กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๘๕) : ช่วงกว้างของความปกติ


"ทุกคนในห้องนี้เป็นคนปกติ แต่ปกติของเราไม่เหมือนกัน"

 

วันนี้ (๖ มิ.ย. ๕๕)  รศ.พญ. นิชรา  เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยบาลรามาธิบดี ได้กรุณาสละเวลามาพูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนชั้น ๑ ที่เพิ่งพ้นวัยอนุบาลมาได้ไม่กี่วัน ในเรื่องของพฤติกรรมเด็กที่คุณหมอถนัดและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

 

“Children behavior : problem or normal variation” คือประเด็นการพูดคุยของวันนี้ คุณหมอเริ่มต้นด้วยคำทักทายที่แสนจะท้าทายว่า “ทุกคนในห้องนี้เป็นคนปกติ แต่ปกติของเราไม่เหมือนกัน”

 

หลักในการพิจารณาเรื่องของพฤติกรรมจะมีการพิจารณาถึงพัฒนาการที่เป็นปกติ (normal developmental milestone) และพฤติกรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (temperament) หรือที่เรียกว่าพื้นอารมณ์

 

ที่มาของพฤติกรรม

 

การเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเลียนแบบ (imitation) ผ่านเซลกระจกเงา (mirror neurons) ที่เป็นการทำโดยอัตโนมัติ และเป็นพฤติกรรมหลักในการมีชีวิตอยู่ เราทำตามที่ตัวเองคิดหรือวางแผนเป็นส่วนน้อย

 

พฤติกรรมอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการการมี A (antecedent) สิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน – B (behavior) พฤติกรรม – C (consequence) สิ่งที่เกิดตามมา ซึ่งในส่วนนี้คุณหมอแนะนำว่า เมื่อมีพฤติกรรมใดเกิดขึ้น ขอให้เราทบทวนเหตุการณ์ก่อนหน้า และจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ จดตามความเป็นจริง เราจะพบความสัมพันธ์ได้ ๘๐ – ๙๐%

 

พฤติกรรมทางเพศของเด็กในวัย ๒ – ๖ ปี

 

การสัมผัสจับต้องอวัยวะเพศ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ  มีความสนใจ แอบดู อยากรู้อยากเห็น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นชั่วคราว และจะหายไปได้เอง ส่วนพัฒนาการปกติที่พบได้น้อยกว่า คือการทำท่าเลียนแบบ หรือใกล้เคียงการมีเพศสัมพันธ์ แต่เด็กไม่มีทางทำอะไรโดยไม่มีที่มาที่ไป การเลียนแบบของเขามักมาจากสื่อ หรือบุคคลแวดล้อม

 

ส่วนพฤติกรรมทางเพศที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ กรณีที่มีการข่มขู่ บังคับ ก้าวร้าว รุนแรง  การเล่นกับเด็กที่อายุต่างกันมากๆ สัมพันธ์กับอารมณ์บางอย่างมาก และเกิดกับเด็กที่มีแนวโน้มว่าเป็นคนหุนหันพลันแล่น ทำก่อนคิด ถูกตามใจ  การควบคุมไม่มากขึ้นตามวัย เด็กกลุ่มเสี่ยงนี้มักไม่ปฏิบัติตามกติกา มีปัญหาในการเข้ากับกลุ่มเพื่อน และมักไม่มีวิธีจัดการกับความเครียด

 

แนวทางจัดการกับปัญหา

  • หาสาเหตุว่าเกิดขึ้นเมื่อไร พิจารณาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นร่วมกัน
  • บันทึก A-B-C อย่างสม่ำเสมอ 
  • ใช้เทคนิคให้เหมาะสมกับสาเหตุ โดยเริ่มจาก time in (quality time) และการปรับสภาพแวดล้อม

 

การเปลี่ยนนิสัยที่เคยชิน เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เด็กต้องการกำลังใจ และความสัมพันธ์ที่ดีงามของพ่อแม่เป็นรากฐาน เพราะเขาจะตั้งใจเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรก็เพราะว่าเขาแคร์เรา

 

พื้นอารมณ์เป็นธรรมชาติเดิมของเด็กที่แสดงให้เราเห็นตั้งแต่เริ่มเดินได้ ถ้าเราใช้เวลากับเขาเราจะเห็นเขาตรงตามความเป็นจริง ทุกคนไม่ชอบเจ็บ อยากจะเป็นที่รักของคนอื่น ไม่อยากทำอะไรที่ทำแล้วคนอื่นจะไม่รัก

 

การหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

 

เขาทำอะไร เพราะอะไร

 

หากคนในครอบครัวพูดคุย และสอนกันมาเรื่อยๆ ถึงอะไรควร ไม่ควร เมื่อเกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น พ่อแม่เพียงแต่บอกว่า “หยุด ลูกทำเรื่องนี้ไม่ได้” ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องต่อว่าใดๆ เพราะถึงพูดไปลูกก็ไม่พร้อมที่จะฟัง เขาอาจตัดสินใจทำเรื่องบางเรื่องเพราะอยากได้ความสนใจจากพ่อแม่ หรือเพราะกำลังเบื่อก็ได้

 

เราไม่ยอมให้เกิดขึ้นจริงๆ


ทุกอายุ เราพูดกับเขาได้ตรงๆ ควรใช้วิธีพูดเฉยๆ ไม่ต่อว่า ทั้งสีหน้าและน้ำเสียงต้องจริงจัง เพื่อยืนยันในสิ่งที่พูดแต่ที่สำคัญคือต้องสม่ำเสมอ ห้ามเรื่องใด ต้องห้ามทุกครั้ง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ลูกต้องรู้  วินัยในวิถีชีวิตต้องชัดเจน

 

รับฟัง

 

เมื่อลูกมีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าเป็นห่วง เขาต้องได้เรียนรู้ และปรับตัว เช่นลูกไม่แสดงออกถึงความต้องการของตนเอง เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ ลองยกตัวอย่างนี้ขึ้นมาให้เขาได้คิดและอธิบาย ถ้าเขาตอบอะไรเราต้องรับฟัง และยอมรับเหตุผลของลูกอย่างแท้จริง และไม่ควรทำหน้าตาไม่ approved  

 

เวลาคุณภาพ

 

อยากให้พ่อแม่มีเวลาคุณภาพกับลูก การสอนด้วยคำพูดไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้ แต่การใช้เวลากับเขาอย่างตั้งใจ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการหาเวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุด วันละ ๒๐ – ๓๐ นาที โดยไม่ใช้โทรศัพท์ ไม่ออกไปไหนในระหว่างที่อยู่กับเขา สนใจทำกิจกรรมร่วมกับเขาโดยไม่มีการอบรมสั่งสอน

 

คุณหมอขอให้พ่อหรือแม่มีเวลาคุณภาพ (time in) ร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ หลังจาก ๒ สัปดาห์ไปแล้วเราจะใช้เวลาร่วมกับเขาได้โดยไม่ฝืน

เพื่อสร้างพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูก เพื่อพิสูจน์ว่าพ่อแม่รักเขา โดยการพิสูจน์ให้ลูกรับรู้ด้วยการกระทำ หลังจากนั้นหากเขามีความมั่นคงในความสัมพันธ์ เขาจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่พอใจ

 

บางครั้งเขารับฟัง แต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะมีนิสัยพื้นฐาน มีพื้นอารมณ์ที่ต้องฝืน การปรับพื้นอารมณ์ที่มีมาแต่กำเนิดเป็นเรื่องยาก แม้แต่กับผู้ใหญ่เอง

 

แต่ความพยายามไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ ระหว่างนี้ลูกยังต้องการกำลังใจ หากมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้น ขอให้ชมทันที เมื่อความสัมพันธ์ดี เพียงแค่เราทำหน้าเฉย เขาก็รับรู้ได้แล้ว

 

คุณหมอทิ้งท้ายไว้ว่า "หลายเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเด็ก ถ้าเราไม่รู้จักความปกติของพัฒนาการดีพอแล้วเอาเหตุผลของผู้ใหญ่เข้าไปจับ เราจะกังวล ความพอดีเป็นเรื่องยาก ต้องเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดี และความมีระเบียบวินัยที่พอดี"

 

 

หมายเลขบันทึก: 490475เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท