สับสน


จิตคงจะดิ้นรนสุดฤทธิ์สุดเดช เหมือนวัว ควายที่กำลังถูกสนตะพาย

  ปราชญ์โบราณ ช่างกำหนดคำต่างๆนาๆไว้ดีแท้ แทบไม่ต้องถอดคำมาตีความหมายใหม่ ได้ยินปุ๊บ เห็นปุ๊บ ก็รู้ความในทันที คำหนึ่งที่ผู้เขียนได้ยินบ่อย และเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้หลายๆครั้งในชีวิตเรา "สับสน"

 นั่นไง หลายคนบอกเข้าใจๆ เป็นบ่อย อาการก็คือ จับต้นชนปลายไม่ถูก คิดไปโน่น กระโดดไปนี่  ตัดสินใจเด็ดขาดไม่ได้ มันไม่ชัด เอ้อ สับสน!

 สับ ก็แปลตรงๆตัวว่า หั่น หรือซอยถี่ๆ ให้ละเอียด อะไรก็ตามถ้าโดนสับก็ให้รู้ไว้เถอะว่า มันจะปนเป จับต้นชนปลายไม่ถูก ผสมผเส คละๆกันไป กองสิ่งของที่โดนสับมันจะเป็นเช่นนั้นแหละ ซึ่งก็คงไม่ผิดกับความคิดที่กำลังถูกสับๆ ก็ย่อมยุ่งเหยิง วุ่นวายเช่นเดียวกัน

 คำว่าสน ตามความหมายว่า ใช้ด้าย เชือก หรือไหม สอดเข้าไปในรูแคบๆ เช่น สนเข็ม สนตะพาย คือสอดเชือกเข้าไปช่องจมูกของวัวควาย มันเป็นความยากเข้าไปอีก รูเข็มเย็บผ้านั้น ใหญ่กว่าด้ายไม่ถึงเท่าตัว กว่าจะทำการสนด้ายเข้าไปให้ได้ ก็ใช้เวลากันพอสมควร ต้องจดจ่อ แผ่วเบา และอดทน บางครั้งก็พลาดแล้ว พลาดอีก ส่วนการสนจมูกวัว ควายนั้น เทียบกันแทบไม่ได้ ถึงความยุ่งยากที่มากกว่า เพราะจมูกควาย วัวนั้น จะถูกแทงให้ทะลุเป็นช่องเสียก่อน แล้วเอาเชือกร้อยเข้าไป เขาว่ากันว่า จมูกนี้มีประสาทสัมผัสมากมาย เป็นจุดเจ็บ และจุดอ่อนของวัว ควาย ถ้าจะให้เขายินยอมทำตามคำสั่งเรา ก็ต้องบังคับด้วยสายตะพายเช่นนี้แหละ นึกออกเลยว่า กว่าจะร้อยเชือกผ่านจมูกควายได้ ทั้งคน ทั้งสัตว์ คงต้องเหน็ดเหนื่อย ดิ้นรน บังคับกันจนอ่อนแรงไปนั่นแหละ

 ดังนั้นคำว่าสับสน จึงแสดงได้ว่ายุ่งยากน่าดู ไม่เป็นระเบียบปะปนกัน วุ่นวาย และทำให้เสียงานเสียการไปในที่สุด เมื่อใดที่เรามีความสับสนวุ่นวายใจ ให้เข้าใจเถอะว่า มันมีความอึดอัด คับข้อง มืดมน ลำบากที่จะหาจุดจบ หรือเห็นทางสว่างที่ถูกต้องได้ง่ายๆ จิตคงจะดิ้นรนสุดฤทธิ์สุดเดช เหมือนวัว ควายที่กำลังถูกสนตะพาย จนหมดแรงขัดขืน ยอมหลงไปตามแรงบังคับจากคนถือตะพายเอาไว้ ดวงใจในยามนั้น ก็คงแตกเป็นเสี่ยงๆ รวบรวมเป็นก้อน เป็นดวง ให้เกิดรูปลักษณ์ไม่ได้ น่าสงสารผู้ที่กำลังสับสนในเวลานั้น

   มองแล้วเหมือนว่าจะพลาดพลั้งเสียท่าก็คราวนี้ เพราะใจมันไม่ปกติเสียแล้ว ทำอย่างไรดีหนอ? ผู้เขียนขอตัวไปทบทวนหาวิธีการดูก่อนนะคะ เผื่อจะพอแก้ไขให้ผ่านความสับสนกันไปให้ได้ แต่ต้องบันทึกหน้านะคะ

สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 491310เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

เห็นภาพชัดเจนจากคำบรรยายค่ะ ....สับสน....

ขอเอาใจช่วยนะคะ จะรอติมตามบันทึกต่อไปค่ะ

สวัสดีค่ะคุณปริม ต้องขอขอบคุณทั้งดอกไม้กำลังใจและการให้ความสนใจในบันทึกนี้ ลองถอดบทเรียนจากความรู้สึกสับสนขอตัวเองเท่านั้นค่ะ จะได้เอามาอ่านเพื่อจัดการตัวเอง เพราะเวลาสับสน มันมืดมนไปหมดเลยค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะที่รอติตาม พรุ่งนี้เจอกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท