การศึกษาทางรอด


 

          เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ ๔ เรื่อง การศึกษาทางเลือก : ทางหลักของหลายคน  โดยกลุ่มเพื่อนปฏิรูป จัดโดย สสค. ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อบ่ายวันที่ ๑ พ.ค. ๕๕   ผู้เข้าร่วมประชุมบอกว่า แนวทางจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนกลุ่มที่เรียกว่า “โรงเรียนทางเลือก” นั่นแหละที่ควรจะกลายเป็นโรงเรียนกระแสหลัก

          แต่ผมคิดว่าควรจะเรียกโรงเรียนเหล่านี้ว่าเป็น “การศึกษาทางรอด” คือจะช่วยกอบกู้บ้านเมืองจากทางหายนะที่รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังก่อให้แก่บ้านเมือง

          ที่สำคัญคือ การจัดการศึกษาแนวใหม่นี้ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนดีกว่า  และค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย  

          โรงเรียนที่มานำเสนอวิธีจัดการเรียนรู้มี ๒ โรงเรียน คือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  กับโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก  มาพร้อมกับเครือข่ายจำนวนหนึ่ง

          และ อ. ปกป้อง จันวิทย์ มาเสนอผลการวิจัยเรื่องการศึกษาทางเลือกที่ทำให้ ทีดีอาร์ไอ ด้วย    อ่านรายงานผลการวิจัยได้ที่นี่ และดู ppt นำเสนอได้ที่นี่  รวมทั้งเข้าไปฟังเสียงการนำเสนอผลการวิจัย และคำวิพากษ์ได้ที่นี่  ผมขอเชิญให้ท่านผู้สนใจโรงเรียนทางเลือกจริงๆ เข้าไปฟังเสียงการนำเสนอ พร้อมกับอ่าน Ppt ไปพร้อมๆ กัน   จะได้รับความรู้มาก ผมชอบทั้งการนำเสนอของ อ. ปกป้อง และคำอภิปรายของ ดร. เดชรัต สุขกำเนิด   รวมทั้งการนำเสนอของคุณมีชัย วีระไวทยะ เรื่องเส้นทางสายใหม่ในการสร้างคนรุ่นใหม่    ขอเชิญชวนให้เข้าไปอ่าน Ppt และคำอภิปราย   คำอภิปรายของคุณมีชัยเรื่องโรงเรียนมีชัยพัฒนา ทำให้ผมคิดต่อว่า คำพูดของท่านใช้กับมหาวิทยาลัยได้ด้วย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่

          ผมชอบคำอภิปรายของ ดร. เดชรัต ที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัว ที่พอใจว่าลูกของตนที่เรียนชั้น ป. ๖ โรงเรียนเพลินพัฒนา   เรียนแล้วได้ทักษะการทำงานและเรียนเป็นทีม ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ และเป็นผู้ตาม    และทักษะอื่นๆ ที่การศึกษากระแสหลักไม่เอาใจใส่   ผมตีความว่า นี่คือส่วนหนึ่งของ 21st Century Skills

          การศึกษาทางรอดคือการศึกษาที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้คน ทำประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ของนักเรียนและของทุกคน (ทุกฝ่าย) ที่เกี่ยวข้อง   การจัดการศึกษาไม่ใช่เป็นแค่การมีค่าใช้จ่าย แต่มีรายได้ได้ด้วย   เพราะการเรียนในชีวิตจริง การปฏิบัติจริง ออกแบบให้เกิดรายได้ได้ด้วย   ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนทักษะด้านการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิตที่สำคัญ  

          ข้อสรุปสำคัญในเวทีปฏิรูปวันนี้ คือต้องหาทางขยายการศึกษาทางเลือกให้เป็นการศึกษาทางหลัก   โดยทดลองทำในพื้นที่ ๑ จังหวัด หรือ ๑ เขตพื้นที่การศึกษา    ได้ตั้งคณะทำงาน “สามดรุณี” คือ คุณวลัยรัตน์  ดร. เจือจันทร์ ดร. ศรีวิการ์ เพื่อใช้การปรับทรัพยากรงบประมาณเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง

          เงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จของ “โรงเรียนทางรอด” คือความเป็นอิสระที่จะคิดและทำนอกกรอบเพื่อการเรียนรู้แนวใหม่   ใช้หลัก 21st Century Learning, PBL และ PLC

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 490318เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท