ข้อคิดจากวันวิสาขบูชา/พุทธชยันตี


เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรงกับวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวิสาขมาส วันวิสาขบูชาจึงนับว่าเป็นวันที่มีปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครเสมอเหมือน และเป็นความมหัศจรรย์ที่พุทธศาสนิกชนต่างก็รำลึกถึงด้วยความปีติและด้วยความสุขความเบิกบานใจตลอดเวลา

 

 

 

สถานีความคิด :

ข้อคิดจากวันวิสาขบูชา/พุทธชยันตี

 

                                                  

 

เพลง "สัมพุทธะชยันตี"
เพลงฉลองวาระครบรอบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

(ฉบับของประเทศศรีลังกา)

 

 

       

                                                   

            สำหรับชาวพุทธโดยทั่วๆ ไปแล้ว วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี นับว่าเป็นวันที่มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากต่อจิตใจของชาวพุทธ เป็นวันแห่งความสุข ความหวัง และความทรงจำที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าเป็น “วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันคล้ายกับวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยวันวิสาขบูชาของปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 4  มิถุนายน 2555

            ปีนี้เป็นปีที่มีความหมายที่สำคัญเป็นพิเศษสำหรับพระพุทธศาสนาและชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองกันขึ้นทั่วโลก ในนามของ “พุทธชยันตี”

            ย้อนกลับไป เมื่อคราวที่มีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมในขณะนั้นได้มีมติเห็นชอบที่จะประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ( โดยเป็นการเสนอของประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศตัวแทนที่มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก) เนื่องจากเห็นว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทั้งนี้เพราะว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนาได้ทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรม มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน และมีขันติธรรม เพื่อสร้างสรรค์ความสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นหลักการและแนวทางของสหประชาชาติ

                การที่ที่ประชุมของสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ จึงนับว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันแรกที่สหประชาชาติประกาศให้การรับรอง ซึ่งเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรที่จะมีความปลาบปลื้มปีติยินดี  และภาคภูมิใจเป็นที่สุด

            ดังนั้น  วันวิสาขบูชา ปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นวันที่มีความสำคัญเฉพาะต่อประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น  หากแต่ยังเป็น “วันสำคัญของโลก” อีกวันหนึ่งด้วย

                สำหรับประเทศไทยเรานั้น วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการประจำปีติดต่อกันมาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทุกท่านได้มีโอกาสทำบุญหรือทำความดี โดยการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ การรักษาศีล การฟังพระธรรมเทศนา และการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น 

 


ประวัติความเป็นมา


                ในส่วนของประวัติและความเป็นมาของวันวิสาขบูชานั้น ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวเอาไว้ว่า ขณะที่พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ กำลังเสด็จประพาสอุทยานลุมพินีวัน(ปัจจุบันอยู่ในเมืองรุมมินเด ประเทศเนปาล)           ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวหะอยู่นั้น ณ ที่แห่งนั้นพระนางสิริมหามายาได้ทรงประชวรพระครรภ์อย่างกระทันหัน  และได้ทรงประสูติพระโอรสขึ้นมา เมื่อเช้าวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ปีจอ  ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ต่อมาพระโอรสทรงได้รับการขนานพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ

            เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา ซึ่งชีวิตพระองค์ทรงมีแต่ความสุข เพราะทรงได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากทุกๆ คน เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เจ้าหญิงยโสธราทรงประสูติพระโอรสนามว่า “ราหุล”  โดยในคืนวันที่พระโอรสประสูตินั้น พระองค์ทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตและโลก จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระองค์ทรงหวังที่จะช่วยชาวโลกให้พ้นจากทุกข์ จึงได้ทรงสละความสุขนานาประการ  และเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ และทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหน่วง ภายหลังจากที่พระองค์ทรงผนวชได้ 6 ปี       เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา  พระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ใต้ต้นมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ(ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี  (หรือเมื่อ 2,600  ปีที่แล้ว)

            หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโดยการเสด็จเทศนาสั่งสอนประชาชนในชมพูทวีป(ประเทศอินเดีย)อยู่เป็นเวลา 45 ปี และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ(ปัจจุบันเรียกว่า กาเซีย อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) สิริรวมพระชนมายุได้ 80 พรรษา

          เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรงกับวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวิสาขมาส วันวิสาขบูชาจึงนับว่าเป็นวันที่มีปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครเสมอเหมือน และเป็นความมหัศจรรย์ที่พุทธศาสนิกชนต่างก็รำลึกถึงด้วยความปีติและด้วยความสุขความเบิกบานใจตลอดเวลา

 

ข้อคิดและหลักธรรมจากวันวิสาขบูชา


                ในแต่ละปีที่วันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบ นอกเหนือจากจะพากันทำบุญหรือทำความดีในรูปแบบต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรจะตระหนักให้มากที่สุด นั่นก็คือ การนำเอาข้อคิดและหลักธรรมที่ได้จากวันวิสาขบูชาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับชีวิตและสรรพสิ่งให้มากที่สุด

                มีหลักธรรมอยู่ 2 ประการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาโดยตรง ที่ชาวพุทธทุกคนควรจะศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต นั่นคือ หลักคำสอนเรื่อง อริยสัจ 4กับ “ความไม่ประมาท”

               กล่าวกันว่าธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหรือตรัสรู้ใต้ต้นมหาโพธิ์ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เมื่อ 2,600 ปีมาแล้วนั้น ก็คือ หลักคำสอนที่เรียกว่า “อริยสัจ 4 “ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ:

              1.  ทุกข์    คือ  ปัญหาหรืออุปสรรคของชีวิต

          พระพุทธองค์ทรงตรัสความจริงแห่งชีวิตประการแรกให้ทุกคนได้ทราบว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยปัญหา มนุษย์ทุกคนล้วนมีความทุกข์หรือปัญหาเหมือนๆ กัน ไม่มีใครที่จะมีความสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ทั้งปัญหาขั้นพื้นฐานและปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์หรือปัญหาพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย และการล้มหายตายจาก ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตต่างๆ เช่น ความเหงา ว้าเหว่ อ้างว้าง คิดถึงบ้าน  เป็นต้น


              2.  สมุทัย  คือ  สาเหตุแห่งการเกิดปัญหาหรือความทุกข์

          ความจริงแห่งชีวิตประการที่สองที่พระพุทธองค์ตรัสสอนก็คือ พระองค์ตรัสสอนทุกๆคนว่าเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม ขอให้เข้าใจว่าปัญหาเหล่านั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ   หากแต่จะต้องมีสาเหตุทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นในชีวิต ก็คือ ตัณหาหรือความอยากต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นไม่มีที่สิ้นสุด คือ ความอยากจะมีอยากจะได้(กามตัณหา) อยากจะเป็นนี่เป็นนั่น(ภวตัณหา) และความรู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากจะเป็นอะไรต่อไปอีกแล้ว(วิภวตัณหา) นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายอยากที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหา เช่น ความโง่งมงาย ความยึดมั่นถือมั่น ความไม่รู้จักพอ  เป็นต้น

            3.   นิโรธ   คือ  การดับหรือการแก้ไขปัญหา

            ความจริงแห่งชีวิตประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราสามารถที่จะแก้ไขได้ทั้งสิ้น  เมื่อทุกข์ที่ใด ก็จงดับหรือแก้ไขตรงนั้น ด้วยว่าไม่มีความทุกข์หรือปัญหาใดๆ ในโลกนี้ ที่เราจะดับไม่ได้

            4.  มรรค  คือ  หนทางหรือหลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่การดับหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

          ความจริงแห่งชีวิตประการที่สี่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ความทุกข์หรือปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น แต่ละคนสามารถที่จะแก้ไขได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่อง “มรรค 8” ได้แก่ การเข้าใจถูกต้อง, คิดถูกต้อง, พูดถูกต้อง, ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง, เลี้ยงชีพด้วยความถูกต้อง, หมั่นเพียรในสิ่งที่ถูกต้อง, ตั้งสติหรือระลึกถึงแต่สิ่งที่ถูกต้อง, และตั้งใจแน่วแน่ในทางที่ถูกต้อง

            หากพิจารณาตามหลักอริยสัจแล้ว เราจะเห็นว่า ชีวิตก็คือกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยธรรมชาติ เราต่างก็เกิดมาพร้อมกับความทุกข์หรือปัญหา ทั้งปัญหาภายนอกและปัญหาภายใน ทั้งที่เกิดจากตนเองและจากการที่คนอื่นทำให้เกิดขึ้น  เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง จนกว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายหรือดับไป โดยการใช้สติปัญญาและความอดทนเข้มแข็งเข้าไปเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ซึ่งถ้าหากว่าเราได้ลงมือกระทำอย่างจริงจังแล้ว ในที่สุดทุกๆ อย่างในชีวิตก็จะดีขึ้นเอง

            หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน  ได้แก่ “ความไม่ประมาท” หรือ “สติ” คือ การระลึกรู้ทันสิ่งที่คิด พูดและทำ โดยในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การรู้จักใช้ชีวิตด้วยความฉลาด การไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และการระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ 4 คือ การเดิน ยืน นั่ง และนอน โดยสติจะมีความเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของชีวิต การดำเนินชีวิตด้วยการใช้สติและปัญญานำทาง จึงเป็นหลักประกันที่จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับชีวิตและทุกๆ สิ่ง

            พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกให้การยกย่อง เพราะตลอดชีวิตของพระองค์นั้น พระองค์ทรงทำงานอย่างหนักหน่วง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อรังสรรค์ประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติทั้งปวง ในชีวิตและพระทัยของพระองค์ทรงมีแต่คำว่างานและงานเท่านั้น พระองค์ทรงทำหน้าที่ของความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้แต่ในนาทีสุดท้ายก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงตรัสสอนเหล่าพุทธบริษัทเป็นปัจฉิมโอวาทส่งท้ายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  พวกเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเเถิด” ซึ่งเป็นพระวาจาที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก ความเมตตา และความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งฟังแล้วช่างรู้สึกสะท้านสะเทือนจิตใจของทุกคนยิ่งนัก

            ดังนั้น ในโอกาสที่วันวิสาขบูชาเวียนมาถึงอีกครั้งในปีนี้ และเป็นปีแห่ง “พุทธชยันตี” ด้วย เราทุกคนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงควรที่จะพากันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงมีต่อชาวโลก รวมทั้งพากันทำความดีและบำเพ็ญบุญกุศลในรูปแบบต่างๆ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา

            ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ การนำเอาข้อคิดหรือหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา ไปใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อยังประโยชน์ ความสุข และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าให้เกิดขึ้นทั้งกับชีวิตตนเอง สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา ตลอดกาลนาน

 



หมายเลขบันทึก: 489739เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ คุณ Tawandin

 

ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่กรุณานำบทเพลงพุทธชยันตี ภาคภาษาไทยมาลงไว้เพิ่มเติมในบันทึกนี้ ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีความหมายดีมากๆ เลยนะครับ

ขอบคุณน้องที่เก็บความรู้มาฝาก ได้รับประโยชน์มากในวันสำคัญนี้

สวัสดีครับ คุณพี่ nui

 

ขอให้คุณพี่มีความสุข เบิกบานกายใจ และเบิกบานในธรรมตลอดเวลานะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท