บันทึกบทเรียนการจัดการความรู้


การจัดการความรู้ เป็นการดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายฝังอยู่ทั่วองค์กร ออกมารวมและแบ่งกลุ่มจัดเก็บให้เป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยบริหารจัดการเพื่อให้ คน ที่ต้องการใช้ความรู้ (Right people) ได้รับความรู้ที่ต้องการใช้ (Right knowledge) ในเวลาที่ต้องการ (Right time) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำงาน

ความรู้ คือ อะไรก็ได้ ทุกอย่างเป็นความรู้ได้ อาจเป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า ประสบการณ์ รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจ สารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยินได้ฟัง การคิด หรือการปฏิบัติ ความรู้มีหลายประเภท และจัดได้หลากหลายรูปแบบ แต่ในมุมมองของการจัดการความรู้ นิยมจัดแบบ Explicit knowledge กับ Tacit knowledge โดยสามารถใช้รูปภาพภูเขาน้ำแข็งเพื่อเปรียบเทียบความรู้ทั้งสองประเภทดังกล่าวได้ดังนี้

  • Explicit knowledge คือ ความรู้ที่เห็นได้ชัดแจ้ง เป็นเหตุเป็นผล สามารถรวบรวมและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น หนังสือ คู่มือ เอกสาร และรายงานต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย
  • Tacit knowledge คือ ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล เกิดจากประสบการณ์ การเรียนรู้ หรือพรสวรรค์ ถ่ายทอดออกมาเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรได้ยาก สามารถแบ่งปันกันได้

ในแง่มุมของบุคคล เมื่อเราได้เรียนรู้อะไรอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อเราได้เรียนรู้หรือทำสิ่งนั้นซ้ำอีก เวลาที่ใช้ในการเรียนรู้จะเร็วขึ้น ซึ่งน่าจะถือเป็น ประสบการณ์ หรือ ความชำนาญ ได้ เช่น นักฟุตบอลที่ยิงฟรีคิกได้ดี ก็ต้องซ้อมยิงหลายๆ มุม หลายๆ ระยะ และหลายครั้ง เมื่อเกิดการเรียนรู้แล้วก็จะทำให้ยิงได้ดีขึ้น กะนำหนักและทิศทางการยิงได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น หรือศัลยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดอย่างใดอย่างหนึ่ง ยิ่งทำการผ่าตัดนั้นมากครั้งเข้า ก็ยิ่งมีความชำนาญคล่องแคล่วมากขึ้น ในแง่มุมขององค์กรก็เช่นกัน ประสบการณ์และความชำนาญขององค์ก็เกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับการเรียนรู้ของบุคลากรแต่ละคน และจะทำให้องค์กรกลายเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) แต่ปัญหาและความเป็นจริงที่ทำให้เราต้องมีการจัดการความรู้ มีเหตุผลดังนี้

  • เราทำผิดซ้ำๆ และไม่มีการแก้ไขปรับปรุง
  • ความคิดริเริ่มของแต่ละคนอาจซ้ำกันได้
  • มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในองค์กร แต่ไม่มีการจัดการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
  • การเปลี่ยนแปลงของบุคลากร เช่น ย้าย ลาออก แล้วทำให้ความรู้ของบุคลากรคนนั้นๆ หายไปจากองค์กรด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความหมายขององค์กรแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า “เป็นองค์กรที่ผลิตผลงานไปพร้อมๆ กับเกิดการเรียนรู้ สั่งสมความรู้ และสร้างความรู้จากประสบการณ์ทำงาน พัฒนาวิธีทำงานและระบบขององค์กรไปพร้อมๆ กัน”

การจัดการความรู้ เป็นการดึงเอาความรู้ที่กระจัดกระจายฝังอยู่ทั่วองค์กร ออกมารวมและแบ่งกลุ่มจัดเก็บให้เป็นองค์ความรู้ขององค์กร เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยบริหารจัดการเพื่อให้ คน ที่ต้องการใช้ความรู้ (Right people) ได้รับความรู้ที่ต้องการใช้ (Right knowledge) ในเวลาที่ต้องการ (Right time) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำงาน

การสร้างความรู้ในองค์กร มีทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ Ikujiro Nonaka และคณะ เรียกว่า SECI model เป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการหมุนเวียนทางความรู้ที่สัมพันธ์กันระหว่าง Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge โดยประกอบด้วย 4 กระบวนการ ดังแผนภาพ

  • Socialization เป็นกระบวนการแบ่งปันและสร้างความรู้จาก Tacit knowledge ไปสู่ Tacit knowledge โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงของผู้ที่สื่อสารระหว่างกัน เป็นการถ่ายโอนความรู้โดยตรงระหว่างกลุ่มคนหรือบุคคล โดยไม่ผ่านการเขียน
  • Externalization เป็นกระบวนการที่ Tacit knowledge ถูกทำให้ชัดเจน โดยการเปรียบเทียบใช้ตัวอย่างหรือตั้งสมมุติฐานจน Tacit knowledge เปลี่ยนแปลงเป็น Explicit knowledge เป็นการถ่ายโอนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในการสอนผ่านสื่อต่างๆ จากประสบการณ์ในสมองของเขาออกมาสู่ภายนอกแก่ผู้อื่น
  • Combination เป็นการแบ่งปันและสร้างความรู้จาก Explicit knowledge ไปสู่ Explicit knowledge โดยรวบรวมความรู้ประเภท Explicit ที่เรียนรู้ มาสร้างเป็นความรู้ประเภท Explicit ใหม่ๆ ที่ถูกทำให้เป็นระบบจนกลายเป็นความรู้ ซึ่งจะถูกจัดเป็นหมวดหมู่ของความรู้ที่ชัดเจน เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง และมีการศึกษาเรียนรู้จากความรู้ภายนอก ซึ่งแนวคิดจะมีความหลากหลายมากต้องสร้างความเข้าใจแลเชื่อมโยงความรู้อันหลากหลายให้ได้ และถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ให้กับองค์กรของตน
  • Internalization เป็นการแบ่งปันและสร้างความรู้จาก Explicit knowledge ไปเป็น Tacit knowledge โดยมักจะเกิดจากการนำความรู้ที่เรียนรู้มาไปปฏิบัติจริง

กรอบแนวคิดการจัดการความรู้ มีการสร้างรูปแบบหรือ Model ต่างๆ มากมาย แต่รูปแบบที่เราได้เรียนรู้และเป็นที่รู้จักทั่วไปในประเทศไทย คือ โมเดลปลาทู (ที่จริงก็คงเป็นปลาอะไรก็ได้ ยกเว้น ปลากระป๋อง)

"โมเดลปลาทู" เป็นโมเดลที่เปรียบการจัดการความรู้เป็น ๓ ส่วน คือ

  • ส่วนหัวและตา หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางการจัดการความรู้ เป็นส่วนที่ต้องตอบให้ได้ว่าทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร ประเด็นที่สนใจที่จะนำมาทำการจัดการความรู้นั้นคือเรื่องอะไร เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ขององค์กรอย่างไร ควรเป็นความเห็นร่วมกันของคนในองค์กร โดยสร้างความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับ และร่วมกิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
  • ส่วนลำตัวปลา หมายถึง ส่วนของการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ (Tacit knowledge) โดยอาจใช้รูปแบบของ best practice การสอนงานในองค์กร การศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ความสำเร็จของผู้อื่น หรือชุมชนนักปฏิบัติ และอำนวยให้เกิดการเรียนรู้แบบเป็นทีม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนความรู้และเกิดนวัตกรรมในที่สุด
  • ส่วนหางปลา หมายถึง ส่วนของคลังความรู้ที่ได้จากการเก็บสะสมเกร็ดความรู้ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี โดยยึดหลักให้มีการสรุปประเด็นที่สำคัญ มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปใช้ สะดวกต่อการถ่ายโอนและกระจายความรู้ ถือเป็นการสกัด Tacit knowledge ให้เป็น Explicit knowledge แล้วนำไปใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีอีกรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ “โมเดลปลาตะเพียน” ที่เปรียบเทียบกระบวนการจัดการความรู้ในภาพขององค์กร ดังรายละเอียดตาม Link ต่อไปนี้ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/29224?

เครื่องมือของการจัดการความรู้ (KM Tools) อย่างหนึ่งที่ช่วยในการดึงความรู้ประเภท Tacit Knowledge ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวบุคคล เรียกว่า ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice ; CoP) เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่รวบรวมกลุ่มคนที่มีความรู้ความสนใจในเรื่องเดียวกัน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ ร่วมกัน เพื่อได้มาซึ่ง Knowledge Assets ในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้คนในชุมชนเพื่อไปทดลองใช้แล้วนำผลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิก อันส่งผลให้ความรู้นั้นๆ ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการปฏิบัติ ประยุกต์ และปรับใช้ตามแต่สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่หลากหลาย อันทำให้งานบรรลุผลดีขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะที่สำคัญของชุมชนนักปฏิบัติ

  • Domain มีความสนใจและความปรารถนา (Passion) ร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • Community ปฏิสัมพันธ์และสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เป็นชุมชน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เชื่อมโยงกัน
  • Practice แลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ร่วมกัน มีการสร้างเครื่องมือ ฐานข้อมูล ความรู้ หรือแนวปฏิบัติร่วมกัน

 

กระบวนการจัดการความรู้ ยังมีรูปแบบการจัดการและเครื่องมืออีกหลายอย่างจากหลายสถาบันหลายสำนัก ที่สามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรประเภทต่างๆ ได้ตามบริบทและความเหมาะสม แต่หลักการสำคัญของแต่ละเครื่องมือ นั่นคือ การทำให้เกิดความรู้ใหม่อันเป็นสมบัติอันล้ำค่าขององค์กร อย่างไรก็ตาม ความรู้ต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมือทำ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการจัดการความรู้ ทั้งด้านการพัฒนางาน การพัฒนาคน การพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ และบรรลุความเป็นชุมชนหรือหมู่คณะที่เอื้ออาทรระหว่างกันในการทำงานในที่สุด

 

ขอปิดท้ายด้วย Link เกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ซึ่งอธิบายได้ค่อนข้างครอบคลุมไว้ภายในหน้าเว็บเดียว (แต่ยาวหน่อย) หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านนะครับ >> คลิก http://www.thaiall.com/km/indexo.html

หมายเลขบันทึก: 486214เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่นำมาเรียนรู้ การจัดการการความรู้ สู่การแลกเปลี่ยน แบ่งปัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท