เทคนิคการใช้คำถามเพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน


เทคนิคการสอนที่ง่ายแต่ทรงไว้ซึ่งพลานุภาพก็คือการใช้คำถามของครู

เทคนิคการใช้คำถามเพื่อพัฒนาการคิดของผู้เรียน

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            ถ้าจะถามว่า ครูที่ดีคือผู้ที่บอกเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้โดยละเอียดใช่หรือไม่  แน่นอนว่า  คำตอบก็คงชัดเจนว่า “ไม่ใช่” แล้วถ้าถามใหม่ว่า  ครูที่ดีคือครูที่ใช้สื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยที่สุดใช่หรือไม่  คำตอบก็คงเป็นเช่นเดียวกันกับข้อแรกก็คือ “ไม่ใช่” แล้วครูที่ดีจริงๆ สำหรับผู้เรียนทุกคนคืออะไร 

 

          หากเรายกพระพุทธเจ้าเป็นบรมครูของโลก นับถือขงจื้อเป็นปราชญ์ตะวันออก  และเห็นว่าโซกราตีสแห่งเอเธนส์เป็นปราชญ์ตะวันตก เราก็คงจะต้องยอมรับด้วยว่า ผู้มีนามอุโฆษที่ได้กล่าวถึง  ณ ที่นี้ ล้วนแต่เป็น  “คุรุ” ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก  และเป็นครูที่ดีที่สุดของผู้เรียน  น่าสนใจว่า  ท่านเหล่านี้มีแนวทางการสอนที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นวิธีที่เรียบง่ายและแยบคายที่สุด  วิธีดังกล่าวทำให้ท่านนำสานุศิษย์ให้เข้าถึงปัญญาหรือแก่นแท้ของชีวิตได้ไม่ยากนัก  ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาสามารถที่จะเจริญรอยตาม ด้วยการนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตน  วิธีดังกล่าวนั้นก็คือการ “ปุจฉา-วิสัชนา” หรือการถามตอบปัญหาระหว่างครูและผู้เรียนนั่นเอง   

 

          การใช้คำถามพัฒนาการคิดเป็นรูปแบบของการสื่อสาร  ที่ครูหรือผู้สอนสามารถตรวจสอบระดับการเรียนรู้ด้านปัญญาของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี  โดยหากใช้ทฤษฎีการแบ่งเป้าหมายของการศึกษาด้านพุทธิพิสัยของบลูมมาพิจารณาลักษณะของคำถาม ก็จะสามารถแบ่งคำถามได้ถึง 6 ระดับ  อย่างไรก็ตาม  ครูสามารถที่จะแบ่งคำถามด้วยเกณฑ์อย่างง่ายออกเป็น  2  กลุ่ม  คือ  คำถามแบบปิด  (convergent question) คือจะสามารถตอบสนองได้ด้วยคำตอบ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงตามที่ถามเพียงสิ่งเดียว  เช่น  ผู้แต่งไตรภูมิพระร่วงเป็นใคร  เหตุการณ์ใดที่ส่งผลให้สุนทรภู่ขัดแย้งกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์        เป็นต้น  และคำถามอีกประเภทหนึ่ง คือ  คำถามปลายเปิด (divergent  question)  คือคำถามที่สามารถตอบด้วยความคิดเห็น  สมมติฐาน  และการประเมินค่าต่างๆ ที่หลากหลายตามเหตุผลที่ใช้อ้าง         เช่น  ไตรภูมิพระร่วงส่งอิทธิพลอย่างไรต่อระบบความคิดและความเชื่อของคนไทย  เหตุใดกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไม่ลงโทษสุนทรภู่ทั้งๆที่สามารถกระทำได้  สาเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยปัจจุบันคืออะไรบ้าง  หรือการที่สินสมุทรหลอกนางผีเสื้อเพื่อหนีไปกับพระอภัยมณีนั้น ถือว่าเป็นการอกตัญญูต่อนางผีเสื้อสมุทรหรือไม่  เป็นต้น 

 

          นักวิชาการในต่างประเทศ ได้เสนอเทคนิคการใช้คำถาม  และได้กล่าวถึงข้อแนะนำในการใช้คำถามเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพการคิดของผู้เรียน  ซึ่งประกอบด้วยเทคนิค 4 เทคนิค สรุปได้ดังนี้   (Moore, 1992: 237-244)

 

          1.  การปรับเปลี่ยนการจ่ายคำถามไปยังผู้เรียนคนต่างๆ   (redirecting)  คือ  เทคนิคนี้เป็นการถามคำถามหนึ่งคำถามกับผู้เรียนจำนวนมากเพื่อให้เกิดการตอบสนอง  เทคนิคนี้เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมในการอภิปรายในชั้นเรียน คำถามที่ใช้จึงต้องเป็นคำถามปลายเปิด  หรือคำถามประเมินค่า  ในบางกรณีอาจมุ่งถามเฉพาะรายบุคคล  และจึงหันไปถามผู้เรียนคนอื่นๆ  ต่อเนื่องเป็นลำดับ หากเกิดประเด็นใหม่เพิ่มเติม  เพื่อให้ผู้เรียนที่ไม่ต้องการแสดงออกมากนักได้    ตอบด้วย  ตัวอย่างเช่น

 

                        “จากการที่ผู้เรียนเรียนวรรณคดีเรื่องมัทนะพาธา  นักเรียบชอบตัวละครใดมากที่สุดเพราะเหตุใด”  (เรียกชื่อผู้เรียน)  “แล้ว........(ชื่อผู้เรียนอีกคนหนึ่ง) เห็นด้วยหรือไม่กับคำตอบของเพื่อน เพราะอะไร ช่วยขยายความได้หรือไม่”


            2.  การรอเวลา  (wait  time)  การถามคือการสร้างปัญหาอย่างหนึ่งให้กับผู้เรียนแก้ไข ดังนั้นผู้เรียนจะต้องใช้เวลาสำหรับคิด  หรือเวลาสำหรับการพิจารณาไตร่ตรองว่า  ตนเองควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำถามในลักษณะใด  การรอเวลาของครูมี 2  รูปแบบคือ  รูปแบบแรกจะรอเวลาให้ผู้เรียนคนหนึ่งตอบเสร็จแล้วจึงถามคนต่อไป  ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ รอเวลาให้ผู้เรียนทุกคนที่ประสงค์จะตอบตอบให้หมด โดยครูต้องตระหนักเสมอว่า  การอดทนโดยเพิ่มระยะเวลาในการรอคำตอบคำถามเพียง 3 ถึง 5 วินาที  จะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสที่จะคิดคำตอบของตนเองได้มากขึ้น

 

          3.  การพักเวลาชั่วคราว (halting  time)  มีความคล้ายกับเทคนิคการรอเวลา  แต่จะแตกต่างที่เป็นการที่ครูหยุดการดำเนินกิจกรรม เช่นหยุดพูด เพื่อให้ผู้เรียนได้มีเวลาสำหรับคิด  ซึ่งในขณะนั้น  ครูจะไม่ถามคำถามอื่นๆ  เพิ่มเติมเข้ามา  หรือจะไม่มีการแสดงความคิดเห็นของผู้เรียน  การพักเวลาสำหรับให้คิดนี้มีประโยชน์อย่างมากเมื่อครูสอนเรื่องที่มีความซับซ้อนหรือเป็นวิธีการ  ซึ่งในขณะที่เด็กกำลังหยุดคิดนั้น ครูควรสังเกตและตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเรื่องที่สอนไปหรือไม่  หากผู้เรียนสามารถแสดงให้เห็นว่าเข้าใจจึงจะเริ่มเข้าสู่กิจกรรมต่อไป  แต่ในทางตรงกันข้ามหากเห็นว่าผู้เรียนไม่เข้าใจ  ครูก็ควรใช้คำถามหรืออธิบายวิธีการนั้นๆ  ซ้ำอีกครั้ง

 

          4.  การฟัง  (listening)  ครูจะต้องฟังผู้เรียนพูดหรือตอบคำถามกระทั่งจบ  จากนั้นจึงจะถามคำถามอื่นหรือให้ข้อเสนอแนะต่อคำตอบของผู้เรียน  โดยส่วนมากครูมักมัวแต่ยุ่งกับตัวเองในขณะที่ผู้เรียนกำลังพูด  หรือไม่สนใจคำตอบของผู้เรียนอย่างแท้จริง  จากนั้นจึงรีบถามคำถามอื่นๆ  การอธิบายเรื่องใหม่และการทำกิจกรรมใหม่  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ครูควรเอาใจใส่ต่อการนำเสนอ  ไม่ควรรบกวนหรือปิดกั้นผู้เรียนก่อนที่จะเสร็จสิ้นการตอบคำถาม  และเมื่อฟังผู้เรียนตอบครบถ้วนแล้ว  ควรเว้นให้เกิดเวลาเงียบ (silent times)  เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นๆ ได้ครุ่นคิดในประเด็นที่ได้ตอบคำถามไปซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการ “ตกผลึกความคิด” ก็ได้ 

 

          การใช้คำถามคำถามเพื่อพัฒนาการคิดขอผู้เรียน  มีข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคำถาม ดังต่อไปนี้ 

 

                    1.  ถามคำถามที่ชัดเจน  คำถามนั้นควรที่จะถามถึงบางสิ่งที่สามารถระบุได้ง่าย  ภาษาที่ใช้ถามต้องชัดเจนและผู้เรียนสามารถที่จะเข้าใจได้  หลีกเลี่ยงข้อความที่กำกวม  มีโครงสร้างที่ยุ่งยากและการใช้ถ้อยคำที่ฟุ่มเฟือยหรือเยิ่นเย้อเกินความจำเป็น

 

                    2.  ครูควรถามคำถามก่อนที่จะกำหนดผู้ตอบ   ครูควรถามคำถามนำไปก่อน  แล้วรอให้ทั้งชั้นเรียนได้คิดเกี่ยวกับคำถามนั้น  จากนั้นจึงขอผู้เรียนสักคนหนึ่งเป็นอาสาสมัครที่จะตอบคำถาม ในกรณีนี้อาจมีข้อยกเว้นสำหรับผู้เรียนที่ไม่ใส่ใจเรียน  ครูควรเรียกชื่อก่อนเป็นลำดับแรกแล้วจึงจะใช้คำถาม  หรือสำหรับผู้เรียนที่ค่อนข้างช้าหรือขี้อาย  ก็ควรที่จะเรียกชื่อเพื่อให้พวกเขาสามารถที่จะเตรียมตัวเองเสียก่อน ทั้งนี้ ครูจะต้องพิจารณาด้วยว่า คำถามสำหรับผู้เรียนที่เรียนรู้ช้าหรือค่อนข้างขาดความมั่นใจไม่ควรเป็นคำถามที่ยากเกินไปนัก และพวกเขามีโอกาสที่จะตอบได้ง่าย ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่กลัวคำถาม การตอบคำถามและมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถที่จะตอบได้ 

 

                    3.  ถามคำถามที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ของเนื้อหาที่เรียน  คำถามที่ใช้ในกิจกรรม  การเรียนการสอนนั้น  ต้องมุ่งหาข้อเท็จจริงที่ต้องการ  ถามคำถามที่ตอบได้ตามความจริงและสามารถที่จะพิสูจน์ได้  เมื่อต้องการให้กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดควรที่จะใช้คำถามแบบการสร้างผลผลิต  หรือคำถามแบบประเมินค่า  ทั้งนี้ ครูพึงตระหนักด้วยว่า  ควรใช้คำถามที่มีระดับทางปัญญาในการตอบที่แตกต่างกันออกไป

 

                    4.  แจกคำถามให้กับทั้งชั้นเรียนอย่างยุติธรรม  ครูจะต้องพยาพยามหลีกเลี่ยงที่จะให้คำถามกับผู้เรียนที่ฉลาดคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น  และที่สำคัญจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาการวางระบบอย่างใดอย่างหนึ่งในการเรียกผู้เรียนขึ้นตอบ  (หมายถึงการถามแบบสร้างระบบ เช่น เรียกตอบตามเลขที่ไล่ลำดับลงไป หรือ เรียกตอบตามแถวที่นั่งเรียงกันไป)  เพราะผู้เรียนจะสนใจแต่เฉพาะการเรียกถามที่จะกำลังเข้าใกล้หรือกำลังจะย้อนกลับมา  ซึ่งจะสร้างความเครียดและวิตกกังวลมากกว่าการคิดเรื่องคำตอบ 

 

                    5.  ถามคำถามให้เหมาะสมกับผู้เรียนทุกระดับความสามารถในห้องเรียน   คำถามบางคำถามบ้างก็เป็นคำถามที่ง่ายและบางคำถามก็เป็นคำถามที่ยาก  ดังนั้นผู้เรียนทุกคนควรจะได้รับโอกาสที่จะตอบคำถามอย่างถูกต้องตามระดับความสามารถของตนเอง 

 

                    6.  ถามคำถามเพียงคำถามเดียวในเวลาครั้งหนึ่งๆ   หากครูถามคำถามมากกว่า 1 หรือ 2 คำถามในห้วงเวลาเดียวกัน  ก็อาจมีโอกาสที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนเพราะคิดตามไม่ทัน  เพราะคำถามจำนวนมากจะทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาคิด  และเมื่อครูใช้คำถามจำนวนมาก  ผู้เรียนก็ไม่อาจแน่ใจว่าควรที่จะตอบคำถามใดก่อน

 

                    7.  หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ตอบได้เร็วมากเกินไป   คำถามที่ตอบได้เร็วในที่นี้ เช่น คำถามเติมคำ (กลอนสุภาพได้รับการพัฒนาอย่างมากในสมัยของสุนทร.......(ภู่-นักเรียนตอบพร้อมกัน))  หรือคำถามที่ลงท้ายว่า  “ใช่หรือไม่”  หรือ “ใช่ไหม” การใช้คำถามที่ดี  ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาเนื้อหาหรือสนทนากันก่อนในบางประเด็น  เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานก่อนการเริ่มรับชุดคำถามที่ต่อเนื่องของครู 

 

                    8.  ควรเว้นช่วงห่างระหว่างคำถามแต่ละคำถามประมาณ  3-5 วินาที เวลาดังกล่าวควรหยุดไว้สำหรับผู้เรียนที่ควรจะได้คิดหรือเรียบเรียงคำตอบของตนเอง

 

          ไม่มีวิธีใดที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีเท่ากับการใช้คำถามเพื่อพัฒนาการคิดของครู  นักเรียนจะเกิดความแจ่มแจ้งทางปัญญาได้ หาได้เกิดจากฟังข้อมูลที่ครูเล่า บอก อธิบาย เสนอ ฯลฯ แต่เพียงอย่างเดียวไม่ จำจะต้องอาศัยกลไกทางปัญญาในการวิเคราะห์ไตร่ตรองข้อมูลให้ถ้วนถี่  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการที่ครูใช้คำถามกระตุ้นให้คิด ถามให้วิเคราะห์หาเหตุผล  ถามความรู้สึก  ถามเพื่อวิพากษ์ ถามเพื่อวิจารณ์  เป็นต้น  ครูที่ไม่มีคำถามใดๆ เลยในการสอน หรือคิดว่าสิ่งที่ตนเองสอนไม่น่าจะเกิดปัญหาหรือคำถามใดๆ เลย  เขาเหล่านี้ย่อมนำพาผู้เรียนไปสู่ความจริงแท้ของการศึกษาได้ลำบากนัก 

____________________________________________

 


ประโยชน์ใดที่เกิดจากบทความนี้ ผู้เขียนขออุทิศเป็นกตัญญุตาแด่ตา-ยาย

ผู้ให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่าสิ่งอื่นใด

 

 

 

การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้เพื่อการใดๆ

ควรดำเนินการตามหลักจรรยาบรรณในการอ้างอิง





หมายเลขบันทึก: 492318เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ.เฉลิมลาภ ค่ะ ขออนุญาตินำบทความนี้ไปเผยแพร่ให้เพื่อนครูภาษาไทยในโรงเรียนนะคะ ดิฉันได้เข้าอบรมกับอาจารย์ มาแล้วในงาน EDUCA 2011 ค่ะ ระดับมัธยม แต่ก็ได้รับชม วิดีโอ ในระดับประถมด้วย อาจารย์ให้ความรู้ได้ดีมากช่วยเติมเต็มความรู้ให้มีความรู้มากขึ้น ปีนี้ EDUCA 2012 อาจารย์ได้เป็นวิทยากรอีกไหมค่ะ จะได้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมกับท่านอีกค่ะ ดิฉันขออนุญาตนำตัวอย่างที่อาจารย์นำเสนอไว้ ไปออกข้อสอบเพื่อดำเนินการติวเตรียมสอบ PISA 2012 นี้นะคะ ขอขอบพระคุณอย่างมากๆๆๆๆ

เรียน อ.อรพิน ครับ ผมยินดีทีที่จะให้อาจารย์นำบทความของผมไปใช้ประโยชน์ตามที่อาจารย์ประสงค์ครับ สำหรับในปีนี้ ผมไปเป็นวิทยากรในงาน EDUCA 2012 อีกเช่นเคยครับ ทั้งของกลุ่มประถมและมัธยม งานจะจัดในรายเดือนตุลาคมครับ ขอให้อาจารย์ติดตามการรับสมัครได้ที่ http://www.educathai.com/index.php นะครับ

แล้วพบกันครับ
เฉลิมลาภ ทองอาจ

ขออนุญาตนำบทความนี้ไปใช้ในการปฏิบัติการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนในโรง

เรียนเอกชน  ยังไม่เคยเข้าอบรมของท่านอาจารย์ อยากให้มีการจัดอบรมครูภาษาไทยแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบ้างค่ะ( นครราชสีมา  บุรีรัมย์  สุรินทร์ ชัยภูมิ )

ยินดีครับ อ.มะลิ หากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท