หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(2)


บริการดีมีใกล้บ้าน
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) มีรั้วตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล เตียงที่บ้านผู้ป่วยคือเตียงของโรงพยาบาล มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพหรือเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันตาภิบาล นักกายภาพ และอื่นๆ รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในตำบลที่รับผิดชอบ ดูแลคนไม่ใช่แค่ดูแลโรค โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจึงใกล้ชิดทั้งกายและใจกับชาวบ้าน โดยใช้กลยุทธ์การสาธารณสุขมูลฐานที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุข ของไทยได้ผลดีมาอย่างต่อเนื่อง ที่รพสต.จะต้องมีแฟ้มครอบครัวและข้อมูลชุมชนอย่างครบถ้วน เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าปกติ เช่น ทำให้เกิดการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ และการป้องกันโรคทั้งในบุคคลและชุมชน นอกจากนั้นการรักษาโรคซึ่งไม่ได้มุ่งหวังให้มีแพทย์ไปอยู่ประจำทุกแห่ง พยาบาลวิชาชีพหรือพยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถให้การดูแลรักษาโรคทั่วไป รวมถึงการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารกับโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่ายก็ทำให้ ขีดความสามารถในการดูแลรักษาโรคมีมากขึ้น แพทย์สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยที่ รพสต.ได้ วินิจฉัยโรคจากทางไกลได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่ได้วิกฤตก็สามารถกลับมาอยู่ในความดูแลของทีม รพสต. ซึ่งอยู่ใกล้บ้านได้ ใครอยากจะไปนอนป่วยอย่างเหงาๆ ที่โรงพยาบาลในเมือง หาก รพสต.ใกล้บ้านดูแลได้ไม่แพ้กัน


หนทางใหม่ของการกระจายอำนาจ
หลักเกณฑ์ข้อหนึ่งและเป็นข้อที่สำคัญของ รพ.สต. คือ การบริหารงาน รพสต. อย่างมีส่วนร่วม กำหนดให้มีกรรมการบริหาร รพสต. โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ฝ่ายท้องถิ่น (ผู้แทน อบต./เทศบาล) ฝ่ายชุมชนอาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือประชาชน และฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการด้วย ร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาสุขภาพ การบริหารงาน รวมถึงให้ความสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ การทำงานของ รพสต. ควรผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ รพ.สต. ดังกล่าว นี่นับว่าเป็นรูปแบบของการกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยไม่ต้องใช้รูปแบบถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งจะทำให้ขาดการเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพในระดับอื่นๆ

งบไทยเข้มแข้งมีปัญหาจริงหรือ
เป้าหมายการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็น รพสต. ต้องการการสนับสนุนในทุกๆมิติ งบไทยเข้มแข้งไม่ใช่งบประมาณทั้งหมดที่จะใช้พัฒนาและดำเนินการใน รพสต. เป็นเพียงงบประมาณส่วนหนึ่งเท่านั้น การสนับสนุนจากโครงการไทยเข้มแข็ง คือการปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น จำนวน 5 แสนบาท งบจัดหาครุภัณฑ์ จำนวน 8.5 แสนบาท รถพยาบาลสำหรับส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลแห่งละ 1 คัน โดยให้รถพยาบาลประจำอยู่ที่โรงพยาบาลแม่ข่าย การก่อสร้างทดแทนกรณีที่สถานีอนามัยที่มีโครงสร้างชั้นเดียวแบบเก่า การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการก่อสร้างและการจัดหาครุภัณฑ์ต่างๆจะต้องดำเนิน การโดยพื้นที่ ไม่มีการจัดซื้อรวมที่ส่วนกลาง โดยรายการครุภัณฑ์ที่หลายฝ่ายห่วงใย ก็เนื่องจากไม่รู้ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง และข้อจำกัดในการดำเนินการ

เหตุใดจึงต้องกำหนดรายการครุภัณฑ์
กระบวนการที่จะได้มาซึ่งงบลงทุนโครงการไทยเข้มแข็ง ไม่อาจให้งบประมาณไปยังพื้นที่แล้วให้มีการเลือกซื้ออย่างเสรีภายหลัง เนื่องจากส่วนกลางจะต้องกรอกข้อมูลอิเลคโทรนิค เพื่อให้สำนักงบประมาณเห็นชอบเป็นรายแห่ง และครุภัณฑ์รายชิ้น หากเลือกครุภัณฑ์ที่ต้องการอย่างเสรี (รายการครุภัณฑ์ในสถานีอนามัยมีประมาณ 200-500 รายการ) ซึ่งมีรายการจำนวนมาก ประกอบกับจำนวนสถานีอนามัยทั้งหมด 9,762 แห่งทั่วประเทศ ความเป็นไปได้ในทางเทคนิคไม่มี จึงได้ตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอขยายเวลาเพื่อจัดทำขบวนการคัดเลือกรายการครุภัณฑ์ที่จำเป็นจำนวน หนึ่ง ให้รพสต. แต่ละแห่งสามารถเลือกได้ตามความจำเป็นเหมาะสมกับหน่วยบริการของตนเองในวง เงินไม่เกิน 8.5 แสนบาทต่อแห่ง โดยมีการประชุม 2 ครั้ง มีผู้แทนจากหลายฝ่าย อาทิ ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักวิชาการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตัวแทน รพสต. การประชุมครั้งแรกมีมติให้ขอให้จังหวัดต่างๆเสนอกรอบรายการครุภัณฑ์ที่ รพสต.ควรมี และการประชุมครั้งที่สองได้มีการคัดเลือกให้เหลือรายการครุภัณฑ์ที่เหมาะสม และจำเป็น เหลือเพียง 46 รายการ เป็นกรอบให้เลือกจากนั้นก็แจ้งให้จังหวัดทำการรวบรวมความต้องการกลับมาใน เวลาที่กำหนด บางรายการก็ถูกหยิบยก ขึ้นมาเป็นข่าวแบบไม่เข้าใจ เช่น เครื่องอุลตร้าซาวด์ ก็มีเงื่อนไขการคัดเลือกว่าจะต้องมีแพทย์ที่สามารถใช้เครื่องมือนั้นได้ หรือเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก็ต้องมีอย่างน้อยพยาบาลเวชปฏิบัติอยู่ รถกระบะก็จะต้องมีการบริหารจัดการแบบเครือข่ายไม่ได้กำหนดให้รพ.สต.ทุกแห่งต้องมีครุภัณฑ์ดังกล่าวเป็นต้น

ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา
เครือข่ายสถานีอนามัยทั่วประเทศได้สร้างประโยชน์หรือคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการควบคุมและป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอนามัยแม่และเด็ก. ถ้าไม่มีหมออนามัยเด็กก็จะยังเป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไม่ว่า ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ รวมทั้งหัดที่กำลังสูญพันธุ์ เนื่องจากคงไม่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนได้ครบ. ในเรื่องการวางแผนครอบครัวที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง ประสบผลสำเร็จก็เกิดจากน้ำมือของหมออนามัย. นี่ยังไม่ได้พูดถึงอนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาล และการสร้างส้วม สร้างถังเก็บน้ำในสมัยก่อน. นอกจากนี้ หมออนามัยยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านมากมาย รวมทั้งด้านการปฐมพยาบาลและการรักษาโรคเบื้องต้น ปัจจุบันนี้มีโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น หลายครั้งที่คนไข้หมดสติเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหากนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่ช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ผู้ป่วยคงตายแน่ หมออนามัยก็มีบทบาทช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการฉีดกลูโคส ทำให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมา รอดชีวิต อันนี้ผมเคยไปสัมผัสมาในหลายพื้นที่ แม้ในปัจจุบันปัญหาใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันสูง หมออนามัยก็มีบทบาทในการปรับพฤติกรรมและควบคุมป้องกันโรค จึงกล่าวได้ว่าสถานีอนามัยเป็นระบบบริการปฐมภูมิที่ได้มีวิวัฒนาการตลอดมาในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทย ในช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีวาทกรรมหรือศัพท์แสงใหม่ๆ เช่น คำว่า PCU เช่นคำว่า Humanized care เช่นคำว่า Holistic care เช่นคำว่า จิตอาสา สถานีอนามัย คือโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน เชื่อมต่อระหว่างเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชน เชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมด้านการแพทย์ สาธารณสุข กับกิจกรรมด้านสังคม ดังนั้นจะเห็นว่าหมออนามัยใช้เวลาไม่น้อยที่ไปทำกิจกรรมด้านสังคม เพื่อดูแลผู้ป่วย ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิต ที่เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือด้านจิตใจและสังคม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า psycho-social careให้การดูแลด้านจิตใจสังคมของประชาชน ควบคู่กับการรักษาโรคของแพทย์


สุดท้ายนี้ผมจะพูดสรุป ความเป็นหมออนามัยจิตอาสาว่า ด้วยเงื่อนไขทางสังคม ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของหมออนามัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น งานของหมออนามัยคืองานจิตอาสาในเนื้อในตัวของมัน พอสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

1. หมออนามัยคือ บุคคลผู้ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยการให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ตามกลุ่มอายุ ตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ ในอนาคตหมออนามัยต้องเตรียมพร้อมในการรับภารกิจใหม่ๆ สำหรับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต เช่น โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีกันทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม และก่อให้เกิดโรคแทรกมากมาย เพียงแต่หมออนามัย ถ้ามีความรู้ มีทักษะ ก็สามารถไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้อย่างใหญ่หลวงในการลดภาระให้แก่ประเทศ ที่จะต้องรักษาโรคแทรกซ้อนจากปัญหาของโรคเหล่านี้ โรคมะเร็งก็พบมากขึ้นในชุมชน ถึงแม้เราไม่สามารถวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งได้ แต่เราก็สามารถติดตามให้กำลังใจ ดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต. หมออนามัยหลายท่านในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งต้องดูแลที่บ้านเท่านั้น จึงจะเป็นการดูแลที่มีคุณภาพและประหยัด ดังนั้น ภารกิจอันใหม่ในอนาคตจึงควรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ชุมชน. นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่น่าสงสารอีกด้วย คนไทยเป็นโรคจิตเวชกันเยอะมากในชุมชน เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถควบคุมด้วยยากิน ยาฉีด ขอให้คนไข้ยอมกินยา ยอมฉีดยา ตามหมอสั่ง ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติ เหมือนโรคเบาหวาน ความดัน. ขณะนี้ปัญหาจิตเวชในชุมชนมีเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรงพยาบาลจังหวัดใหญ่ๆ โรงพยาบาลชุมชนยังไม่มีหมอเฉพาะทางด้านจิตเวช เกิดปัญหาทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการ เข้าไม่ถึงยา บทบาทใหม่ของหมออนามัยคือ ช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้คืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ด้วยการคัดกรองโรคในชุมชน ส่งต่อคนไข้เพื่อรับการตรวจรักษา ติดตามการใช้ยาและประเมินอาการ ช่วยให้เข้าถึงยา แม้กระทั่ง การไปฉีดยาถึงที่บ้านของคนไข้ รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและช่วยดูแลคนไข้. ดังนั้น บทบาทตรงนี้ก็คือ หมออนามัยจะต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการรักษาและการใช้ยาของแพทย์ ให้การดูแลด้านจิตใจสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยต้องสนใจเรียนรู้วิธีส่งเสริมให้เกิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัด ไม่ใช่ตายคา ICU ตายคาเครื่องมือแพทย์ด้วยราคาที่แพงมากจนเป็นหนี้สิน หมดเนื้อหมดตัว ต้องเน้นเรื่องการป้องกันโรคใหม่ๆ เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกาย การควบคุมอารมณ์ การบริหารจิต การปฏิบัติทางศาสนา หรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณ หมออนามัยจะต้องมีบทบาทในการป้องกันควบคุมโรคต่างๆ หมออนามัยต้องเรียนรู้จากสื่อต่างๆ เรียนรู้จากระบบไอทีต่างๆ และน่าจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เรียกว่า KM หรือ knowledge management ของเครือข่ายหมออนามัยที่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยประสานงานกับแพทย์ กับพยาบาล กับเภสัชฯ กับทันตแพทย์ กับวิชาชีพอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อดูแลคนไข้ที่ชุมชนและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน


2. หมออนามัยคือ บุคคลที่เสริมพลังสร้างอำนาจให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพตนเอง พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง สำหรับคนทุกวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนสู่เชิงตะกอน หมออนามัยต้องมีความรู้ในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในการดูแลมนุษย์   ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กในครรภ์มีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ ทางกาย ทางสมอง ทางอารมณ์ ส่งเสริมการฝากครรภ์ การคลอดที่ปลอดภัย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลภาวะโภชนาการเด็ก รวมทั้งส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ตรงนี้จะต้องมีแนวคิดว่าสุขภาพอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ในเรื่องการกินอยู่หลับนอน การทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจ โดยให้มีลักษณะที่เอื้อต่อสุขภาพกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ขณะเดียวกันหมออนามัยควรจะดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ดูแลครอบครัวตัวเองด้วย โดยทำหน้าที่เป็นต้นแบบของประชาชน ในการเลี้ยงลูกให้ดีๆ ในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด ในการพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงส่ง เรียนรู้การเผชิญวิกฤติการณ์ชีวิตต่างๆ ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง และมีความสุข 

3. หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็น อบต. อสม. ครู พระ ผู้นำชุมชน องค์กรชุมชนต่างๆ การทำงานกับเครือข่ายชุมชนถือเป็นความถนัดอย่างยิ่งยวดของหมออนามัย หมออนามัยมีความเก่งด้านนี้มาก มีความโดดเด่นด้านการทำงานเครือข่ายในชุมชน เพราะสถานีอนามัยเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นหน่วยงานที่อยู่กับชุมชนตลอดเวลา อันนี้ถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีค่าอย่างยิ่ง

4.หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานเป็นภาคีกับวิชาชีพทุกสาขา ทั้งแพทย์ ทั้งพยาบาล ทั้งเภสัชฯ ทั้งทันตแพทย์ และอื่นๆ เพื่อช่วยกันทำงานในชุมชน เพราะหมออนามัยมีภาวะผู้นำของการทำงานเพื่อชุมชน ช่วยนำพาทีมงานทั้งหมดลงไปช่วยทำงานเพื่อชุมชน ให้บุคลากรต่างๆได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้ไปสัมผัสปัญหา ได้สัมผัสความทุกข์ยากของผู้ป่วย ของประชาชน. ผมยังเชื่อมั่นว่าเราสามารถเสนอสิ่งเรียนรู้ให้แก่บุคคลต่างๆ แม้แต่นักเรียนนักศึกษาในการสร้างจิตสำนึก ในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพราะเรามีวัตถุดิบ เรามีสื่อการเรียนรู้ที่มีชีวิตจิตใจ หมายถึงผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาความทุกข์ยาก ซึ่งหมออนามัยรู้จักเป็นอย่างดี เอาครอบครัวผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นสื่อที่มีชีวิตในการที่จะกระตุ้นต่อมจิตสำนึกของผู้คนต่างๆ ในสังคม ดังนั้น เราจะมีเครือข่ายภาคีในการทำงานร่วมกันในชุมชน เพื่อประชาชนที่เรารัก รวมทั้งช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งการศึกษา การสาธารณสุขที่ เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

ผมเชื่อมั่นว่าด้วยการรวมตัวของกองทัพหมออนามัย ที่อยู่ด่านหน้าของแนวรบสุขภาพของประเทศ ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของหมออนามัย ในการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจใหม่ๆ ต่อการเผชิญปัญหาใหม่ๆ หมออนามัยจะสามารถสร้างคุณูปการใหม่ๆต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าของหมออนามัยให้เป็นที่ยอมรับของสังคมยิ่งๆขึ้นไป

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต. คือ การที่ชุมชนได้เป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์การสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง โดยการยกระดับสถานีอนามัยทั่วประเทศ 9,000แห่ง ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขครั้งสำคัญ เพราะรพสต. ในอนาคต จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุข

รูปแบบการดูแลรักษาพยาบาลของ รพสต. นั้น มีรั้วตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล เตียงที่บ้านผู้ป่วยคือเตียงของโรงพยาบาล มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพหรือเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันตาภิบาล นักกายภาพ และอื่นๆ รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในตำบลที่รับผิดชอบ ดูแลคนไม่ใช่แค่ดูแลโรค โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจึงใกล้ชิดทั้งกายและใจกับชาวบ้าน เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าปกติ เช่น สนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ และการป้องกันโรคทั้งในบุคคลและชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมชี้แจงการดำเนินงาน โครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ และ รพ.สต. เพราะการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่าง 2 ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญ รพ.สต.ในอนาคตจะมีการปรับบทบาทของผู้ให้บริการแบบตั้งรับ หรือ ชี้นำด้านสุขภาพประชาชน ไปเป็นผู้ให้ข้อมูล ทำหน้าที่ประสานทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดการเจ็บป่วย สร้างการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อสุขภาพที่ดี

ในอนาคตจะได้เห็นภาพของการพัฒนาชุมชนแบบใหม่ ที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่น ประชาชนมีขีดความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพ ของตนเองและชุมชนได้มากขึ้น โดยมี รพสต. ที่จะมีพี่เลี้ยงเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ช่วยกันดูแล เพราะเชื่อว่าไม่มีใครที่รู้ปัญหาภายในชุมชนดีเท่าคนในชุมชนเอง เมื่อคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมวางทิศทางการแก้ไข ปัญหาก็จะเริ่มหมดไป

ขณะนี้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดและชุมชน มีการเรียนรู้ร่วมกัน และให้ชุมชนเป็นผู้วางแผน คิดในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ และกำหนดกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยใช้การสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วให้เป็นประโยชน์ ทั้งโทรศัพท์ อีเมล หรือการใช้เว็บแคม เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ลง จากเดิมที่สถานีอนามัย เป็นแค่ทางผ่านเพื่อขอใบส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้เกิดความแออัดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งเป็นเพียงโรคเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด แต่ปัจจุบันก็มีการตรวจคัดกรอง ซึ่ง รพสต. มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นจากการฝึกฝน เรียนรู้ และการให้คำปรึกษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด             ซึ่งสุดท้ายช่วยให้ระบบโดยรวมดีขึ้น

การทำงานร่วมกันระหว่าง รพสต. กับโรงพยาบาลประจำจังหวัด จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีการติดต่อสื่อสาร พูดคุย เมื่อมีผู้ป่วยในพื้นที่ จึงเป็นเหมือนด่านสกัดก่อนที่น้ำจะทะลักเข้ามารวมกันในโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อน้องในพื้นที่สามารถทำงานได้ ก็จะเริ่มสร้างความไว้ใจต่อชุมชนและขยายงานต่อไปในเรื่องอื่นๆ ได้

สำหรับโครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพฯ จะมี รพสต.เข้าร่วมเริ่มต้น 300 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการสนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน ไปสู่การพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะแบ่งหัวข้อด้านต่างๆ ที่เข้าไปสนับสนุนความเข้มแข็ง อาทิ การดูแลสุขภาพชุมชนภายใต้แนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว การร่วมจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินและการส่งต่อ การใช้ภูมิปัญญาชุมชนด้านการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ผู้พิการ การส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และเยาวชน การอนามัยแม่และเด็ก การคุ้มครองดูแลสุขภาพจิตชุมชน การคัดกรองโรคและการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยงลดโรค การจัดการกองทุนสุขภาพตำบลพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพชุมชน และประเด็นสุขภาพอื่นๆ

แนวทางการสร้างความเข้มแข็งครั้งนี้ จะมีการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งจัดตั้ง แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมระบบสุขภาพชุมชนในตำบลที่มีนวัตกรรมสุขภาพดีเด่น โดยสิ่งที่ได้รับทุกพื้นที่คือการเปิดเวที เปิดโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานเพื่อกำเนิดชุมชนเข้มแข็งที่มีสุขภาพดีต่อไป นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของงานดูแลรักษาสุขภาพคนไทยภายใต้การบริหารงานของ รพ.สต.

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นสถานพยาบาลประจำตำบลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีขีดความสามารถระดับปฐมภูมิ (Primary Care) ได้รับการยกฐานะจากสถานีอนามัย หรือศูนย์สุขภาพชุมชน ตามนโยบาลของรัฐบาลรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณภายใต้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อยกระดับสถานีอนามัย หรือศูนย์สุขภาพชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

การบริการ

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีการให้บริการสาธารณสุขที่หลากหลาย อาทิ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเกือบทั้งหมดจะไม่รับผู้ป่วยใน และไม่มีแพทย์ทำงานอยู่เป็นประจำ แต่จะอาศัยความร่วมมือกับแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน

สถานีอนามัย คือสถานบริการทางสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งให้บริการด้านการรักษาพยาบาล งานควบคุมป้องกันโรค งานส่งเสริมสุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในเขตรับผิดชอบ ตั้งแต่เกิดจนตาย เดิมเรียกว่า สุขศาลา มาเปลี่ยนเป็น สถานีอนามัย และปัจจุบัน เปลี่ยนเป็น ศูนย์สุขภาพชุมชน ตำบลๆ หนึ่งจะมีจำนวนสถานีอนามัยประมาณ 1-2 แห่ง สถานีอนามัย รับผิดชอบงานบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ เช่น ตรวจรักษาพยาบาลขั้นต้น การฝากครรภ์ การให้บริการสร้างเสริมภูมิคุมกันโรค ฉีดวัคซีนเด็ก การดูแลโภชนาการเด็ก งานอนามัยโรงเรียน ตรวจสุขภาพเบื้องต้นสำหรับนักเรียน คัดกรองภาวะผิดปกติต่างๆเช่น เบาหวาน ความดันโลหิต คัดกรองมะเร็งปากมดลูก สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ การดูแลผู้พิการ การดูแลวัยทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพเบื้องต้น งานฟื้นฟูสมรรถภาพ และอีกมากมายภาระหน้าที่ เป็นสถานที่ดูแลประชาชนด้านสุขภาพที่ดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เกิด จนตาย

บุคลากร ตามกรอบกระทรวงฯ ประกอบด้วย

เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข หัวหน้าสถานีอนามัย(ปัจจุบันได้ถูกยุบตำแหน่งและตำแหน่งนี้ จนท. ที่จบ ป.ตรี ปรับไปเป็นนักวิชาการ ที่ไม่จบ ป.ตรี ปรับไปเป็น เจ้าพนักงานสาธารณสุขและยังคงเป็นหัวหน้าสถานีอนามัยเช่นเดิม กำลังอยู่ระหว่าง ปรับเป็น ผอ.รพสต.ตามนโยบายของรัฐบาล) นักวิชาการสาธารณสุข จบ ป.ตรี(สาธารณสุข )/นักวิชาการสาธารณสุข(ทันตกรรม)/นักวิชาการสาธารณสุข(เภสัชกรรม)

พยาบาลวิชาชีพ

เจ้าพนักงานสาธารณสุข(จบ ปวท)

เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข(จบ ปวท)

เจ้าพนักงานเภสัชกรรม(จบ ปวท)

เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลและ/หรือ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่(จบ ม.6 ปวช ปวส ป.ตรี)

จำนวนบุคลากรอาจไม่ครบตามจำนวนนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเจ้าหน้าที่ในสังกัด บางแห่งอาจมี 1 คน 2 คน หรือ 3 คนก็ได้ สาเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ เกิดปัญหาในการทำงานของสถานีอนามัยที่มีบุคลากรน้อย แต่จำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบมาก ภาระงานที่มากมาย แม้ว่าในปัจจุบันโรงพยาบาลระดับอำเภอจะครอบคลุมเกือบทุกอำเภอแต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องใช้บริการที่ สถานีอนามัย ประชาชนในชนบท จะใช้บริการด้านสุขภาพกับสถานีอนามัย จนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ประชาชนจะเรียกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยว่า หมออนามัย ทั้งที่ความจริงแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้ (ยกเว้นพยาบาล)ไม่มีแม้แต่ พรบ.วิชาชีพใด ใด มารองรับการทำงาน เคยมีการเสนอ พรบ.วิชาชีพสาธารณสุข หลายครั้ง เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของหมออนามัย มีสภามาดูแล หมออนามัยให้มีมาตรฐาน แต่ก็ถูกคัดค้าน จากหลายวิชาชีพจนตกไป              ใน สภาผู้แทนฯ

ปัจจุบัน ได้มีการกำหนดให้สถานีอนามัยเปลี่ยนชื่อไปเป็น ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล อย่างไรก็ตาม ยังคงนิยมเรียกว่าเป็นสถานีอนามัยอยู่เช่นเดิม

หมออนามัย 300 คนบุกสภา ยื่นข้อเสนอรัฐบาล เร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพฯ ประกาศยุติบทบาทด้านเวชกรรมภายใน2สัปดาห์ เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ตัวแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหมออนามัยจากทั่วประเทศ กว่า 300 คน นำโดย นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เดินทางมายังอาคารรัฐสภา เพื่อประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าผลักดันให้มี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข และขอให้รัฐบาลเร่งบัญญัติให้มี พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ในสมัยรัฐบาลนี้ จึงเท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนในการมาใช้บริการที่มีมาตรฐาน จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหมออนามัยเหล่านี้ ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ การพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยทำงานภายใต้การดูแลของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี แต่ในทางปฏิบัติ ไม่มีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ มาควบคุมการปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเหล่านี้ทำงานให้บริการ ซึ่งลักษณะของงานที่ทำนั้นต้องทำแทนและก้าวล่วงวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ที่ขาดแคลน และเป็นปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขโดยอิสระ
นายไพศาล กล่าวว่า การเดินทางมาชุมนุมครั้งนี้ ในฐานะเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหมออนามัยทั่วประเทศ ที่อยู่ในสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) กว่า 9 พันแห่งทั่วประเทศ และนับวันประชาชนมาใช้บริการที่ รพสต.เพิ่มสูงขึ้นกว่า 50% จึงต้องการเรียกร้องมายังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยทำหนังสือขอพบนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2554 เพื่อทวงถามและติดตามร่าง พ.ร.บ. แต่ไม่ให้เข้าพบ และไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากรัฐบาล
หากรัฐบาลมีความจริงใจในการสนับสนุนให้มีกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขนี้ จึงขอให้รัฐบาล และผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ควรเร่งตอบยืนยันความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข (ชุมชน) พ.ศ. … ฉบับของรัฐบาล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.เสร็จแล้ว และส่งไปให้รัฐมนตรีว่าการ สธ. เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบยืนยันเป็นหนังสือ แล้วส่งคืนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนส่งกลับไปที่คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง 2. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ควรเร่งและติดตามให้คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรนำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. … ฉบับของรัฐบาล ไปพิจารณาร่วมกันกับ ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีทั้งฉบับของประชาชน ฉบับของ ส.ส.พรรครัฐบาล คือ นายวิชาญ มีนไชยนันท์ ส.ส.กทม. และฉบับของนางสาวปาริชาติ ชาลีเครือ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ 3. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรเร่งและติดตามการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ส่งคืน ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข (ชุมชน) พ.ศ. …กลับไปยังคณะรัฐมนตรี ส่วนฉบับ ส.ส.ของพรรครัฐบาล ที่นางสาวปาริชาติ ชาลีเครือ ส.ส.จังหวัดชัยภูมิ เสนอผ่านรัฐสภารับเป็นเจ้าของร่าง พ.ร.บ. นี้ ไปตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อนำไปประกอบพิจารณาพร้อมกันกับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชน และฉบับของพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน นายไพศาล กล่าวว่า จะให้เวลารัฐบาลและผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องภายใน 2 สัปดาห์ นับจากวันนี้เป็นต้นไป หากรัฐบาลยังเตะถ่วงและไม่เร่งหยิบ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ไปพิจารณารับหลักการให้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติที่จะปิดลงในวันที่ 18 เม.ย. 2555 นี้ หลังจากวันที่ 28 มี.ค.2555 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหมออนามัยทั่วประเทศ จะยุติบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ ให้บริการทางการแพทย์และพยาบาล รวมถึงการจ่ายยา แต่จะยังคงทำงานให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเหล่านี้ ต้องมีการควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพ และการมีจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อไปคุ้มครองความเสี่ยงให้กับประชาชน นับจากวันนี้ไป สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และสมาชิกเครือข่ายสาธารณสุขทั่วประเทศจะดูท่าทีของรัฐบาลต่อไป

หมายเลขบันทึก: 487188เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2012 06:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท