CaseStudy1: พี่สาว-น้องสาว คนละพ่อ ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจะรู้ไหม


     วันก่อนจินตนารับโทรศัพท์ ขอปรึกษาเรื่องราวการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอใน case ที่ค่อนข้างซับซ้อน น่าสนใจ ก็เลยถือโอกาสมาเล่าสู่กันฟังครับ เรื่องราวมีอยู่ว่า

  • มีตากับยาย แต่งงานกัน มีลูกสาว 2 คน คือ แม่ กับพี่ของแม่ (ป้า) 
  • แม่แต่งงานกับพ่อ มีลูก 2 คน เป็น ผู้ชาย 1 คน ชื่อว่า A กับลูกสาว 1 คน ชื่อว่า B
  • ป้าไปแต่งงาน แล้วมีลูกสาว 1 คน ชื่อว่า C
  • B ถูกป้าขอไปเลี้ยงเป็นลูก ตั้งแต่เด็ก โดย B ก็เข้าใจว่า ตนเองเป็นลูกของป้า และปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นพี่น้องร่วมแม่เดียวกับ A แต่ยอมรับว่าตนเองเป็นพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันกับ C

     ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ ป้าตาย แล้วทิ้งมรดกจำนวนมากไว้ โดย B ได้เป็นผู้จัดการมรดก แต่มีผู้ร้องคัดค้านว่า B ไม่ใช่ลูกของป้า ไม่ควรเป็นผู้จัดการมรดก ควรจะเป็น C ซึ่งเป็นลูกสาวที่แท้จริงของป้า เป็นผู้จัดการมรดกแทน 

     เราคงทิ้งปัญหาเรื่องผู้จัดการมรดกไว้ข้างหลัง ไม่ไปวุ่นวายกับเขา เอาเป็นว่า ประเด็นของเรา คือ เราจะตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอชนิดใด เพื่อเปิดเผยเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นจริง โดยมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าจะ ตา ยาย พ่อ แม่ ป้า หรือสามีของป้า ต่างก็มีนัดไปอบรมการใช้ iPad กับ Steve Job เรียบร้อยหมดแล้วครับ เหลือไว้แต่ A B และ C เท่านั้น

     หากพิจารณาชนิดของการตรวจดีเอ็นเอ จะพบว่า

     1. autosomal DNA หรือดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกาย ซึ่งมีการใช้ในระดับที่ยอมรับได้อยู่ 2 แบบ คือ การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล กับการตรวจความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูก หรือพ่อ-ลูก หรือ แม่-ลูก ในกรณีนี้เป็นการตรวจพี่น้องและเป็นการตรวจแยกพี่น้องที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใกล้ชิดให้แยกออกจากกันด้วย แม้ว่าหลายคนอาจแย้งว่า การใช้ autosomal DNA สามารถนำมาใช้ตรวจพิสูจน์พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน (full sibling) หรือกึ่งพี่น้อง (พ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือ แม่เดียวกันแต่คนละพ่อ : half sibling) ได้ แต่การตรวจแบบหลังนี้ ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และมีโอกาสผิดพลาดได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีความสัมพันธ์เป็นญาติใกล้ชิดอย่างในกรณีข้างบนนี้ด้วยแล้ว ค่อนข้างเสี่ยงมากครับ โดยสรุป ก็ต้องกล่าวว่า ไม่น่าจะใช้ autosomal DNA แยกได้ครับ

     2. mitochondrial DNA ซึ่งเป็นดีเอ็นเอที่ถ่ายทอดผ่านทางสายแม่เท่านั้น เอาไว้ตรวจความสัมพันธ์ญาติร่วมบรรพบุรุษสายแม่เดียวกัน ในที่นี้จะเห็นว่า A และ B มีรูปแบบดีเอ็นเอบนไมโตคอนเดรียเหมือนกับแม่ และเหมือนกับ ยาย ส่วน C มีรูปแบบดีเอ็นเอ เหมือนแม่ของเขา ซึ่งก็คือ ป้า และเหมือนของยาย เพราะฉะนั้น ทั้ง A B และ C จะมีรูปแบบดีเอ็นเอบนไมโตคอนเดรีย เหมือนกันหมด จึงไม่สามารถใช้ตรวจแยกออกจากกันได้

     3. Y-STR เป็นรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศชาย คนที่จะมีโครโมโซมวายได้ ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ในที่นี้จึงตรวจได้เฉพาะ A ส่วน B และ C เป็นเพศหญิง จึงไม่สามารถตรวจ Y-STR ได้ 

     4. X-STR เป็นรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ๊กซ์ ซึ่งเป็นโครโมโซมเพศหญิง ในเพศหญิงจะมีโครโมโซมเอ็กซ์ 2 แท่ง ส่วนในเพศชายจะมีโครโมโซมเอ็กซ์ 1 แท่ง อาศัยหลักการที่ว่า ดีเอ็นเอของลูกได้รับถ่ายทอดครึ่งหนึ่งจากพ่อ และอีกครึ่งหนึ่งจากแม่เสมอ ดังนั้นหากเป็นลูกชาย แสดงว่าได้รับถ่ายถอดโครโมโซมวายจากพ่อ และโครโมโซมเอ็กซ์จากแม่ ทีนี้โครโมโซมเอ็กซ์ของแม่ มีอยู่ 2 แท่ง ดังนั้น ลูกชาย 2 คนร่วมแม่เดียวกัน อาจได้รับโครโมโซมเอ็กซ์คนละแท่งจากแม่ก็ได้ ดังนั้นการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ็กซ์ในพี่ชาย-น้องชายร่วมแม่เดียวกัน อาจมีรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ็กซ์ต่างกันได้ ส่วนถ้าเป็นลูกสาว แสดงว่า ได้รับถ่ายทอดโครโมโซมเอ็กซ์จากพ่อข้างหนึ่ง และจากแม่อีกข้างหนึ่ง ทีนี้โครโมโซมเอ็กซ์ของแม่มีอยู่ 2 แท่ง ดังนั้นในพี่สาว-น้องสาวร่วมแม่เดียวกัน อาจได้รับโครโมโซมเอ็กซ์จากแม่คนละแท่งกันก็ได้ แต่ทั้งสองคนนี้ต่างก็ได้รับโครโมโซมเอ็กซ์อีกข้างจากพ่อ แล้วพ่อซึ่งเป็นผู้ชายมีโครโมโซมเอ็กซ์เพียงข้างเดียว ดังนั้นในพี่สาว-น้องสาวร่วมพ่อเดียวกัน ต้องมีรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ็กซ์เหมือนกันครับ

     ดังนั้นในกรณีนี้ สามารถใช้รูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ็กซ์ (X-STR) ในการตรวจแยก B และ C ออกจากกันครับ โดยที่ B อ้างว่าตนเองเป็นพี่น้องร่วมพ่อเดียวกันกับ C ในที่นี้หากผลการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอชนิด X-STR ของ B และ C ออกมาต่างกัน แสดงว่า B และ C มีพ่อคนละคนกัน 

     ประเด็นที่ต้องระวังในเรื่องนี้

     1. แม้ว่าผลการตรวจ X-STR จะให้ผลการตรวจต่างกัน ก็สรุปได้แต่เพียงว่า ทั้ง B และ C ไม่ได้ร่วมพ่อเดียวกัน แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ใครเป็นพ่อที่ถูกต้องของทั้ง B และ C ในเรื่องนี้ จะต้องมีการใช้หลักฐานอื่นๆมาประกอบร่วมด้วย เพื่อยืนยันว่า ใครเป็นพ่อของ B และ ใครเป็นพ่อของ C

     2. หากผลการตรวจ X-STR ออกมาเหมือนกัน ยังไม่สามารถสรุปชัดเจนได้ว่า ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมพ่อเดียวกัน ทั้งนี้ ขึ้นกับจำนวนตำแหน่งของ X-STR ที่ตรวจว่ามีจำนวนมากเพียงพอ และน่าเชื่อถือมากเพียงพอหรือไม่ เช่น หากตรวจ X-STR 5 ตำแหน่ง อาจไม่มากพอที่จะยืนยันว่าทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมพ่อเดียวกัน แต่ถ้าตรวจ 17 ตำแหน่งหรือมากกว่านั้น จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

     Case นี้ ผู้โทรมาปรึกษาไม่ได้อยู่ทางใต้ครับ จินตนาก็เลยแนะนำให้ไปตรวจในกรุงเทพฯครับ ใครที่อยู่แถวกรุงเทพฯ ก็เตรียมตัวได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 489605เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท