เรื่องเล่าจิตอาสา : อีกหนึ่งภาพสะท้อนของความเชื่อมั่นต่อวิถี "เรื่องเล่าเร้าพลัง" (storytelling)


ผมเชื่อว่าการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ เพราะเป็นการเขียนเรื่องราวของประสบการณ์ที่ผ่านพบในมิติต่างๆ เสมือนการทบทวนความสำเร็จและความล้มเหลวในเรื่องบางเรื่อง

ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling)  มาก หรือมากเป็นพิเศษก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากในวิชาที่ผมสอน หรือแม้แต่กิจกรรมต่างๆ ที่นิสิตจัดขึ้น  ผมมักชวนให้แต่ละคนสะท้อนการเรียนรู้ในรูปของ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” เสมอ

 

ผมเชื่อโดยส่วนตัวว่า เรื่องเล่าเร้าพลัง เป็นกระบวนการอันสำคัญของการจัดการความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวตนของแต่ละคน (Tacit Knowledge)  ในทุกเวทีผมจึงมุ่งให้ “การเล่าเรื่อง” เป็นกลไก  หรือเครื่องมือของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเน้นให้เกิดเวที หรือบรรยากาศของการสนทนาพาที  (Dialogue)  หรือ “โสเหล่” ให้มากที่สุด ด้วยการเชื้อเชิญให้แต่ละคนเล่าเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ตรงของตนเองให้คนอื่นได้ร่วมรับรู้และรับฟังไปด้วยกัน พร้อมๆ กับการฝากกติกาเล็กๆ อย่างจริงใจไว้ว่าขณะที่เพื่อนเล่านั้น ต้องให้เกียรติกับผู้เล่า ด้วยการตั้งใจฟัง ไม่พิพากษา หรือถามสอดแทรกใดๆ

 

 

ครับ-กระบวนการเช่นนั้น  ผมยึดโยงเรื่องการฟังแบบฝังลึก/ลึกซึ้ง (Deep Listening) เข้ามาด้วย อาทิ  ฟังแบบเปิดใจ ฟังแบบไม่มีอคติ ฟังแบบให้คนเล่าเรื่องเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้  ฟังแบบไม่เอาทัศนคติตัวเองเข้าไปพอพิพากษา..

  • เกี่ยวกับการฟังนั้น  ผมเชื่อว่าการฟังเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการเติบโตของชีวิต นักเขียนมักบ่มเพราะจากการฟัง การอ่าน นักพูดก็มักเริ่มต้นในมิติที่ไม่ต่างกัน

หากแต่ในระยะหลัง  ในเวทีการเรียนรู้ในประเด็นเรื่องเล่าเร้าพลังนั้น  ผมมักหยิบโยงกระบวนการ “สนทนา” (โสเหล่)  และ “การเขียน” เข้ามาผสมผสานกันอย่างต่อเนื่อง  โดยเริ่มจากการพูดคุย-โสเหล่ และปลุกเร้าให้เกิดพลังในการ “เขียน” หรือเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร

 

 

ในบางเวทีหากมีเวลาเหลือพอ เมื่อโสเหล่กันแล้ว ผมจะชวนให้แต่ละคนเขียนเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์เสมอๆ ทั้งเขียนแบบส่วนตัว และเขียนแบบกลุ่ม  พอเขียนเสร็จก็ชวนให้ออกมาเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง  ส่วนผมจะคอยหนุนเสริมเกี่ยวกับทักษะการเขียนเล็กๆ น้อยๆ เช่น การใช้คำ  การดำเนินเรื่อง แก่นคิด แต่จะไม่ลงรายละเอียดลึก เพราะต้องการเน้นให้เกิดกระบวนการหนุนเสริมพลังในการเขียนเสียมากกว่า

แต่ถ้ามีเวลาจำกัด ผมจะทิ้งโจทย์ไว้และชวนให้แต่ละคนเขียนเรื่องราวส่งกลับมายังผมอีกรอบ เพื่อจัดทำเป็นรูปเล่มแบ่งปันสู่กันและกัน  หรือแม้แต่เผยแพร่ในวงกว้าง

 

 

ครับ-ผมเชื่อว่าการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ เพราะเป็นการเขียนเรื่องราวของประสบการณ์ที่ผ่านพบในมิติต่างๆ เสมือนการทบทวนความสำเร็จและความล้มเหลวในเรื่องบางเรื่อง

  • กระบวนการเช่นนั้น จึงเป็นแนวทางเดียวกับการสรุปบทเรียน หรือ AAR : After Action Review

 

 

ในทุกครั้งของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ว่าด้วยการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังนั้น  ผมมัดชูโรงด้วยการสนับสนุนให้แต่ละคนเริ่มต้นการเขียนจาก “บันทึกประจำวัน” เสียก่อน เพราะการเขียนดังกล่าว จะมีลักษณะของการบันทึกเหตุการณ์ประจำวันและบำบัดเยียวยาชีวิตในแต่ละวันไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ยังรวมถึงการพยายามสะท้อนแนวคิดหลักเกี่ยวกับการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลังในมิติของการจัดการความรู้ ในทำนองว่า “แจ่มชัดในสิ่งที่มี (เขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี) –สกัดปัจจัย-ใส่ใจกับปัญหา-นำพาสู่การแก้ไข”  ดังรายละเอียดสำคัญๆ ดังนี้

  • เขียนถึงภูมิหลัง อันหมายถึงที่มาที่ไปของกิจกรรม เช่น  แรงบันดาลใจ หรือแม้แต่ข้อมูลพื้นฐานขององค์กร  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • เขียนถึง “กระบวนการ” ของการขับเคลื่อนในเรื่องนั้นๆ ทั้งในมิติของอดีตและปัจจุบัน
  • เขียนถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะขับเคลื่อน  ทั้งที่เป็น “วิกฤตปัญหา” และ “ความสำเร็จ”
  • เขียนถึง “กลวิธีการคลี่คลาย” วิกฤตปัญหา
  • เขียนถึง “ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ” (Success Story)
  • เขียนถึงบทสรุปและข้อเสนอแนะ (Happy ending)  อันหมายถึงความสำเร็จที่นำไปสู่การต่อยอดทางกระบวนการ  หรือแม้แต่ข้อพึงระวังมิให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนกับปัญหาเดิมๆ อันเป็น “ความเสี่ยง” ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

ครับ-ล่าสุดนั้น  ผมได้นำเรื่องเล่าของนิสิต ทั้งที่เป็นนิสิตจาก “องค์กร” ต่างๆ รวมถึงนิสิตที่เรียนในวิชา “พัฒนานิสิต” มาจัดทำเป็นหนังสืออ่านเล่นเล็กๆ  เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่อง “จิตอาสา” ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อการทดแทนแผ่นดินเกิด  และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน -

ผมตั้งชื่อเรื่องง่ายๆ ว่า “เรื่องเล่าจิตอาสา”  ภายในเล่มรวบรวมเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ของนิสิตเกี่ยวกับการทำ “ความความดี” ผ่านกิจกรรมเชิงรุกของมหาวิทยาลัย เช่น น้ำท่วม บริจาคโลหิต กฐินโบราณ หรือแม้แต่การทำความดีในชีวิตประจำวันทั่วไปที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่ผมได้กล่าวอ้าง

 

 

ผมเชื่อว่าเรื่องราวเล็กๆ เหล่านี้ จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน  นับตั้งแต่เจ้าของเรื่องที่เกิดพลังใจ หรือความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ  และเต็มใจในการอุทิศเรื่องราวอันดีงามนั้นเป็นของ “สาธารณะ” รวมถึงการมีพลังในการที่จะทำความดีอย่างไม่หยุดยั้ง  ขณะเดียวกันก็เป็นการบันทึก “ประวัติศาสตร์ชีวิต” ให้กับตัวเองไปในตัว  เช่นเดียวกับผ่าน ผมก็เชื่อว่าเรื่องเล่าเล็กๆ นี้จะเป็นพลัง “หนุนเสริม” ให้เขามีแรงบันดาลใจในการที่จะ “ทำความดี” และ “สื่อสารความดี” ไปสู่สาธารณะ

 

 

ครับ-ถึงวันนี้ วินาทีนี้ ผมก็ยังเชื่อและศรัทธาว่าการ “เล่าเรื่อง” หรือ “เรื่องเล่าเร้าพลัง”  ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมเป็นที่สุด 

เพราะการเล่าเรื่องคือกระบวนการจัดระบบระเบียบชีวิต  คือกระบวนการเจียระไนตะกอนชีวิตให้ตกเป็นผลึกชีวิต หรือแม้แต่การเล่าเรื่องคือกระบวนการของการส่งต่อความดีไปยังเพื่อนมนุษย์  เพื่อให้เพื่อมนุษย์ได้รับรู้-รับฟัง และยึดถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต

 

แล้วท่านละครับ  ครั้งล่าสุดได้เล่าเรื่องราวอันสร้างสรรค์ หรือเรื่องเล่าเร้าพลังให้ใครฟังบ้างแล้ว
หรือแม้แต่ล่าสุด  ท่านได้ฟังเรื่องเล่าเร้าพลังที่ทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีบ้าง..

 

ลองเล่าให้ฟังหน่อยสิครับ-

 

หมายเลขบันทึก: 490243เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดีจังเลยค่ะ..อ่านแล้วนำไปต่อยอด..ขยายผลได้กว้างไกล..

สวัสดีค่ะ น้องแผ่นดิน ชีวิตแต่ละวันก็เหมือนหนังสือที่เขียนไม่รู้จบค่ะ หากผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เป็นผลึก...ไม่ว่าดีหรือร้าย ก็เป็นประโยชน์ในการที่จะเล่า เพื่อป้องกัน เพื่อก่อ เพื้อสร้าง เพื่อจรรโลงใจ ..... ให้ใครๆ ได้เรียนลัด ได้เรียนรู้ ..ชีวิต ค่ะ ขอบคุณบทความดีๆ ที่สร้างสรรค์ให้ได้อ่านค่ะ

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมกำลังส่งหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ไปที่พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อจัดเก็บเป็นจดหมายเหตุของกระบวนการพัฒนานิสิต เนื่องจาก ก่อนเขียนนั้น ผมฝากย้ำให้นิสิตระบุวันเวลา-สถานที่ไว้ด้วย ซึ่งนั่นจะเป็นอานิสงส์ในทางประวัติศาสตร์ของ มหาวิทยาลัยในมิติของนิสิตไม่มาก็น้อย

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าในบางเรื่อง นะครับ

...การลงแขกเกี่ยวข้าวครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่ดีและเป็นวิธีที่ผมคิดว่าดีมากๆ คือเกี่ยวข้าวเพื่อขอเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกมาแจกจ่ายเป็นพันธุ์ข้าวให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม กิจกรรมที่ว่านี้ ไม่เพียงสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมเท่านั้น  แต่เป็นการบริการสังคมไปในตัว เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขหลังน้ำลด รวมถึงการเรียนรู้และอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวไปในตัว

โดยหลักแล้วผมว่ามันคือการเรียนรู้นอกชั้นเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง  เพราะคนที่ไปเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ เกี่ยวข้าวไม่เป็นกันทุกคน บางคนเพิ่งเคยเกี่ยวข้าวครั้งแรกในชีวิต  แต่ที่ไปก็เพราะอยากช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นเรื่องน่าแระทับใจที่สุด เพราะวิถีชีวิตความเป็นนิสิต จะมีสักกี่ครั้งที่ได้เห็นแสงแรกของยามเช้า และตากแดด เพื่อเรียนรู้ชีวิตของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ...

.....วิเศษ นาคชัย...

สวัสดีครับ พี่Bright Lily

"เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำเหล่านี้ของพี่ นะครับ...

....."ชีวิตแต่ละวันก็เหมือนหนังสือที่เขียนไม่รู้จบค่ะ หากผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เป็นผลึก...ไม่ว่าดีหรือร้าย ก็เป็นประโยชน์ในการที่จะเล่า เพื่อป้องกัน เพื่อก่อ เพื้อสร้าง เพื่อจรรโลงใจ ..... ให้ใครๆ ได้เรียนลัด..."

เพราะ  สุข หรือทุกข์ ล้วนเป็นครูของการใช้ชีวิต และการบอกเล่า ก็เป็นกลไกหนึ่งของการแบ่งปันในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "คน" การบอกเล่า ไม่เพียงช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน แต่ยังหมายถึงการหนุนเสริมพลังของการใช้ชีวิตไปในตัว

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอยืนยันอีกคนค่ะ ว่าเรื่องเล่าเร้าพลัง มีอิทธิพล เปลี่ยนชีวิตคนในแต่ละจังหวะได้อย่างดียิ่งค่ะ

เรื่องเล่าล่าสุดร้อนๆ เมื่อค่ำวันนี้เองค่ะ

สัปดาห์แห่งการ โฮมบุญใหญ่ พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี

ช่วงเวลาเดินทาง ไปกลับบริเวณงาน ใช้เวลานานเป็นชั่วโมง

เราจึงมีวงโสเหล่บนรถตู้ ทั้งรอบการเดินทางช่วงเช้าและค่ำ

ทั้งเรื่องหนักเรื่องเบา เป็นไปตามธรรมชาติ สร้างสรรค์บูรณาการอย่างเข้มข้น

เสียงฮาตลอดทาง ได้รู้จัก รู้ใจกันมากขึ้น

เป็นการทำค่ายย่อมๆ และเชื่อว่าเรื่องเล่าในวงโสเหล่ระหว่างทางนี้

จะพาบรรยากาศดีๆไปสู่การงานในชีวิตประจำวันได้ 

ให้กาลเวลาพิสูจน์สักระยะ ดูพัฒนาการของแต่ละคน องค์รวมขององค์กร มีรูปธรรมชัดพอเล่าได้ คงมีการบ้านมาส่งอาจารย์ค่ะ

ขอพระคุณสำหรับบันทึกอันทรงพลังนี้นะคะ สาธุ พุทธชยันตี ค่ะ :)

 

 

เรื่องดี ๆ ในชีวิตที่กลายเป็นหนังสือ สูงเท่าใดแล้วหนอ คุณแผ่นดิน ;)...

เด็ก ๆ เริ่มใช้ชีวิตเด็กหอและเริ่มเรียนหนังสือกันแล้วนะ

ผมมีหน้าที่บริหารจัดการและสอนสั่งต่อไป ;)...

เห็นด้วยมากที่สุดค่ะอาจารย์ ตั้งแต่เด็ก จะจำสิ่งที่ถูกสอนจากผู้เฒ่าในรูปแบบของเรื่องเล่ามากกว่าคำสอนธรรมดา ทุกวันนี้ก็ยังจำเรื่องที่อ่านในลักษณะเรื่องเล่ามากกว่า....(อันนี้เอาตัวเองเข้าวัดเต็มตัว)... :)

  • ชีวิตทุกคนมีเรื่องเล่าและเอามาเป็นบทเรียนให้กับตนเองและผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นด้านบวกหรือลบก็ตาม
  • ปรบมือดัง ๆ สำหรับข้อความนี้ค่ะ

การเล่าเรื่องคือกระบวนการจัดระบบระเบียบชีวิต  คือกระบวนการเจียระไนตะกอนชีวิตให้ตกเป็นผลึกชีวิต หรือแม้แต่การเล่าเรื่องคือกระบวนการของการส่งต่อความดีไปยังเพื่อนมนุษย์  เพื่อให้เพื่อมนุษย์ได้รับรู้-รับฟัง และยึดถือเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต

  • เรื่องเล่าคือการถักทอร้อยเรียงชีวิตให้มีคุณค่า งดงามและทรงพลังหล่อเลี้ยงผู้คนในสังคม จนวันหนึ่งอาจจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของอนุชนรุ่นหลัง
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณTawandin

ผมชื่นชมนะครับกับมิตรภาพระหว่างการเดินทางที่พูดถึง และเชื่อว่าการสนทนา/โสเหล่กับระหว่างทางเช่นนั้น เป็นเสมือนการจัดการความรักควบคู่ไปกับการจัดการความรู้ดีๆ นั่นเอง..

ขอบคุณครับ
และขอเป็นกำลังใจในทุกๆ จังหวะของชีวิต นะครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ตอนนี้ว่าด้วยนวัตกรรมความคิดนิสิต ก็ทะลุไปเกือบ 20 ชิ้นแล้วครับ ตอนนี้ถอยมาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เฝ้ามองและเฝ้าดูถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงในยามที่ไม่มีเราอยู่ ตรงนั้น...

คิดถึงทุกคนมากโขเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท