ชีวิตที่พอเพียง: ๑๕๗๒. เรียนรู้จากนักธุรกิจแนวใหม่


 

          บทความในนิตยสาร Forbes Asia, May 2012 คอลัมน์ The Global 2000  เรื่อง Jeff Bezos Gets It กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้   บันทึกทำความเข้าใจการทำมาหากินกับการเปลี่ยนแปลง   หรือทำมาหากินอยู่ที่พรมแดนของการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในสังคม

 

          นี่คือการทำมาหากินของร้าน Amazon.com ที่เคลื่อนตัวก้าวข้ามการเป็นร้านขายหนังสือ ออนไลน์ ไปสู่การขายสินค้าทุกชนิด รวม ๒๐ ล้านผลิตภัณฑ์   มีลูกค้า ๑๖๔ ล้านคน   พนักงาน ๕๖,๐๐๐ คน   ที่ถือได้ว่าเป็นอัจฉริยะด้านการทำธุรกิจ ออนไลน์   โดยต้องค่อยๆ อ่านบทความทั้งเรื่องนะครับ จึงจะเห็นความอัจฉริยะหลายด้าน

 

          ด้านหนึ่งคือวิธีการจัดการและพัฒนาไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า    ผมชอบวิธีการ “the empty chair” คือในห้องประชุมฝ่ายบริหาร เขาจะมีเก้าอี้ว่างไว้ ๑ ตัว    ถือว่าเป็นเก้าอี้ของลูกค้า    หมายความว่าในการคิดริเริ่มต่างๆ ทางธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา    อย่างหนึ่งคือความเร็ว ทั้งในการส่งสินค้า และความเร็วของ เว็บไซต์ Amazon.com    ความพิถีพิถันของ Jeff Bezos เป็นรองก็แต่ Steve Jobs เท่านั้น   ดังนั้นตอนนี้จึงถือกันว่า เขาเป็นมหาเศรษฐี (สินทรัพย์ ๑๙,๐๐๐ ล้านเหรียญ) ด้านไอที ที่เป็นคนพิถีพิถันที่สุดในเรื่องต่างๆ ของธุรกิจ   เขาบอกว่า เขาเป็นทั้ง quant และ dreamer   คือเป็นทั้งคนบ้าตัวเลข และเป็นนักฝัน

 

          Amazon ใช้วัฒนธรรมตัววัด (the culture of metrix) โดยเขาใช้ไอทีวัดและคำนวณตัวชี้วัดเป้าหมายที่วัดได้ถึง ๕๐๐ ตัว   คอยตรวจสอบประสิทธิภาพของการเอาใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลา    ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวชี้วัดแต่ละตัวกับการซื้อสินค้าหรือบริการ   เช่นการที่หน้าเว็บช้าไป ๐.๑ วินาที สัมพันธ์กับลูกค้าเข้ามา shopping ลดลง ๑%

 

          อ่านทั้งหมดแล้ว ผมสรุปว่าเขาพิถีพิถันหมั่นหาทางปรับปรุงการทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลา    โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประสิทธิภาพ หรือการลดความสูญเปล่า ในเรื่องสำคัญๆ   แต่ที่ผมแปลกใจคือความขี้เหนียวของเขาในเรื่องสถานที่ทำงาน และเฟอร์นิเจอร์   และมีกฎว่า ไม่มีใครในบริษัทได้สิทธินั่งเครื่องบินชั้น ๑   รวมทั้งค่าตอบแทนส่วนที่เป็นเงินต่ำอย่างน่าแปลกใจ คือเงินเดือนของผู้บริหารสูงสุด ๕ คน คนละไม่เกิน $175,000 ต่อปี  และตัว Bezos เองได้เงินเดือนเพียงปีละ $81,840   ซึ่งทำให้เราเดาได้ว่า เขาตอบแทนอย่างอื่น เช่นหุ้นมากกว่า

 

         เขาบอกว่า แม้ Bezos จะรวยเป็นมหาเศรษฐี และ Amazon จะประสบความสำเร็จขยายตัวมากมาย   แต่ Bezos ก็ยังทำตัวเหมือนเป็นผู้บริหารของบริษัท start-up คือคอยคิดหาความริเริ่มสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา    รวมทั้งอารมณ์ดีอยู่เสมอ   การริเริ่มสร้างสรรค์ของ Amazon อยู่บนฐาน data-driven customer focus

 

          ผมขอเชิญชวนให้อ่านบทความนี้ และอย่าลืมอ่าน “บัญญัติสิบประการ” ของ Jeff Bezos

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 489767เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท