ธรรมเทศนา "พูดน้อย กำลังใจมาก" :: สวนโมกข์


พูดน้อย กำลังใจมาก

บังเอิญว่า ครั้งก่อนดิฉันได้ไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ จ.สุราษฯ มา และได้รับหนังสือจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านได้ให้ไว้เพื่อนำมาเผยแพร่ต่อ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ดิฉันจึงขอนำเนื้อความจากหนังสือเล่มนั้นมาลงไว้ในที่นี้ ก็แล้วกันนะคะ ..


คำปรารภ

 เนื่องในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เป็นปีแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับวันเกิด  จากท่านอาจารย์พุทธทาส  โดยผ่านทางเครื่องบันทึกเสียง  ที่ท่านได้บรรยายในวันล้ออายุตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เป็นต้น

 จึงได้สนใจมาก  พยายามทกลองตามความสามารถ  ตามกำลังสติปัญญาที่มีน้อย  คือ ลองปฏิบัติตามที่ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่างด้วยการอดอาหาร ๑ วัน เมื่อถึงวันเกิดของท่านอาจารย์  และวันเกิดของตนเอง  เพื่อจะได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาแล้วเกี่ยวกับบิดามารดาทั้งโดยทางกายและใจ

ทำให้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้ามากขึ้น  เพราะได้ฟังการบรรยายจากท่านอาจารย์  มีความเห็นว่า  ธรรมะที่พระพุทธองค์แสดงไว้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์จริง  คือ  ดับความทุกข์ได้จริง  ตามสัดส่วนของการปฏิบัติตาม

แม้จะทำไม่ได้ทั้งหมด  ก็ยังดีกว่าไม่เคยลองทำตามดู  และโดยเฉพาะคนสมัยนี้ถ้าเป็นผู้หลงวัตถุนิยมจัด  มักจะไม่เคยเชื่อ  ถึงเชื่อก็ไม่กล้าทำตาม  ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะกล้าทำตาม  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลเต็มที่  เหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลายในอดีตได้รับ

ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า  ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ท่านอาจารย์นำมาปฏิบัติ  จนได้รับผลของการปฏิบัตินั้นเป็นหลักฐานประจักษ์พยานไม่มีวันหมดสิ้น  เพื่ออนุชนได้ศึกษา  และปฏิบัติสืบต่อๆกันไป  ให้ได้รับผล  คือ  กิเลสลดลง  ความเห็นแก่ตัวลดลง  แต่เห็นแก่ความเป็นจริง  ความถูกต้องมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้   เมื่อถึงเวลาที่สมมติว่าวันเกิดตามประเพณี  ตามลัทธิ  ตามธรรมเนียม  ทั้งการเกิดโดยภาษาคน-ภาษาธรรม  หรือความเชื่ออย่างคนที่ยังอยู่ในโลก  หรือเหนือโลกไปแล้วก็ตามก็มีการแสดงออกมาให้เพื่อนด้วยกัน  ให้ได้รับประโยชน์  ตามสมควรแก่ฐานะแห่งตนๆ  แล้วแต่ความรู้  ความสามารถที่มีอย่างไร

บางคนก็ทำบุญให้ทาน  รักษาศีล  ปฏิบัติสมาธิภาวนา  หรือบำเพ็ญกุศลสาธารณะอื่นๆ  ที่ทำไปแล้วรู้สึกสบายใจดี ที่ได้กระทำสิ่งที่ควรทำ

ส่วนข้าพเจ้านั้น  รู้สึกพอใจ  สบายใจ  ที่ได้ทำสิ่งที่ตนเองพอที่จะทำได้  คือ  ได้นำพระธรรมเทศนาในพรรษา  ๒๕๐๖ ปีเดียวกันที่ข้าพเจ้าเกิดมาในโลกนี้กับเขาด้วยคนหนึ่ง  ได้นำมาคัดลอก หรือถอดจากเทปเขียนเป็นตัวหนังสือ  ดังที่ปรากฏอยู่นี้  ใช้เวลาประมาณ ๕ วัน ถ้านับเป็นชั่วโมงก็ประมาณ ๓๐ ชั่วโมงที่นั่งถอกเทป

ด้วยความต้องการช่วยให้คำสอนที่มีเหตุผล  นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อขจัดเสียซึ่งอหังการ มมังการนี้ให้เพื่อนร่วมโลกได้อ่านได้ฟังมากขึ้น  หรือสะดวกขึ้น  ช่วยกันเผยแผ่พระธรรมนั้นเอง

        คนเราอยู่ด้วยกันมากๆจำเป็นต้องอาศัยการพูดจาติดต่อกันเป็นประจำ  จึงต้องรู้จักบังคับหรือควบคุมคำพูดให้น้อยลง  หรือเท่าที่จำเป็นจริงๆ  ปัญหาที่เกี่ยวกับการขัดแย้งกันจะลดน้อยลง      เพราะมีแต่คนพูดถูกต้องตามหน้าที่การงานของตน

        เป็นการอยู่กับพระนิพพานน้อยๆ  เพราะเมื่อเวลาที่อยู่นิ่งๆทำให้จิตมองเห็นอะไรได้ลึกซึ้งกว่าจิตที่กำลังวุ่น  หรือกายที่กำลังเคลื่อนไหว

        ดังนั้นท่านอาจารย์จึงเทศน์ว่า “การพูดน้อยทำให้มีกำลังกาย  และกำลังใจมาก”  ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรสนใจ  และพยายามทำดูถึงแม้ว่าค่อนข้างจะทำได้อยาก  ถ้าทำได้จะมีประโยชน์แก่ตนเองมาก  แล้วยังจะเผื่อแผ่อานิสงส์นี้ให้แก่คนรอบข้างด้วย

        เพราะฉะนั้น  จึงได้มอบธรรมะนี้เป็นที่ระลึกถึงพระคุณของท่านทั้งหลายที่มีต่อข้าพเจ้า  เนื่องในวาระครบรอบ  ๔๘ ปี

        ขอยืมคำพูดของท่านอาจารย์มากล่าวต่อว่า “เมื่อได้รับมาแล้วกรุณาอ่านอย่างน้อย ๑๐ เที่ยว”  “เมื่อเข้าใจแล้วก็พยายามปฏิบัติตามทีละนิด”  “ขอรับรองว่าได้ผลคุ้มค่า  มากกว่าอ่านลวก”ดังนี้

        ด้วยธรรมะ  พร  และเมตตา  อย่างสุดชีวิตจิตใจแก่ท่านทั้งหลาย  ตลอดกาลนาน

                                                                        ทฺวี  จนฺทสโร

มหมนกายพลขุทฺทกกถา

(พูดน้อย  กำลังกาย-กำลังใจมาก)

พุทธทาสภิกขุ

พระรรมเทศนาในพรรษา

๗  กรกฎาคม  ๒๕๐๖

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ

        ณ  บัดนี้  จะได้สัชนา  พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา  ส่งเสริมศรัทธา  ความเชื่อ  และวิริยะ  ความพากเพียร  ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท  ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนา  ของสมเด็จพระบรมศาสดา  อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา

        ธรรมเทศนาในวันนี้  นับว่าเป็นธรรมเทศนาพิเศษ  เนื่องในวันเข้าพรรษาท่านสาธุชนทั้งหลาย  ได้มีจิตศรัทธาตั้งใจจะบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ  ตลอกอภิลักขิตสมัยเช่นนี้  นับว่าเป็นการกระทำที่ดี  สมตามที่เป็นพุทธบริษัทผู้หวังประโยชน์ก้าวหน้าในทางที่จะดับทุกข์แห่งตน  ตามความสามารถของตน

        การกระทำที่ประกอบไปด้วยความไม่ประมาทเช่นนี้  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ  บัณฑิตทั้งหลายก็สรรเสริญบุคคลผู้มีความประมาทนั้น  หมายความว่า  ย่อมไม่รู้ตามที่เป็นจริงว่าตนควรจะทำอย่างไร  แม้ในกรณีที่เกี่ยวกับตนเอง

        นี้เรียกว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมมีอวิชชาในข้อที่ว่า  ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร  เป็นอันว่าปล่อยไปตามแต่อารมณ์ของตนจะปรารถนา

        ถ้าหากว่าได้รับการอบรมมา  ในทางที่จะให้ลุ่มหลง   ตามประสาชาวโลกแล้วก็มีความรู้สึกแต่ว่า  เกิดมาเพื่อหาทรัพย์สมบัติใช้จ่ายบำรุงบำเรอร่างกาย  หรือความสุขทางวัตถุของตนเอง  ของบุตรภรรยาลูกหลานสืบกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

        นี้เรียกว่า  เกิดมาเพียงสักแต่ว่ากินๆ นอนๆ เหมือนกับสัตว์ทั่วไปไม่มีอะไรแตกต่างจากสามัญสัตว์  แม้ที่สุดแต่ที่เรียกว่า  สัตว์เดรัจฉานทั่วไป

        รู้จักการแสวงหาอาหาร  รู้จักประกอบกรรม  ที่เรียกว่า  เมถุนธรรม  รู้จักขี้ขลาดและหนี้ภัย  รู้จักแสวงหาความสุข  จากการพักผ่อนหลับนอน  ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้

        ท่านถือว่านี้ไม่ทำความผิดแปลกแตกต่าง  ระหว่างคนกับสัตว์ได้เลย

        แต่ว่า  ธรรมะ  อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำความผิดแปลกแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์  เพราะฉะนั้น  มนุษย์ที่จะมีความเป็นมนุษย์ที่ผิดแปลกแตกต่างจากสัตว์  ก็ตรงที่มีธรรมะของมนุษย์

        สิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น  เป็นคำกลางๆกว้างขวางทั่วไปหมด  คือ  สัตว์ชนิดไหนมีหน้าที่  ที่จะต้องทำอะไร  และก็ทำหน้าที่นั้นอยู่แล้ว  ก็เรียกว่ามีธรรมะตามแบบของตน  แม้ที่สุดแต่คนพาลก็มีหน้าที่ของตน  พวกโจรก็มีหน้าที่ของตน  ประพฤติหน้าที่ของตน  ก็ชื่อว่าประพฤติธรรมะของคนพาล  หรือประพฤติธรรมะของพวกโจร  ดังนี้เป็นต้น  แล้วก็มีผลโดยสมควรแก่การประพฤตินั้นๆ

        ส่วนมนุษย์นั้น  มีความหมายว่า  มีจิตใจสูง   ประกอบไปด้วยความสะอาด  สว่าง  สงบ  ตามสมควรแก่อัตตภาพของตน  แม้ว่าจะไม่ถึงที่สุด  ก็ต้องมีโดยสมควร  แก่สภาวะของตนๆ  จึงจะเรียกว่า  มีความเป็นมนุษยธรรมที่แท้จริงที่ถูกต้อง  มีใจสูงพอที่จะไม่ประพฤติหรือกระทำ  ในทางต่ำและมีใจสูงพอที่ความทุกข์หรือกิเลสจะไม่ครอบงำมากเกินไป

        อย่างนี้เรียกว่า  อยู่ในระดับที่จะเรียกว่ามนุษย์ได้  เป็นการปลอดภัยชั้นหนึ่งก่อน  คือไม่ต้องเหมือนกับสัตว์

เมื่ออยู่ในระดับมนุษย์ธรรมดาสามัญแล้ว ถ้ามีบุญมากกว่านั้น มีสติปัญญามากกว่านั้นก็รู้จักประพฤติปฏิบัติให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่ามนุษย์ธรรมดาคือ สามารถที่จะดับกิเลสหรือความทุกข์ได้มากกว่าคนธรรมดานี้เรียกว่าเป็นพระอริยเจ้าขึ้นใดขั้นหนึ่งจนกระทั่งดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ดับกิเลสได้สิ้นเชิง ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น คำว่าพระอรหันต์จึงมีคำแปลว่า เป็นมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยม คือมีความเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม ไม่บกพร่อง คือถึงจุดสุดยอดของความเป็นมนุษย์นั่นเอง

บางทีก็เรียกว่าเป็นผู้ควร แปลว่าสมควรแล้วแก่ความเป็นมนุษย์ที่ใครๆจะต้องยกย่อง เคารพบูชา เพราะว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมนั่นเอง หรือเรียกว่าเป็นผู้หักวงกลม หรือวงล้อของสังสารวัฏได้แล้ว คือไม่มีกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม ที่จะต้องเป็นไปตามผลของกรรมอีกต่อไปนี้เรียกว่า เป็นผู้หักวงล้อของความทุกข์ได้แล้วก็มีความหมายอยู่ที่ว่าถึงความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์นั่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าใครๆจะเหลือบตามองดูให้ตลอดสายก็จะเกิดความเห็นแจ้งได้ตามลำพังตนว่า สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์กับมนุษย์นั้นแตกต่างกันอย่างไร และว่าสภาพของความเป็นมนุษย์ทั้งหมดนั้นก็ยังมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันอยู่อย่างไร คือใครมีจิตใจสูงมากน้อยเท่าไรนั่นเอง

ผู้ที่ประกอบอยู่ด้วยความหลงก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ คิดแต่เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องเงินเรื่องทองอย่างเดียว ทุกวันทุกคืนก็มีพูดถึงกันแต่เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องบุตร ภรรยา สามี เป็นต้น

มีภาระหน้าที่ มีการงานที่ทำให้กลัดกลุ้มจนกระทั่งว่ากลางคืนนั้นเหมือนกับอัดควันและกลางวันก็ลุกเป็นไฟ ก้นไม่ติดพื้น อย่างนี้แล้วจะอาเวลาที่ไหนมาคิดมานึกว่า มนุษย์นี้เป็นอย่างไร มนุษย์นี้เกิดมาทำไม นี่เรียกว่าปล่อยไปตามอารมณ์ ซึ่งที่แท้ก็คือ การปล่อยไปตามอำนาจ ของอวิชชาหรือกิเลสตัณหา ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ไม่รู้สูงไม่รู้ต่ำ ไม่รู้อะไรทั้งหมด รู้แต่เพียงว่าจะแสวงหาสิ่งที่ตนพอใจ รักใคร่เท่านั้นเอง

การเป็นอย่างนี้บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน กล่าวไว้ว่าเป็นชีวิตที่เป็นหมัน หมายความว่าไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ได้แต่ในระดับที่สัตว์ แม้สัตว์เดรัจฉานก็ได้ คือรู้จักทำมาหากินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ เพื่อการประกอบตามอารมณ์ที่ใคร่ของตนเองจนกว่าจะตายไปเท่านั้น ส่วนที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นอยู่ที่ตรงไหนก็ไม่เคยประสีประสา ไม่เคยคิดเคยนึก ไม่เคยรู้สึก ไม่เคยฝันถึง นี้ก็เรียกว่ารู้จักแต่ในฝ่ายวัตถุธรรม เป็นผู้หลงใหลอยู่แต่ในฝ่ายวัตถุธรรมจึงมีอาการเหมือนกับสัตว์ดังที่กล่าวแล้ว

ถ้าเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ตามความหมายของคำว่ามนุษย์ก็จะต้องมีจิตใจที่สูงกว่านั้น คือมีความรู้ทิศเหนือ ทิศใต้ มีความรู้เรื่องสูงต่ำ มีความรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร มีความรู้ถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั่นเอง  ดังนั้นจึงมีเรื่องทางจิตใจเข้ามาอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นของละเอียด มองไม่เห็นตัว ลึกซึ้งกว่าธรรมดา อาศัยความไม่ประมาทแล้วศึกษาใคร่ครวญ ไต่ถาม มาคิดมานึก มาสังเกตอยู่ทุกวันทุกคืน จนได้พบความจริงที่สูงขึ้นไป ว่ามนุษย์นั้นควรจะได้อะไรจึงจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา  มนุษย์ทั่วไปที่ไม่พบพระพุทธศาสนา เขาก็ยังมีหลักเกณฑ์ที่จะทำอะไรให้ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานอยู่นั่นเอง ซึ่งกล่าวได้ว่าแม้ศาสนาอื่นๆทุกศาสนาในโลก ก็ยังมีการอบรมสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติที่ให้มนุษย์มีคุณธรรมสูงขึ้นไปกว่าระดับธรรมดาด้วยกันทั้งนั้น  ส่วนมนุษย์ที่ได้พบพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธศาสนามีความมุ่งหมายเป็นพิเศษที่จะให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อเอาชนะความทุกข์ให้ถึงที่สุดทีเดียว

เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทิ้งโลกนี้ไปหรือออกจากครอบครัวไปบวชเป็นนักบวชด้วยกันทั้งหมด แต่หมายความว่าให้รู้จักเอาชนะกิเลสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เรียกว่าเอาชนะกิเลสให้ได้ ก็คือเอาชนะโลกได้นั่นเอง ไม่ต้องหนีโลกแต่ให้เอาชนะโลกให้ได้แล้วก็อยู่ในโลกด้วยชัยชนะ นี้เรียกว่ามีธรรมะ หรือว่า สิ่งที่เรียกกันว่าโลกๆนั้นหมดไปกลายเป็นธรรมะ มีอำนาจเหนือโลก มีชัยชนะเหนือโลก บุคคลนั้นมีร่างกายอยู่ในโลก แต่ว่ามีจิตใจชนะโลก อยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง จึงรู้จักจัด รู้จักทำทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่ากิจการงานใดๆ ส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ตาม ในลักษณะที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย เป็นผู้มีความสะอาด สว่าง สงบเพิ่มมากขึ้น หมายความว่ามีความสดใส สงบเย็นมากขึ้น มีความเป็นหนุ่ม คือความสดชื่นยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักตายด้วยอำนาจของธรรมะนั่นเอง  เพราะว่าความเป็นหนุ่มในที่นี้ หมายความว่ายิ่งสดชื่นยิ่งขึ้นเท่าๆกับที่ร่างกาย ยิ่งแก่ชราลงแต่จิตใจนั้นยิ่งสดชื่นแจ่มใส สงบเย็นยิ่งขึ้น เพราะอำนาจของธรรมะนั้น จนกระทั่งไม่รู้จักความแก่หรือความตาย เพราะอำนาจของการที่เข้าใจธรรมะถึงที่สุดนั่นเอง

นี่แหละ ลองคิดดูเถิดว่าความเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ดีสักเท่าไหร่ เป็นสิ่งที่มีโชคดีสักเท่าไหร่ หรือว่าเป็นการได้เปรียบคนเหล่าอื่นหรือพวกอื่นสักเท่าไหร่

ถ้าผู้ใดไม่มีความรู้สึกข้อนี้ ก็เรียกว่าผู้นั้นกำลังหลับหูหลับตา จมอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ ดังที่กล่าวแล้ว หรือเรียกว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ โดยไม่ต้องกล่าวว่า เสียทีที่ได้พบพระพุทธศาสนา เพราะว่าเมื่อเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ย่อมไม่รู้จักพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทเมื่อระลึกนึกถึงข้อที่ว่าเราจะต้องไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องขะมักเขม้น ในการปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมัยที่เรียกกันว่าเข้าพรรษานี้ ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็คือ หยุดอยู่ในลักษณะพิเศษตลอดกาลฤดูฝน คำนี้เป็นคำใช้ในวงของภิกษุสงฆ์มาก่อน แต่แล้วก็มาเกี่ยวเนื่องกัน ถึงกับสภาพความเป็นอยู่ของคฤหัสถ์ผู้นับถือพระพุทธศาสนาพลอยเนื่องด้วยกิจกรรมของการเข้าพรรษาไปด้วย โดยที่แท้นั้นมุ่งหมายถึงภิกษุสงฆ์ในข้อที่ว่าพระภิกษุสงฆ์เมื่อถึงฤดูฝนแล้วไม่จาริกไปในที่ใดเพราะไม่สะดวกโดยประการทั้งปวง ก็ยังจะเป็นอันตรายหรือเป็นทางเสียหายได้มากกว่าที่จะเป็นผล บรรพชิตทุกพวก ทุกหมู่ ทุกคณะ ทุกนิกายจึงมีการหยุดจาริกในพรรษาไม่เฉพาะแต่ภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า บรรพชิตจะหยุดจาริกในพรรษา ไม่มีการจาริกไปในที่ใด อยู่ประจำถิ่น กว่าจะสิ้นกาลฝน สิ้นฤดู แต่ว่าเมื่อไม่มีการจาริกไปในที่ใดย่อมไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ เรื่องกลับกลายเป็นว่า มีความตั้งใจ ที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีเป็นพิเศษและสิ่งนั้นก็คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อเอาชนะความทุกข์นั่นเอง เป็นโอกาสที่จะศึกษากันเป็นพิเศษ เป็นโอกาสที่จะปฏิบัติกันเป็นพิเศษ เป็นโอกาสที่จะสั่งสอนซึ่งกันและกันเป็นพิเศษ นี้เรียกว่าการเข้าพรรษานั้นไม่ได้อยู่เฉยๆเพราะว่าฝนตกไปไหนไม่ได้ แต่ว่ากลับตั้งใจกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดียิ่งกว่าที่จะจาริกเสียอีก เกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นว่ามีการศึกษาเต็มที่ ดังที่พวกเราก็เห็นๆกันอยู่ แม้พวกฆราวาสที่บ้าน ที่อยู่ที่บ้านก็อย่างเดียวกัน ถ้าตั้งใจจะได้รับประโยชน์อานิสงส์ในข้อนี้ตามระเบียบ หรือตามประเพณีของพุทธบริษัทแล้ว ตลอดเวลา ๓ เดือนฤดูฝนนี้ ควรจะตั้งใจหรืออธิษฐานใจ ในการที่จะศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติธรรมะ หรือช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากเป็นพิเศษ ที่จริงเวลาอื่นก็ทำได้ แต่เมื่อประเพณีมีว่าอย่างนี้ หรือธรรมชาติก็อำนวยให้เพื่อความเป็นอย่างนี้

เราก็ถือเอาโอกาสของการจำพรรษานี้กระทำกิจอันนี้ให้สมบูรณ์เพราะว่ามันเนื่องกัน หรือเมื่อทางวัด หรือทางภิกษุสงฆ์กระทำเต็มที่ ทางฆราวาสก็พลอยถือโอกาสบำเพ็ญให้เต็มที่ด้วยจนตลอดพรรษานั้น หรือความสะดวกก็อำนวยให้ คือว่าภิกษุสงฆ์ไม่จาริกแล้วก็มีจำนวนมากพอที่จะประกอบบำเพ็ญกุศลได้ดีเต็มที่กว่าเวลาที่เที่ยวจาริกกัน

สิ่งต่างๆสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้จึงเป็นเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่เราจะทำอะไรให้ดีที่สุดในกาลเข้าพรรษาจนตลอดฤดูฝน บางคนทำอะไรไม่ได้มาก แต่อธิษฐานว่าในพรรษานี้จะละสิ่งที่ควรละ เช่นละจากสุรายาเมา หรือละจากสิ่งที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติบางอย่างจนตลอดพรรษาให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ อย่างนี้ก็ยังดีกว่าที่จะไม่ตั้งใจอย่างนี้ หมายความว่าตลอดกาลพรรษานี้ทุกคนจะอธิษฐานใจดำรงตนอยู่ในฐานะที่จะเป็นบุคคลที่ดีเป็นพิเศษกว่าเวลาอื่น เป็นการเขยิบ ก้าวหน้าไป ไม่มีหยุดหย่อนนั่นเอง ถือเอาโอกาสของการเข้าพรรษานี้ทำความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งให้มากกว่าปีที่แล้วมา จึงหวังว่าท่านทั้งหลายทุกคน จะได้เตรียมตนสำหรับความเป็นอย่างนี้ คือว่าตลอดเวลา ๓ เดือนนี้จะเพิ่มบทเรียนอะไรที่ยากหรือที่สูงขึ้นไปให้แก่ตน ให้สูงกว่าปีที่แล้วมาให้จนได้ บรรเทาความโง่ ความหลงหรือบรรเทากิเลส บรรเทาความทุกข์ให้ได้มากกว่าปีที่แล้วมา อย่าได้ปล่อยเพ้อๆไปตามเรื่อง ตามความประมาทนั้น ขอให้ตั้งใจสอดส่องให้ดีเป็นพิเศษจนจับให้ได้ว่า อะไรยังล้าหลังอยู่จริงๆและพยายามแก้ไขให้ดีขึ้น ให้สูงขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะย่ำเท้าอยู่ในที่เดิม การย่ำเท้าอยู่ในที่เดิมนี้มีแต่จะถอยหลัง เพราะว่ามีความเคยชินในการเป็นอย่างนั้นมากเข้าก็เกิดความประมาท แล้วก็ถอยหลังได้โดยไม่รู้สึกตัว

ดังนั้นควรจะมุ่งหมายความก้าวหน้าเรื่อย อย่ารู้จักหยุดจักหย่อน มุ่งหมายความก้าวหน้าเต็มที่ไว้เสมอไป แม้จะพลั้งพลาด จะหยุดชะงัก  หรือถอยหลังบ้างก็ยังมีแต่จะก้าวไปข้างหน้ามากกว่าถอยหลังอยู่นั่นเอง ทุกคนควรจะไม่ประมาทในข้อนี้ โดยมากที่เห็นๆกันอยู่นั้นเป็นผู้ปล่อยไปตามเรื่องตามราว พูดจาราวกับว่าไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม ดูพูดกันจ้อ พูดกันคล่องดีอยู่ แต่เรื่องก็คือความโง่เท่าเดิม ความหลงเท่าเดิม มันพูดจ้อ พูดคล่องไปนั้น เพราะความโง่นั้นมันถนัด มันชัดเจน มันเคยชินมากขึ้นทุกที ดังนั้นอย่าได้ถือกิริยาอาการที่พูดจ้อ คุยคล่องนั้นว่าเป็นความก้าวหน้าหรือชำนิชำนาญ ที่แท้มันมีแต่เรื่องถอยหลัง เพราะว่าที่พูดคล่องนั้นเป็นเรื่องซ้ำๆซากๆหรือบางทีก็เป็นเรื่องท่องจำเป็นความงมงายอยู่ตามเดิม ถ้าจะเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วจะต้องหยุดการพูดจ้อ พูดคล่องนั้นกันเสียบ้างเพื่อจะได้เกิดความระมัดระวังมากขึ้นจนเราเห็นกันอยู่บ่อยๆว่า คนบางคนได้อธิษฐานจิตในการที่จะไม่พูดจนตลอดพรรษาดังนี้ก็มี

ตลอดเวลาที่ไม่พูดนี้มีอะไรมากหรือแปลกเป็นพิเศษ คือกำลังใจที่ดีขึ้นเพราะการไม่ถูกระบายออกไปเนื่องในการพูดจานั่นเอง ยิ่งพูดเท่าไหร่มันก็รั่วไหลไปเท่านั้น มันมีกำลังใจที่อ่อนเพลียลงไปเท่านั้น มันก็คิดอะไรได้ผิวเผิน และผิวเผินยิ่งขึ้นทุกที ลองไม่พูดดูเถอะ จะรู้สึกว่ามันมีกำลังใจที่เข้มแข็งมากมายและแหลมคม คิดนึกอะไรได้ดี ดังนั้นผู้ที่ไม่พูดจึงไม่มีการเสียกำลังใจไป มีกำลังใจมาก เต็มปรี่อยู่เสมอ คิดนึกอะไรได้ลึกซึ้งดังนี้

พวกฤๅษีมุนีที่อยู่ตามป่าไม่มีโอกาสที่จะพูดกับใคร มันก็คือการไม่พูดนั่นเอง ยิ่งมีสติปัญญาแหลมคม ลึกซึ้งไปในแนวของตนๆ จนประสบความสำเร็จในการคิด การนึก ถึงที่สุดของศาสตร์นั้นๆ ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งตามความมุ่งหมายของฤๅษี หรือโยคีผู้นั้น จนถึงกับบอกสอนไว้เป็นหลัก เขียนไว้เป็นตำรับตำรา เป็นคัมภีร์มีอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เพราะอำนาจของการที่ประพฤติดำเนินชีวิตไปในลักษณะที่ไม่เสียกำลังใจเพราะการพูดเป็นต้น ดังนั้นควรจะนึกดูต่อไปว่า เมื่อเรายังพูด ยังหยุดพูดเสียเลยไม่ได้ คือจะหยุดพูดเสียเลยไม่ได้ก็จำเป็นที่จะต้องพูดให้น้อยลงหน่อย ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ จึงขอแนะนำว่าในเวลาพรรษานี้ขอให้พูดพล่ามน้อยลงหน่อย หรือแม้จะพูดไม่พล่าม พูดเรื่องราวที่เป็นชิ้นอันก็ขอให้พูดน้อยลงหน่อย คือให้พยายามที่จะไม่พูดในเมื่อไม่จำเป็นที่จะต้องพูด ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องสั่งสอนผู้อื่น แม้แต่เรื่องกิจธุรการงานนี้ก็ต้องประหยัดการพูด อย่าให้ต้องพูดมากจะมีผลดี ตั้งต้นแต่ว่าจะกระทบกระทั่งกันน้อยเข้า จะทะเลาะวิวาทกันน้อยเข้าแล้วก็จะได้มีเวลาที่จะคิดนึกมากขึ้น จะได้มีกำลังใจสูงขึ้นในการที่จะรู้แจ้งแทงตลอดธรรมะที่ลึกซึ้งนั้น เป็นการได้อะไรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทีเดียว ถ้าจะประหยัดคำพูดก็จะระมัดระวังสำรวมตนในการที่จะพูดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ หรือถ้าใครไม่พูดเสียเลยได้ก็ยิ่งดีแต่ดูจะเป็นการยากเกินไปในสภาวการณ์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นจึงขอแนะนำแต่เพียงว่าพูดให้น้อยที่สุด หรือหุบปากให้มากที่สุดกว่าปีที่แล้วมาก็แล้วกัน คงจะหนวกหูน้อยลงหน่อยหรือหนวกหูน้อยลงเป็นอันมากกว่าที่แล้วมาโดยไม่ต้องสงสัยเลย และสติปัญญาก็จะมีมากขึ้นกว่าที่แล้วมาโดยไม่ต้องสงสัยอีกเหมือนกัน   เท่าที่สังเกตเห็นอยู่นั้นรู้สึกว่าทุกคนพร้อมที่จะพูด  ทุกคนแย่งกันพูดชิงกันพูดด้วนอำนาจของอารมณ์ที่อยากจะดีกว่าคนอื่น   ที่อยากจะแสดงอะไรของตนให้คนอื่นกลัว  ให้คนอื่นนับถือ  ให้คนอื่นยอมแพ้จึงได้ชิงกันพูดนั้น  เป็นลักษณะของคนโง่ที่สุด  ที่ชอบพูดเสียงดังที่ชอบพูดให้มาก  โดยคิดว่าคนอื่นจะถือว่าตนเป็นคนเก่งกว่าคนทั้งหลาย   เราได้ยินได้ฟันกันอยู่ทั่วๆไปมีเสียงดังลั่นกันอยู่ทุกหัวระแหง  สังเกตดูเถิดว่ามันเป็นคำพูดที่ประกอบไปด้วยสาระอะไรบ้างมีสติ  ปัญญาอะไรอยู่ในนั้น  ยิ่งพิจารณายิ่งสังเกตจะเห็นได้ว่าคนที่ยิ่งพูดดังนั้น  ยิ่งเป็นคนโง่  เพราะไม่มีอะไรที่จะดีจึงเอาเสียงดังเข้าว่าทับถมคนอื่น  หรือแม้แต่ให้ดังลั่นอยู่อย่างนั้นให้คนอื่นคิดว่า  ตัวเป็นคนเก่งโดยที่แท้แล้วก็เป็นเรื่องของการที่เพิ่มความประมาท  เพิ่มความหลงใหล  เพิ่มความงมงาย  และเพิ่มความอวดดีมากขึ้นเท่านั้นเอง   การที่จะประหยัดคำพูดจึงเป็นอานิสงส์อย่างหนึ่ง   เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งผลดีอย่างยิ่ง  สำหรับบุคคลชนิดนี้  นี้ก็เป็นข้อปฏิบัติอย่างยิ่งอันหนึ่งด้วยเหมือนกัน  ที่จะต้องระลึกถึงตลอดกาลฝนเวลาจำพรรษา ๓ เดือน ว่า

        เราจะพยายามเป็นคนสงบปากสงบคอ  จะให้เป็นผู้ที่เขาเรียกว่า  ไม่ค่อยจะพูด เป็นผู้ที่ต้องถามจริงๆจึงจะพูด  ถ้าได้อย่างนี้รู้สึกว่าเป็นการก้าวหน้าอย่างยิ่ง  เป็นการก้าวหน้าที่ไม่น้อยเลย  ไม่เชื่อก็ไปลองดูว่าการพูดให้น้อยลงหน่อยนี้มันยากมันง่ายสักเท่าไร  มันยากยิ่งนักสำหรับคนขี้พูด  มีกิเลสของความโอ้อวดมากจนเคยชิน  หรือปล่อยไปตามธรรมดามันก็มักจะพูด  เหมือนกับสุนัขที่มักจะหอนอยู่ตามปกติ นี่เป็นเพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่านั้น เพราะฉะนั้นคนเราควรจะระลึกนึกถึงข้อนี้ให้มากแล้วเก็บหรือประหยัดกำลังใจในการพูดนั้นไว้ สำหรับการคิดนึกศึกษาในธรรมะให้ยิ่งขึ้นไปจะดีกว่าที่จะเอามาระบายทิ้งเสียด้วยการพูด ขอให้สังเกตดูเถิดว่ามันมีมากน้อยเท่าไหร่ วันหนึ่งที่ต้องพูด พูดจนเหนื่อยจนเพลีย จนเมื่อยล้า แล้วคิดดูเถิดว่าคนที่เหนื่อยเพราะพูดนั้นมันคิดอะไรได้บ้าง มันคิดอะไรไม่ได้ มันเหนื่อย มันเพลีย เพราะฉะนั้นมันจึงพูดเพ้อๆไปมากกว่า

ถ้าเราไม่พูด เราก็มีกำลังใจ ส่วนนี้เหลือไว้สำหรับคิดนึกศึกษาในธรรมะที่สูงขึ้นไปและการไม่พูดนั้นมันทรมานกิเลสอยู่ในตัวมันเองแล้ว เพราะว่าการพูดนั้นมันพูดไปด้วยกิเลสของตัวกู ด้วยกิเลสของของกู คือมีความรู้สึกที่เป็นตัวกู เป็นของกู เป็นความเย่อหยิ่ง เป็นความทะนง เป็นความอวดดี มันจึงได้ระเบิดเป็นคำพูดออกมาจนกระทั่งกระทบกระทั่งกันในที่สุด นี่มันเห็นได้ชัดๆแล้วว่าแม้แต่เรื่องการพูดมากนี้มันก็เป็นเรื่องของอัสสมิมานะกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ว่าของกูอย่างเดียวกันหมด

ดังนั้นการประพฤติปฏิบัติชนิดไหนก็ตามถ้าเป็นไปเพื่อทำลายเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกูแล้วย่อมเป็นการปฏิบัติซึ่งเป็นหัวใจที่สุดของพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งนั้น

ด้วยเหตุฉะนี้แหละ แม้การสำรวมในการเรื่องพูดให้น้อยนี้ก็เป็นการทำลายกิเลสอยู่ในตัวเอง ทำลายกิเลสชนิดที่สำคัญที่สุดคือ อุปาทานว่าตัวกู ว่าของกูอย่างเดียวกันทั้งนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท พินิจพิจารณาให้เป็นอย่างดีที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วให้กลัวให้มาก ให้ละอายให้มาก ให้กลัวให้ถึงที่สุด ให้ละอายให้ถึงที่สุดในการที่ตนเป็นคนพูดมาก เพราะปล่อยไปตามอำนาจของกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดถือตัวกู เมื่อได้ค้นพบแล้วว่าการบังคับตนอย่าให้เป็นคนพูดมากนั้นเป็นการข่มขี่ เป็นการทำลายกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดถือตัวตนเหมือนกันดังนี้แล้วก็จะได้ไม่ประมาทในการที่จะระมัดระวังการพูดจา จะได้พากเพียรพยายามในการที่จะเป็นคนสำรวมในการพูดหรือบรรเทาการพูดมากนั่นเอง จะได้มองมองเห็นชัดด้วยสติปัญญาของตนว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย

กิเลสที่เป็นเหตุ ยึดถือตัวตนนั้นมันออกมาในรูปไหน ในลักษณะอย่างไรก็ได้ ได้หลายอย่าง หลายทางที่สุดต่อเมื่อบีบบังคับ บังคับลงไปที่ทางใดทางหนึ่งย่อมเข้าไปถึงตัวกิเลสนั้นด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อกิเลสนั้นถูกบรรเทาลงแล้วหรือถูกทำลายไปแล้วมันก็มีผลเหมือนกัน ไม่มีกิเลสแสดงออกไปในรูปอื่นหรือลักษณะอื่นได้อีกเลย ทำให้เห็นว่าแม้แต่เพียงบังคับตัวเองให้พูดน้อยหรือไม่พูดนี้ก็เป็นการบังคับกิเลสโดยตรงและบังคับกิเลสทั่วไปทุกอย่างทุกทาง   ซึ่งหมายความว่าจะบังคับได้ถึงความโลภ  ความโกรธ   ความหลง   โดยไม่ต้องสงสัยเลย   คนที่บังคับการพูดจาหมายความว่าเป็นคนถ่อมตนอย่างน้อยก็เป็นคนถ่อมตนเป็นคนเจียมตน   ความถ่อมตนความเจียมตนนั้นมันบรรเทากิเลสซึ่งเป็นต้นเหตุให้โลภให้โกรธให้หลงอยู่ในตัวเองแล้ว   เพราะว่าความโลภความหลงนี้เป็นความเห็นแก่ตนเป็นความปล่อยไปตามอารมณ์ของตน  ไม่ใช่เป็นการบังคับตนแม้แต่ประการใด  แต่การบังคับไม่ให้พูดจาไม่ให้ชิงกันพูด  ไม่ให้ชิงกันอวดดี   ไม่ให้ส่งเสียงไปตามอารมณ์ของกิเลสนี้  มันเป็นการบังคับตนซึ่งหมายถึงกิเลสนั้นเอง   สิ่งที่เรียกว่าตนในที่นี้หมายถึงกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้รู้สึกว่าตัวกูว่าของกูดังที่กล่าวแล้ว  เมื่อกิเลสถูกบังคับแล้วถูกควบคุมแล้วถูกบรรเทาแล้วมันก็อ่อนกำลังลงไป   ดังนั้นความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ทุกอย่างทุกประการย่อมจะอ่อนกำลังลงไปด้วยอำนาจที่กิเลสต้นตอถูกบีบบังคับ  หรือถูกทำลายลงไป    กิเลสต้นตอในที่นี้ก็คือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนนั้นเอง

        อวิชชา   ความโง่   ความหลงเป็นตนเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูว่าของกู  และก็ปล่อยไปตามอารมณ์นั้นๆนั้นแหละคือกิเลสต้นตอซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดกิเลสออกมาในรูปที่เป็นความโลภบ้าง  ในรูปที่เป็นความโกรธบ้าง  ในรูปที่เป็นความหลงบ้าง   ดังนั้นเราตัดที่ต้นตอก็เท่ากับป็นการตัดที่แขนงที่แยกออกไปเป็นสามแขนงด้วยเหมือนกัน   แต่ว่าเป็นการง่ายดายกว่าและรุกล้ำเข้าไปทำลายมันที่ต้นตอมันก็ย่อมเป็นการทำลายสิ้นเชิงทุกแขนง   เหมือนกับว่าเราจะทำลายต้นไม้ที่มีกิ่งก้านมากก็ไม่ต้องไปตัดที่ละกิ่ง   แต่เราตัดที่โคนเพียงแห่งเดียวมันเท่ากับทำลายต้นไม้ทั้งต้นทุกกิ่งหรือทั้งพุ่มไม้  ซึ่งใหญ่กว้างสักเท่าไรก็ตาม   

ขอให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้แล้วมุ่งมั่นที่จะทำลายกิเลสต้นตอ  คือความเห็นแก่ตัวกูของกูความทะนงว่าตัวกูว่าของกู   ความยึดมั่นถือมั่นถือรั้นว่าตัวกูของกูนี้ด้วยกันจงทุกคนเถิด

ขอให้ระลึกถึงข้อที่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า    ธรรมทั้งหมดนั้นสรุปลงสั้นๆเหลืออยู่แต่ที่การทำลายความยึดมั่นถือมั

หมายเลขบันทึก: 490554เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท