Leo Szilard (2)


บทเรียนจากอดีต

ชีวิตทางวิชาการของ Szilard ก็น่าสนใจ

ในฐานะที่เป็นฮังกาเรียน-ยิวตั้งแต่เกิด เขาจึงได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่เด็ก เพราะคนฮังการีในรุ่นเดียวกับเขาจำนวนมาก ได้รับรางวัลโนเบลกันเป็นว่าเ่ล่น ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ตัวอย่างคนดังฮังกาเรียนที่พอจะคุ้นหูคนไทยได้แก่ John von Neumann (บิดาแห่งดิจิคัลคอมพิวเตอร์), Paul Erdős (นักคณิตศาสตร์ เจ้าของตำนาน "ชายผู้รักตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ")

เขาเรียนต่อเอกทางฟิสิกส์กับ von Laue เรียนได้ไม่กี่สัปดาห์ก็พิสูจน์ว่ากฎข้อสองของ thermodynamics สามารถอธิบายการเกิดการกระเพื่อม (fluctuation) ของสมดุลทางอุณหพลศาสตร์ได้ ซึ่งแม้แต่ไอนสไตน์ก็ยังทึ่งกับบทพิสูจน์นี้ และเรื่องนี้ก็กลายมาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาในทันที

เขายังเขียนงานวิชาการที่เชื่อมโยง Entropy กับทฤษฎีข้อมูลตั้งแต่ก่อนลี้ภัย จึงถือว่าเขาเป็นนักบุกเบิกยุคแรกของ information theory ได้คนหนึ่ง

เขายังมีจดสิทธิบัตรร่วมกับไอนสไตน์สร้างตู้เย็นที่ไม่ต้องมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่ได้ แม้ไม่ได้ใช้ตามบ้านเพราะสารเคมีที่ใช้ก่อมลพิษ แต่แนวคิดนี้ก็นำไปใช้กับระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวลาต่อมา

แนวคิดเรื่องเครื่องซินโครตรอนนี่เขาก็เกี่ยวข้องไม่น้อย 

ตอนลี้ภัยไปอังกฤษช่วงแรก เขาปิ๊งไอเดียว่าจะสร้างระเบิดปรมาณูได้โดยการทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ได้อย่างไร และเขามองออกว่าเพราะอะไรเยอรมันจึงสร้างระเบิดปรมาณูเองไม่สำเร็จ การค้นพบนี้เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการสร้างระเบิดปรมาณูต่อมา

ภายหลังเมื่อลี้ภัยต่อไปสหรัฐ เขาก็ยุให้ไอนสไตน์เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดี เพื่อสร้างระเบิดปรมาณูที่เขามองว่า จะส่งผลกระทบทางยุทธศาสตร์การรบอย่างใหญ่หลวง 

แต่เมื่อระเบิดสร้างเสร็จ เขาประเมินว่าสงครามจบได้เองโดยไม่ต้องใช้ระเบิดนี้ และมองออกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมโลกในยุคต่อไป  เขาพยายามกลับลำหันมาขวางการใช้จริง มองว่าใช้ขู่ก็พอ แต่สายไป ระเบิดถูกหย่อนที่ญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งเกิดเป็นยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น

มีตำนานเล่าว่า ช่วงที่สร้างระเบิดอยู่ Enrico Fermi (ชาวอิตาเลียน) ตั้งคำถามกับคนอื่นว่า มวลหมู่ดาราจักรอันไพศาล หากมีอารยธรรมนอกโลกที่ก้าวหน้ากว่าเราเพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น  (ซึ่งสั้นมากเมื่อเทียบกับอาุยุดาว จนแทบจะถือว่า เป็นเวลาพริบตาเดียว) ก็น่าจะก้าวหน้าพอจะท่องดวงดาว กระจายอาณานิคมไปทั่วฟากฟ้าไพศาลแล้ว และอย่างน้อยต้องมีส่งสัญญาณคลื่นวิทยุออกมา แรงชัดพอที่เราจะตรวจหาได้  

"ถ้ามีทำไมไม่มา

หรือว่ามาแล้ว

...หรือว่ามันแอบมาปะปนอยู่กับเราแล้ว ?" 

วลีอันลือลั่นนี้ เรียก Fermi paradox ที่สร้างความฮือฮาให้นักวิทยาศาสตร์ปวดหัวคิดมาตลอดหลายสิบปี จน Stephen Baxter เห็นลู่ทาง นำ Fermi Paradox นี้ ไปเป็นแก่นโครงเรื่อง Manifold: Space ซะเลย โดยให้ alien โผล่มาตอนมนุษย์กำลังจะเริ่มตั้งอาณานิคมนอกโลกพอดี 

(Baxter คนนี้นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุกเทียบได้กับ Isaac Asimov หรือ Arthur C. Clarke โดยอิงข้อมูลและแนวคิดใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่สมจริง ผมไม่แน่ใจว่ามีใครแปลออกมาบ้างแล้วยัง แต่เชื่อว่าถ้ามีแปล จะส่งเสริมให้เยาวชนใฝ่รู้เรื่องราวในแวดวงวิทยาศาสตร์ขึ้นอีกมาก)

ตำนานเล่าต่อว่า Szilard สวนกลับทันควันว่า "มีถมถืดไป ... ก็ไอ้พวกที่คุณเรียกพวกเค้าว่าฮังกาเรียนนั่นไง"

เป็นการเล่นคำว่า alien ที่ตีความได้สะใจ เพราะจะตีความว่าพวกฮังกาเรียนเก่งและฉลาดเหลือเชื่อยังกับ alien ก็ได้ หรือเป็นเพราะพวกฮังกาเรียนเป็นตัว alien ในมุมมองของฝรั่งด้วยกันเองตั้งแต่ต้นก็ได้ เพราะพวกนี้ใช้ภาษาที่ผ่าเหล่าไม่เหมือนใครเลยในยุโรป แม้แต่รัสเซียยังใช้ภาษาเขียนรากเหง้าจากภาษากรีกที่อยู่อีกฟากทวีป แต่ฮังการีอยู่ตรงกลางยุโรปแท้ ๆ กลับไม่เหมือนใครซะงั้น จนมีคนตั้งข้อสงสัยว่า พวกฮังการีนี่อาจจะเป็นพวกอพยพมาจากซินเกียงของจีนตั้งแต่เก่ากาลโน้นก็ได้

มี web แห่งหนึ่ง พูดถึงระบบการศึกษาฮังการียุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ว่าเป็นสุดยอดการศึกษา ที่สามารถบ่มเพาะอัจฉริยะมากมายให้โลกรู้จัก

http://www.fortunecity.com/victorian/riley/51/id4.htm

ใครที่เรียกตนเองว่านักการศึกษา คงต้องไปหาคำตอบละครับ ว่าทำไมระบบการศึกษาของฮังการีในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงโดดเด่นผิดปรกติอย่างนั้น เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าสมัยนั้น เป็นยุคที่มนุษย์ยังวิวัฒนาการไปไม่ถึงขั้นเขียน KPI เป็นด้วยซ้ำ !

ในไทยเราเอง เราก็คงจะเคยได้ยินว่ามีบางอำเภอ พบเด็กจำนวนมาก ที่สามารถกวาดรางวัลประกวดวาดภาพทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ มากจนเห็นชัดว่าไม่ใช่ความบังเอิญทางสถิติ

ซึ่งเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือได้ครูดี (ไม่ใช่ระบบการศึกษาดี เพราะถ้าอย่างนั้น จะต้องเกิดกับเด็กทั่วประเทศ ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่อำเภอเดียว หรือจังหวัดเดียวอย่างที่เป็นอยู่)

ข้อสรุปนี้ยังนำไปสู่อีกข้อสรุปหนึ่งก็คือ ครูดี คือครูที่สามารถปั้นดินให้เป็นดาว 

ไม่สิ..

ครูที่ดีกว่านั้นก็คือครูที่สามารถทำให้ดาวไม่ตกต่ำกลายเป็นดินต่างหาก

คงไม่ใช่เด็กเก่งแต่กำเนิดหรอก แต่เบ้าหลอมดีต่างหาก ที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพของมนุษย์ในตัวเองได้ในที่สุด สามารถงอกเงย และได้เติบโต

...จนเขียน KPI เป็นในที่สุด...

หมายเลขบันทึก: 48836เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านสนุกน่าสนใจมากค่ะ

กำลังหาข้อมูลของซิลาร์ดเพื่อไปประกอบบทความเรื่องอาวุธนิวเคลียร์อยู่พอดี

คุณ wwibul เขียนสนุกได้สาระดีจังเลยค่ะ

ขอบคุณมากๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท