บันทึกครูนิธิ-ความทรงจำที่งดงาม-วัยประถม


บันทึกครูนิธิ-ความทรงจำที่งดงาม-วัยประถม

บันทึกครูนิธิ-ความทรงจำที่งดงาม

     ความทรงจำที่งดงามเกี่ยวกับครู ที่ยังเบ่งบานและงดงามในใจ เป็นต้นแบบสำคัญ ที่ให้ยึดถือและเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน  จนเป็นคนและเป็นครูจนทุกวันนี้ มีมากมายหลายเรื่อง  และต้องขอกราบขอบพระคุณคุณครูทั้งหลายที่เคยได้อบรมสั่งสอนมาตั้งแต่อนุบาลจนจบอย่างทุกวันนี้ มาเป็นครูจึงรู้ว่าใจจริงของครูไม่ได้ต้องการให้ใครมาตอบแทนด้วยสิ่งของหรือเงินทอง แค่ได้ยินข่าวว่าลูกศิษย์ที่ตนเคยสอนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชีวิตที่มีความสุข ก็เติมพลังน้ำทิพย์ให้กับคนอาชีพครูได้ยืนหยัดสอนต่อได้แล้ว 

    

     ความทรงจำที่งดงามในช่วงประถม มีความทรงจำที่งดงามมีหลากหลายเรื่อง  ที่ครูหลาย ๆ คนได้ทำให้เราเป็นคน เป็นครู และเป็นแบบอย่างให้ดำเนินตามจนทุกวันนี้ 

    

     ในช่วงที่เรียนประถม 2 จัดว่าเป็นเด็กที่ฉลาดน้อยมาก  ไม่ทันคน  ไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร  ห่วงเล่นมากกว่าเรียน  ขี้กลัว  ไม่มั่นใจในตนเองเลย  จำได้ว่ามีครูท่านหนึ่งถามว่า

     “จังหวัดของเราอยู่ติดกับจังหวัดอะไรบ้าง?”

     เพื่อน ๆ หลายคนตอบได้ แต่เราตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าคำว่าจังหวัดมันคืออะไร ใหญ่แค่ไหน มันใช่ประเทศไหม  มันต่างกันอย่างไร  ถ้าให้ตอบก็คงตอบ

     “ลาวกับพม่า”  หรือไม่ก็ “โรงพักกับตลาด”

    

     ครูท่านนี้ก็ใจดีมาก คงรู้ว่าลูกศิษย์ฉลาดน้อย  ท่านก็ไปเอาแผนที่มาให้ดู  ครั้งแรกที่เห็น งง! อะไร? ไม่รู้จัก มีเส้นมีขีดยึกยือไปหมด  ครูคงเห็นเขาที่หัว ก็เลยเปิดหน้าต่อไป เป็นรูปโครงแผนที่ประเทศไทยแบ่งเป็นภาค แยกสีสวยงาม ให้นักเรียนวาดตามแผนที่ประเทศไทย  ให้ลงรายละเอียดว่า

     ....นี่คือประเทศไทย  ประเทศของเรา... ภาคนี้ชื่ออะไร?

     .....มีประเทศอื่นที่ไม่ใช่ของเราอยู่รอบ  ๆ ชื่อประเทศอะไรบ้าง.... .ใส่สีคนละสีนะ พอกิจกรรมนี้ผ่านไป  ชั่วโมงต่อมาก็เอาแผนที่ประเทศไทยที่มีรายละเอียดของจังหวัดมาให้ดูอีก  แล้วก็ชี้ให้เราดูว่า

     ....นี่ประเทศไทย ประเทศของเรา  ในประเทศถูกแบ่งออกเป็นจังหวัด  มีกี่จังหวัด....

     ..... บ้านเราอยู่ตรงไหน?  จังหวัดอะไร?   ตรงไหน?....

     ....รอบ ๆ ที่เราอยู่มีจังหวัดอื่นอยู่ด้วย  ชื่อจังหวัดอะไรบ้าง....

 

     ไม่รู้ว่าครูใช้เวลาคิดแผนการสอนนี้นานเท่าไหร่  ใช้เวลาในการค้นข้อมูลนานแค่ไหน  ใช้งบประมาณซื้อแผนที่หมดไปกี่บาท  เด็ก ๆ ออกไปยืนชี้ ยืนดู คุยกันอย่างนั้น อย่างนี้วุ่นวาย  ครูก็ไม่ดุซักคำ  ยืนยิ้ม  แถมชวนเด็กคุยอีกต่างหาก 

     “ใครเคยไปจังหวัดนี้บ้างไหม?”

     “เหรอ! หนูเคยไปหรือลูก ไปกับใคร? ไปหาใคร?ไปรถอะไร? ไปเที่ยวมาเหรอ?  เที่ยวที่ไหน?  จำชื่อได้ไหม?  เป็นอย่างไร?  เล่าให้ฟังซิ”

 

     บางคนก็ยกมือส่งเสียงว่าเคยไป อย่างนั้นอย่างนี้  เด็กบางคนรวมทั้งตัวเองด้วย ยืนเงียบ ๆ เพราะไม่รู้จัก ไม่เคยออกนอกพื้นที่ จัดอยู่ในกลุ่มเด็กในกะลา  ได้แต่ยืนฟังตาปริบ ๆ อิจฉาหน่อย ๆ ทำไม!  ทำไม!เพื่อนรู้จัก  ดูสิคุยใหญ่เชียว  เราคุยไม่ได้เพราะไม่รู้  เพิ่งรู้จากเพื่อนในห้องคุยกับครูนี่แหละ 

     ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการจัดทัศนศึกษาให้เด็ก ๆ เป็นการเปิดกะลาให้เขา  เขาจะได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น  เขาจะได้รู้ว่ายังมีอะไรอีกมากที่เขาต้องเรียนรู้  จะเห็นได้จากลูก ๆ พอโรงเรียนมีการจัดทัศนศึกษาต่างจังหวัด  เขาจะเอาแผนที่ประเทศไทยมากาง  แล้วดูว่าจังหวัดที่เขาจะไปทัศนศึกษาอยู่ตรงไหนของแผนที่  เขาจะหาความรู้ว่าที่เขาจะไปมีอะไรบ้าง  เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเพื่อน ระหว่างครูกับลูกศิษย์  ...นอกเรื่องไปหน่อย 

 

     ย้อนกลับไปที่ครูท่านนี้  สิ่งที่ท่านคุยกับเด็กมันคือความรู้ที่ไม่มีในตำราเรียน  เกิดจากความรู้ที่เป็นประสบการณ์ของเด็ก ๆ ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียน ทำให้เด็กมีความสำคัญ  สิ่งนี้ยังจำได้และนำมาใช้ทุกวันนี้  บางครั้งเราต้องยอมให้เด็กเป็นครูในชั้นเรียนบ้าง  บางครั้งเราต้องเรียนรู้จากเด็ก   อย่ายืนสอนอยู่คนเดียวหน้าชั้นเรียน

 

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกครูนิธิ
หมายเลขบันทึก: 489023เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอกราบครูผู้นั้นด้วยคน ...นี่แหละที่เขาเรียกว่า เมตตา ...ซึ่งครูไทยในอดีตมีมาก แต่วันนี้ มันหายไปมาก เพราะตามฝรั่งมากไป เอาระบบแข่งขัน คัดออกมาใช้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท