ชนิดของคำตามแนวคิดใหม่ (๖)


คำอุทาน คำปฏิเสธ

คำอุทาน

คำอุทานคือ คำ ที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น สะเทือนใจ ตกใจ ดีใจ เห็นใจ ประหลาดใจ สงสาร สงสัย เจ็บปวด เป็นต้น

คำอุทานมักปรากฏหน้าประโยค และในการเขียนมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับหลังคำอุทานนั้น เช่น

โถ ! เจ้าเขี้ยวเงินไม่น่าตายเลย

ว้าย ! ช่วยด้วย

โธ่ ! ไม่น่าเป็นเช่นนี้เลย

ไชโย ! ฉันสอบได้ที่หนึ่งแล้ว

โอ้โฮ ! แต่งตัวสวยจัง

ตายจริง ! ลืมแว่นอีกแล้ว

ตายละวา ! แย่แล้ว

เชอะ ! สอบได้แค่นี้เองหรือ

ทุเรศ ! พูดอะไรหยาบคายอย่างนั้น

คำอุทานไม่จัดเป็นส่วนหนึ่งของประโยค กล่าวคือ ไม่เป็นนามวลีหรือกริยาวลี คำอุทานทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านรู้ว่า ผู้พูดหรือผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างไร ในการพิจารณาความหมายของคำอุทาน จึงต้องพิจารณาให้สัมพันธ์กับเนื้อความของประโยคที่ตามหลังคำอุทานนั้น ๆด้วย

คำปฏิเสธ

คำปฏิเสธคือ คำที่ใช้บอกปัดหรือไม่ยอมรับ คำปฏิเสธจำแนกเป็น 2 ชนิด คือ คำปฏิเสธกริยาและคำปฏิเสธข้อความ

1.  คำปฏิเสธกริยา ได้แก่คำว่า มิ ไม่ หาไม่ และ หา...ไม่

คำปฏิเสธกริยา มิ ไม่ ปรากฏหน้าคำกริยา เช่น

ผมมิใช่คนดีอะไร

คนหลายคนไม่ชอบทุเรียน

เขาเดินไม่ระวังรถ

วันนี้ท้องฟ้าไม่แจ่มใส

คนร้ายไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของใครหรอก

คำปฏิเสธกริยา ไม่ มักปรากฏหน้าคำกริยานำ ค่อย น่า ได้ ใคร่ เคย ต้อง และใช้ร่วมกับกริยานำเหล่านั้น หากตัดคำกริยาปฏิเสธ ไม่ ออกมักตัดคำกริยานำออกด้วย เช่น

ตอนเที่ยงไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่อยู่ในห้อง

ตอนเที่ยงมีเจ้าหน้าที่อยู่ในห้อง

รถคันใหม่ไม่น่ากินน้ำมัน

รถคันใหม่กินน้ำมัน

สามีฉันไม่ใคร่อยู่บ้าน

สามีฉันอยู่บ้าน

คำปฏิเสธกริยา หาไม่ ปรากฏหน้าคำกริยาและอาจอยู่หลังคำเชื่อมเสริม ก็ เช่น

เขาจะสำนึกผิดก็หาไม่

เขายากจนข้นแค้นก็หาไม่

คำปฏิเสธกริยา หา...ไม่ ปรากฏล้อมคำกริยา เช่น

เธอหารู้ไม่ว่ากำลังทำลายชื่อเสียงของตนเอง

เด็ก ๆ หาคิดไม่ว่าผู้ใหญ่เป็นห่วงเขามาก

2.  คำปฏิเสธข้อความ ได้แก่ หามิได้ มิได้ เปล่า โดยมากคำปฏิเสธข้อความมักใช้ปฏิเสธคำถาม เช่น

ก  :  คุณมากับภรรยาหรือ

ข.  :  หามิได้

ก  :  ถ้าอย่างนั้นคงมากับเพื่อน

ข.  :  มิได้

ก  :  คุณดูท่าทางเหนื่อยนะ

ข  :  เปล่า

หมายเลขบันทึก: 488677เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท