ชนิดของคำตามแนวคิดใหม่ (๔)


คำลงท้าย

คำลงท้าย

คำลงท้าย หมายถึงคำที่ปรากฏในตำแหน่งท้ายสุดของประโยค ไม่มีความหมายเด่นชัดในตัวและไม่มีหน้าที่สัมพันธ์กับส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยค แต่ละคำอาจมีหลายรูปซึ่งอาจแตกต่างกันไปในเรื่องเสียงวรรณยุกต์ ความสั้นยาวของเสียงสระ เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งสองเรื่องก็ได้ คำลงท้ายอาจแบ่งย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแสดงทัศนภาวะกับกลุ่มแสดงมารยาท

๑.  คำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ  (เจตนา ความรู้สึก) หมายถึง คำลงท้ายที่แสดงเจตนาหรือความรู้สึกด้วยการออกเสียงต่าง ๆกัน จะสังเกตได้ว่าถ้าออกเสียงสระเสียงสั้นและลงน้ำหนักเสียง มักเป็นคำสั่งหรือแสดงอารมณ์โกรธ ถ้าออกเสียงสระยาวหรือไม่ลงน้ำหนัก มักแสดงเจตนาชักชวน ขอร้อง โน้มน้าว ออดอ้อน เป็นต้น คำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ เช่น ซิ นะ เถอะ ล่ะ

        เงินทอนล่ะ

        ทำไมเขาไม่มาล่ะ

        ไปแล้วละ[1]

        พรุ่งนี้เป็นวันหยุดนะ

        เข้ามาซิ

คำ ซิ่ อาจจะใช้แตกต่างจากตัวอย่างข้างบนนี้ก็ได้ และอาจจะใช้แตกต่างจาก เถอะ และน่า เช่น กรณีต่อไปนี้

        เข้ามาซิ่

        เข้ามาเถอะ

        เข้ามาน่า

คำลงท้ายกลุ่มนี้อาจใช้ด้วยกันก็ได้ เป็น ซิ[2] นะ เถอะ1 นะ เช่น

        เขาคงสนิทกันมากซินะ เห็นไปไหนมาไหนด้วยกันเรื่อย ๆ

        ไปเป็นเพื่อนเขาหน่อยเถอะนะ

        เขาคงเห็นด้วยกับเธอล่ะซินะ

๒.  คำลงท้ายแสดงมารยาท  หมายถึง หมายถึง คำลงท้ายแสดงความสุภาพหรือไม่สุภาพ ขณะเดียวกันก็แสดงสถานะระหว่างผู้พูดด้วย ดังนี้

ใช้แสดงความสุภาพ ได้แก่ ครับ คะ ค่ะ ขา เช่น

        รถมาแล้วครับ

        พร้อมแล้วใช่ไหมคะ

        ดิฉันไม่สบายค่ะ

คำลงท้ายแสดงความไม่สุภาพ เช่น

        จะไปไหนกันดีวะ

        รถติดจังเลยหว่ะ

        อยากกินอะไรบ้างย่ะ

        เข้าใจแล้วย่ะ

ใช้แสดงจริตหรือแสดงการประชด ได้แก่ ยะ ย่ะ เช่น

        วันนี้ลมอะไรหอบมาถึงที่นี่ได้ยะ

        ฉันสวยย่ะ

ใช้แสดงว่าผู้พูดเป็นชาย ได้แก่ ครับ ขอรับ เช่น

        ผมอาสาแจ้งเขาให้ครับ

        คุณผู้ชายขอรับ

ใช้แสดงว่าผู้พูดเป็นผู้หญิงได้แก่ คะ ค่ะ ขา เช่น

        พัสดุเพิ่งมาถึงเมื่อวานนี้ค่ะ

        คุณมาคนเดียวหรือคะ

        คุณผู้จัดการขา

ใช้เพราะไม่ต้องการระบุเพศที่แน่ชัดของตนเอง ได้แก่ ฮ่ะ เช่น

        อายุ  ๑๔  ปีแล้วฮะ

คำลงท้ายแสดงมารยาทอาจร่วมกับคำลงท้ายแสดงทัศนภาวะได้ โดยจะปรากฏหลังคำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ คือ ตำแหน่งสุดท้ายของประโยค เช่น

        เข้ามาซิคะ

        อาหารร้านนี้อร่อยนะคะ

        อยากกลับบ้านแล้วครับ

คำลงท้ายแสดงมารยาท มักปรากฏท้ายประโยคบอกเล่าหรือประโยคคำถามดังแสดงตัวอย่างมาแล้วข้างต้น เฉพาะคำลงท้ายแสดงมารยาทที่แสดงความสุภาพอาจใช้เป็นคำขานรับได้ เช่น

        ครับ ผมเอง

        ขา อยู่นี่ค่ะ

        จ๋ามีอะไรหรือจ้ะ



[1] ออกเสียงวรรณยุกต์สามัญ

[2] ออกเสียงวรรณยุกต์สามัญ

คำสำคัญ (Tags): #คำลงท้าย
หมายเลขบันทึก: 488672เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 06:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ :D

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท