หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล


หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

 

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หมายถึงโรงพยาบาลที่ผู้บริหาร และบุคลากรของโรงพยาบาล ได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง มีนโยบาย ตลอดจนจัดระบบบริหารจัดการ ให้มีกิจกรรม หรือกระบวนการ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ สอดแทรกในทุกโอกาส หรือพยายามจัดหาช่องทาง ให้มีกิจกรรม หรือกระบวนการด้านส่งเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้น ไม่เพียงต่อผู้ป่วย หรือผู้มารับบริการหลัก แต่ยังขยายฐานไปยังญาติ เพื่อน หรือบุคคลใดๆ ก็ตาม ที่ได้มีโอกาสเข้าไปในโรงพยาบาล รวมทั้งชุมชนที่โรงพยาบาลตั้งอยู่ และที่สำคัญจะต้องรวมถึง บุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งถือได้ว่า เป็นผู้รู้ ผู้ดำเนินการ และน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี ในการส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึง การให้การดูแล ผู้รับบริการในลักษณะขององค์รวม ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ

 การส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง เนื่องจาก คำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ มีคำว่า "ส่งเสริมสุขภาพ" มาประกอบอยู่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบ ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพ เป็นเบื้องต้น เพื่อจะได้เข้าใจแนวคิด และวิธีการดำเนินการเรื่อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ได้อย่างถ่องแท้

การส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง กระบวนการระดมทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อเอื้อให้ประชาชน มีขีดความสามารถในการควบคุมปัจจัย ที่จะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ และพัฒนาให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งกาย ใจ และสังคม เพื่อใช้ความมีสุขภาพดีเป็นต้นทุน ในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป การส่งเสริมสุขภาพ จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ ในงานด้านสาธารณสุขเพียงภาคเดียว

 คำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เกิดขึ้นเมื่อ ในปี พ.ศ.2531 (ค.ศ.1988) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศ ในทวีปยุโรป ได้มีการประชุมถึงเรื่อง แนวคิด ขอบเขต และกลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ โดยใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน ซึ่งแนวคิดดังกล่าว มีอิทธิพลมาจาก แนวคิดพื้นฐาน ของกฎบัตรออตตาวา คำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด ตัวอย่างเช่น ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2536 (ค.ศ.1993) และครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2542 (ค.ศ.1999)

โรงพยาบาลในทุกวันนี้ ไม่ใช่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหรือ หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล ที่ได้ยินคำว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และอาจจะได้ยินประโยคต่อไปว่า จะมีโครงการ หรือนโยบาย ทำให้โรงพยาบาลเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ อาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ในปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (โรงพยาบาลจังหวัด) มีกิจกรรมมุ่งเน้นการรักษาเป็นหลัก หรือกิจกรรมเกือบทั้งหมด มุ่งเน้นมาในเรื่องของการรักษาพยาบาล ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก็ยิ่งเน้นมากในด้านนี้ กิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพจัดทำกัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก ดังนั้น ถ้าจะยึดมั่นกับคำจำกัดความ ของการส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ คงจะต้องยอมรับกันว่า โดยภาพรวมของประเทศไทย ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ระดับจังหวัด อาจจะมีกิจกรรมนี้น้อยอยู่ ยังไม่ครอบคลุม ตลอดจน เรายังใช้ศักยภาพของเรา ยังไม่เต็มที่ แต่ในโรงพยาบาลระดับชุมชน กิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพจะมีมากกว่า

โรงพยาบาลมีข้อดี ข้อเด่น หรือโอกาสดีอย่างไร ในการดำเนินการให้เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เมื่อพิจารณาโรงพยาบาลในมุมมอง ด้านการจะทำให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้ดี อาจจะแยกออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้

ด้านบุคลากรของโรงพยาบาล ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า โรงพยาบาลทุกแห่งมีบุคลากร ที่ถือว่า มีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพดีมาก อาจจะเรียกว่า ดีที่สุดในสังคมนั้นๆ อยู่แล้ว เพียงแต่มุมมอง ยังมุ่งเน้นไปด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก เพียงแต่มุมมองยังมุ่งเน้น ไปด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก และดูแลผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป จริงๆ แล้ว บุคลากรที่มีความรู้ดี และมีความชำนาญด้านการรักษาโรค หรือกลุ่มโรคนั้นๆ ก็ย่อมจะมีความรู้ดี ในเรื่องของโรคเหล่านั้น ในแง่มุมของการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคนั้นอยู่ด้วย เพียงแต่ว่า สิ่งแวดล้อม หรือทิศทาง ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาล ทำให้เราเกือบทุกคนมุ่งเน้น ทำการรักษาพยาบาลเป็นงานหลัก ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่เราพบอยู่ว่า มีผู้ป่วยมารอล้นมือ แพทย์และพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ให้เวลาในการสร้างขีดความสามารถ ให้ผู้ป่วย หรือบางรายไม่ได้รับเลย แต่ถ้าเราได้ปรับมุมมองใหม่ และได้รวมพลังเติมประเด็น ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ที่เป็นปัญหาเหล่านั้น มารวบรวมเป็นองค์ความรู้ ผนวกกับวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อสื่อไปสู่ผู้ป่วย หรือผู้พิการ หรือบุคคลทั่วไป ให้ได้รับความรู้ การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค (Empowerment) ก็จะพลิกโฉม ทำให้โรคที่นำผู้ป่วยเหล่านั้น เข้ามารับบริการ ในโรงพยาบาลลดน้อยลง ผู้ที่เคยเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคเหล่านั้น ก็จะไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลซ้ำ ซาก แล้วแถมถูกบ่นในใจว่า "มาอีกแล้วลุง" และข้อเท็จจริงว่า โดยสามัญสำนึกจะพบว่า การแนะนำในการป้องกันโรคใด หรือส่งเสริมสุขภาพในเรื่องใด ผู้รับบริการ หรือญาติ ที่ได้ประสบกับปัญหาโรคนั้นๆ จะรับฟัง เข้าใจ และเกิดผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้ดีกว่าบุคคลที่ไม่เคยพบโรคนั้นๆ มาก่อน ทำไมเราไม่ใช้จุดได้เปรียบนี้ โหมกระหน่ำการส่งเสริมสุขภาพ แก่กลุ่มเป้าหมายนี้ ซึ่งญาติมิตรหลายคน ก็มักจะเสี่ยงต่อโรค ที่นำคนป่วยเข้ามารักษาอยู่ด้วยแล้ว

ด้านผู้รับบริการ ผู้ที่ทำงานอยู่ หรือผู้ที่เคยผ่านการทำงานในโรงพยาบาล หากลองวิเคราะห์ดู จะพบว่า เมื่อผู้รับบริการมาโรงพยาบาล ผู้รับบริการส่วนใหญ่จะไม่ได้มาเพียงคนเดียว จะมีคนมาด้วย จะมากจะน้อย ขึ้นกับการจะมาเป็นผู้รับบริการผู้ป่วยนอก หรือผู้รับบริการผู้ป่วยใน ประเภทของการบริการ โรคเฉียบพลัน หรือโรคเรื้อรัง แน่นอนที่เราจะพบก็คือ ถ้าผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลโดยทั่วไป จะมีคนมาเป็นเพื่อน มาเยี่ยม มาเฝ้าดูแล หรือมารับกลับ รวมแล้วบางรายจะมีเป็นร้อยก็ได้  ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน จะมีผู้แวะมาเยี่ยมเยียน นับเป็นสิบๆ ราย เราจะเห็นว่า ผู้ป่วยมาเพียงคนเดียว แต่เขาช่วยนำคนอีกจำนวนมาก มาให้เราถึงที่ ถึงปากประตูของสถาบัน ที่เรียกว่า สถาบันสุขภาพ แล้ว เราจะไม่ฉวยโอกาสอันนี้หรือ

ด้านความพร้อมของสถานที่ นอกจากความพร้อม 2 ประการดังกล่าวข้างต้น โรงพยาบาลยังมีสถานที่ อุปกรณ์ ตลอดจนตัวอย่างการเจ็บป่วย ที่เอื้อต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การสร้างขีดความสามารถ (Empowerment) ให้ประชาชน และชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ เป็นอย่างดี

การดำเนินการ เพื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ จะทำอย่างไร เมื่อผู้บริหารของโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่น และมีนโยบายที่จะดำเนินการให้โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนการจัดบริการ ให้มาเน้นในรูปแบบ และเน้นกิจกรรม ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการป้องกันโรค คือ ทำการป้องกันปฐมภูมิ (Primary prevention) และการป้องกันทุติยภูมิ (Secondary prevention) มากขึ้น มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น แทนที่จะเน้นกิจกรรม การรักษาพยาบาลเป็นหัวใจหลัก เนื่องจากการปรับให้เกิดความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นเรื่องที่จะต้องมีการเปลี่ยนโฉมหน้า ในบางโรงพยาบาล ฉะนั้น จึงต้องมีการสร้างความเข้าในให้เกิดขึ้น โดยทั่วทั้งองค์กร ผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจแนวคิด และแนวทางดำเนินการ ผู้ปฏิบัติก็จำเป็นเช่นกัน แต่เนื้อหาความเข้มข้น จุดเน้น มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การอบรมทำความเข้าใจ (training) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในระยะแรก การปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการปรับโฉมหน้า เข้าสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ นอกจากกระบวนการให้การฝึกอบรม เพิ่มความรู้ความชำนาญ และทักษะการดำเนินงานแล้ว ในบางแห่ง ยังอาจจะหมายรวมถึง การพัฒนาองค์กร (Organization development) ด้วย เพราะความสำเร็จทุกขั้นตอน ย่อมเกิดจากการมีส่วนร่วม (Participation) ของทุกคน ซึ่งต้องอาศัยการมีเทคนิคที่ดี ในการปรับทัศนคติ และพฤติกรรมส่วนบุคคล ของคนในองค์กร การพัฒนาองค์กร และการจัดระบบบริหารจัดการ ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในรูปคณะกรรมการ การจัดทำโครงการ การบริหารโครงการ ฯลฯ จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำเนินการ สำเร็จได้เร็วหรือช้า มีประสิทธิภาพ หรือขาดประสิทธิภาพ การจัดทำเป็นโครงการย่อยๆ การบริหารในรูปกรรมการ จะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วม และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Learning organization) การดำเนินการเป็นโครงการ สามารถทำได้ในทุกระดับของบุคลากร บางโครงการต้องการการประสานร่วมกัน ของบุคลากรหลายระดับ บางโครงการต้องประสานร่วมกัน จากต่างหน่วย ต่างแผนกของโรงพยาบาล การดำเนินการของกลุ่ม หรือกรรมการที่จะดำเนินการสร้างกิจกรรม หรือโครงการส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ โดยอาจจะใช้วิธีค้นหาปัญหาเป็นที่ตั้ง (Problem approach) และ หรือ ร่วมกับวิธีตั้งวิสัยทัศน์ (Vision) หรือสิ่งที่คาดหวังจะให้เกิดขึ้น เป็นที่ตั้งก็ได้ ซึ่งในประการหลัง มีเครื่องมือที่จะช่วยดำเนินการ เช่น AIC (Appreciation Influence Control รวมพลังสร้างสรรค์อนาคต) เป็นต้น การศึกษาดูงานโรงพยาบาลที่ประสบผลสำเร็จ ในการดำเนินงาน จะเป็นวิธีเรียนลัด ได้เห็นตัวแบบจริง ได้รับทราบประสบการณ์ ปัญหาอุปสรรค และสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้

 องค์ประกอบหลักที่จะดำเนินการมีอะไรบ้าง การดำเนินการให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ มีองค์ประกอบที่จะต้องดำเนินการ ดังนี้

1. การสร้างขีดความสามารถให้ผู้รับบริการ ญาติมิตร และชุมชน ตามคำจำกัดความของการส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เราจะต้องใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล ให้เอื้อต่อ (Enable) การจัดกิจกรรม หรือสร้างโอกาสในการสร้างขีดความสามารถ หรือพลังอำนาจ (Empowerment) ให้กับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ให้สามารถดูแล และส่งเสริมสุขภาพตนเอง และส่งเสริมอนามัยสิ่งแวดล้อมรอบตัว วิธีการ หรือกิจกรรมที่จะสร่างขีดความสามารถ ให้ประชาชนมีมากมาย เช่น การรณรงค์  การให้ข่าวสาร การให้คำแนะนำ การให้สุขศึกษารายบุคคล หรือรายกลุ่ม การจัดกลุ่มพูดคุยกัน ในประเด็นต่างๆ การให้การปรึกษา (Counselling) ทุกรูปแบบ การใช้สื่อทุกรูปแบบ รวมถึงการจัดนิทรรศการด้วย การรวมกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรค ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการดูแลช่วยเหลือตัวเอง (Self care) การรวมกลุ่มญาติ เพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วย เช่น ความสม่ำเสมอของการกินยา ของผู้ป่วยโดยอนุญาต เช่น กรณีผู้ป่วยโรคจิต ผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้น กลุ่มช่วยเหลือตัวเอง (Self-help group) เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เป็นต้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่าง ในด้านสุขภาพ (Model) เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าว ต้องสร้างใหม่ หรือปรับให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

2. การคำนึงถึงสุขภาพของบุคลากรในโรงพยาบาล การที่จะได้ชื่อว่า เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บุคลากรของโรงพยาบาลทุกระดับ นอกเหนือจากจะต้องมีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ให้ผู้รับบริการแล้ว จะต้องสามารถส่งเสริมสุขภาพตนเอง มีวิถีชีวิตในลักษณะของการส่งเสริมสุขภาพ และเป็นแบบอย่าง (Model) ที่ดีให้กับผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไปได้

3. การปรับกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ ให้เข้ากับการจัดบริการ โรงพยาบาลในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีกิจกรรม หรือการดำเนินการในส่วนขององค์ประกอบ ที่เอื้อต่อการพัฒนาเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์ มีฝ่ายเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลชุมชน มีฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ และฝ่ายอื่นๆ ที่ดำเนินการในชุมชนอยู่แล้ว เป็นต้น ในส่วนงานบริการ และงานอื่นๆ ในโรงพยาบาล อาจมีแนวทางในการปรับได้ ดังนี้ ปรับโดยยึดบทบาทหลักของโรงพยาบาลเดิมที่มีอยู่ แล้วเพิ่มกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพ สอดแทรกในบริการที่มีอยู่เดิม เช่น การจัดให้มีการสอนสุขศึกษา หรือให้คำแนะนำ ให้การปรึกษา ในจุดบริการที่ยังไม่เคยจัดให้ ปรับโดยการเพิ่มความเข้มข้นของกิจกรรมบางอย่าง ที่มีอยู่แต่เดิม เช่น การให้สุขศึกษา ด้วยวิธีต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม เป็นต้น ปรับโดยเสริมความเข้มแข็ง ด้านการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้รับบริการ ที่ควรจะอยู่ เช่น ในคลินิกวางแผนครอบครัว ควรคำนึงว่า ผู้รับบริการทุกราย การรับบริการควรได้รับข้อมูลทุกอย่าง เพื่อการตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดเอง ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เหมาะกับสถานภาพของตัวเอง มิใช่การให้บริการคุมกำเนิด โดยผู้รับบริการไม่ทราบข้อมูลอย่างชัดแจ้ง ในลักษณะนี้ ผู้รับบริการควรได้รับการให้การปรึกษา การวางแผนครอบครัว (Family Planning Counselling) เต็มรูปแบบ ปรับโดยจัดให้มีบริการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ที่พัฒนาขึ้น เช่น การจัดให้มีคลินิกให้การปรึกษาก่อนสมรส  จัดให้มีคลินิกให้การปรึกษาทางพันธุกรรม จัดให้มีห้องให้บริการการปรึกษา อนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้ชาย การให้ความรู้ และการปรึกษาทางโทรศัพท์ การจัดบริการให้การปรึกษาแก่วัยรุ่น เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าว เป็นเพียงตัวอย่างการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบริการ (Reorientation of service) การปรับเปลี่ยนจะต้องประยุกต์ ให้สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงาน สถานที่ พื้นที่ ช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือข้อบ่งชี้ หรือข้อจำกัดอื่นๆ

4.  การสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพ โดยข้อเท็จจริงแล้ว โรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำงาน ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ของผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการ หรือสังคมรอบข้าง เพราะจากกระบวนการให้บริการ จะมีสารที่มีอันตราย หรือสารเคมี สารกัมมันตภาพรังสี ตลอดจนเชื้อโรค ที่ก่อโรคได้ร้ายแรง หรือมีความดื้อต่อยาจำนวนมาก บรรยากาศในที่ทำงานเต็มไปด้วยผู้เจ็บป่วย ไม่น่าอภิรมย์ ด้วยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ทั้งทางกายภาพ และสังคม ต่อบุคลากร และผู้ที่เข้าไปใช้บริการ ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนภาพลบ ของโรงพยาบาล ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อ การส่งเสริมสุขภาพ เช่น การจัดให้มีสวนดอกไม้ประดับ หรือสวนสุขภาพ การจัดให้มีแหล่งออกกำลังกาย ของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และญาติ การจัดสถานที่บริการ ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ที่ให้ความสุขสบายแก่ผู้รับบริการ และบุคลากรของโรงพยาบาล ด้านสิ่งแวดล้อมทางสังคม โรงพยาบาลจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เช่น ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การสร้างความรัก สามัคคีในหน่วยงาน เป็นต้น การดำเนินการพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางสังคม นับว่า มีส่วนเสริมให้บุคลากรได้มีปฏิสัมพันธ์ ในทางดี ในทางสร้างสรรค์ ผลของการจัดกิจกรรม หรือดำเนินการด้านส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางสังคม กลับจะส่งผลกระทบในแง่ดี ในแง่บวกกับการให้บริการด้านรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ เพราะหากบุคลากรมีความมั่นคงทางจิตใจ และเพราะหากบุคลากรมีความมั่นคงทางจิตใจ และสังคม โดยหลักแล้ว เขาจะให้บริการด้วยหัวใจ และด้วยความรักในงาน

5. การร่วมมือกับชุมชน และองค์กรต่างๆ ทั้งภาคสาธารณสุข และนอกภาคสาธารณสุข นอกเหนือจากการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคสู่ชุมชน ซึ่งดำเนินการเป็นปกติ โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนอยู่แล้ว การดำเนินการอื่นๆ ในการร่วมกับชุมชน ที่ควรเน้น หรือเพิ่มเติม ได้แก่ การประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานภาคเอกชน องค์กรเอกชน หน่วยงานต่างกระทรวง การเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคม หรือชุมชนที่ตั้ง ในการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยการใช้ระบบข้อมูลข่าวสาร ที่พัฒนามากขึ้น เช่น การมีข้อมูลด้านอุบัติเหตุทางจราจร ของอำเภอ หรือจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเป็นอย่างดี เพื่อดำเนินการแก้ไขต้นเหตุของปัญหา อย่างถูกต้อง จะได้ลดจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุ ที่จะเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น การฝึกอบรมด้านส่งเสริมสุขภาพ ให้กับองค์กรชุมชนต่างๆ การสร้างภาพลักษณ์ของโรงพยาบาล ให้กับชุมชน เช่น การเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านสุขภาพ (Healthy Organization)

6. ประเด็นอื่นๆ นอกจาก 5 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพยังจะต้องดำเนินการ โดยคำนึงถึง ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง  บริการที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ การให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สรุป

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เรากำลังดึงเอาศักยภาพองค์กรที่ยิ่งใหญ่ ในแต่ละสังคม และชุมชน ซึ่งได้แก่ โรงพยาบาล ให้มาทำหน้าที่นอกเหนือจากการซ่อมสุขภาพ มาสร้างสุขภาพ ให้กับสังคม และชุมชน โดยสรุป เราใช้กลยุทธ์หลัก 2 ประเภท มาดำเนินการ คือ ใช้กลยุทธ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และสังคมของโรงพยาบาล มาสร้างสุขภาพให้บุคคลที่อยู่ หรือใช้บริการโรงพยาบาล (Environment oriented strategy) โดยใช้กลวิธี หรือกิจกรรมหลัก 4 ข้อ คือ

1. การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Build Healthy Public Policy) ได้แก่ การผันแปรโรงพยาบาล สู่องค์กรเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ

2. การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อสุขภาพ (Create Supportive Environment) ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และสิ่งแวดล้อมทางสังคมของโรงพยาบาล

3. การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ในด้านสุขภาพ (Strengthen Community Action) ได้แก่ การมีส่วนร่วม ของทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย ญาติ และชุมชน องค์ภาคอื่นๆ รอบที่ตั้งโรงพยาบาล ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาสุขภาพให้มากขึ้น

4. การปรับเปลี่ยนการจัดบริการด้านสาธารณสุข (Reorient Health Service) เช่น การจัดให้มีบริการที่มุ่งเน้น ทางด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้น

ใช้กลยุทธ์พัฒนาบุคลากร หรือกลุ่มบุคคล (Personal development strategies) โดยดำเนินการ ตามวิธีกฎบัตรของออตตาวา ในข้อของการเพิ่มทักษะส่วนบุคคล (Build Personal Skills) ซึ่งได้แก่การสร้างพลังอำนาจ (Empowerment) ในกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ การนำกลยุทธ์ทั้ง 2 มาใช้ ผนวกกับการคำนึงถึงคุณภาพบริการ และองค์ประกอบอื่นๆ หากเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้ทราบแนวคิด ทราบวิธีดำเนินการ โดยการฝึกอบรม (Training) และปรับใช้โดยการบริหารจัดการ ให้มีส่วนร่วมของคนทั้งองค์กร (Participation) ก็จะนำ โรงพยาบาลที่เคยซ่อมสุขภาพเป็นหลัก มาเป็นการสร้างสุขภาพ หรือส่งเสริมสุขภาพ คือ โรงพยาบาลจะทำหน้าที่เป็นทั้ง Good Health Service Delivery at Low Cost ในมุมมองของโรงพยาบาลเอง ขณะเดียวกันในมุมมองของประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้เกิดสุขภาพดี ด้วยต้นทุนต่ำ (Good Health at Low Cost) อย่างแท้จริง  สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดของภาครัฐที่ให้การบริการประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศคือ สถานีอนามัย แม้ว่าในเมืองจะรู้สึกห่างเหินกับสถานีอนามัย แต่ในระดับภูมิภาคแล้ว สถานีอนามัยเป็นมากกว่าสถานพยาบาล เพราะวันนี้สถานีอนามัยที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและครอบคลุมทุกตำบล ทั่วประเทศจำนวน 9,810แห่ง มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 30,000 คน กำลังยกฐานะให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล การปรับเปลี่ยนดังกล่าวถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญหน้าใหม่ของวงการสาธารณสุขไทย เนื่องจากที่ผ่านมางานซ่อมสุขภาพกับงานสร้างสุภาพยังแยกส่วนกัน แต่ครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังด้านการซ่อมสุขภาพนำสร้างสุขภาพ โดยการยกระดับในครั้งนี้นอกจากเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการสูญเสียเวลาของประชาชนที่ต้องมานั่งรอการตรวจรักษาโรคในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงต้องเดินทางไกลแสนไกลเพื่อไปตรวจวินิจฉัยโรคจากแพทย์ในชั่วเวลาไม่ถึงอึดใจเท่านั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยังนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบอื่นๆ ให้ผู้ป่วยในพื้นที่ทุกแห่งในแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง รวมถึงการทำงานเชิงรุกที่มีศูนย์รวมอยู่ในพื้นที่ และเน้นให้ประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้ารับบริการในพื้นที่ได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะมี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็กดูและประชากรไม่เกิน3,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลางดูแลประชากรไม่เกิน 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน และขนาดใหญ่ดูแลประชากรมากกว่า 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 9-10

          เรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นนโยบายทางการเมืองที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมเรื่องที่ต้องการผลักดันให้ ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพและเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียน้อยที่สุด ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพ ให้สองด้านมาบรรจบเพื่อให้เกิดการบูรนาการ เกิดความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          โดยประชาคมที่ภาครัฐได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมอีกคือ ได้จัดสรรงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะที่ 2 ของนโยบายไทยเข้มแข็งตั้งแต่ปี 2533-2555 ซึ่งจะมีงบประมาณ 86,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นงบประมาณที่ใช้ในการผลักดันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 14,973 ล้านบาท และยังมีงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีก รวม 30,877 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 50,000 ล้านบาท

          เปลี่ยนโฉมทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลที่ใช้ส่งต่อผู้ป่วย 1,000 คัน ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม2553 นี้ จะเกิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขึ้นทั้งหมด 1,001 แห่ง ครอบคลุมในทุกอำเภอที่มีอยู่ 800 กว่าแห่งทั่วประเทศ และภายใน 3 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ แม้ว่าขณะนี้โครงการดังกล่าวในหลายพื้นที่ได้มีการนำร่องและได้ผลเป็นอย่างดีสมกับที่หลายฝ่ายรอคอย   

     

ความหมาย รพสต.

รพสต. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เปรียบได้กับเป็นทับหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในตำบล ให้ประชาชนและผู้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ความเป็นมาที่ทำให้เกิด รพ.สต. คือ เริ่มจากมีนโยบายที่เกิดจากความต้องการผลักดันยกระดับสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ ๙,๗๕๐ แห่ง ทั่วประเทศ ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทั้งหมดทุกแห่งไม่มีการยกเว้น  โดยในปี ๒๕๕๓ นี้ จะทำที่สถานีอนามัย ๒,๐๐๐ แห่งก่อน ที่เหลืออีก ๗,๗๕๐ แห่ง ดำเนินการในปีต่อไปให้จนครบถ้วนทั่วประเทศ

เข็มมุ่งของนโยบายนี้คือ

        ๑. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะเป็นทับหน้าของกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในตำบลหมู่บ้านชุมชน
       ๒. เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่ได้คุณภาพมาตรฐานและมีศักยภาพมากขึ้น เป็นการบริการเชิงรุกด้านสุขภาพแก่ประชาชน
        ๓. ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐานได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม
        ๔. ประชาชนและผู้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ภายใต้โครงการยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

สิ่งที่จะเป็นภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มี ๕ ด้าน

๑. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ  ๒.ด้านการรักษาพยาบาล  ๓.ด้านการควบคุมป้องกันโรค  ๔.ด้านการฟื้นฟู ๕. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะทั้ง ๕ ด้านนี้ จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดี ที่ครอบคลุมสุขภาพกาย ใจ และสังคมแบบควบคู่กันไป

 

ประกาศนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(1กรกฎาคม2553) ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี

 ปีงบประมาณ 2553 ยกระดับพัฒนามาจากสถานีอนามัย เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) (Tambon Health Promotion Hospital :THPH) อย่างเป็นทางการ อำเภอละ 2 แห่ง ในเดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นไป จะยกระดับสถานีอนามัยที่เหลือ ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งหมด ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบลหรือชุมชนต่างๆทั่วประเทศ จะได้รับบริการจากหน่วยบริการที่เล็กที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข ในรูปของ รพ.สต.และดูแลครอบคลุมภารกิจ 5 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหรและยาให้ปลอดภัย  ดีขึ้นเมื่อยกระดับเป็นรพสต.แล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะแต่งตั้งให้หัวหน้าสถานีอนามัยเดิม ให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำหน้าทีบริหาร และจะแก้ไขโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดิน จาก สถานีอนามัย เป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ขณะเดียวกัน จะให้รพ.สต. ส่วนหนึ่งของโครงการโรงพยาบาลสาธารณสุขยุคใหม่ เพื่อคนไทยสุขภาพดี มีรอยยิ้ม หรือโรงพยาบาล 3S ด้วย Structure มีการพัฒนาปรับปรุงด้านโครงสร้างสถานที่ตรวจรักษาทันสมัย มีห้องตรวจโรค ห้องน้ำสะอาดสวยงาม เป็นระเบียบ Service การให้บริการ และ System ระบบกบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้เกิดมาตรฐานและบริการเป็นที่ประทับใจของประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ ประจำรพ.สต. โดยทำเป็นรูปหัวใจ 4 ดวง เชื่อมกันและมีตรางูพันคบเพลิงซึ่งเป็นโลกโก้ของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ตรงกลางสีฟ้าอ่อนและน้ำเงิน รพ.สต.จะใช้โลโก้ Logo รพสต. นี้เหมือนกันทุกแห่ง ซึ่งหัวใจ 4 ดวง มีความหมายสะท้อนถึงการเชื่อมโยงในการทำงาน4กลไกหลักหัวใจดวงที่1หมายถึง        รพสต.หัวใจดวงที่2 หมายถึงผู้ที่เข้ามาดำเนินงาน   ร่วมได้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหัวใจดวงที่ 3 หมายถึง แผนสุขภาพตำบล Strategy Route map :SRM ซึ่งขณะนี้ อสม.อยู่ระหว่างการจัดทำ จะเสร็จสิ้นในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 นี้ รวมทั้งสิ้น 7,000 กว่าแผน เพื่อเป็นเข็มทิศในการดำเนินงานของ รพ.สต.หัวใจดวงที่ 4 หมายถึงกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งขณะนี้สามารถจัดตั้งได้แล้ว 5,509 ตำบลจากทั้งหมด 7,776 ตำบล หรือประมาณร้อยละ 71 ยังเหลือประมาณร้อยละ 29 จะเร่งให้ครบทุกแห่ง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

 





ทำไมต้องมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านสุขภาพมายาวนาน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นมาก เห็นได้จากโรคติดเชื้อสำคัญลดลง อัตราทารกตายและอัตราส่วนมารดาตายลดลงมาก คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นมาก และมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลก่อน คือ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ทว่าระบบบริการที่มีอยู่ยังไม่อาจทำให้คนใช้บริการได้อย่างถูกที่ถูกทาง ประชาชนมักจะเชื่อถือและไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แม้ว่าโรคส่วนใหญ่ไม่ต้องการแพทย์ในการรักษา โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะโรค การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังถูกละเลย ลงทุนด้านนี้น้อยทั้งๆที่ต้นทุนต่ำกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และแนวโน้มการเกิดโรคที่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ เปลี่ยนเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมและสามารถป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็ง การยกระดับสถานีอนามัยที่มีกว่า 9 พันแห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จึงเป็นจุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขครั้งสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพของ ประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 487187เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2013 00:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท