็ว  และไร้พรมแดน มีความเป็นเสรีทุกอย่าง ทุกอย่างเป็นไปตามกระแสนิยมของโลก

คนที่อยู่ในสังคมอย่างนี้ สัมพันธภาพส่วนตัวระหว่างบุคคลเป็นอันสิ้นสุดลง สังคมมีแนวโน้มแบบนี้มากเท่าใด มนุษย์จะยิ่งห่างเหินจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากขึ้นเท่านั้น  และอยู่ด้วย ความเปล่าเปลี่ยวท่ามกลางฝูงชน” ซึ่งมนุษย์จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง  เหลือแต่ความคิดที่ว่าต้อง หว่านพืชหวังผล และ ตัวใครตัวมัน อย่างเดียว

..................................

นักจิตวิทยาสังคม  ส่วนมากเห็นตรงกันว่า “ บ้าน มีอิทธิพลยิ่งในการให้พื้นฐานแก่บุคลิกภาพ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งฟอรมม์ และฮอร์นาย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเลี้ยงดูเด็กสมัยใหม่ ตรงกันข้ามกับการเลี้ยงดูสมัยก่อน ทั้งนี้เพราะอิทธิพลการศึกษาสมัยใหม่และสิ่งแวดล้อม สมัยก่อนเด็กต้องอยู่ในโอวาทพ่อแม่ สมัยนี้พ่อแม่เกิดความไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรถูก เพราะนักวิชาการรุ่นใหม่โจมตีการเลี้ยงดูแบบเก่า เลยปล่อยให้เด็กรับผิดชอบเอาเอง แต่ความรับผิดชอบก็คือภาระอย่างหนึ่ง” ถ้าหนักเกินกำลังเด็กก็แบกไม่ไหว เด็กๆ จึงไม่สนใจภาระ และทิ้งภาระนั้นเสีย ทำให้ดูเหมือนไม่สนใจไยดีชีวิตตัวเองอีกต่อไป

การทำมาหากินสมัยนี้ก็ต่างจากบรรพบุรุษ สมัยก่อนลูกฝึกวิธีทำงานจากพ่อแม่ โดยช่วยทำมาหากินกับพ่อแม่สมัยนี้ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป ทำให้เด็กต้องไปเรียนวิชาทำมาหากินจากที่อื่น และไม่จำเป็นต้องเจริญรอยตามพ่อแม่ สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่จึงเสื่อมคลายความแน่นแฟ้นและอบอุ่นลง

อนึ่ง พ่อแม่สมัยนี้มีระดับการครองชีพสูง เห็นว่าคนรุ่นตนลำบากมามากแล้ว ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตน จึงหาความสะดวกสบายมาประเคนให้ลูก ทำให้ลูกกลาย “เป็นคนเอาเปรียบ” คือเคยตัวว่าได้อะไรมาง่ายๆ จึงไม่มีความมานะพยายาม ครั้นเมื่อเด็กทำอะไรไม่สำเร็จ ไม่ดีพอ พ่อแม่จึงผิดหวังอย่างมาก อดลำเลิกบุญคุณไม่ได้ว่า  พ่อแม่อุตส่าห์เสียสละปานนั้นแล้ว ลูกยังไม่เอาถ่านอีก ส่วนลูกก็ใช่ว่าจะมีความสุข เพราะวิสัยมนุษย์ทุกคนย่อมแสวงหาความสำเร็จ คุณค่า และความภาคภูมิใจตัวเอง แต่การเลี้ยงดูนำไปสู่การเลี้ยงไม่รู้จักโต เลยกลายเป็นวงจรร้าย มิอาจสร้างสังคมที่มีคุณค่าแบบสังคมแห่งการผลิตได้

ดังนั้น   สังคมที่ดีจึงควรเป็นสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ช่วยกันทำงาน มิใช่ว่าให้อีกฝ่ายแบกรับภาระ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ช่วยและไม่รับผิดชอบ แถมยังอยากปกครอง กดขี่ ขูดรีดเงินทองจากอีกฝ่ายหนึ่งมาบำรุงบำเรอพวกตนเท่านั้น   สัมพันธภาพในสังคมแบบนี้จะเกิดได้ก็เพราะ “ความรัก ความเมตตา” จากจิตใจของคนที่ “เข้าถึงความจริง (ธรรมะ)”  ด้วยสติและปัญญาที่ฝึกฝนอบรมมากขึ้นตามลำดับ

.................

ทั้งหมดที่กล่าวมา  การที่มนุษย์มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสังคมวิทยาได้ชัดเจน จะช่วยให้ประเทศ หรือสังคม ได้วางนโยบายในการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ   เช่น  เมื่อจะลงทุนด้านการศึกษา เช่น สร้างโรงเรียน  ผลิตครู  การกำหนดหลักสูตร  ผลิตสื่อ  แบบเรียน  และอุปกรณ์ที่สนับสนุนการจัดการศึกษา  ก็ต้องคำนวณถึงแนวโน้มประชากร  องค์ประกอบทางประชากร  การย้ายถิ่น ความต้องการของสังคม หรือวงการต่างๆ  ค่านิยมของสังคม  จะได้ไม่เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา 

.   

ส่วนในระดับสถานศึกษา   ผู้บริหารและคณะครู ก็สามารถนำความรู้เรื่องสังคมวิทยา  มาสร้างสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือที่เอื้อต่อการเรียนรู้ขึ้นในสถานศึกษา  ให้สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษา หรือจิตวิทยาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เลือกไว้   ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องคิดว่าควรมีสิ่งแวดล้อมแบบไหนในสถานศึกษาบ้าง อาคารเรียน ห้องเรียนห้องปฏิบัติการต่างๆ  หรือรูปแบบชั้นเรียนควรมีลักษณะอย่างไร หรือมีอะไรบ้าง ตลอดจนต้อวางแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสถานศึกษาว่า  ควรมีกฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกาการอย่างไร ควรมีบรรทัดฐาน วัฒนธรรมองค์กร ประเพณีแบบไหนบ้าง จึงจะสามารถทำให้เยาวชนมีการพัฒนาพฤติกรรม บุคลิกภาพ ทักษะ ความรู้  ได้ตรงตามจุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ตั้งไว้ 

.

ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษาที่รับผิดชอบ และต้องการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ จะต้องตั้งคำถามสำคัญว่า “เราจะผลิตคนอย่างไรให้สังคม” เช่น ต้องการคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ หรือ ต้องการคนที่ยอมรับระเบียบสังคมที่เป็นอยู่หรือไม่ หรือ ต้องการคนที่จะพยายามพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือ ต้องการคนที่มีความรู้ ความสามารถออกไปทำงานตามที่สังคมต้องการ  หรือ  ต้องการให้แค่ได้ศึกษาเล่าเรียนจบตามปีที่กำหนดไว้เท่านั้น  หรือจะพัฒนาให้ได้หมดครบทุกอย่าง

.

ถ้าผู้บริหารการศึกษาเห็นว่า  การให้การศึกษาควรมุ่งให้ผู้เรียนปรับตัว หรือ ยอมรับระเบียบสังคม หรือเรียนจบตามปีที่กำหนดไว้เท่านั้น   ก็แสดงว่าผู้บริหารคนนั้นยอมรับว่า “สังคมที่ดีในอุดมคตินั้น  ยังไม่ปรากฏในสังคมปัจจุบันของเรา  หรือไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์” ดังนั้น กระบวนการทางการศึกษาที่จะจัดให้กับเยาวชนนั้น เขาต้องทำให้ผู้เรียนปรับตัวเข้ากับสังคมได้  และมีความรู้ที่จะไปทำงานให้สังคมหลังจบการศึกษาได้อย่างดีมีประสิทธิภาพตามที่สังคม หรือประเทศต้องการ  ซึ่งการจัดการเรียนการสอน ก็จะต้องเน้นหนักเรื่องการเชื่อฟังต่อผู้ใหญ่ หรือผู้นำ/ผู้บริหารประเทศ สอนให้ซื่อสัตย์ เสียสละ รักชาติ  ขยัน อดทน และปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของสังคมและประเทศตนเอง และต้องทำให้คนเรียนไม่เก่งออกไปประกอบอาชีพเร็วขึ้น

.

แต่....ในทางกลับกัน  ถ้าผู้บริหารการศึกษาคนใดเห็นว่า  การให้การศึกษาควรเน้นให้มีความรู้ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเสมอ เพื่อไปพัฒนาสังคมที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีตลอดเวลา  การจัดการเรียนการสอน  ก็ต้องเน้นหนักในด้านความสามารถในการวิเคราะห์ วิจักษณ์ วิจารณ์ ความสามารถที่จะเผชิญปัญหาใหม่ๆ สามารถค้นคว้า  วิจัยหาความจริง สาเหตุปัญหา จนสามารถนำไปพัฒนานวัตกรรมสิ่งใหม่ๆให้กับสังคมได้  สามารถพึ่งตนเอง เป็นเจ้านายตนเอง อิสระและมีวินัยในตนเอง  ซึ่งการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างนี้ได้   สถานศึกษาต้องมีบรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบปรัชญาพิพัฒนาการนิยม (  (Progressivism) หรือ ปรัชญาบูรณาการนิยม (Reconstructionism)  หรือในสังคมที่มีเสรีภาพจริงๆ

.

การจัดการศึกษาของไทยทุกวันนี้  ตามหลักฐานในนโยบายการศึกษาของชาติ  เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ หรือ แผนการศึกษาแห่งชาติ  หรือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือ หลักสูตรที่ผ่านมาทุกฉบับ รวมทั้ง หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  ต่างมีหลักการแนวทางการจัดการศึกษาอยู่บนพื้นฐาน “ขยายโอกาส” แก่คนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับรูปแบบประชาธิปไตยนั่นเอง

แต่...มีคำถามที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องคิดและตอบให้ได้ว่า “คำว่าประชาธิปไตย” นั้น  มีความหมายเช่นเดียวกับรูปแบบทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่ หรือว่า เป็นประชาธิปไตย ตามความหมายของผู้มีอำนาจ ผู้ปกครองประเทศไทยหรือไม่   หรือว่าเป็นแค่ประชาธิปไตยในรูปแบบวิถีชีวิต หรือการดำเนินชีวิตเท่านั้น    ถ้าตอบได้ชัดเจน ก็เชื่อว่า  ผู้บริหารการจัดการศึกษาทุกระดับ  จะจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ  รวมทั้ง “มีความสุข” ในการบริหารการศึกษาแน่นอน  

....................

จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเยาวชนอย่างไร

ก็อยู่ที่มีเป้าหมายแบบไหน และจะเลือกวิธีแบบไหนดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 


หมายเลขบันทึก: 492357เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2012 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2020 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท