หมออนามัย โรคบาดทะยัก


หมออนามัย โรคบาดทะยัก

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวีดสระบุรี

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani ซึ่งผลิต exotoxin มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยมีคอแข็งหลังแข็งต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Clostidium tetani) ซึ่งเป็น anaerobic bacteria ย้อมติดสีแกรมบวก มีคุณสมบัติอยู่ในรูปแบบของสปอร์ (spore) ที่ทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อหลายอย่าง สามารถสร้าง exotoxin ที่ไปจับและมีพิษต่อระบบประสาท

อาการและการติดต่อ

โรคบาดทะยักพบได้ทั่วไปทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์พบติดตามพื้นหญ้าทั่วไปได้นานเป็นเดือนๆ หรืออาจเป็นปี เชื้อจะพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วนมูลสัตว์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยจะแงตัวและขับ exotoxin ออกมา เชื้อจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลลึก อากาศเข้าได้ไม่ดี เช่นบาดแผล ตะปูตำ แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือเข้าทางหูที่อักเสบ โดยการใช้เศษไม้ หรือต้นหญ้าที่มีเชื้อโรคนี้ติดอยู่แคะฟันหรือแยงหู บางครั้งอาจเข้าทางลำไส้ได้

ทางเข้าที่สำคัญและเป็นปัญหาในทารกแรกเกิดคือ เชื้อเข้าทางสายสะดือที่คัดด้วยกรรไกรหรือของมีคมที่ไม่สะอาด ที่พบบ่อยในชนบทคือ การใช้ไม้ไผ่ หรือมีดทำครัวตัดสายสะดือ และการพอกสะดือด้วยยากลางบ้าน หรือโรยด้วยแป้งที่อาจปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก ทำให้เชื้อเข้าสู่แผลรอยตัดที่สะดือ ทำให้เกิดโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด

อาการและอาการแสดง

หลังจากได้รับเชื้อ สปอร์เข้าไปตามบาดแผล จะแตกตัวออกเป็น vegetative form ซึ่งจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิต antitoxin ซึ่งจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่แพร่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติ ในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ระยะจาเกเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการเริ่มแรก คือ มีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3-28วัน เฉลี่ย 8 วัน โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดอาการมักจะเริ่มเมื่อทารกอายุประมาณ 3-10 วัน อาการที่จะสังเกตได้คือ เด็กดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม ทั้งนี้เพราะมีขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ต่อมาเด็กจะดูดนมไม่ หน้ายิ้มแสยะ (Risus sardonicus หรือ Sardonic grin) เด็กอาจร้องครางต่อมาจะมีมือ แขน และขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้าเป็นมากจะมีอาการชักกระตุกและหน้าเขียวอาการเร็งหลังแข็งและหลังแอ่นนี้ จะเป็นมากขึ้น ถ้ามีเสียงดังหรือเมื่อจับต้องตัวเด็ก อาการเกร็งชักกระตุกถ้าเป็นถี่ๆมากขึ้น จะทำให้เด็กหน้าเขียวมากขึ้น ทำให้เป็นอันตรายถึงตายได้เพราะขาดออกซิเจน โรคบาดทะยักในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เมื่อเชื้อเข้าทางบาดแผล ระยะฟักของโรคก่อนที่จะมีอาการประมาณ 5-14 วัน บางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นได้ จนบางครั้งบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้อบาดทะยักหายไปแล้ว อาการเริ่มแรก ที่สังเกตพบ คือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ มีคอแข็ง หลังจากนั้น 1-2 วัน ก็จะมีอาการเกร็งแข็งในส่วนอื่นๆของร่างกายคือ หลัง แขน ขา เด็กจะยืนและเดินหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็งให้ก้มหลังจะทำไม่ได้ หน้าจะมีลักษณะคล้ายคนแสยะยิ้มและระยะต่อไปก็อาจมีอาการกระตุก เช่นเดียวกับในทารกแรกคลอด ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัวจะเกร็งและกระตุกมากขึ้นมีหลังแอ่นและหน้าเขียว บางครั้งมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้มีการหายใจลำบากถึงตายได้

การวินิจฉัยโรค

อาจจะเพาะเชื้อ C.tetani ได้จากแผล โดยทั่วไปแล้วมักจะเพาะเชื้อไม่ได้ การวินิจฉัยส่วนใหญ่จึงอาศัยอาการทางคลินิก โรคบาดทะยักจะวินิจฉัยแยกโรคจากโรคสมองอักเสบ ได้จากการที่โรคบาดทะยักไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับการรู้สติ นอกจากในรายที่ชักมากจนสมองขาดออกซิเจน

การรักษาพยาบาล

การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบควรหลีกเลี่ยงการจับต้องโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะอาจทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้ การรักษาเฉพาะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10000-20000 หน่วยเข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วยเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อให้เข้าไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่จับที่ระบบประสาทให้ยาปฏิชีวนะ penicillin ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C. tetani ทีบาดแผล ให้การรักษาตามอาการ ให้ยาระงับชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดอาหารและน้ำทางปาก ในขณะที่มีอาการเกร็งหรือชักให้อาหารทางหลอดเลือด ดูแลเรื่องการหายใจ

การควบคุมป้องกัน

เมื่อมีแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที่ โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 % หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อ ถ้าแผลลึกต้องใส่ drain ด้วย ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน 20-30 นาที รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็ดด้วย alcohol 70% เช็ดอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อพิจารณาให้ tetanus toxoid (T) ป้องกันโรคบาดทะยักให้ครบและให้ TAT หรือ TIG ในรายที่แผลใหญ่สกปรกมาก ในรายที่ได้รับวัคซีนมาแล้วให้ครบ 4-5 ครั้ง ในระยะ 5-10 ปี ให้วัคซีน T 0.5มล.เข้ากล้ามครั้งเดียว ในรายที่ได้รับวัคซีนนานเกิน 10 ปี และมีบาดแผลมานานเกิน 24 ชั่วโมง ให้ T 0.5มล.เข้ากล้ามครั้งเดียวพร้อมกับให้ TAT ด้วย ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะได้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ การป้องกันที่ดีที่สุด คือให้วัคซีนป้องกันโรค DTP ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน และเพิ่มอีก 2ครั้งเมื่ออายุ 1ปีครึ่ง และอายุ 4-6 ปี หลังจากนั้นอาจให้ทุก 10 ปี โดยให้เป็น dT

สำหรับการป้องกันโรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือการคลอดและตัดสายสะดือโดยถูกต้อง สะอาด ดูแลสะดือดังกล่าวข้างต้น และที่ได้ผลดีคือการให้ T แก่หญิงมีครรภ์ โดยให้สองครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งที่ 3 ควรที่จะให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ T 2ครั้ง ตามกำหนดนี้จะสร้าง antitoxin ซึ่งจะผ่านไปยังทารกแรกเกิดในระดับที่สูง พอที่จะป้องกันโรคบาดทะยักได้ และ antitoxin จะยังคงอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันได้นานถึง 3 ปี แต่เพื่อให้แน่ใจว่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูงและอยู่นาน ในปัจจุบันยังแนะนำให้ฉีด T เข็มที่ 3 ในระยะ 6-12 เดือน หลังเข็ม 2 ซึ่งอาจจะให้ในระยะหลังคลอด การได้รับ 3 ครั้ง จะทำให้ระยะภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน 5-10 ปี ในพื้นที่มีอุบัติการณ์โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิดสูง จะแนะนำให้ T แก่หญิงวัยเจริญพันธ์ 3 ครั้ง  2 ครั้งแรกห่างกัน 1 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2  เป็นเวลา 6 เดือน

                ฉีด T เข็มที 1 ปัจจุบันเริ่มต้น ป้องกันโรคไม่ได้ ยังไม่มีภูมิต้านทานโรค

                ฉีด T เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 1 อย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนขึ้นไป ป้องกันโรคได้ 3 ปี

                ฉีด T เข็มที 3 ห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน ป้องกันโรคได้ 5 ปี

                ฉีด T เข็มที่ 4 ห่างจากเข็มที่ 3 อย่างน้อย 1 ปี        ป้องกันโรคได้ 10 ปี

                ฉีด T เข็มที่ 5 ห่างจากเข็มที่ 4 อย่างน้อย 1 ปี        ป้องกันโรคได้ตลอดวัยเจริญพันธ์ และควรฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี

คำสำคัญ (Tags): #บาดทะยัก
หมายเลขบันทึก: 485865เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บาดทะยัก......

คนบ้านผมเขามีภาษา ภาศิลป์ มาฉีดบาดทะยัก พอปชส.ถามว่ามาทำอะไร เขาตอบว่า มาฉีดยา "สี่สลึงพบมาร"

สี่สลึง เท่ากับหนึ่งบาท

พบ เห็น คนใต้เรียกว่า"ทะ"

ยักษ์ คือมาร.....สี่สลึงพบมาร ก็คือ บาดทะยักครับ 55555555

ดีน่ะที่อยู เปล ช่วยประชาสัมพันธ์ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท