เยี่ยมเกษตรกรถึงบ้านเรือนและไร่นาที่ระหาน


ไปให้กำลังใจเกษตรกรถึงบ้านเรือน ไร่นา ชุมชน

               สวัสดียามเช้าสมาชิกเครือข่ายชาว G2K ทุกท่าน ตื่นเช้ามาต้องออกกำลังกายนิดหน่อย เพื่อให้เหงื่อออก ฝึกเป็นประจำทุกๆวันเพื่อดูแลสุขภาพให้เข็มแข็ง อยู่เสมอนะครับ  จากนั้น ก็ขอเขียนบันทึกงานใน Blog สักบันทึกหนึ่ง พยายามลับสมองอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้สมองฝ่อครับ  จากนั้นก็จะขอเยี่ยมทักทายสมาชิกต่อไป เท่าที่เวลาจะอำนวย เพราะว่าช่วงนี้อากาศค่อนร้อนมาก  บางพื้นที่ก็มีการประกาศเป็นภัยพิบัติ(ภัยแล้ง และพายุ )ก็มีผลกระทบต่ออาชีพของพี่น้องเกษตรกรผู้ผลิตทางด้านสินค้าเกษตรอยู่เป็นประจำ  พวกเราที่ทำหน้าที่นักส่งเสริมการเกษตร หากไม่ไปให้กำลังใจเกษตรกรถึงบ้านเรือน ไร่นา ชุมชนแล้ว เราก็จะไม่รู้ข้อมูลด้านศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย จะไปถึงเป้าหมายแห่งนโยบายรัฐหรือไม่

 

 

                    ณ.สถานการณ์การผลิตในปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร ในความเห็นของกระผม หากหน่วยงานภาคี อาจจะรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ที่เรียกว่าผู้เกี่ยวข้องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่มีแนวทางในการทำงานร่วมกัน ไม่มีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง เราปล่อยเวลาให้มันผ่านไป สักวันหนึ่งหากต้นทุนการผลิตของสินค้าเกษตรมีต้นทุนที่สูงเกินไป จนเกษตรกรเขาขาดทุน และอยู่ไม่ได้ขึ้นมา มันจะกระทบถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแน่นอน ยิ่งในยุคแห่งการแข่งขันด้านการค้าแบบเสรีใกล้เข้ามา การพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรระดับต้นน้ำหากปล่อยให้เกษตรกรผู้ผลิตได้พัฒนาเพียงลำพังคงไม่ได้ เพราะว่าหากเราไปเยี่ยมถึงตัวเกษตรกร ไปเยี่ยมถึงบ้านเรือน และไร่นา เราจะเห็น เราจะทราบ ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน และ โอกาส ข้อจำกัดมีอยู่หลายประการนะครับ

 

 

                   ช่วงบ่ายของวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ผมและทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรถึงบ้านเรือนและไร่นา พร้อมไปให้กำลังใจในการลดต้นทุนการผลิตข้าว   ของปราชญ์ชาวบ้านที่เก่งสาขาทำนาสมารถลดต้นทุนได้ถึง ๓o% คือ คุณลุงวินัย  สุขกัลยา  อายุ ๕๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑o๓ หมู่ที่ ๒ ตำบลระหาร อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร การเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ณ.บ้านของคุณลุงวินัย เริ่มต้นคุณลุงวินัย ได้เล่าให้ทีมงานเราฟังว่า  แต่เดิมตนเองเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวนา ทำนาช่วยพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ได้แยกครอบครัวมาทำนาเองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ จำนวน ๒๗ ไร่ ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนกิจกรรมจากนามาทำการปลูกส้มเขียวหวาน  ประมาณ ๗-๘ ปีก่อน ประสบกับการขาดทุนย่อยยับ เป็นหนี้ธนาคารที่กู้มาทำสวนส้มฯขณะนั้น ถึง ๕oo,ooo บาท ต่อจากนั้นได้บอกกับครอบครัวว่า เราต้องสู้กับการประกอบอาชีพด้านการเกษตรต่อไป ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ สิ่งที่ผ่านมาคือบทเรียนที่สำคัญของชีวิต จึงได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนกิจกรรมจากการทำสวนส้มฯ หันมาทำนาปลูกข้าวเหมือนเดิม เพราะว่ามีประสบการณ์ในการทำนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เป็นความโชคดีเพราะพื้นที่ทำนาของคุณลุงวินัย อยู่ในเขตชลประทานคลองวังยาง จึงมีน้ำในการทำนาตลอดฤดู

 

                  คุณลุงวินัย สุขกัลยา

 

       เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันณ.บ้านคุณลุงวินัย

 

 

                 คุณลุงวินัยไ ด้เล่าต่อไปว่าในปีที่ผ่านมานี้เองตนเองและครอบครัว ได้ทำนาทั้งสิ้นรวม ๓๓ ไร่( เช่าเพิ่มจากเดิม) ผลผลิตต่อไร่ที่ได้ ประมาณ ๙o-๙๕ ถังต่อไร่ นับว่าได้ผลผลิตเฉลี่ยที่สูงในเขตชุมชนนี้ บอกได้เลยว่า เทคนิคการทำนาของตนเอง ใช้ปุ๋ยเคมีควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำมาผสมกันในอัตรา ๑:๓(เคมี๑ส่วน:อินทรีย์ ๓ส่วน) โดยทำการใส่ปุ๋ยโดยวิธีหว่าน จำนวน ๓ ครั้งคือ ครั้งที่๑ หว่านเมื่อข้าวมีอายุ ๒o วัน ครั้งที่๒ หว่านเมื่อข้าวมีอายุ ๔๕ วันและครั้งที่ ๓ หว่านเมื่อข้าวมีอายุ ๖o วัน พันธุ์ข้าวที่ใช้หว่าน เป็นพันธุ์ กข.๔๑ อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านจำนวน ๒o-๒๕ กิโลกรัมต่อไร่ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้ต้นข้าวแข็งแรง เจริญเติบโตดี เพราะตนเองผลิตและใช้น้ำหมักฮอร์โมนจากปลา เพราะในพื้นที่หาปลาง่าย ใช้เศษและเครื่องในปลามาทำเอง อัตราที่ใช้ ฮอร์โมนจากปลา จำนวน ๑ ลิตรต่อน้ำสะอาด ๒oo ลิตรผสมกัน ทำการฉีดพ่นให้แก่ต้นข้าว จำนวน ๔ ครั้งตลอดฤดูการผลิตข้าว๑ รอบ แต่ความจริงแล้ว ช่วงระยะของการเตรียมดิน ก็ไม่มีการเผาฟางเหมือนเกษตรกรรายอื่นๆ มีกาผลิตและใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางเอง   ทำการหมักฟางจนย่อยสลายดีแล้วค่อยไถและทุบ ทำเทือก ทุกครั้งทำให้ดินร่วนซุยดี

 

       แปลงพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของคุณลุงวินัย (อยู่ติดบ้าน)

 

  แปลงพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่อนุรักษ์พืชอาศัยของตัวห้ำตัวเบียน

 

 

                  นอกจากนี้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันคุณลุงวินัย ได้แบ่งพื้นที่ทำนา โดยทำเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุดี โดยมีการคัดพันธุ์ดีมาปลูก ปราศจากพันธุ์ปน มีการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมดิน หว่าน ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนหนึ่งก็แบ่งเก็บไว้ทำพันธุ์เองเพื่อจะเตรียมไว้ปลูกในฤดูต่อไป ที่เหลือก็จะมีเกษตรกรเพื่อนบ้านและที่อยู่ชุมชนข้างเคียงที่ทราบข่าว ก็จะมาขอแบ่งซื้อไปทำพันธุ์ปลูก นี่ก็เป็นการขยายพันธุ์ดีให้แก่เพื่อนบ้านด้วยกันเอง

 

 

                   จากการสนทนากัน(ลปรร.)เรื่องของการบันทึกต้นทุนการผลิตต่อไร่คุณลุงวินัย ได้กล่าวว่า มีการบันทึกต้นทุนการผลิตต่อ ๑ ไร่  ไว้เหมือนกันแต่ไม่ละเอียด เท่าที่จำได้ ก็จะคิดค่าใช้จ่าย เรื่องของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงใช้สำหรับสูบน้ำในการย่อยสลายฟาง การเตรียมดิน(ทุบ ทำเทือก )รวมสูบน้ำใส่ข้าวตลอดฤดู รวม ๕oo บาท, ค่าสารเคมีคุมวัชพืชและฆ่าแมลง รวม ๓oo บาท, ค่ากากชากำจัดหอยเชอร์รี่ ๒๕ บาท, ค่าปุ๋ยเคมีแลอินทรีย์ รวม๔๕o บาท ,ค่าจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตและค่าขนส่ง รวม ๖oo บาท ,ค่าเช่านา(ส่วนที่เช่า) ๑,ooo บาท สำหรับค่าแรงงานของครอบครัว ไม่ได้คิดเป็นตัวเงินนะครับ รวมค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนต่อไร่ประมาณ ๒,๘๗๕ บาทต่อ ๑ ไร่ หากคิดที่ผลผลิตเฉลี่ยที่ได้ต่อ ๑ ไร่ประมาณ ๙oo กิโลกรัม( ๙o ถัง) ราคาข้าวที่ขายได้ กิโลกรัมละ ๘ บาท เป็นเงินรวม ๗,๒oo บาท กำไรโดยเฉลี่ย ๔,๓๒๕ บาทต่อไร่ เป็นตัวเลขที่คุณวินัย บอกว่าพอใจ ที่ผ่านมาทำให้ปลดหนี้เก่าจากการทำไร่ส้มเขียวหวานหมดแล้ว ตอนนี้ชีวิตการเป็นอยู่ดีขึ้นมาตามลำดับ

 

  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันประเด็นการลดต้นทุนการผลิตข้าว

 

 

 

จากข้อสรุปจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ พบว่า

             ๑.  ทำให้คุณวินัย ได้มองเห็นว่าต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่สูงคือปัจจัยตัวไหนและจะลดต่ำลงได้หรือไม่ แต่ที่คุณวินัยยังเป็นห่วงในเรื่องของปุ๋ยและสารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มสูงขึ้น

 

              ๒.   ทีมงานนักส่งเสริมฯได้มีเวทีในการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม(Team Learning)ในด้านแนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวมีอะไรบ้าง ควรจะกำหนดทิศทางการทำงานอย่างไร

 

               ๓.   เป็นการสอนงานเจ้าหน้าที่ที่บรรจุใหม่(ในเวทีครั้งนี้มีนักส่งเสริมมือใหม่จำนวน ๒ รายคือ คุณอำไพ สุขจำรูญ (นวส.ปฏิบัติการ)ประจำอยู่สนง.เกษตรจังหวัดกำแพงเพชรและคุณชัยยุทธ์ พุทธิจุน(นวส.ปฏิบัติการประจำอยู่สนง.เกษตรอำเภอบึงสามัคคี)

 

                ๔.  ได้เรียนรู้จากเกษตรกรที่มีองค์ความรู้เชิงประสบการณ์ และการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

 

                 ๕.  สืบค้นหาโจทย์ในการวิจัยในงานประจำเพื่อยกระดับองค์ความรู้ของเกษตรกรและพัฒนาระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรครับ........

 

 

         เขียวมรกต

         ๖ พค.๕๕

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 487192เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท