กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๖) : การเรียนรู้จากกลุ่มประสบการณ์



ก่อนเปิดภาคเรียน

วงประชุมขับเคลื่อนช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ ได้มาช่วยกันพิจารณาเรื่องโครงสร้างเวลาของการจัดทำกลุ่มประสบการณ์ที่เหมาะสมกับข้อจำกัดและทรัพยากรที่มีอยู่ สรุปได้ว่าช่วงชั้นที่ ๑ จัดกลุ่มประสบการณ์ทุกวันอังคาร และช่วงชั้นที่ ๒ จัดกลุ่มประสบการณ์ทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. เพื่อให้เด็กที่สนใจเข้ามาเป็นสมาชิกได้มีเวลาจดจ่อต่อเนื่องกับงานที่เขาเลือกอย่างจริงจังได้มากขึ้น

 

กลุ่มประสบการณ์ที่เปิดให้นักเรียนได้มาเรียนรู้ในภาคฉันทะ – วิริยะ ของช่วงชั้นที่ ๑ คือกลุ่มกีฬา(รักบี้ฟุตบอล)  กลุ่มโยคะ  กลุ่มวาดสีน้ำ  กลุ่มละคร  กลุ่มนาฏศิลป์ - โขน  กลุ่มแกะสลักผักผลไม้  กลุ่มดอกไม้ใบตอง  กลุ่มลายไทย  กลุ่มดนตรีไทย กลุ่มขนมไทย  กลุ่มทำอาหาร กลุ่มสวนแนวตั้ง กลุ่มของเล่นวิทยาศาสตร์ 

 

กลุ่มประสบการณ์ของช่วงชั้นที่ ๒ คือ กลุ่มกีฬา  กลุ่มโยคะ  กลุ่มศิลปะบำบัด  กลุ่ม Creative movement  กลุ่มคอรัสและการรวมวง  กลุ่มโขน กลุ่มแกะสลักผักผลไม้  กลุ่มดอกไม้ใบตอง  กลุ่มโครเชต์  กลุ่มงาน Recycle  กลุ่ม Micro world (คอมพิวเตอร์) กลุ่มส่งเสริมวิชาการ  

 

ผลลัพธ์ที่แตกต่าง


คณะวิทยากรที่เข้ามาช่วยดำเนินการเรียนรู้ มีทั้งที่เป็นผู้ปกครอง คุณครู และวิทยากรจากภายนอก เท่าที่ผ่านประสบการณ์กันมา ๒ สัปดาห์สรุปได้ว่าสนุกกันทั้งผู้สอน และผู้เรียน เพราะทุกคนมารวมตัวกันทำภารกิจนี้ด้วยฉันทะ

 

คุณครูทั้งสองช่วงชั้นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กๆ ดูตั้งใจกว่าในคาบเรียนปกติ และดูแลตัวเองได้ดีกว่าที่เคย เมื่อคุณครูชวนคุยเรื่องการทำงานในแต่ละครั้งก็รับโจทย์ไปคิดและทำต่อได้ไว ทั้งยังคิดต่อยอดจากที่ครูให้ทักษะไว้ไปได้อีก

 

เมื่อคราวประชุมครูที่สอนนักเรียนในระดับชั้น ๒  ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มประสบการณ์  ดิฉันชวนคุณครูมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่า “การเรียนรู้ของนักเรียนในชั้นเรียนปกติกับชั้นเรียนของกลุ่มประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากฉันทะของผู้เรียนมีความแตกต่างกันอย่างไร”

 

กลุ่มงาน Recycle มีคุณครูสาวเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ทำสิ่งประดิษฐ์จากเศษวัสดุของนักเรียนช่วงชั้นที่ ๒  พบว่านักเรียนชั้น ๔  มีความตั้งใจและจดจ่อกับการทำงานที่ใช้เวลายาวนาน ( ๒ ชั่วโมงครึ่ง) ได้ตลอด  นักเรียนแต่ละคนมีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน  และเห็นว่านักเรียนมีกระบวนการคิดในการทำงาน   เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากเพื่อนด้วย ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  นักเรียนภูมิใจในผลงานและมีความสุขในการทำงาน  

 

โจทย์สำหรับการทำงานครั้งนี้คือ ให้นำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำสิ่งของที่เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยให้นักเรียนจินตนาการถึงสิ่งที่จะทำ  พร้อมทั้งคิดวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้โดยที่ที่บ้านของนักเรียนมี   นักเรียนสร้างและคิดทำผลงานได้อย่างหลากหลาย  เช่น โคมไฟ  การนำกระป๋องสีมาทำขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ เป็นต้น


กลุ่มสวนแนวตั้ง  มีคุณครูเต่าเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ  คุณครูมินท์เล่าว่าคุณครูเต่าให้นักเรียนออกแบบการแขวนขวดพลาสติก และการประดิษฐ์รูปทรงจากรูปทรงเดิมของขวด เพื่อทำสวนในขวดที่แขวนเอาไว้ริมรั้ว  เห็นได้ชัดว่านักเรียนอยากทำและมีความกระตือรือร้นที่จะทำด้วยตัวเอง  โดยที่ครูไม่ต้องตามงานเลย 

 

นอกจากนี้นักเรียนยังสนุกกับการคิดต่าง และพยายามทำให้สิ่งที่ตนคิดเป็นความจริงขึ้นมา และสามารถคิดแก้ปัญหาจนงานสำเร็จลงได้ แม้หมดเวลาแล้วนักเรียนก็ยังไม่หมดฉันทะ ทำงานของตนต่อจนกระทั่ง ๑๘.๐๐ น.


กลุ่มโยคะ มีคุณครูนิดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ  คุณครูงิ้มเล่าว่านักเรียนกระตือรือร้นในการเรียนดีกว่าในชั้นเรียนปกติ  และรู้สึกทึ่งที่ได้พบว่าเด็กบางคนที่ไม่ค่อยเรียนในชั่วโมง ESLที่ครูงิ้มสอน สามารถทำท่าโยคะได้อย่างสวยงามและมีสมาธิ เห็นได้ชัดว่านักเรียนได้ฝึกทั้งเรื่องของสมาธิ และการรอคอย


กลุ่มของเล่นวิทยาศาสตร์   แม้ว่านักเรียนจะใช้เวลาในการสร้างภาวะความพร้อมค่อนข้างนาน เนื่องจากมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ก็ยังพบว่านักเรียนยังมีระเบียบวินัย และรอคอย ทำตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีการถามซ้ำ ใช้กล้ามเนื้อมือได้ดี  มีความตั้งใจในการทำงาน ทำให้คุณครูมองอุปนิสัยการทำงานของเด็กแต่ละคนได้อย่างชัดเจน

 

คุณครูประจำชั้นที่เข้าร่วมกลุ่มประสบการณ์ต่างๆ ให้ข้อสังเกตว่า  นักเรียนมีอาการตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำด้วยตนเอง  นักเรียนมีความอดทนรอคอยในสิ่งที่ครูบอก  และสามารถทำตามขั้นตอนได้ด้วยตนเอง  ดูแลรับผิดชอบในส่วนของตนเองได้ดี

 

นักเรียนชั้น ๑ สามารถระงับจิตใจในการทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ได้  นักเรียนชั้น ๒ สามารถนำอุปกรณ์มาได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องเตือน นักเรียนชั้น ๓ สามารถแนะนำน้องเล็กๆได้  นักเรียนมีการช่วยเหลือกันในการทำความสะอาดอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ อย่างเต็มใจโดยไม่มีการเกี่ยงกัน

 

ปัจจัยความสำเร็จที่เห็นชัด

  • ผู้เรียนเป็นผู้สร้างกระบวนการทำงานของตนเอง 
  • ผู้เรียนมีกระบวนการคิดที่ดีพอที่จะคิดและทำในสิ่งที่ตนคิดได้ 
  • ผู้เรียนมีความเป็นเจ้าของงาน
  • ผู้เรียนได้นำฉันทะและศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่

 

 


หมายเลขบันทึก: 491090เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องเล่าวิธีสร้างฉันทะในการเรียนที่ยอดเยี่ยมครับ วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท