วิชญธรรม
ผศ. ดร. สิริวิชญ์ เตชะเจษฎารังษี

ธรรมปฏิบัติ ศรัทรา กับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์


นอกเหตุ เหนือผล หลวงพ่อชา สุภัทโท

****ทุกเรื่องที่กล่าวเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้อ่านควรพิจารณาด้วยตนเองอย่างมีวิจารณญาณ****

เมื่อก่อนทุกครั้งเมื่อพูดถึง ศรัทราในครูบาอาจารย์ ในศาสนา หรือในการประสบพบเจอสิ่งต่างๆระหว่างการปฏิบัติธรรม ผมจะต้องนึกถึงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาหักล้าง มาช่วยอธิบาย ด้วยความที่ตนเองก็ทำงานบนพื้นฐานของหลักเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มาตลอด

เช่น เรื่องที่ผมเล่าในบันทึก ธรรมะ มหัศจรรย์ ส่วนหนึ่งผมก็จะหาเหตุผลมาบอกตัวเองว่า อื่ม....ตามหลักวิทยาศาสตร์มันก็มีโอกาสเป็นไปได้นะว่า บังเอิญ (chance) เหตุการณ์นั้นเกิดซ้ำ ความเชื่อมโยงของเนื้อหาในหนังสือทั้งสองเล่ม เราก็นำมาทึกทักเอาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งผมก็บอก อื่ม.....โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้มันก็น้อยมากๆเลยนะ (ก็คิดโต้แย้งกันไปในใจ...)

เช่น เหตุการณ์ในเช้าวันแรกที่ผมเคยได้ไปวัดทันจังหันครูบาอาจารย์ หมู่พระก็นั่งในศาลาฉัน ซึ่งเป็นห้องไม่ใหญ่มาก พอเฉพาะพระนั่ง มีผนังปูนกั้น ผมนั่งอยู่ด้านนอก  หลบๆอยู่หลังญาติโยมที่ผมใช้เป็นเกราะกำบัง ตามภาษาคนที่ไม่เคยมาวัดไม่รู้จะทำตัวอย่างไร การที่จะมองเห็นผมจากในห้องนั้นคงเป็นเรื่องยาก ขณะนั้นญาติโยมส่วนหนึ่งก็ทยอยนำอาหารมาประเคนเรื่อยๆ ตาผมก็เหลือบไปสังเกตเห็น จานในถาดนั้นอะไรหน้อ....เป็นเส้นๆ ถามตัวเองในใจว่าขนมจีนน้ำหรือหมี่กะทิหน้อ.... (สงสัยตอนนั้นจะมีอาการ น้ำลายไหลด้วย ) พออาหารทุกอย่างถูกประเคนเสร็จเราก็พากันรับพร กราบพระและลุกกลับ พอผมลงจากศาลาเท่านั้นแหละ โยมคนหนึ่งก็เรียก “ด็อกเตอร์ ผู้ใดครับ? หลวงปู่ให้เอามาให้ ” มาแล้วจานหมี่กะทิที่เราไปมองเมื่อกี้นี้เอง ในใจก็นึกว่า โอ้....เราบาปมั้ยหนอ ไปอยากกินอาหารพระ    กลับมาบ้านก็คิดว่า อื่ม.....ตามหลักวิทยาศาสตร์มันก็มีโอกาสเป็นไปได้นะว่า เหตุการณ์บังเอิญ (chance) เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ เราก็นำมาทึกทักเอาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งผมก็บอก อื่ม.....โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้มันก็น้อยมากๆเลยนะ (ก็คิดโต้แย้งกันไปในใจ...ต่อไป)

เช่น เหตุการณ์ในเช้าวันที่ผมตามครูบาอาจารย์ ไปปฏิบัติที่วัดสาขาอีกวัดหนึ่ง ขณะจังหัน (อีกแล้ว) ญาติโยมก็ประเคนอาหารให้พระเสร็จ เราก็รับพร กราบพระ แล้วก็พากันมาตักข้าวไปทาน ส่วนพระท่านก็ฉันอาหารไป ผมกับพี่ก็มานั่งหลบพระ (เช่นเคย) อยู่หลังตู้เย็นไกลออกมาระยะหนึ่ง พอที่พระท่านมองมาไม่เห็นแม้แต่หลังเรา พอเราทานอาหารไปประมาณครึ่งหนึ่ง พี่ผมก็ทักว่า  “อ้าว ไม่ได้ตักก๋วยจั๊บมากินหรือ?”  ผมตอบ  “ไม่เห็นตอนตักข้าว”  พี่ผมต่อ “แบ่งไปมั้ย?” “ไม่เป็นไร” ผมตอบ  เวลาผ่านไปประมาณไม่ถึง 5 นาที มาอีกแล้ว!!! ชามก๋วยจั๊บที่ประเคน ที่ยังไม่ถูกทาน  “ด็อกเตอร์ หลวงปู่ให้เอามาให้ ” ทั้งพี่และผมนั่งมองหน้ากันแล้วก็ได้แต่อมยิ้ม กับสิ่งที่เราคุยกัน …….. กลับมาบ้านก็คิดว่า อื่ม.....ตามหลักวิทยาศาสตร์มันก็มีโอกาสเป็นไปได้นะว่า เหตุการณ์บังเอิญ (chance) เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ เราก็นำมาทึกทักเอาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งผมก็บอก อื่ม.....โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้มันก็น้อยมากๆเลยนะ (ก็คิดโต้แย้งกันไปในใจ...ต่อไป....และต่อไป)

เช่น เหตุการณ์ในเช้า.... ผมสงสัยคงจะพอแล้วเรื่องอาหาร ยังมีเหตุการณ์ ไอศครีม ฯลฯ  

เช่น (เอาเรื่องอื่นบ้าง) เหตุการณ์หลังจากผมได้เริ่มมาปฏิบัติธรรมที่วัดได้ระยะหนึ่ง (แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้นมาไม่กี่เดือน ผมรู้สึกว่า นี้เป็นการปฏิบัติธรรมที่มีจุดมุ่งหมายมากขึ้น มีความตั้งใจจริงมากขึ้น และได้หลบความรู้สึกภายในใจเรื่องราวทั้ง สุขและทุกข์ได้ชั่วขณะ) ในช่วงนั้นผมมีความคิดติดอยู่ในใจเสมอเลยว่า ปฏิบัติให้เกิด “ปัญญา” เราก็ปฏิบัติมากฎระยะหนึ่งแล้ว แล้ว เจ้าตัว “ปัญญา”  มันคืออะไร จะดูตรงไหน ?  เช้าตรู่วันหนึ่ง เวลาประมาณ ตี 4 – ตี 5 ผมได้เข้าไปกราบหลวงปู่  มีญาติโยมนั่งอยู่ 1-2 สนทนากับท่านอยู่แล้ว เราก็นั่งฟัง ในใจก็นึกขึ้นมา (โดยไม่ได้ตั้งใจ จริงๆ) ว่า “ปัญญามันคืออะไร” ไม่ทันจะสิ้นคำถามนั้น ในทันที เสียงหลวงปู่ก็พูดว่า  ปัญญาคือ การรอบรู้ในกายของเรานี้แหละ”  หลวงปู่คุยกับญาติโยม แต่ผมได้คำตอบ …….. กลับมาบ้านก็คิดว่า อื่ม.....ตามหลักวิทยาศาสตร์มันก็มีโอกาสเป็นไปได้นะว่า เหตุการณ์บังเอิญ (chance) เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ เราก็นำมาทึกทักเอาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งผมก็บอก อื่ม.....โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นี้มันก็น้อยมากๆเลยนะ (ก็คิดโต้แย้งกันไปในใจ...ต่อไป....และต่อไป....และต่อไปเรื่อยๆ)

ผมกลับมาคิดใหม่ ผมจะไปหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายทำไมอีกต่อไป ในเมื่อเราเลือกจะมาปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิตใจของเรา เพื่อฝึกให้รู้จักการรักษา “สติ”  ฝึกให้รู้ทันอารมณ์ ฝึกให้พิจารณาสิ่งต่างๆด้วยหลักธรรมะ (ฝึกหัดนะครับ ไม่ใช่ผมทำได้แล้วนะครับ ยังอีกห่างไกล แต่จะพยายาม) และเมื่อเราเห็นว่าการมาปฏิบัติธรรมมีประโยชน์แล้วเราจะมานั่งถาม-ตอบตัวเองทำไมว่าเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ไหม? ใช้หลักการอะไรมาอธิบาย? ผลมันเป็นอย่างไร? เพราะคลื่นสมองคนเราทำให้เกิดสัญญาณ...... เอาหลักฟิสิกส์ หลักควอนตัมมาอธิบายซะมากมาย ทำไม? 

สำหรับผมความคิดโต้แย้งกันในใจคงจะพอแล้ว และเมื่อนึกถึงคำพูดหลวงปู่

“ด็อกเตอร์ มี ศรัทรา แล้วบ่?”

ก็ต้องตอบในใจว่า   “มีแล้วครับ” 

การอธิบายอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้ง สำหรับผมผู้ที่ยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มปากก็ขอยกเอาบทเทศนาของหลวงพ่อชา สุภัทโท มาอธิบายว่า การปฏิบัติธรรมนั้นบางครั้งเราต้องพิจารณาเรื่อง “นอกเหตุ เหนือผล”  กันให้ถ่องแท้

(Playlist : http://www.youtube.com/playlist?list=PL6FB5783270AF7D47
เสียงอ่านพระธรรมเทศนาพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) แห่งวัดหนองป่าพง
ให้เสียงโดย ธรรมสภา )   

 

 

 

 

 ------------------------------------------------------------------------------

 

ศรัทธา หมายถึงความเชื่อความเลื่อมใส ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีพลังของความเชื่อที่เข้มแข็งในการเชื่อและเลื่อมใสในพระธรรม [ อ. ศิริศักดิ์ G2K]

 อินทรีย์ 5 พละ 5 พูดถึงว่า

สัทธินทรีย์ คือความศรัทราเป็นใหญ่ในอารมณ์ เป็นศรัทราอันแรงกล้าในจิตใจ ซึ่งอกุศลไม่อาจทำให้ศรัทรานั้นเสื่อมคลายได้

สัทธาพละ ความเชื่อ เลื่อมใส ศรัทราที่เป็นกำลังให้อดทน และเอาชนะธรรมอันเป็นข้าศึกเช่น ตัณหา เป็นต้น [1]

[1] สติเป็นธรรมเอก พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

หมายเลขบันทึก: 491537เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี