จิตตปัญญาเวชศึกษา 189: อภิชาตศิษย์ (11) ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน


ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน

กิจกรรม Health Promotion ของภาควิชาศัลยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สี่จะได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์คนไข้หอผู้ป่วยอุบัติเหตุ เพื่อค้นหาสาเหตุ ความหมาย ผลกระทบ และเพื่อนำมาหาทางที่จะเสริมพลังในการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตหลังจากออกจากโรงพยาบาล เป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพระดับปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ระดับชุมชน ซึ่งสิ่งที่นำมาทำ นำมาคิดนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเรา "รู้จัก" คนไข้ของเรานั้นมากน้อยเพียงไร

การนำเสนอในรายวิชานี้ จะอนุญาตให้นักศึกษาแพทย์ใช้วิธีอะไรก็ได้ในการเสนอ จะเล่นละครสด ถ่าย clip ทำ powerpoint ละครหุ่น ฯลฯ ก็ได้ แต่ให้ "นำเสนอชีวิต และความประทับใจในชีวิต" ออกมาให้เพื่อนๆฟัง และร่วมอภิปรายกัน

case ต่างด้าว

นางก้อย (นามสมมติ) เป็นชาวลาว มาอยู่กินกับสามีที่ภาคใต้มาหลายปี ไม่ได้กลับไปบ้านที่ลาวเลย ไม่มีญาติสนิท ไม่มีใครที่โน่น มาอยู่ที่นี่กับสามีและมีพ่อของเธออยู่ใกล้ๆด้วย สามีของเธอค่อนข้างเจ้าชู้ เลยมีเหตุทะเลาะกันเป็นประจำ วันหนึ่งทะเลาะกันหนัก เธอจึงเอาน้ำยาล้างห้องน้ำมาใส่แก้ววางไว้ที่ข้างเตียง ประชดว่าจะฆ่าตัวตาย แต่สามีก็ไม่ฟัง เดินออกจากบ้านไป ส่วนเธอก็หลับไปที่เตียง ตื่นขึ้นมาอารามลืม และกระหายน้ำ ก็หยิบแก้วข้างเตียงดื่มเอาน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นกรดรุนแรงเข้าไปครึ่งแก้ว พ่อต้องพามาส่งโรงพยาบาล

เนื่องจากกินเข้าไปเยอะ นางก้อยต้องผ่าตัดฉุกเฉิน ตัดเอาลำไส้และกระเพาะอาหารออกไปมากพอควร หลังผ่าตัดก็มีอาการหลอดอาหารตีบตัน กลืนน้ำลายไม่ได้ บางทีก็สำลักปอดอักเสบ ถึงตอนนี้การรักษาแบบไหนๆก็ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดที่จะการันตีว่าจะทำให้ดีขึ้นใกล้เคียงแบบเดิม ระหว่างที่รอไข้ให้ลง ก็มีทางเลือกในการแก้ไขการตีบตันหลายวิธี แต่ทุกวิธีก็เป็นผ่าตัดที่ค่อนข้างยุ่งยาก เช่น เอาลำไส้ใหญ่ไปเป็นหลอดอาหารแทน

แต่ปัญหาที่น้องนักเรียนแพทย์กลุ่มนี้นำเสนอ เป็นอีกมุมหนึ่ง

ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อนนั้น พุ่งขึ้นสูงได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งต้องผ่าตัดเร่งด่วน ยิ่งต้องใช้ ICU ยิ่งมีการติดเชื้อในโรงพยาบาล case นางก้อยก็เช่นกัน แต่มีภาวะพิเศษขึ้นมาอีกก็คือ นางก้อยไม่ใช่คนไทย และไม่มีสิทธิสามสิบบาท ไม่มีบัตรประชาชนไทย 

นักเรียนแพทย์ได้เห็นขั้นตอนพิเศษที่นอกเหนือจาก case ทั่วๆไป คือ การพยายามที่หาญาติ หาคนรู้จัก รวมไปถึงการติดต่อไปยังสถานทูต เพื่อ ค้นหาสิทธิ และการได้รับความช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่าย

และเมื่อขั้นตอนเหล่านี้เสร็จสิ้นไป เราไม่สามารถที่จะหาแหล่งที่มาของความช่วยเหลือได้ ก็เริ่มมีปัญหาว่าเราจะ discharge (จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล) หรือส่งไปรักษาต่อที่ไหน อย่างไรดี ดูๆแล้วครอบครัวที่นี่ก็ไม่มีเงิน และไม่มี contact ใดๆที่จะต่อยอดได้เลย

ปัญหาเหล่านี้ทำให้คนไข้ทุกข์ใจ และทำให้นักเรียนแพทย์กลุ่มนี้ทุกข์ใจด้วย เป็นปัญหาที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ไม่ได้อยู่ในตำรา textbook แต่อยู่ในหอผู้ป่วยจริงๆ

สมัยผมเรียนเป็นนักเรียนแพทย์ปีสี่ ไม่เคยคุยกันเรื่องเหล่านี้

อภิชาตศิษย์จริงๆ

หมายเลขบันทึก: 491574เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

และเมื่อขั้นตอนเหล่านี้เสร็จสิ้นไป เราไม่สามารถที่จะหาแหล่งที่มาของความช่วยเหลือได้ ก็เริ่มมีปัญหาว่าเราจะ discharge (จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล)หรือส่งไปรักษาต่อที่ไหน อย่างไรดี ดูๆแล้วครอบครัวที่นี่ก็ไม่มีเงิน และไม่มี contact ใดๆที่จะต่อยอดได้เลย

...

นี่คือภาพสะท้อนของจิตใจอันละเอียดอ่อนที่ยังเจ็บปวด ร้อนหนาวกับชะตากรรมของผู้คน ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันพึงประสงค์ในตัวนักศึกษาที่จะก้าวไปเป็นพลเมืองของชาติ

ในยามที่ผมมีบรรยายกับนักศึกษาแพทย์  ผมมักจะถามเขาว่าเขาเคยดูหนัง/ภาพยนตร์ไทยบ้างหรือไม่ (ผมเน้นภาพยนตร์ไทย เพราะส่วนใหญ่เชื่อว่าภาพยนตร์ต่างประเทศนั้นนักศึกษาดูกันเยอะอยู่แล้ว) เช่น  ในอดีตคือหมอกานต์  หรือล่าสุดแบบวัยรุ่นๆ "หมอเจ็บ"  เพราะตัวละครเอก เรียนเก่ง มีจิตสาธารณะ ...

ขอบพระคุณครับ

 

ขอบคุณครับ

ผมเชื่อว่า "การเห็น" เป็นขั้นตอนสำคัญมาก อาจจะสำคัญที่สุดก็เป็นได้ ขอให้เห็น (รับรู้) ต่อจากนั้น ผมเชื่อในเนื่อแท้ความเป็นมนุษย์ที่จะทำอะไรต่อไปจากสิ่งที่เขาเห็นนั้น ผมศรัทธาในตัวเขา

       ให้โจทย์ไปว่า "ค้นหาสาเหตุ ความหมาย ผลกระทบ และเพื่อนำมาหาทางที่จะเสริมพลังในการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตหลังจากออกจากโรงพยาบาล"

         แต่จากการไปศึกษา  กลับกลายเป็นไปได้โจทย์ใหม่มาอีก คือ  ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เป็นปัญหาที่ได้มาจากการสัมผัสกับประสบการณ์จริง   ชีวิตจริง

       ครับ  ประสบการณ์จริง  ได้อะไรมากมายเลยนะครับ   ที่ได้มากกว่าคำตอบ คือ  ได้ปัญหาใหม่   มานี่แหละครับ  สุดยอดเลยครับ

        อภิชาติศิษย์   แทนที่จะแค่หาคำตอบ  แต่กลับ ไปได้ปัญหามาใหม่ ออกนอกกรอบจากโจทย์ที่ให้ไป

         ต่อยอดความรู้ในห้อง  จากประสบการณ์จริง

 

   

ครับ อ.วิชชา

และขึ้นกับเราว่า เราจะตอบสนองเขาอย่างไร เราอาจจะดุเขา ว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการแพทย์เลยก็ได้ หรือเราจะต่อยอดประเด็นที่จุดประกายให้เขา ขึ้นกับว่า class นั้น "เพื่อใคร" เพื่อหลักสูตร เพื่อเรา หรือเพื่อนักเรียน

ได้มาอ่านแล้ว ทำให้ตระหนักคิดต่อไปว่า "การศึกษานี้เพื่อใคร?" 

คำตอบชัดเจนแล้วอยู่ในใจ

 

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท