ปราชญ์ตีความเขียนคำนิยมหนังสือครูเพื่อศิษย์


 

         คณะสี่สหายนัดกินข้าวเที่ยงและคุยกันทุกๆ ๔ เดือนครั้งล่าสุดเรานัดกันวันที่ ๘ พ.ค. ๕๕ ที่ภัตตาคารอินเดียบนชั้น ๒๖ ของโรงแรมแรมแบรนด์สุขุมวิท ๑๘ ซึ่งอาหารอร่อยมากแต่ราคาสูงหน่อย

          ผมเอาหนังสือวิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ไปฝากสหายทั้งสาม

          วันที่ ๑๑ พ.ค.ผมก็ได้รับจดหมายลงวันที่ ๑๐ พ.ค.๕๕ จาก ศ. ดร.ฉัตรทิพย์นาถสุภาที่ผมยกย่องว่าเป็นปราชญ์ใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทยดังนี้

 

 

10 พ.ค. 2555

 

เรียนคุณหมอวิจารณ์ ที่เคารพรัก

 

          ผมได้อ่านหนังสือ “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21” อย่างเร็วๆ ข้ามๆ จบ   รู้สึกประทับใจที่คุณหมอสนใจเรื่องการศึกษา ครู-นักเรียน  วิธีการสอน-เรียน มากถึงขนาดนี้   หนังสือเล่มนี้ทำให้วิชาครุศาสตร์ซึ่งผมสนใจน้อยมาก กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และผมอ่านจนจบเล่ม

          คุณหมอซึ่งเคยประสบผลสำเร็จงดงามจากการกระตุ้นการวิจัยของประเทศชาติ   จากการจัดการความรู้   นี้เรื่องวิธีการเรียนการสอนและความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ อาจารย์กำลังเริ่มขบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   ผมขอเอาใจช่วยครับ

          ผมขีดเส้นไว้เมื่อผมอ่านตรงที่ชอบ   ผมชอบมากที่ให้ความสำคัญไปที่ศิษย์ มากกว่าที่วิชา (สาระ)   ศิษย์สำคัญกว่าเนื้อหาวิชา,  นักเรียนสมัยนี้มีอิสระ และต้องให้เขาเรียนด้วยความสนุก, ให้คิดนอกกรอบ   แต่ต้องเก่งความรู้ในกรอบก่อน   ไม่งั้นจะเป็นคิดเลื่อนลอย,  อย่าชมความสามารถ ให้ชมความมานะพยายาม,  คนเราจะคิดได้ลึกซึ้งหรือมีวิจารณญาณ ต้องมีความรู้มาก ที่เขาเรียกว่า มีต้นทุนความรู้ (background knowledge),  ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง นอกจากมีความรู้มากแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษในการดึงเอาความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ตามสถานการณ์,  ครูเปลี่ยนจากการบอกเนื้อหาสาระ มาเป็นทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความท้าทาย ความสนุก ในการเรียน ให้แก่ศิษย์,  ความสำคัญขององค์กร เคออร์ดิค  คือ สมาชิกมีเป้าหมายระดับความมุ่งมั่น (purpose) ชัดเจนร่วมกัน   แต่วิธีบรรลุความมุ่งมั่นทุกคนมีอิสระที่จะใช้ความสร้างสรรค์ของตน ที่จะปรึกษากัน แล้วเอาไปทดลอง   ควรจัดโรงเรียนแบบ เคออร์ดิค นี้ด้วย   ข้อนี้คุณหมอเขียนมานานแล้ว และผมชอบมาก,  ความเห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร หากร่วมกันทำเป้นใช้ได้,  ศิษย์ของเรา ไม่ใช่ศิษย์ของฉัน  ข้อนี้ชอบมาก  แต่คิดว่าปฏิบัติจริงยากหน่อย  

          ผมคิดว่า ผมเองจะลองเริ่มพยายามแน่วแน่ที่ปณิธานและเป้าหมาย แต่ยืดหยุ่นที่วิธีการ,  เรียนรู้จากการลงมือทำ  ข้อนี้เตือนใจผมดีมาก   และรู้สึกคุณหมอจะเน้นเรื่องนี้ตลอดเล่มนี้,  ไม่ยอมให้งานด่วนที่ไม่สำคัญเข้ามาครอบครองชีวิตเรา   ตัวเราเองต้องเป็นนายของเวลา สำหรับทำงานที่สำคัญ,  จำชื่อนักเรียนให้ได้,   ผมชื่นชอบข้อแนะนำเหล่านี้มากเป็นพิเศษ   ขอขอบคุณคุณหมอครับ

 

...........

ฉัตรทิพย์

 

 

          ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้ผมนำข้อความในจดหมายไปเผยแพร่ ผมจึงยกร่างบันทึกนี้ ส่งไปให้ท่านอ่านและให้ความเห็นชอบก่อน   ผมถือเป็นคำนิยมที่มีค่ายิ่ง ที่ช่วยย้ำประเด็นสำคัญให้แก่ผู้อ่าน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๕๕

 

รูปสี่สหาย

 

หมายเลขบันทึก: 491284เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนคุณหมอวิจารณ์ พานิช และ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ผมได้อ่านข้อความของท่าน ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ที่มีถึงท่าน ศ.วิจารณ์ ที่นำมาเผยแพร่ในบันทึก ถึือว่าเป็นข้อความที่มีค่าอย่างยิ่ง สมควรที่จะนำเผยแพร่เพื่อให้ความรู้กับคนไทยทั่วไปที่ใฝ่คว้าหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือศิษย์ แม้นกระทั่งผู้บริหารประเทศชาติ จึงขออนุญาตนำออกเผยแพร่ในเครือข่ายต่างๆที่ผมเข้าถึงด้วยครับ โดยไม่ได้รอการอนุญาตอย่างเป็นทางการจากท่าน เพราะแน่ใจว่าสิ่งที่นำเผยแพร่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถึงแม้นอาจจะตีความได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของท่านทั้งสอง แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่าท่านทั้งสอง ยินดีที่จะเผยแพร่ความรู้ที่ดีๆเหล่านี้ให้กับคนที่สนใจโดยทั่วไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ ด้วยความนับถือ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท